Articles Games

รู้ไว้ไม่เสียหาย: ทารกในตู้ล็อกเกอร์ จากเรื่องจริงสู่เกม [ARTICLE]

รู้ไว้ไม่เสียหาย: ทารกในตู้ล็อกเกอร์ จากเรื่องจริงสู่เกม [ARTICLE]

ปีค.ศ.1977 ได้มีเด็กทารกผู้หนึ่งถูกทิ้งเอาไว้ในตู้ล็อกเกอร์ใกล้สถานีชินจูกุ ท่ามกลางบรรยากาศของปีใหม่ที่อากาศหนาวเหน็บ เคราะห์ดีสำหรับเด็กทารกผู้นั้นที่มีผู้มาพบเจอและนำไปเลี้ยงดู ทารกผู้นั้นเติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูโดยบรรดาโสเภณีและพนักงานของสถานค้าบริการทางเพศในคามุโร่โจ รวมถึงพ่อบุญธรรมที่เป็นเจ้าของสถานค้าบริการอย่างคาสึกะ จิโร่ด้วย และเมื่อทารกเติบใหญ่ขึ้นมาเขาก็ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งยากูซ่า ใช่แล้วครับ ทารกคนที่ว่าคือคาสึกะ อิจิบัง ตัวเอกของเกม Ryu Ga Gotoku 7 หรือ Yakuza: Like a Dragon นั่นเอง

ชีวิตของอิจิบังตั้งแต่เกิดมาเรียกได้ว่าต้องฝ่าฟันอะไรต่อมิอะไรมากกว่าทั่วไป เจอมรสุมหลากหลายอย่าง แต่ว่าเนื้อเรื่องที่ทีมงานเขียนขึ้นมาให้เราได้สัมผัสกันอย่างสุดแสนจะดราม่าและจับใจแบบนี้ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงบางประการนั่นเอง


อันที่จริง ประเด็นปัญหาเรื่อง child abuse หรือการทารุณกรรมเด็กนั้นเป็นสิ่งที่มีมาช้านานในประเทศญี่ปุ่นก่อนยุคสมัยใหม่ (ยุค modern) ที่ชาวนาในญี่ปุ่นโดนเก็บภาษีอย่างหนักหน่วง จนทำให้ไม่เหลือเสบียงอาหารมากพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบตะวันออกเฉียงเหนือที่สภาพภูมิอากาศไม่เหมาะกับการปลูกพืชพรรณ ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงสามารถเลี้ยงดูลูกได้เพียงแค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้น ทำให้มักมีการกำจัดเด็กในหลากหลายวิธี เช่น

  1. ฆาตกรรม: เด็กเกิดใหม่มักถูกทำให้ขาดใจตาย บ้างก็ถูกตัดหัว บ้างก็โดนทุบ หรือด้วยวิธีต่าง ๆ นานา
  2. ทอดทิ้ง: เด็กเกิดใหม่มักถูกจับใส่ตะกร้าแล้วนำไปทิ้งไว้ที่วัดหรือศาลเจ้า
  3. ค้าเด็ก: เด็กเกิดใหม่จะถูกนำไปขายให้กับกลุ่มอาชญากรในเมืองเพื่อเป็นแรงงานหรือไม่ก็เพื่อค้ากาม
  4. นำไปให้คนอื่นเลี้ยง: เด็กเกิดใหม่จะถูกนำไปทิ้งไว้กับคู่แต่งงานที่ไม่มีลูกของตัวเอง

การปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้แน่นอนว่าไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน แต่ว่าในสมัยก่อนถือเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไป จนกระทั่งในสมัยที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง ที่ได้มีการวางระบบเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนขึ้นมาและมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ


ทารกในตู้ล็อกเกอร์

ในปีค.ศ.1970 ในญี่ปุ่นนั้น ได้เริ่มมีการติดตั้งตู้ล็อกเกอร์หยอดเหรียญตามสถานีรถไฟและสนามบินเพื่อให้ผู้คนได้นำกระเป๋าและสัมภาระเก็บในนั้นได้ แต่ว่าตู้ล็อกเกอร์เหล่านี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เพราะมันถูกนำไปใช้เก็บของผิดกฎหมายมากมายไม่ว่าจะเป็นปืน, ยาเสพติด, สินค้าลักลอบนำเข้า รวมถึงวัตถุระเบิด และที่สำคัญคือศพทารกที่ถูกฆาตกรรมนั่นเอง ศพทารกเหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาสังคมครั้งใหญ่ในปีค.ศ.1975 จนถึงขนาดมีการสร้างคำเรียกเฉพาะอย่าง “ทารกในตู้ล็อกเกอร์” ขึ้นมา

