Games Reviews

Assassin’s Creed Valhalla: Dawn of Ragnarok – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Assassin’s Creed Valhalla: Dawn of Ragnarok – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Ubisoft Entertainment มา ณ โอกาสนี้ครับ

Assassin’s Creed Valhalla นี่ถือเป็นภาคล่าสุดของแฟรนไชส์มือสังหารสุดโด่งดังของ Ubisoft และก็อาจเป็นอะไรที่น่าแปลกใจกว่าเดิม เพราะถือเป็นเกมแรกในซีรีส์ก็ว่าได้ ที่มีการวางจำหน่าย DLC เนื้อเรื่องเป็นตัวที่สาม จากเดิมที่เกมอื่น ๆ มักมีเนื้อหาหลังวางจำหน่ายหลัก ๆ เพียงแค่สองชุดเท่านั้น

และสำหรับ Dawn of Ragnarok นี้ แทนที่จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ Eivor (เอวอร์) ผู้เป็นตัวเอกของเกมนั้น ทีมงานเลือกที่จะเล่าเรื่องราวในอดีตกาลอันไกลโพ้นผ่านสภาวะหลับฝันของเอวอร์ และให้เราได้เล่นเป็น Odin (โอดิน) แทน แต่แล้วมันจะแปลกและแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้างล่ะ?


เนื้อเรื่อง

สำหรับผู้ที่เล่นตัวเกมหลักไปถึงระดับหนึ่งแล้ว ก็อาจจะทราบกันดีว่าในตัวเกมหลักนั้นจะมีสองฉากพิเศษที่เราเล่นได้เมื่อไปพูดคุยกับ Valka (วัลกา) ซึ่งเป็นโหราประจำชุมชน และเมื่อเอวอร์ดื่มยาที่เธอปรุงเข้าไปก็จะเข้าอยู่ในสภาวะหลับฝันและได้สัมผัสกับประสบการณ์ในอดีตของโอดินที่เสมือนจริงจนแทบแยกไม่ออก โดยสองฉากที่มีให้เล่นดังกล่าวก็คือ Asgard (แอสการ์ด) ที่พำนักแห่งเหล่าปวงเทพ Aesir (เอซีร์) ตามตำนานนอร์ส และฉาก Jotunheim (โยทุนเฮม) ดินแดนแห่งเหล่ายักษาน้ำแข็งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเหล่าเทพเอซีร์ตามตำนาน ซึ่ง DLC ตัวใหม่ Dawn of Ragnarok นี้จะพาผู้เล่นได้ตระเวนไปทั่วฉากใหม่ที่อ้างอิงมาจากดินแดน Svartalfheim (สวาร์ทัลฟ์เฮม) ซึ่งเป็นดินแดนของเหล่าดวาร์ฟที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดีจากบรรดาสื่อบันเทิงแฟนตาซีต่าง ๆ

เซ็ตติ้งของ DLC ในครั้งนี้ก็คือ Baldr (บัลเดอร์) บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของโอดิน ได้ถูกลักพาตัวไปโดย Surtr (ซูร์เทอร์) ผู้เป็นราชันแห่งเหล่า Muspels (มุสเปล) ที่เป็นยักษาเพลิงจากดินแดน Muspelheim (มุสเปลเฮม) ที่เต็มไปด้วยเพลิงและลาวาไหลร้อนระอุ และก็อย่างที่หลายคนคงเดาได้ว่าพวกมุสเปลโดยเฉพาะซูร์เทอร์นี่ก็มีความแค้นแต่ปางก่อนกับโอดินจึงได้ทำการลักพาตัวบัลเดอร์ไป และด้วยเหตุผลบางอย่างในใจ ซูร์เทอร์ก็ได้ยกทัพมารุกรานสวาร์ทัลฟ์เฮมจนเหล่าดวาร์ฟต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้าด้วย ดังนั้นการเดินทางเพื่อช่วยเหลือบุตรชายของโอดินจึงกลายเป็นการเดินทางเพื่อช่วยปลดปล่อยบ้านเกิดเมืองนอนของพวกดวาร์ฟจากเหล่ามุสเปลผู้รุกรานไปด้วยโดยปริยาย

