Reviews

Marvel’s Guardians of the Galaxy – รีวิว [REVIEW]

โดย ปอลนาโช่

รีวิว [REVIEW] Marvel’s Guardians of the Galaxy

*ขอขอบคุณบริษัท Square Enix และ Bandai Namco Entertainment Asia สำหรับโค้ดรีวิวมา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PS5

ผมเพิ่งเล่นเกม Marvel’s Guardians of the Galaxy ผลงานจากทีม Eidos-Montréal (ผู้สร้าง Deus Ex: Mankind Divided) จบลงอย่างสมบูรณ์ไปเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยหลังเล่นจบ ผมเกิดความรู้สึกแบ่งแยกขึ้นในใจอย่างชัดเจนครับ…คือผมอยากจะรักเกมนี้ให้มาก ๆ สมกับที่ส่วนตัวแล้วผมเป็นแฟนหนังเดนตายของค่ายมาร์เวล ทว่า…หลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฏอยู่ในเกมที่ได้เล่นจบไป มันเป็นปมสำคัญ ที่ผมถือเป็นหน้าที่ต้องนำมาบอกกล่าวกับทุกท่านให้ทราบกันก่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการตัดสินใจกันว่า เกม ๆ นี้ เป็นอย่างที่ท่านคาดหวังกันไว้หรือไม่

อันดับแรก ก่อนที่จะไปชำแหละกันทีละส่วน ผมขอปูพื้นให้ทราบก่อนเลยว่า Marvel’s Guardians of the Galaxy เกมนี้เป็น “แอ็กชั่นแอดเวนเจอร์” นะครับ ไม่ใช่เกม RPG, ไม่ใช่เกมโอเพ่นเวิลด์ แต่อาจมีหยิบยืม “สไตล์” บางอย่างมาจากเกมแนว jRPG อยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก ๆ ครับ

ที่สำคัญอีกอย่างคือ Marvel’s Guardians of the Galaxy เป็นผลงานที่เน้น “เนื้อเรื่อง” มากถึงมากที่สุด โดยมากแค่ไหนนั้น…ให้รออ่านในหัวข้อที่จะกล่าวถึงต่อไป

Story

ประเด็นแรกมาว่ากันด้วย “พล็อต” เริ่มเรื่องคร่าว ๆ กันก่อน โดยเนื้อเรื่องของ Marvel’s Guardians of the Galaxy เกิดขึ้นหลายปีหลังจากสงครามระหว่างดวงดาวครั้งใหญ่ที่ทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ซึ่งในภาวะแห่งความวุ่นวายนี้ ทางทีมการ์เดียนส์ ก็สบช่อง หวังหาลู่ทางหากินโดยบุกเข้าพื้นที่ต้องห้าม กะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ แต่สุดท้ายเหตุการณ์ดังกล่าวก็นำไปพบกับความโกลาหลและปัญหาซับซ้อนที่อาจกลายเป็นหายนะระดับจักรวาล ที่ปีเตอร์ ควิลล์ ต้องนำลูกทีมแก้ปัญหานี้ให้จงได้

ด้านตัวอย่างเกมที่เผยแพร่กันมามากมาย ระบุตัวร้ายที่คุณต้องเจอคือ แกรนด์ ยูนิไฟเออร์ เรเกอร์ (Grand Unifier Raker) ผู้นำลัทธิ Universal Church of Truth ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น…แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ เพราะขอบอกเลยว่า ในเกมคุณจะเจอคนดังจากจักรวาลการ์ตูนมาร์เวล มาโผล่ในเกมอีกเพียบ มีทั้งที่มาช่วยเหลือคุณ และที่มารับบทตัวร้าย ซึ่งในข้อสัญญาการทำรีวิวชิ้นนี้ เขาขอมาว่าห้ามเปิดเผย ดังนั้น เตรียมตัวไปลุ้นกันเองนะครับ แต่เชื่อผมเถอะ เขาเลือกมาดี ถูกใจแฟนคลับมาร์เวลแน่นอน

