Games Reviews

Lost Judgment – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Lost Judgment – รีวิว [REVIEW]

Lost Judgment คือภาคต่อของเกม Judgment (หรือ Judge Eyes ในญี่ปุ่น) ที่ได้ดาราระดับดาวค้างฟ้าของญี่ปุ่นอย่างคิมูระ ทาคุยะมารับบทบาททั้งเป็นโมเดลหน้าและให้เสียงพากย์ตัวเอกในเกมนั่นคือยางามิ ทาคายูกิผู้ทำอาชีพเป็นนักสืบอยู่ในคามุโร่โจ และถึงแม้ว่าตัวเกมซีรีส์หลักอย่าง Yakuza จะผันตัวกลายไปเป็น JRPG แบบเทิร์นเบสเต็มตัว แต่เกมสปินออฟอย่างซีรีส์ Judgment ยังคงความเป็นแอ็คชันสุดเดือดเช่นเคย และในภาคต่อนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ


เนื้อเรื่อง

ใน Lost Judgment นี้บอกเล่าเรื่องราว 3 ปีให้หลังจากเรื่องราวในภาคแรก (แต่ก็หลังจากเหตุการณ์ใน Yakuza: Like a Dragon เช่นกัน) ที่ยางามิ ทาคายูกิยังคงทำงานเป็นนักสืบที่รับงานต๊อกต๋อยในคามุโร่โจเช่นเคย ซึ่งวันหนึ่งเขาได้รับการติดต่อจากสุงิอุระ ฟูมิยะที่ไปเปิดสำนักงานนักสืบของตัวเอง ณ อิเซซากิอิจินโจในโยโกฮาม่า ที่มาขอแรงให้ยางามิและคู่หูไคโตะไปช่วยในการสืบคดีเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนเซย์เรียวแห่งอิเซซากิอิจินโจ แต่ทว่าเขาไม่รู้เลยว่าจากคดีเล็ก ๆ ที่เป็นเพียงการกลั่นแกล้งในโรงเรียนจะลุกลามไปกลายเป็นแผนสมคบคิดขนาดใหญ่ที่พัวพันไปถึงฝ่ายความมั่นคงภายในของญี่ปุ่นในที่สุด

ถ้าจะให้พูดถึงเนื้อเรื่องของภาคนี้แล้ว ยังคงความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ในลักษณะเดียวกับภาคแรกที่จะค่อย ๆ เผยรายละเอียดเบื้องหลังให้ผู้เล่นทราบไปเรื่อย ๆ และยังมีการทวนเนื้อหาในแต่ละช่วงอยู่เนือง ๆ เพื่อให้คนเล่นยังคงตามเนื้อหาได้อยู่โดยไม่งงกลางทางไปก่อน (ซึ่งบางทีก็แอบทวนบ่อยไปหน่อย) ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัวผมจะชอบเนื้อหาในภาคแรกมากกว่าอยู่เล็กน้อย แต่ด้วยธีมของภาค Lost Judgment ที่เน้นเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่เป็นปัญหาร่วมของทุกชาติทุกภาษา และมุ่งนำเสนอที่ความเจ็บปวดของฝ่ายผู้ถูกกระทำ เจ็บปวดจากการที่คนรอบข้างซึ่งเห็นเหตุการณ์แต่ล้วนวางเฉย รวมถึงความเจ็บปวดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่โดนเมินเฉยจากระบบยุติธรรมนี่เองที่ทำให้ความเข้มข้นของเนื้อหาชวนติดตามได้ไม่แพ้ภาคแรก