ถ้าจะให้พูดถึงในแง่ของเนื้อหาแล้ว มองในแว้บแรกหลายคนคงรู้สึกว่านี่มันหลุดจากความเป็น Assassin’s Creed ไปไกลโขจนแทบจะกลายเป็นซีรีส์อื่นไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เอวอร์หลับฝันไปนี้ มันก็ยังอยู่ใน lore ของ AC อยู่ดีนั่นล่ะครับ เพราะหลายคนที่ติดตามซีรีส์นี้มานานก็คงพอจะทราบกันดี ว่าพวกบรรดาเทพเจ้าเอยอะไรเอยทั้งหลายทั้งปวงของซีรีส์นี้ก็เป็นพวกชาว Isu (อิสุ) ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันแต่ก็เจอกับหายนะจนล่มสลายกันไปหมด ทำให้หลงเหลือแต่เพียงคำบอกเล่าและกล่าวขาน จนกลายเป็นตำนานเทพเจ้าสืบมา (อย่างน้อยก็ในซีรีส์นี้ล่ะนะ)

ถึงแบบนั้นก็ดี เซ็ตติ้งของ DLC นี้ เลือกนำเสนอในแบบเดียวกับฉากแอสการ์ดและโยทุนเฮมที่มีในตัวเกมหลัก คือดีไซน์เอยอะไรเอยจะนำเสนอในลักษณะที่สอดคล้องกับตำนานนอร์สจริง ๆ ทั้งพวกสถาปัตยกรรมเอย ตัวละครเอย ยักษ์เพลิงก็คือยักษ์เพลิงจริง ๆ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากให้ปวดหัว ก่อนจะสอดแทรกวัตถุทรงอำนาจที่แฟน ๆ ของซีรีส์น่าจะคุ้นเคยกันดีเข้ามาแบบเนียน ๆ ให้รู้ว่าเออนี่ก็ยังเป็น AC อยู่นะ

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ว่า DLC นี้ไม่ได้มีฉากที่อธิบายถึง “ความเป็นจริง” ที่เกิดขึ้นจริง ๆ โดยไม่มีการฉาบด้วยภาพลักษณ์แฟนตาซีของเทวตำนานให้เห็นครับ คนเล่นต้องไปจินตนาการกันเอาเองว่าสุดท้ายแล้ว พวกยักษ์น้ำแข็งเอย ยักษ์เพลิงเอยพวกนี้มันใช้เทคโนโลยีกันยังไง หรือลูกเล่นแบบไหนถึงทำอะไรอภินิหารต่าง ๆ นานาได้ (แน่ล่ะรวมถึงตัวโอดินเองด้วย)

หากว่าคุณเป็นคนที่คุ้นเคยหรือชอบตำนานนอร์สเป็นทุนเดิมก็จะสนุกไปกับการได้พบบรรดาตัวละครต่าง ๆ จากตำนานนอร์สที่นำมาเล่าในแบบของ AC นี่ละครับ ถ้าคุณพอรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับตำนานนอร์สอยู่บ้างก็จะเพลิน ๆ เวลามีการกล่าวอ้างอิงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามตำนานนอร์สแน่นอน ถึงอย่างนั้นจุดที่เป็นข้อเสียหลัก ๆ สำหรับผมเลยใน DLC นี้ก็คือมันใช้เวลา build up ค่อนข้างนานกว่าจะได้ไปเผชิญหน้ากับซูร์เทอร์ที่เป็นตัวร้ายหลักของ DLC และพอเอาชนะได้เสร็จ เนื้อเรื่องก็จบลงเลยแบบรวบรัดตัดความจนงง ๆ ว่าอ้าวจบแล้วเหรอ?

เพราะสารภาพตามตรงว่าพอเห็นชื่อ DLC ว่า Dawn of Ragnarok นี่ผมก็หวังจะได้เห็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อลังการให้สมกับเป็น Ragnarok ตามชื่อ แต่กลับกลายเป็นว่าพอแร็กนาร็อกเริ่มเกิดปุ๊บ เนื้อหาของ DLC ก็จบปั๊บซะอย่างนั้น (ก็ตามชื่อเลยเพราะ Dawn ยังเป็นแค่ “รุ่งอรุณ”) จนอดคิดไม่ได้ว่าสงสัยเดี๋ยวคงได้มี DLC ตัวที่สี่เพื่อมาปิดท้ายแหง ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีเหมือนกัน เพราะถ้าคนเล่นต้องซื้ออีกไม่จบไม่สิ้น Ubisoft ก็น่าจะเจอคำบ่นจากทั่วสารทิศ แต่ถ้าไม่มีออกมาอีกมันก็จะค้าง ๆ คา ๆ ไม่สุดไปแบบนี้ล่ะครับ