ทารกเหล่านี้มักเป็นเด็กแรกเกิด และจำนวนเด็กเพศชายก็มีมากกว่าเพศหญิง (ส่วนใหญ่ตายเพราะขาดอากาศหายใจ) ปัญหาของทารกในตู้ล็อกเกอร์นี้ถือเป็นความยากลำบากของตำรวจเพราะสามารถระบุตัวพ่อแม่หรือผู้ลงมือได้ยากมาก มีแค่บางครั้งที่นรีแพทย์จะตรวจโรคสตรีหลังคลอดแล้วพบว่าทารกหายสาบสูญไปแบบผิดปกติจึงแจ้งตำรวจ และโดยมากศพมักจะโดนพบเจอในเวลา 1 ถึง 3 เดือนหลังตายและจะโดนห่อด้วยพลาสติกเอาไว้

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง ในปีค.ศ.1981 ญี่ปุ่นจึงได้ออกมาตรการเพื่อลดปัญหาทารกในตู้ล็อกเกอร์โดยวิธีดังต่อไปนี้:

  1. ตู้ล็อกเกอร์หยอดเหรียญถูกย้ายไปตั้งในที่ ๆ เห็นได้ง่ายขึ้น และจัดให้มีการเดินตรวจตราเพื่อเฝ้าระวังในบริเวณดังกล่าว
  2. ปัญหาของทารกในตู้ล็อกเกอร์ได้ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนจนทำให้ประชาชนในวงกว้างรับรู้ถึงปัญหา
  3. ให้การศึกษาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดแก่ประชาชนในวงกว้างและลดจำนวนเด็กที่เกิดมาโดยพ่อแม่ไม่พร้อมได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันเหล่านี้ออกมาก็ยังคงมีการพบทารกในตู้ล็อกเกอร์อยู่เช่นเคย ซึ่งการพบทารกในแต่ละคราวก็จะได้ถูกจำแนกออกเป็นแต่ละประเภท (ที่จะมีผลต่อบทลงโทษของพ่อแม่) ดังนี้

  1. ทารกที่ตายตั้งแต่คลอด จะไม่ถือเป็นคดีทารุณกรรมเด็ก
  2. ทารกที่คลอดมาแล้วอยู่รอดและ (a) โดนฆ่าทันทีหลังเกิดและถูกทิ้งศพไว้ จะถือเป็นคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (b) ถูกฆ่าหลังมีชีวิตอยู่รอดได้ไม่กี่วันจะถือเป็นคดีทอดทิ้งเด็กและฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (c) ทารกที่โดนทิ้งในตู้ล็อกเกอร์แต่โดนพบตัวแบบยังมีชีวิตจะถือเป็นคดีทอดทิ้งเด็กโดยมีเหตุฉกรรจ์

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีมาตรการดูแลและป้องกันแค่ไหน แต่หากผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือก็คงยากที่ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอยู่ดี เพราะปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นเองก็ยังประสบปัญหาการทิ้งทารกในตู้ล็อกเกอร์อยู่เนือง ๆ (เช่นข่าวในปีค.ศ.2018) โดยที่ไม่รู้ว่าปัญหานี้จะหมดไปในวันไหนครับ


ที่มา:
บทความ “Child abuse and neglect in Japan: Coin-operated-locker babies” จากนิตยสาร Child Abuse and Neglect หน้า 25-31 โดย Akihisa Kouno และ Charles F. Johnson ตีพิมพ์ในปีค.ศ.1995

ข่าวหญิงโดนจับกุมในโตเกียวหลังจากทิ้งศพทารกไว้ในตู้ล็อกเกอร์เป็นเวลาหลายปี (สำนักข่าว Kyodo) https://english.kyodonews.net/news/2018/09/87bc43bd61ec-mother-arrested-after-leaving-babys-body-in-coin-locker-for-years.html

สามารถอ่านรีวิวเกม Yakuza: Like a Dragon จากเราได้ที่นี่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์