Games Reviews

Yupitergrad – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Yupitergrad – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก SCRYsoft มา ณ โอกาสนี้ครับ

Yupitergrad เป็นเกม VR ที่คงสามารถนิยามได้ว่าเป็นเกมที่ค่อนข้างแปลกและจงใจนำเสนอออกมาในเชิงจิกกัดเสียดสีเล็ก ๆ เพราะบรรยากาศในเกมรวมถึงพวกเพลงประกอบนี่จงใจพาโรดี้บรรยากาศแบบสลาฟ ที่เห็นแว้บแรกทุกคนก็คงคุ้นเคยกันดีจากบรรดาหนังฮอลลีวู้ดนั่นแหละครับ แถมพวกบรรดาเพลงประกอบเอย บทสนทนาเอยก็ตั้งใจเสียดสีกันแบบไม่มีเหนียมไม่มีกั๊ก แต่เอาล่ะ ผมจะมาลงรายละเอียดความรู้สึกในแต่ละส่วนที่ผมมีต่อเกมนี้ให้ฟังกัน


เนื้อเรื่อง

เอาตรง ๆ เลย เนื้อเรื่องเกมนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับแถมไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเกมด้วย ว่าง่าย ๆ ก็คือตัวเราเป็นนักบินอวกาศที่ได้รับหน้าที่ให้เดินทางไปสู่สถานีอวกาศที่มีชื่อว่า Yupitergrad ตามชื่อเกมนั่นแหละ แล้วหน้าที่ของคุณก็คือการไปเปิดเครื่องจักรเพื่อสร้างพลังงานยั่งยืนในสถานีตามลำพัง แล้วถามว่าทำไมต้องเป็นคุณล่ะ? ก็เพราะว่าคนอื่น ๆ ในสถานีอวกาศแห่งนี้ดันหายหัวกันไปเรียบจากการลาพักร้อนกันยาว…ดังนั้น ผลกรรมจึงตกมาอยู่กับคุณที่ต้องไปทำนั่นนี่เองทุกอย่างสากกะเบือยันเรือรบ แต่จะบ่นไปทำไมเพราะสิ่งที่คุณทำนั้นทำไปเพื่อมิตรสหายสายอุดมการณ์สีแดงทุกคน! เพราะงั้นอย่าบ่น ทำไปซะ!

ก็นั่นแหละครับ ตัวเนื้อหาเกมหลัก ๆ ก็แบบนั้น ซึ่งก็อย่างที่หลายคนคงจะเดาได้ว่าในตอนจบจะต้องมีจุดหักมุม มีอะไรตามสไตล์ แต่ก็อย่างที่เน้นย้ำไปในตอนแรก ว่าเนื้อเรื่องมันไม่ใช่จุดขายของเกมนี้แค่มีไว้ไม่ให้เหงา และมีเพื่อไม่ให้เกมมันเงียบเกินไปเท่านั้นเพราะตลอดเกมคุณจะได้ยินเสียงพากย์ที่ชวนคุณคุยอยู่แค่สองคนนั่นคือผู้บังคับบัญชาของคุณอย่างผู้พันวาร์นิคอฟ (Varnikov) และเอไอที่คอยชวนคุยอย่างไอช่า (AI-sha) ส่วนตัวคุณจะใบ้ทั้งเกม ซึ่งระหว่างทางทั้งสองก็จะมีบทสนทนาประปราย โดยเฉพาไอช่าที่มักหยอดมุกจิกกัดทุนนิยมลงมาเนือง ๆ และก็ชื่นชมสังคมนิยม (ในเชิงเสียดสีอีกเช่นกัน) ลงมาเนือง ๆ ไม่มีการเลือกข้างเลือกฝ่ายอะไรใด ๆ เพราะเกมมันกัดทั้งสองขั้วครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นมุกส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ถึงกับขำก๊ากหัวร่องอหายล่ะนะครับ แต่อาจทำให้หึ ๆ ยักไหล่ขึ้นมาได้บ้างไม่ถึงกับกัดจมเขี้ยวเลือดอาบ (อาจเพราะทีมพัฒนากลัวมิสไซล์ไปเยี่ยมหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้)


เกมเพลย์

เกมเพลย์นี่ให้พูดตรง ๆ มีอย่างเดียวเลยครับ คือคุณต้องใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่สามมิติประหนึ่งใน Attack on Titan ที่มาในรูปทรงของกระบอกปืนที่มีปลายเป็นจุกยางปั๊มส้วม (ใช่ครับ อ่านไม่ผิด) แล้วยิงจุกยางไปเกาะตามพื้นผิวต่าง ๆ ที่เกาะได้ จะฝ้าเพดาน จะผนัง หรือพวกแพลตฟอร์มที่เคลื่อนที่ไปมา ซึ่งมีข้อแม้ว่าได้เฉพาะพื้นผิวที่เป็นสีฟ้าเท่านั้นด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม

ซึ่งทั้งเกมนี่คุณก็จะสาละวนกับการเดินทางโดยปืนจุกยางปั๊มส้วมนี่แหละครับ ทั้งการมองหาทางไปต่อ และยิ่งเล่นไปคุณก็จะเจออุปสรรคต่าง ๆ นานาระหว่างทางเป็นพวกกับดัก environmental hazard ทั้งหลายทั้งแหล่ จนดูแล้วไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าคนสร้างสถานีอวกาศแห่งนี้มันคิดอะไรอยู่ตอนสร้าง ทำไมทำเส้นทางสัญจรปกติมนุษย์กันไม่เป็น

ถ้าพูดกันในแง่ของการบังคับควบคุมนั้น โดยหลักเลยคุณจะต้องใช้วิธีการยิงจุกยางไปเกาะพื้นผิวจากนั้นก็ “กระตุก” แขนเพื่อดึงตัวเองไปยังจุดที่ยิงไปเกาะ (ไม่ก็กดปุ่มเพื่อค่อย ๆ เก็บสายเชือกดึงตัวเองไปตรงนั้น) จากที่เล่นมาตั้งแต่ต้นจนจบก็ถือว่าตอบสนองดีในระดับนึงครับ ทุกอย่างทันใจและเวลาเราขยับมือขยับแขนก็ไม่มีผิดตำแหน่งเพี้ยนตำแหน่งอะไรแบบนั้น แต่ปัญหาคือการฝ่าด่านกับดักในแต่ละจุดนี่แหละที่เกมบังคับว่าคนเล่นต้องค่อนข้างเป๊ะ องศาต้องได้ หาไม่แล้วคุณก็จะพุ่งไปหน้ากระแทกใส่กับดักจนกลายเป็นนักบินอวกาศบด แล้วคือช่วงหลังนี่การจัดวางกับดักค่อนข้างชั่วร้ายจนผมสบถด่าออกมาระหว่างเล่นบ่อยเหมือนกัน (ย้อนไปดูวรรคก่อนหน้าที่ผมสงสัยว่าทำไมที่นี่มันทำทางสัญจรแบบปุถุชนกันไม่เป็น)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดหนึ่งที่ทำให้ผมแอบหงุดหงิดเลยจริง ๆ ก็คือตัวเรามันเดินแบบปกติไม่ได้ครับ การเคลื่อนไหวในแบบมนุษย์ปุถุชนที่ร่างกายสมบูรณ์พร้อมครบ 32 ประการอย่างการเดินนั้นคุณทำไม่ได้ในเกมนี้ แล้วเกมนี้มีการเคลื่อนไหวในแนวราบไหม? มันก็มีครับ แต่มาในรูปแบบของไอพ่นแรงดันน้ำที่ติดกับเจ้าปืนจุกยางของคุณนี่แหละ ซึ่งถ้าเป็นบนพื้นปกติคุณจะเคลื่อนที่ได้ในระยะสั้น ๆ เพราะถ้าน้ำหมดคุณก็ต้องรอมันชาร์จครู่หนึ่งจึงจะเคลื่อนที่ได้ต่อ ส่วนถ้าอยู่ในน้ำก็พุ่งไปเลยแบบไม่มีลิมิต แน่นอนล่ะว่าการจะเคลื่อนที่ไปในจุดที่คุณต้องการ คุณต้องคำนึงถึงปลายท่อที่จะส่งแรงดันออกมาเพื่อผลักร่างคุณไปในจุดที่ต้องการ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าคุณจะไปทางขวาคุณต้องพลิกมือให้ปลายคอนโทรลเลอร์หันไปทางซ้าย และถ้าจะไปทางซ้ายก็ต้องหันปลายคอนโทรลเลอร์ไปทางขวา ถ้าจะขึ้นบนคุณก็ตั้งข้อมือปกติให้นิ้วโป้งชี้ขึ้น แต่ถ้าจะลงล่างคุณก็ต้องพลิกข้อมือลงให้นิ้วโป้งชี้ลงด้านล่าง ซึ่งระบบแบบนี้มันก็โอเคถูไถในระดับนึง แต่พอเราไม่สามารถเดินปกติได้นี่ผมก็เจอเหตุการณ์ประเภทแค่ขยับอีกก้าวสองก้าวก็พ้นรัศมีกับดักแล้วจะเข้าประตูได้อย่างปลอดภัย แต่เผอิญตัวเรามันดันมีรากงอกกับพื้นเลยทำได้แต่ยืนนิ่ง ๆ รอท่อนเหล็กยักษ์มาหวดหน้าแล้วไปเริ่มใหม่ครับ