ขวามือสุด – ร็อกเก็ต (ไม่ใช่แรคคูน!) ตัวขโมยซีนประจำเกมนี้อย่างแท้จริง

ตัวเกมมีทั้งหมด 16 บท ซึ่งผมใช้เวลาเล่นไปราว 16 ชั่วโมงโดยประมาณ ตลอดทั้งเกมคุณจะได้เล่นเป็นสตาร์-ลอร์ด คนเดียวเท่านั้น ส่วนคนอื่นในทีม ได้แก่ กรูท, กาโมร่า, แดร็กซ์, ร็อกเก็ต คุณทำได้แค่เลือกคอมมานด์การใช้ท่าระหว่างสู้ สรุปคือเกมนี้จะเดินเรื่องผ่านมุมมองของ ปีเตอร์ “สตาร์ลอร์ด” ควิลล์ คนเดียว

ทั้งนี้ ตัวเกมเน้นการเดินเรื่องเหมือนกับ “การชมภาพยนตร์ฮีโร่มาร์เวล” จึงทำให้เกมเต็มไปด้วยคัตซีน, บทสนทนา, การเลือกช้อยส์…ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ช่วงหลังของเกม แม้แต่จังหวะจะโคนของแต่ละแชปเตอร์ ยังเน้นสลับแอ็กชั่น, ดราม่า, โคเมดี้ แบบเดียวกับเทคนิคภาพยนตร์อีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวเกมเดินเรื่องด้วยภาษาหนังนั่นเอง

แล้วที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่า เกมเขาเน้นหนักเรื่องเนื้อเรื่องก็เพราะมีตัวอย่างว่า บางแชปเตอร์ คุณจะแทบไม่มีการเล่นใด ๆ เลย เพราะเกมจะให้คุณดูคัดซีนและสำรวจฉากอย่างเดียวเท่านั้น!

Gameplay

Marvel’s Guardians of the Galaxy มีโครงสร้างหลักเป็นเกมแอ็กชั่นผจญภัย ตัวเกมจะไม่มีแผนที่ให้กดดู คุณจะเดินทางไปตามฉากที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรง (คล้าย ๆ เกมอันชาร์ตเต็ด…แต่อยู่ในอวกาศแทน) ระหว่างทางก็จะมีปีนป่าย, ไขปริศนาเพื่อเปิดทางที่ดูเหมือนทางตัน ให้ไปต่อได้ สลับกับการปะทะศัตรู

ทีนี้ หนึ่งในทีเด็ดแก้เบื่อระหว่างทางนี้ก็คือ “บทสนทนา” ระหว่างเพื่อนร่วมทีมครับ! นี่คือความสนุกสุดยอดสำหรับผู้เขียน เพราะทีมการ์เดียนยิงมุกโบ๊ะบ๊ะกันตลอดทั้งเกม ทุกฉาก ทุกตอน แทบไม่มีความเงียบใด ๆ ในเกมนี้ และมุกเหล่านั้นเขียนบทกันมาดีมาก! ขำจริงฮาจริง มีบางจังหวะผมถึงกับวางจอยเพื่อพักหัวเราะไปกับมุกของเจ้าร็อกเก็ต…อย่างไรก็ดีนี่อาจเป็นปัญหาสำหรับหลายคนที่ยังไม่ถนัดรับฟังบทสนทนาที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ซึ่งเกมเมอร์หลายท่านอาจต้องพิจารณาให้ดีก่อนควักเงินซื้อ

การหยิบยืมระบบเกม

ทีนี้ระหว่างผจญภัย มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจ นั่นก็คือ ผมไม่เห็นฟีเจอร์เกมที่คล้ายคลึงกับเกมในแฟรนไชส์ Deus Ex แม้แต่น้อย ถึงแม้จะทีมงานเดียวกันก็ตาม แต่กลับพบฟีเจอร์เด่นจากเกมอื่น ๆ แทน (โปรดดูภาพประกอบ) ตัวอย่างชัดเจนเลยก็คือ ระบบการแก้พัซเซิลด้วยการเชื่อมต่อ/ปรับเปลี่ยนเส้นทางของวงจรพลังงานแบบเดียวกับเกม Watch Dogs แล้วก็ระบบการสแกนหาเบาะแสตามฉากแบบเดียวกับเกมเมทรอยด์ ไพรม์ เป๊ะเลยครับ