สิ่งหนึ่งที่มีการนำเสนออย่างชัดเจนตลอดทั้งเกมก็คงไม่พ้นหลักการและแนวคิดที่ยางามิตัวเอกของเกมมี ต่อแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของตัวละครหลักประจำภาคอีกคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อ ณ ที่นี้เพราะจะเป็นการสปอยล์) ที่ทั้งสองต่างเลือกวิธีแก้ไขปัญหากันคนละวิธี เรียกได้ว่าหากยางามิมี sympathy ที่เห็นอกเห็นใจผู้ถูกกระทำ อีกตัวละครหนึ่งที่กล่าวถึงคือมี empathy ต่อผู้ถูกกระทำ (และญาติ ๆ ของผู้ถูกกระทำ) และรับรู้ความเจ็บปวดดังกล่าวมากกว่าจนเป็นที่มาของสิ่งที่ตัดสินใจทำลงไปและเป็นเนื้อหาแกนใหญ่ของเกมภาคนี้ โดยส่วนตัวผมเองหลังจากเล่นจบมาแล้วผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่าสุดท้ายตนเองเห็นด้วยกับแนวทางของใครมากกว่ากัน เพราะไม่มั่นใจว่าหากเราเป็นผู้ที่ต้องรับผลการกระทำ รับผลจากการกลั่นแกล้งในลักษณะเดียวกัน จะยังสามารถยึดมั่นในระบบและหลักการได้หรือไม่ ซึ่งในจุดนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดจุดหนึ่งเพราะมันชวนให้กลับมานั่งคิดอะไร ๆ ได้ดีเลยทีเดียว

จุดที่ต่างกับซีรีส์หลักอย่าง Yakuza คือตั้งแต่ Judgment ภาคแรกมาจะเน้นเรื่องแนวทางการต่อสู้ภายในระบบยุติธรรมกันเป็นจุดใหญ่ด้วย ในขณะที่ Yakuza นั้นทุกปัญหาแก้ได้ด้วยการกระโดดเข้าต่อยกัน แต่กับ Lost Judgment นี้จะมีการต่อสู้ทางเทคนิคในระบบยุติธรรมให้เห็นตลอดทั้งเกม ซึ่งก็ยังทำออกมาได้สนุกและน่าติดตามเช่นเคย (ส่วนเรื่องความถูกต้องตามหลักการนี่ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน) โดยเฉพาะภาคนี้ที่ค่อนข้างเน้นด้านการจิกกัดระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นว่าด้วยการพยายามรักษาหน้าตาของกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำคนผิดมารับโทษ จึงทำให้เรื่องราวเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

เนื้อเรื่องอีกจุดหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเป็นเนื้อหาหลักก้อนใหญ่ ๆ ราว 50% ของเกมเลยก็ว่าได้นั่นคือ School Stories หรือเรื่องราวดราม่าภายในรั้วโรงเรียนเซย์เรียวนี่เอง ด้วยความที่ยางามิเข้ามาสืบคดีกลั่นแกล้งในโรงเรียนในตอนแรก จึงเข้ามารับตำแหน่งในฐานะที่ปรึกษาของชมรมค้นคว้าวิจัยเรื่องลึกลับ (Mystery Research Club) ซึ่งเจ้า School Stories ที่ว่านี่ล่ะที่จะทำให้ยางามิต้องไปคอยให้ความช่วยเหลือบรรดานักเรียนของเซย์เรียวในการก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ละม้ายคล้ายกับมังงะ/อนิเมเรื่อง GTO (Great Teacher Onizuka) ก็ไม่ปาน ไม่ว่าจะช่วยเหลือชมรมเต้นให้ฝ่าฟันอุปสรรคจนชนะเลิศการแข่งระดับประเทศ ให้คำแนะนำชมรมวิจัยหุ่นยนต์จนทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและชนะเลิศการแข่งระดับประเทศได้เช่นกัน หรือไปเยือนค่ายมวยแล้วช่วยให้นักเรียนค้นพบเส้นทางในการเป็นนักชกอาชีพ ฯลฯ

ซึ่งเมื่อคุณช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกชมรมจนหมดสิ้นแล้ว ก็จะนำไปสู่บทสรุปสุดท้ายของเนื้อหาหลักในรั้วโรงเรียนอีกทีที่มีความสนุกน่าติดตามไม่แพ้กัน (ถึงแม้ว่าจะไม่มีโทนที่หนักหน่วงเท่ากับเนื้อหาหลักก็เถอะ) เรียกได้ว่าหากคุณเล่น Lost Judgment แล้วแต่ไม่เล่นเนื้อหารองในรั้วโรงเรียนก็จะทำให้คุณพลาดเนื้อหาไปเยอะมาก ๆ เลยทีเดียว