รวม ๆ แล้วแก่นของเกมนี้มีลักษณะของ environmental puzzle ให้คุณมองหาลู่ทางว่าจะไปต่อยังไง ต้องทำอะไรให้ไปถึงเป้าหมายได้โดยสวัสดิภาพ ซึ่งมันก็บันเทิงอยู่นะ แต่พออยู่ในสถานการณ์บังคับที่ว่าวิธีการเคลื่อนที่หลักของคุณคือการทำตัวประหนึ่งเป็นคนคอสเพลย์สไปเดอร์แมนที่ตัวคุณเองก็ไม่ได้เคลื่อนไหวคล่องตัวขนาดนั้น (หรือใครจะจินตนาการตนเองเป็นสมาชิกหน่วยสำรวจที่ซ้อมรับมือกับไททันก็สุดแท้แต่) แถมไม่สามารถม้วนตัวตีลังกาหลบอันตรายได้ประหนึ่งมีสัญชาตญาณแมงมุม พอต้องเล่นใหม่หลายครั้งหลายคราวมันก็ชวนหัวร้อนได้ง่าย ๆ ครับ

เกมมีโหมดเล่นทำเวลา มีลีดเดอร์บอร์ดให้แข่งกับคนอื่นด้วยนะ แต่ถ้าใครที่ไม่ได้รู้สึกสนุกกับระบบเกมหลักขนาดนั้น อาจจะมองว่าไม่น่าสนใจไปเลยก็ได้ เพราะนอกจากสิ่งที่ว่ามาตัวเกมก็ไม่มีอะไรอย่างอื่น ไม่มี collectibles ให้เก็บ ไม่มีความลับให้ค้นหา ไม่มีเส้นทางลับอะไรใด ๆ ตัวเกมจะเป็นเส้นตรงที่ผู้เล่นจะต้องหาวิธีผ่านสิ่งกีดขวางไปให้ได้แค่นั้น


กราฟิก

กราฟิกของเกมนี้ก็ไม่ใช่จุดขายอีกนั่นแหละครับ เพราะสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นำเสนอในรูปแบบของภาพแบบเซลเฉดให้ดูเป็นการ์ตูนไปเลย ไม่เน้นความสมจริง มีจุดที่น่าเสียดายก็คือความหลากหลายด้านการออกแบบฉากนั้นค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้เห็นแต่ทางเดินยาว ๆ ที่ผนังเป็นเหล็กซะส่วนมาก อาจมีความแตกต่างในแง่ของกับดักที่ต้องเผชิญแต่บรรยากาศโดยรวมแต่ละสถานที่ก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ที่สำคัญคือทั้งเกมนี่ไม่มีการทำโมเดลตัวละครที่เป็นคนเลยครับ กระทั่งผู้พันวาร์นิคอฟที่พูดถึงก็โผล่มาแค่ในจอทีวี ส่วนถ้าในโหมดเล่นทำเวลาคุณอาจพบเห็นผู้ชมอื่น ๆ ที่เส้นชัย ซึ่งแต่ละคนก็มาในสภาพแบบ cardboard เป็นไม้กระดานแผ่น ๆ แค่นั้นล่ะครับ บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นเกมทุนสร้างไม่สูงจริง ๆ นะเออ


เพลงประกอบ

ในส่วนของเพลงประกอบนั้น ก็เต็มไปด้วยความเสียดสีไม่แพ้กันครับโดยเฉพาะธีมหลักนี่ราวกับเปิดเพลงชาติหรือเพลงปลุกใจจากสมัยสหภาพโซเวียตรุ่งเรือง ส่วนธีมอื่น ๆ ก็มีลักษณะที่เป็นทำนองไซไฟแต่ผสมด้วยบรรยากาศแบบเพลงจากวัฒนธรรมชาวสลาฟทั้งหลายทั้งปวง จะว่ามันกวนมันก็กวน จะว่ามันเพราะดีมันก็เพราะดี เอาเป็นว่าเพลงประกอบนี่เหมาะกับบรรยากาศและการนำเสนอของตัวเกมเสียเหลือเกิน หากใครอยากลองฟังเพลงประกอบ ก็ลองฟังจากช่องทางการของผู้แต่งอย่าง Piotr Surmacz แล้วกันครับ


สรุป

Yupitergrad เป็นเกม VR ที่ไอเดียแปลกแหวกแนวและเล่นสนุกใช้ได้ แต่ด้วยความที่ตัวเกมเน้นการเคลื่อนที่หลบกับดักแต่เพียงอย่างเดียวเลยทำให้รู้สึกค่อนข้างซ้ำซากในช่วงท้าย ๆ เกม คิดว่าถ้าหากมีการพัฒนาภาคใหม่ในอนาคตก็ควรเพิ่มความหลากหลายในด้านเกมเพลย์มากขึ้นกว่านี้ครับ

The Review

65% เกมมีไอเดียดี ติดที่ไม่หลากหลาย

Yupitergrad เป็นเกมที่มีไอเดียแหวกแนวใช้ได้ แต่ยังคงต้องมีการปรับในหลาย ๆ จุดจึงจะลงตัวกว่านี้

65%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์