เกมเพลย์

ถ้าจะให้รวบรัดตัดความก็คือ…มันก็เป็น Assassin’s Creed Valhalla ในแบบ same old same old นั่นล่ะครับ ตัวเกมหลักเล่นยังไง ตัวเกมใน DLC นี้ก็เล่นแบบนั้น คุณมีฉากให้สำรวจ มี wealth ให้ไปไล่เก็บซึ่งก็จะได้เป็น Platinum Ingot มาอัปเกรดอาวุธและชุดเกราะ มี mysteries ที่เป็นไซด์เควสต์ให้ออกตามหา มี artifacts เป็นพวกรอยสักใหม่ ๆ ให้เก็บ และก็มีป้อมค่ายให้คุณไป raid เพื่อเอาวัตถุดิบมาทำการอัปเกรดปลอกแขน Hugr-Rip ซึ่งก็นั่นแหละครับ หมดแล้วในส่วนของเกมเพลย์…

ล้อเล่นครับ อย่างน้อยตัวเกมก็ยังมีฟีเจอร์ที่เพิ่มเติมเข้ามาอยู่บ้างเหมือนกันเพื่อสร้างความแปลกและแตกต่างจากตัวเกมหลักครับ ที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือเจ้าอุปกรณ์ Hugr-Rip ที่ผมกล่าวถึงไปในย่อหน้าก่อน ซึ่งมันเป็นปลอกแขนที่จะทำให้โอดินของเรา “ก็อปปี้” พลังของศัตรูที่เรากำจัดไปได้ (สมชื่อเพราะ Hugr หรือฮูเกอร์แปลว่าพลังชีวิต ส่วน Rip ก็ตรงตัวครับคือการฉีกกระชากมา) โดยทั้งหมดก็มีพลังให้เลือกใช้ห้าแบบด้วยกัน แต่ว่าคุณจะเก็บเอาไว้ใช้งานได้แค่สองแบบเท่านั้น (อัปเกรดเป็นสามได้ หากคุณเลือก specialty แบบนั้นมา) ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป

ซึ่งเจ้า Hugr-Rip ที่เพิ่มเข้ามานี่ก็ต้องชมว่าดีไซน์การใช้สอยออกมาดี เพราะเท่าที่เล่นมาทุกพลังมันมีประโยชน์ในตัวเองหมด โดยนอกจากใช้ในการต่อสู้แล้วพลังพวกนี้ยังมีประโยชน์ในการเดินทางหรือแก้ไขปริศนาด้วยซ้ำไป จะบอกว่า DLC นี้ดีไซน์สภาพแวดล้อมออกมาโดยคำนึงถึงการใช้ Hugr-Rip เป็นหลักก็คงไม่ผิดครับ บางทีคุณอาจต้องจำแลงกายเป็นมุสเปลเพื่อให้เดินในลาวาได้แบบไม่บาดเจ็บ หรือใช้พลังของพวกโยทุนเพื่อวาร์ปไปยังจุดต่าง ๆ ที่กำหนดเอาไว้ได้ แม้แต่แปลงกายเป็นนกกาเพื่อบินขึ้นที่สูงที่ไม่อาจไปถึงได้โดยปกติ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอะไรที่คุณจะต้องใช้ตลอดทั้ง DLC แน่นอน

สิ่งอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมมาอย่างเห็นได้ชัดก็คือการที่สามารถอัปเกรดคุณภาพของอาวุธและชุดเกราะให้กลายเป็น Divine ได้นี่ล่ะครับ จากเดิมที่เราจะอัปเกรดได้สูงสุด 10 ขั้น ใน DLC นี้คุณจะอัปเพิ่มได้สูงสุดเป็น 13 ขั้น เรียกได้ว่าถ้าเดิมยังรู้สึกว่า OP ไม่พอก็มาอัดกันเพิ่มใหม่ให้สะใจไปเลย ซึ่งการจะเพิ่มได้ก็ต้องใช้ Platinum Ingot ที่ซุกซ่อนอยู่ตาม wealth ในจุดต่าง ๆ ของแผนที่ หรือไม่ก็ไปตามล่าพวกศัตรูระดับสูงที่เจอได้ทั่ว ๆ ไปไม่ต่างจากการเก็บ Tungsten Ingot ในตัวเกมหลักเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามอรรถประโยชน์สูงสุดของการติดชุดระดับ Divine ทั้งตัวก็คือทำให้คุณสามารถกระโดดลงมาจากที่สูงขนาดใดก็ได้โดยไม่ได้รับความเสียหายนี่ล่ะครับ ต่อให้ก้าวพลาดหัวทิ่มลงมาจากระดับความสูงของเครื่องบินก็ไม่เป็นอะไรให้สมกับเป็นเทพสูงสุดแห่งแอสการ์ด…แต่น่าเสียดายว่าคุณสมบัตินี้ใช้ได้เฉพาะในโลกความฝันอย่างสวาร์ทัลฟ์เฮมเท่านั้นนะ เพราะว่าพอผมลองออกไปเล่นในฉากอังกฤษที่เป็นตัวเกมหลักแล้วโดดลงมาจากยอดเขา ผลคือเอวอร์ก็หล่นปั้กลงมานอนกองอยู่กับพื้นจะ ๆ ตาครับ (ดันแยกความจริงกับความฝันไม่ออกก็งี้ล่ะ)