เกมเพลย์

ระบบการเล่นของ Lost Judgment ยังคงมีความคล้ายคลึงกับภาคก่อนหน้าและ Yakuza ที่เป็นภาคก่อนหน้า Like a Dragon คือตัวเกมเป็นแอ็คชันที่มีองค์ประกอบความเป็น RPG ที่คุณสามารถอัปสกิลเพิ่มความสามารถตัวละครได้ โดยคุณจะสามารถตระเวนไปทั่วแมปได้ในลักษณะกึ่งโอเพนเวิลด์ที่แทบจะทุกหัวมุมล้วนอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมมากมายหลากหลายให้คุณได้ผลาญเวลาในตอนที่ไม่ได้ไล่ตามความเข้มข้นของเนื้อหาหลัก ชนิดที่ว่าถ้าคุณไม่ลองเล่นกิจกรรมหรือมินิเกมต่าง ๆ เลยคุณก็เล่นไม่คุ้มค่าคุ้มราคาเกมแน่ ๆ ซึ่งภาคนี้คุณจะได้ใช้เวลาหลัก ๆ ในอิเซซากิอิจินโจที่เป็นเมืองซึ่งหลายคนอาจได้เคยไปวิ่งเล่นกันมาแล้วใน Yakuza: Like a Dragon นั่นเอง แต่คามุโร่โจเองก็ยังพอมีบทบาทอยู่นะไม่ได้หายไปไหน

สำหรับระบบต่อสู้ของเกมยังคงเป็นแอ็คชันสไตล์กระทืบศัตรูให้หมดทุกผู้คนที่ขวางหน้าเช่นเคย แถมยังมีเกจท่าพิเศษไว้ให้ใช้งานแล้วยางามิจะออกท่าต่อสู้ใส่ฝั่งตรงข้ามในแบบที่รุนแรงและโฉบเฉี่ยวประหนึ่งภาพยนตร์แนวกังฟูจากเกาะฮ่องกง ไม่ว่าจะการหลบหลีกที่พลิ้วไหว การจู่โจมที่รุนแรงราวโดนรถชน หรือการปัดป้องที่ลื่นไหลราวกับซ้อมคิวบู๊กันมานาน ยางามิจัดให้ได้หมดไม่มีพลาดสักเม็ด ส่วนในแง่การสำรวจเมืองนั้นภาคนี้จะมีอุปกรณ์พิเศษสไตล์นักสืบให้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สำหรับดักฟังเสียงจากระยะไกล หรืออุปกรณ์ดักจับคลื่นสัญญาณผิดปกติ รวมถึงการเรียกรันโปะที่เป็นเจ้าตูบน่ารักมาช่วยดมกลิ่นเพื่อตามหาร่องรอยของคน ซึ่งก็ช่วยให้บรรดาไซด์เคสที่เป็นภารกิจเสริมต่าง ๆ มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนไม่เบา