พูดถึงเรื่องระบบพัซเซิลเหล่านี้ เข้าใจว่าทีมงานใส่มาเพื่อเพิ่มความหลากหลาย และเพื่อเปลี่ยนอารมณ์เกมในบางจังหวะ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่ามันค่อนข้างตกยุคไปบ้างเหมือนกันนะ เล่นแล้วไม่ค่อยว้าวเท่าไหร่

แต่! มีพัซเซิลอีกแบบในเกม ที่ต้องใช้การฟังคำใบ้และตีความ จากนั้นต้อง “เลือก” การกระทำในเวลาที่จำกัด อันนี้สิของดี ผมพบว่าพัซเซิลแบบนี้สร้างอิมแพ็กต่อผู้เล่นได้ดีกว่ามากเลยครับ ขอซูฮกให้ทีมงานสำหรับการออกแบบดังกล่าว (เสียดายผมเล่ามากไม่ได้ เพราะถ้าเล่าไปก็จะเดา “เฉลย” กันได้แน่ ๆ เอาเป็นว่าไปลองเล่นกันดูนะครับ)

พัซเซิลแบบเกมวอชด็อกส์

ปัญหาระบบการต่อสู้

ด้านระบบการต่อสู้ ถือเป็นจุดน่ากังขาสำคัญสำหรับ Marvel’s Guardians of the Galaxy โดยตัวเกมมีระบบการต่อสู้เป็นแอ็กชั่นเรียลไทม์ สตาร์-ลอร์ด มีปืนคู่ที่พลังทำลายแสนต่ำต้อย จึงต้องอาศัยการวางแผนสั่งการเพื่อนร่วมทีมให้คอยใช้ท่าพิเศษตามจังหวะที่ตัวเอกต้องการ

เพื่อนร่วมทีมทั้ง 4 คนจะมีท่าพิเศษคนละ 3 ท่าให้อัปเกรดกันได้แค่นี้ตลอดทั้งเกม พออัปครบ 3 ท่าแล้วก็จะปลดล็อกท่าพิเศษสุดท้ายเป็นท่าที่ 4 โดยเวลาที่ผู้เล่นจะออกคำสั่ง ก็ทำได้ด้วยการกด L1 แล้วเลือกเอาว่าจะใช้ท่าไหนของใคร ด้านศัตรูจะมีพลังชีวิตแล้วก็แถบพลัง stagger (มึนงง, ซวนเซ) ที่บรรดาบอส หรือลูกจ๊อกตัวเบิ้ม ๆ นั้นคุณจำเป็นต้องอัดมันให้มึนก่อน ถึงจะโจมตีไปลดพลังชีวิตมันได้ ขณะที่ท่าพิเศษของเพื่อนร่วมทีม ก็จะมีทั้งที่เน้นลดพลังชีวิต หรือเน้นเฉพาะการทำให้มึนโดยเร็ว

เท่านั้นยังไม่พอ, พอเล่นไปเรื่อย ๆ ปีเตอร์ ควิลล์ จะสามารถเพิ่มพลังธาตุให้กับปืนได้ ซึ่งใช้ยิงใส่ศัตรูที่แพ้ทางธาตุต่าง ๆ เหล่านั้นให้เกิดอาการ stagger ได้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