นอกเหนือจากฟีเจอร์ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว DLC นี้ยังเพิ่มสกิลใหม่ชุดใหม่เข้ามาให้คุณได้อัปเกรดค่าพลังของเอวอร์ (โอดิน) กันต่อซึ่งถ้าคุณอัปเกรดจนเต็มเอี๊ยดเท่าที่เกมมีให้ เอวอร์ (โอดิน) ของคุณจะมีเพาเวอร์เลเวลถึง 535 เลยทีเดียว พูดง่าย ๆ คือถ้าย้อนกลับไปเล่นในฉากอังกฤษนี่ไปตีตัวไรมันก็ยวบเป็นทิชชูเปียกกันโดยถ้วนทั่วนั่นล่ะครับ แล้วก็แน่นอนว่าในดินแดนสวาร์ทัลฟ์เฮมยังคงมี Book of Knowledge ให้คุณได้เสาะแสวงหาอบิลิตี้ใหม่ ๆ มาใช้งานเหมือนเคย

ในส่วนของอาวุธนั้น Dawn of Ragnarok นี้มีการเพิ่มอาวุธชนิดใหม่เข้ามาที่เรียกว่า Atgeir ซึ่งถ้าจะให้อธิบายมันก็เหมือนกับเป็น “ง้าว” นั่นแหละครับ แต่นอกจากการตีกวาดเป็นวงกว้างด้วยสปีดที่ค่อนข้างไวแล้ว…ตอนเล่นผมก็ไม่รู้สึกว่ามันจะพิเศษกว่าอาวุธชิ้นอื่น ๆ ตรงไหนน่ะนะ คือมันก็โอเคที่มีอะไรใหม่ ๆ ให้ใช้ แต่มันก็ไม่ได้ว้าวหรือฉีกแปลกแหวกแนวจากเดิมเท่าไรนัก แม้แต่สถานที่พิเศษเฉพาะของ DLC นี้ที่เป็นลานต่อสู้ของ Kara (คาร่า) ที่เป็นวัลคิรี่เองก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลือกกลุ่มศัตรูมาสู้โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขที่จะทำให้เราเสียเปรียบกว่าปกติเพื่อเก็บพอยต์พิเศษไว้ใช้แลกอาวุธเครื่องป้องกันหรือรูนพิเศษแค่นั้นเองครับ

รวม ๆ แล้วในแง่ของเกมเพลย์นั้น คงบอกได้ว่าถ้าคุณชอบ Assassin’s Creed Valhalla อยู่แล้ว คุณก็จะสนุกกับ DLC นี้ เพราะลูปเกมเพลย์ที่คุ้นเคยเสริมด้วยฟีเจอร์ใหม่ ๆ แต่ถ้าใครหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปเลยก็คงต้องเผื่อใจเอาไว้หน่อย