ถ้าจะให้ลงลึกถึงระบบต่อสู้ของเกมนี้ก็คือยางามิจะมีสไตล์การต่อสู้หลัก ๆ ด้วยกันสามแบบ (สี่แบบหากคุณนับ DLC) นั่นคือมวยกระเรียนที่เน้นการหลบหลีกว่องไวใช้รับมือกับศัตรูจำนวนมาก มวยพยัคฆ์ที่เน้นความดุดันรุนแรงใช้รับมือกับคู่ต่อสู้ในการสู้ตัวต่อตัวได้ดี และมวยอสรพิษที่เน้นการปัดป้องใช้สำหรับรับมือการโจมตีได้แทบทุกรูปแบบ ซึ่งทั้งสามแบบนี้ผู้เล่นสามารถสลับสับเปลี่ยนระหว่างเล่นได้ตลอดเวลา และยิ่งเล่นไปยิ่งปลดล็อกสกิลมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น จนกระทั่งว่าคุณสามารถงัดคู่ต่อสู้ลอยแล้วต่อคอมโบลากยาวได้เหมือนเล่นเกมไฟติ้งอย่าง Tekken เลยด้วยซ้ำไป สำหรับผมแล้วเห็นว่าระบบต่อสู้ในแบบแอ็คชันของภาคนี้ถือได้ว่าลื่นไหลและพัฒนาที่สุดในบรรดาซีรีส์ Yakuza ทั้งหลักทั้งสปินออฟที่ผ่านมาแล้วล่ะครับ ที่สำคัญคือภาคนี้นำระบบของสวมใส่เพื่อเพิ่มค่าพลังกลับมาแล้วจากเดิมที่ใน Judgment นั้นระบบของสวมใส่โดนตัดออกไปโดยไม่รู้สาเหตุ

ส่วนที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในภาคนี้ก็คือภารกิจสะกดรอยที่มีปริมาณน้อยลงกว่าภาคแรกมาก (อาจเพราะมีหลายคนบ่นว่ามันเยอะไปในภาคที่แล้ว) และก็ปรับปรุงให้สะดวกกับผู้เล่นมากขึ้น จากเดิมที่ยางามิจะสามารถแอบและหลบสายตาได้ในจุดที่กำหนด ภาคนี้เพียงแค่เดินไปใกล้วัตถุหรือมุมตึกแล้วยางามิก็จะทำการแอบโดยอัตโนมัติซึ่งช่วยลดความหงุดหงิดจากภาคแรกได้พอสมควรเลยทีเดียว

ระบบที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้ก็คือระบบลอบเร้น ซึ่งผู้เล่นจะไม่สามารถเลือกลอบเร้นได้เองหากแต่ตัวเกมจะกำหนดมาให้ว่าช่วงไหนที่คุณจะต้องเล่นลอบเร้น ซึ่งโดยหลักการก็ไม่ค่อยต่างกับเกมลอบเร้นอื่น ๆ ในท้องตลาดคือคุณต้องหลบสายตาศัตรูที่เดินไปมาแล้วหาโอกาสรัดคอให้สลบ หรือจะหลบหลังที่กำบังแล้วโยนเหรียญดึงความสนใจอะไรก็ว่ากันไป แต่จุดที่น่าเสียดายคือระบบนี้มันค่อนข้าง “ไม่สุด” ครับ เหมือนเป็นการใส่มาเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกว่าแตกต่างจากภาคที่แล้ว ถึงอย่างนั้นตัวระบบของมันเองหากพูดในแง่เกมลอบเร้นเพียว ๆ ยังถือว่าขาดอะไรอีกเยอะอยู่ ทั้งในแง่ความคล่องตัว ทั้งระบบการเล่นลอบเร้น ทั้งเอไอประหลาด ๆ

เรียกได้ว่าพอถึงช่วงลอบเร้นทีไรเหมือนกำลังเล่นพัสเซิลมากกว่าเพราะเส้นทางการเดินและวิธีการผ่านมักจะมีการกำหนดเอาไว้แล้วล่วงหน้า คุณไม่สามารถเล่นอะไรแผลง ๆ ได้อย่างอิสระ (ขนาดว่าการจะหลบหลังกำบังเพื่อโยนเหรียญก็ทำได้แค่ในจุดที่กำหนดแค่นั้น) ซึ่งหากคุณโดนเจอตัวเพียงครั้งเดียวก็จะถือว่าเกมโอเวอร์แล้วต้องไปเริ่มช่วงลอบเร้นใหม่ ที่ในภายหลังมันก็ชวนหงุดหงิดไม่เบาโดยเฉพาะหากคุณเพิ่งเล่นผ่านจุดที่ยางามิเตะต่อยศัตรูที่กลุ้มรุมเข้ามานับสิบจนหัวแตกปากฉีกกันไปทั้งสิบ แต่พอโดนเจอตัวในช่วงลอบเร้นกลับโดนต่อยหมัดเดียวยางามิก็ลงไปนอนมันก็ชวนขัดใจเอาซะจริง ๆ