ผลที่ได้ออกมาก็คือ, คุณจะคอยวิ่งวนรอบ ๆ ฉาก เพื่อหาจังหวะรอใช้คอมมานด์จากเพื่อน ๆ จากนั้นก็รอช่วงคูลดาวน์ แล้วกดใช้ใหม่ ตัวคุณเองก็มีพลังพิเศษไม่ต่างกัน (กด L3) ซึ่งทุกการปะทะในเกมนี้ชวนให้ชุลมุนงุนงงเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลายครั้ง คุณไม่ได้เจอศัตรูที่ตั้งป้อมรอให้เห็นอยู่ข้างหน้าแบบเกมอย่างแมสเอฟเฟ็กต์ แต่มักจะเป็นการจับคุณโยนลงกลางวงเอเลี่ยน แบบเดียวกับเวลาปะทะมอนฯ ในเกม jRPG ซึ่งมันสับสนวุ่นวายมากครับ จริง ๆ ถ้าจะออกแบบเกมลักษณะนี้ น่าจะให้กดหยุดเพื่อใส่คอมมานด์ได้สะดวกแบบเกมยากูซ่า 7 ไปเลยดีกว่า (จริง ๆ ตัวเกมจะมีช่วงหน่วงเวลาให้ใส่คอมมานด์นะ แต่ศัตรูมีจำนวนมาก แล้วก็โจมตีหนัก บ่อยครั้งที่ขนาดหน่วงแล้วก็ยังไม่ทัน) จนผมพบว่าการต่อสู้ในเกมนี้สนุกในช่วงแรก แต่เหนื่อยในช่วงหลังครับ

ข้อกังวลเรื่องบั๊ก

มาถึงประเด็นสำคัญที่ผมรู้สึกเป็นห่วงมาก ๆ นั่นคือ ผมพบว่าในเกมนี้มีบั๊กและความไม่สมบูรณ์อยู่เยอะพอสมควร ทั้งนี้ ทาง Square Enix แจ้งผมมาแล้วว่าเวอร์ชั่นรีวิวที่ผมเล่นคือแบบโกลด์มาสเตอร์ ยังต้องรอเดย์ 1 แพตช์เพื่อแก้ไขจุดต่าง ๆ อีกหลายแห่งด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มีบั๊กหลายแห่งที่ผมเห็นว่าควรจดโน้ตไว้ให้กับพวกคุณ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานไว้ก่อน จะได้ช่วยกันสังเกตตอนเกมออก อาทิ บั๊กตัวละครจมเข้าไปในวัตถุในฉาก, ค่าเซตติ้งที่เราตั้งเอาไว้ พอเซฟเกมออกมาแล้วเข้าไปเล่นใหม่ ค่าตีกลับไปเป็นดีฟอลต์ทุกครั้ง, เมนูอัปเกรดตัวละครที่ปุ่ม Back หาย ทำให้กดออกมาหน้าจอเล่นเกมปกติไม่ได้ จนต้องรีสตาร์ตเกมใหม่, ซับไตเติลหายไปจากหน้าจอหลายท่อน ก่อนโผล่กลับมาเอง ฯลฯ

ซึ่งปัญหาที่พบเหล่านี้ จริง ๆ ไม่ได้ร้ายแรงและน่าจะแก้ไขง่าย ซึ่งผมเชื่อและหวังว่า ทางทีมงานจะต้องแก้ไขได้อย่างแน่นอนในการอัปแพตช์ที่จะมีมาในอนาคต

Graphic & Soundtrack

จุดแข็งด้านงานภาพในเกมนี้ไม่ได้อยู่ที่ความละเอียด หรือคมชัดแสงเงาสุดสมจริงอะไรแบบนั้น…หากแต่อยู่ที่อาร์ตสไตล์ หรือการออกแบบต่างหากครับ ที่แหวกแนว หวือหวาสมเป็นเกมจากหนังการ์เดียนฯ การออกแบบสภาพแวดล้อมต่างดาวในแชปเตอร์ต่าง ๆ นั้นดูสะดุดตา แปลกใหม่ น่าดูมากครับ ขอยกนิ้วให้เลย

ทางด้านเพลงประกอบ ไม่อยากจะบอกเลยว่าผู้เขียนเกิดและโตทันยุคเพลงร็อค 80 แบบในเกมนี้เลยแหละ ทำให้การเล่น Marvel’s Guardians of the Galaxy ของผมอินถึงขีดสุดในบางจังหวะที่เพลงดังขึ้นมา แถมตัวเกมยังเน้นหนักในเรื่องดนตรีประกอบมาก ๆ โดยในยานอวกาศ “มิลาโน่” ของทีมการ์เดียนฯ จะมีวิทยุให้เลือกเปิดเพลงฟังได้ ซึ่งทุกเพลงมีหน้าปกอัลบั้มให้ดูจริง ๆ และเพลงก็มีให้เลือกเยอะมาก ขณะที่ฉากต่อสู้ก็จะมีเพลงปลุกใจแบบขลัง ๆ ดังประกอบการสู้ด้วย อาทิ ไฟนอล เคาท์ดาวน์ ดังกระหึ่มในจังหวะที่สู้บอสเป็นต้น