กราฟิกและการนำเสนอ

ในส่วนของกราฟิกนั้น โดยส่วนตัวผมชอบบรรยากาศและเซ็ตติ้งของสวาร์ทัลฟ์เฮมใน DLC นี้พอควร เพราะมันเหมือนผสม ๆ ระหว่างบรรยากาศแบบฉากในอังกฤษของตัวเกมหลัก แต่เอามาแต่งเติมเสริมเข้าไปด้วยสภาพแวดล้อมสไตล์แฟนตาซีของตำนานนอร์ส มันจึงทำให้ทั้งรู้สึกคุ้นเคยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ภาพลักษณ์ของดินแดนสวาร์ทัลฟ์เฮมในเกมนี้ก็ออกจะคล้าย ๆ กับที่เคยเห็นกันมาในสื่อบันเทิงแฟนตาซีหลากหลายเรื่องนั่นแหละครับ คือพวกดวาร์ฟจะใช้ชีวิตอาศัยหลบซ่อนกันอยู่ในภูเขา ในถ้ำ ซึ่งมันก็มีสาเหตุมาจากการที่โดนรุกรานนั่นแหละแต่มันก็ไปสอดคล้องกับตำนานนอร์สจริง ๆ อยู่ ที่สำคัญคือองค์ประกอบหนึ่งที่เด่นชัดของดินแดนสวาร์ทัลฟ์เฮมในเกมก็คือพวกหินแร่มีค่า (ซิลิก้า) ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามหุบเขา

หรือแม้แต่พวกข้าวของเครื่องใช้สมบัติต่าง ๆ ของพวกดวาร์ฟที่ก็ดูจะทำจากซิลิก้าทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้น แต่ตลอดฉากผู้เล่นจะได้เจอกับแท่นตีเหล็กของซินดรี (Sindri) กับบรอคเคอร์ (Brokkr) อยู่ตามจุดต่าง ๆ ให้สำรวจที่จะสอดคล้องกับตำนาน ไม่ว่าจะเป็นการตีค้อนมโยเนียร์ (Mjolnir) ให้กับธอร์ (Thor) หรือจะเป็นแท่นตีที่ทั้งสองคนสร้างหอกกุงเนียร์ (Gungnir) ของโอดินขึ้นมา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือองค์ประกอบที่ช่วยแสดงให้เห็นบทบาทและหน้าที่ของพวกดวาร์ฟในฐานะที่เป็นช่างฝีมือชั้นเลิศในบรรดาเก้าภพของตำนานอร์สได้ดีทีเดียว

อารมณ์ขันและพาโรดี้ของป็อปคัลเจอร์ในลักษณะเดียวกับตัวเกมหลักก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างครับ อย่างเช่นโอดินอาจจะได้เจอกับดวาร์ฟที่ชื่อโฟรดรี (Frodri) ที่พยายามจะกำจัดแหวนต้องสาปวงหนึ่งโดยการนำไปโยนลงปล่องภูเขาไฟก็เป็นได้…


เพลงประกอบ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบเพลงประกอบของ ACV ในตัวเกมหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนออกเดินทางไปในแผ่นดินอังกฤษที่กว้างใหญ่เพราะมันให้ความรู้สึกและบรรยากาศคล้ายกับบรรดาภาพยนตร์ที่เคยผ่านหูผ่านตากันมาหลายต่อหลายเรื่อง พอมาถึงใน Dawn of Ragnarok นี้ก็ยังคงชอบไม่แพ้กันครับ บทเพลงหลายบทนี่ช่วยสร้างบรรยากาศได้ดีเลย ให้ความรู้สึกถึงความลึกลับและความขลังแบบที่เราจะรู้สึกได้เวลาอ่านเรื่องราวพวกเทวตำนานต่าง ๆ ยิ่งพวกเพลงที่มีเสียงคนร้องนี่เพราะจับใจจริง ๆ ลองฟังกันดูจากด้านล่างได้ครับ


สรุป

Dawn of Ragnarok เป็น DLC ที่ผมสนุกกับมันกว่าที่คิดไว้เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าถึงขนาดที่ต้องเล่นให้ได้ไหม ผมก็คิดว่าไม่ขนาดนั้นเพราะมันไม่ได้เป็นการยกระดับเกมเพลย์เดิมเท่าไร แต่ว่าถ้าคุณชื่นชอบเกมเพลย์ของ ACV อยู่แล้วและยังรู้สึกว่าไม่หนำใจก็ซื้อเล่นได้เลยครับเพราะคุณจะได้เกมเพลย์ที่ต้องการรวมถึงสิ่งใหม่ ๆ แน่นอนล่ะ

The Review

70% เนื้อเรื่องเสริมที่ไม่ได้เพิ่มเติมอะไรเยอะนัก

เป็น DLC ที่ไม่ถึงกับต้องเล่นให้ได้ แต่ถ้าใครที่ชอบตัวเกมหลักและยังอยากเล่นอีกก็สามารถซื้อมาเล่นได้เลย

70%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์