อีกระบบที่เพิ่มเข้ามาในเกมและดูน่าสนใจในทีแรกก็คือระบบ parkour ตามสมัยนิยมของเกมโอเพนเวิลด์อื่น ๆ นี่ล่ะครับ ในทีแรกทีมงานก็ดูค่อนข้างชูจุดขายด้านระบบปีนป่ายที่คราวนี้ยางามิจะสามารถกระโดดเกาะขอบเกาะราวกั้นปีนป่ายนู่นนี่ เพื่อหาเส้นทางไปต่อที่ปกติจะทำไม่ได้ มันดูน่าสนใจจริง ๆ นะ แต่ก็เจอปัญหาเดียวกันกับระบบลอบเร้นที่กล่าวไว้ก่อนหน้าคือมัน “ไม่สุด” ครับ เพราะคุณจะสามารถปีนป่ายได้แค่ช่วงที่เกมกำหนดไว้เท่านั้นจะไม่สามารถปีนป่ายสำรวจอะไรต่าง ๆ ทั่วเมืองได้อย่างอิสระและช่วงที่มีให้ปีนป่ายก็ค่อนข้างตรงไปตรงมาไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนัก เรียกได้ว่าเป็นระบบที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าไหร่ ถือเป็นอะไรที่น่าเสียดายพอสมควร

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมทีมงานเลยจริง ๆ ก็คือระบบการเล่นเฉพาะอย่างที่ใส่เข้ามาใน School Stories นี่ล่ะครับ เพราะแทบจะทุกเรื่องราวล้วนมีระบบเกมเฉพาะเป็นของตัวเอง หากคุณดำเนินเรื่องราวของชมรมเต้น คุณก็จะได้เล่นเกมกดปุ่มตามจังหวะดนตรี หากเป็นชมรมหุ่นยนต์ก็จะได้เล่นเกมแนวแอ็คชันที่มีเป้าหมายในการยึดพื้นที่จากทีมฝั่งตรงข้าม หากไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ไปเข้าแก๊งมอเตอร์ไซค์คุณก็จะได้เล่นเกมรถแข่งที่ไม่มีกฎกติกา หรือถ้าไปยังค่ายมวยที่มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งแวะเวียนไปประจำคุณก็จะได้เล่นเกมต่อยมวยสากลที่มีระบบการเล่นต่างจากปกติ ฯลฯ ซึ่งระบบเกมแต่ละอย่างที่ว่ามาอยู่ในระดับที่เล่นสนุก ชนิดที่ผมคิดว่าแม้ระบบเกมแต่ละอย่างอาจจะไม่ลึกซึ้งเท่ากับเกมเฉพาะทางในแต่ละแบบก็ตาม แต่หากปรับปรุงและพัฒนาต่อเพิ่มเติมก็ยังสามารถทำเกมต่างหากแยกขายได้อยู่เหมือนกัน

สำหรับมินิเกมอื่น ๆ ที่มีให้เล่นก็ยังคงไม่แตกต่างจากภาคก่อน ๆ เท่าไหร่โดยเฉพาะบรรดาเกมอาร์เขดเก่า ๆ ของเซก้าเองที่มีให้เล่น หรือจะเป็นเครื่อง Master System ที่มาพร้อมเกมคลาสสิคจำนวนหนึ่งให้ได้รำลึกความหลังกัน ซึ่งมินิเกมหลายอย่างก็ไม่ได้ใส่มาให้เล่นฆ่าเวลาแต่ยังมีรางวัลเป็นไอเท็มดี ๆ มากมายที่จะช่วยให้คุณชีวิตสะดวกขึ้น หรือไม่ก็ช่วยให้เก็บอะไรต่าง ๆ ได้สมบูรณ์ 100%