เสริมอีกนิดก็คือ ในฉากต่อสู้พัวพัน ผู้เล่นยังมีไม้ตายสุดท้ายเพื่อพลิกสถานการณ์ นั่นคือการฮัดเดิลอัป (กด L1 + R1) ก็คือการเรียกทุกคนมาล้อมวงฟังคำพูดปลุกใจ จากนั้นทุกคนจะมีร่างทนทานต่อการโจมตีเป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งจังหวะดังกล่าวจะมาพร้อมเพลงจากซาวด์อะเบาท์ของสตาร์-ลอร์ด…มันโคตรเท่อ่ะบอกเลย!

Huddle up!

Summary

ก่อนหน้านี้หัวหน้าฝ่ายการดำเนินเรื่องของ Marvel’s Guardians of the Galaxy ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อทุกเจ้าแบบชัดเจนเลยว่า ตัวเกมจะให้ประสบการณ์การเล่นที่สมบูรณ์พร้อมในแพ็กเกจเดียว จะไม่มีการทำ DLC เนื้อเรื่องเสริม หรือขายคอนเทนต์ microtransaction ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเสียใจกับแนวทางนี้ครับ…เพราะหลังจากเล่นจบ ผมยังอยากเล่นต่อ ยังอยากได้เรื่องราวตอนต่อ ๆ ไปของเหล่าการ์เดียน อยากฟังการต่อปากต่อคำระหว่างร็อคเก็ตกับปีเตอร์ อยากฟังมุกฝืด ๆ (แต่จังหวะนรก…แบบสุดฮา) ของแดรกซ์ จอมทำลายล้าง, อยากใช้เวลาคุยกับกาโมร่าให้มากกว่านี้, อยากฟัง “ไอ แอม กรูท” อีกหลาย ๆ ครั้ง…

ถึงผมจะหักแต้มจากเรื่องระบบการต่อสู้กับความบั๊กฟุ่มเฟือยในทุกฉาก แต่มันก็แค่ 2 จุดเท่านั้น เพราะที่เหลือทั้งหมดคือความสนุกประทับใจที่ได้ตลอดระยะเวลาการเล่น นี่คือเกมจากหนังมาร์เวลที่ผมถือว่าทำได้ดี และสามารถเป็นบรรทัดฐานขั้นต้นให้แฟรนไชส์อื่น ๆ ของมาร์เวลาเดินตามอย่างได้เลยครับ

GOOD

  • เนื้อเรื่องสนุกมาก พล็อตดี บทสนทนาเด็ด (หมายเหตุ: เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด)
  • เกมสวย ฉากสวยมากกกก เพลงประกอบเพราะ
  • เกมเล่นได้นานพอสมควร จบแล้วมีนิวเกมพลัสให้เล่น

BAD

  • ระบบต่อสู้สับสนวุ่นวาย
  • บั๊กค่อนข้างเยอะ ควรตามข่าวการแก้ไขจากแพตช์ที่จะออกหลังเกมจำหน่ายให้ดี

The Review

80%

เล่นเกมนี้จบเหมือนได้ดูหนังฮีโร่มาร์เวลสนุก ๆ เรื่องหนึ่ง คุณอาจมีตินู่นตินี่บ้างเวลาเดินออกจากโรง แต่คุณก็ยังสนุกและยังคงคิดถึงเนื้อเรื่องที่เพิ่งได้ดูผ่านไป "ความประทับใจ" นั่นแหละครับ คือแก่นสำคัญที่คุณจะได้จากเกมนี้, Marvel's Guardians of the Galaxy

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์