โดยรวมแล้วระบบการต่อสู้ของเกมยังคงถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของเกมที่ยังคงทำได้ดีและพัฒนามากไปกว่าเดิม รับรองว่าสาแก่ใจบรรดาเซียนเกมแอ็คชั่นทั้งหลายแน่นอน ยิ่งเมื่อรวมกับไอเทมอย่าง extract ที่ช่วยให้สามารถใช้ท่าเหนือมนุษย์ได้ต่าง ๆ มากมายแล้วก็ยิ่งทำให้การต่อสู้ในเกมยิ่งเวอร์วังอลังการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เอกลักษณ์อีกประการของเกมนี้ก็คือเนื้อหารองที่ตลกโปกฮาและล้อเลียนมันแทบจะทุกสรรพสิ่งที่เป็นป็อปคัลเจอร์นี่ล่ะครับ ตัดอารมณ์กับเนื้อหาหลักที่มืดมนและจริงจังกันแบบแทบจะนึกว่าเป็นคนละเกม หากคุณเล่นบรรดาไซด์เคสหรือภารกิจรองของเกม คุณจะได้พบกับเนื้อหาและตัวละครสุดบ้าบอขำขันมากมาย บ้างก็ใส่อ้างอิงกันลงมาตรง ๆ บ้างก็แบบอ้อม ๆ ชนิดที่มองปราดเดียวก็รู้ว่าจะล้ออะไร ดังนั้นถ้าคุณเล่นแค่เนื้อเรื่องหลักและไม่แตะไซด์เคสเลยก็จะพลาดอะไรดี ๆ ไปเยอะมากเช่นเดียวกัน


กราฟิก

สำหรับกราฟิกของภาคนี้หากเทียบกับภาคแรกฉบับรีมาสเตอร์แล้วให้ความรู้สึกที่ไม่ค่อยต่างกันมากครับ แต่คือพวกรายละเอียดสีหน้าท่าทางของบรรดาตัวละครหลักนั้นทำออกมาได้ดีอยู่แล้ว แม้แต่ตัวเอกอย่างยางามิเองก็มีการแสดงสีหน้าหลากหลายแบบพอสมควรตามแต่ละสถานการณ์ รวมถึงพื้นผิวของพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ทำออกมาได้ละเอียดอยู่ แต่สำหรับพวกวัตถุประกอบฉากบางจุดที่ไม่สำคัญก็จะไม่ละเอียดมาก (ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทีมงานก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำให้มันละเอียดเกินความเป็นจริง)

ทั้งนี้ เกมเวอร์ชัน PS5 จะมีตัวเลือกกราฟิกสองแบบคือเน้นที่ความลื่นไหลกับเน้นกราฟิก ผมได้ลองปรับแบบเน้นกราฟิกแล้วก็พบว่าโมเดลตัวละครนี่ละเอียดขึ้นแบบเห็นได้ชัดเลยถ้าเทียบกัน แต่ต้องแลกมากับเฟรมเรตที่ลดลงอย่างรู้สึกได้ชัดเจนเหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนตัวกับเกมแอ็คชั่นแบบนี้ผมก็เลือกเฟรมเรตลื่น ๆ ออกหมัดออกท่ากันดูฉับไวมากกว่าความสวยงามล่ะนะครับ


เสียงพากย์และเพลงประกอบ

เสียงพากย์ของแต่ละตัวละครนั้นยังทำออกมาได้ยอดเยี่ยมเช่นเคยและเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของเกมนี้เลย ตลอดทั้งเกมคุณจะรู้สึกได้ถึงความคับแค้นใจของผู้เป็นพ่อที่ลูกชายโดนกลั่นแกล้งจนฆ่าตัวตายและระบบยุติธรรมก็ไม่ยอมให้ความเป็นธรรมแก่เขา ความเจ็บปวดและเสียใจของผู้เป็นแม่ที่ลูกชายกระโดดตึกจนกลายเป็นเจ้าชายนิทรามาสิบสามปีเต็มและต้องรอคอยอย่างไร้ความหวังว่าสักวันลูกชายจะลืมตาอีกครั้ง หรือผู้เป็นครูที่อึดอัดคับข้องใจกับการรับรู้ว่ามีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น แต่อาจารย์คนอื่น ๆ รอบข้างต่างโน้มน้าวให้ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เมื่อรวมเข้ากับเรื่องราวที่เข้มข้นและซับซ้อนของเกมก็ยิ่งส่งให้ทุกอย่างดียิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับเพลงประกอบของเกมนี้ก็เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมครับ มีหลายท่วงทำนองเลยที่ติดหูและชวนให้เล่นได้อย่างสนุกขึ้น โดยเฉพาะเพลงประกอบฉากสู้ในตอนที่เปลี่ยนสไตล์ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับคราว Yakuza 0 เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเป็นมวยพยัคฆ์ที่เน้นความดุดันเพลงประกอบก็จะเต็มไปด้วยเสียงกลองที่หนักหน่วงและบีทที่ดุดันให้คุณพร้อมกระแทกหมัดกระแทกฝ่ามือใส่ใครก็ตามที่ดาหน้าเข้ามา พอสลับไปเป็นมวยกระเรียนก็จะมีท่วงทำนองที่แหลมเล็กระรัวพร้อมจังหวะที่เร่งเร้าให้คุณพร้อมขยับขาหวดเข้าใส่ซี่โครงฝั่งตรงข้าม และเมื่อเป็นมวยงูจังหวะของเพลงก็จะมีจุดผ่อนจุดเร่งบางช่วงฟังดูสงบแต่แล้วเพลงก็เร่งจังหวะขึ้นในทันทีทันใดราวกับคุณที่รอคอยการโจมตีเพื่อปัดป้องแล้วจับคู่ต่อสู้เหวี่ยงกระแทกพื้นในพริบตา

ในส่วนของบทเพลงประจำภาคอย่าง Rasen นั้นหลังจากเล่นจบแล้วมาลองฟังอีกรอบรวมถึงรู้คำแปลเพลงแล้ว คงบอกได้แค่เพียงว่าเป็นเพลงที่มืดมนแต่ก็เหมาะสมอย่างยิ่งกับโทนของเกมในภาคนี้ครับ


สรุป

Lost Judgment ถือเป็นอีกหนึ่งเกมภาคต่อในซีรีส์ Yakuza ที่ยังคงสนุกและเต็มไปด้วยเสน่ห์เดิม ๆ ครบครัน ระบบต่อสู้ยังคงเป็นจุดแข็งของซีรีส์ไม่เสื่อมคลาย และผมก็ชอบที่ทีมงานทดลองใส่ระบบอื่น ๆ ลงมาเพิ่มความหลากหลายให้กับตัวเกม แค่เสียดายที่ว่าถ้าระบบใหม่ ๆ ที่ใส่ลงมาได้รับการเกลาระบบให้มากกว่านี้ก็คงจะยอดเยี่ยมกว่าที่เป็นอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นใน Lost Judgment นี่ผมก็แทบจะรู้สึกว่าได้เล่นเป็นสิบเกมในเกมเดียวแล้วล่ะครับ (ยังไม่นับพวกเกมของเซก้าจริง ๆ ที่ใส่ลงมาเป็นมินิเกมอีกนะ) หากคุณชื่นชอบซีรีส์นี้เป็นทุนเดิมไม่มีผิดหวังแน่นอน และหากคุณไม่เคยลองเล่นเลยก็อยากให้หามาลองกันแล้วคุณอาจได้ซีรีส์โปรดเพิ่มก็เป็นได้ครับ

The Review

95% เหตุเพราะผู้คนล้วนวางเฉย เลยกลายเป็นความยุติธรรมอันสาบสูญ

ถือเป็นภาคต่อคุณภาพสูงในซีรีส์สปินออฟจาก Yakuza ที่พยายามใส่ระบบอันหลากหลายเข้ามาสร้างความแตกต่าง แต่อาจต้องใช้เวลาเกลาอีกสักหน่อยจึงจะลงตัว

95%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์