Articles Previews

The Centennial Case : A Shijima Story [DEMO] – รีวิว ความประทับใจแรกเล่น

โดย ปอลนาโช่

รีวิวเดโม่เกม The Centennial Case : A Shijima Story [DEMO] เผยความประทับใจแรกเล่น

ขอขอบคุณโค้ดเกม (เดโม่) เพื่อการทดสอบเกมเพลย์ จากบริษัท SQUARE ENIX มา ณ โอกาสนี้ครับ

ก่อนอื่น ใครอยากอ่านพล็อตที่มาของเกม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความดี ๆ ของเราก่อนหน้านี้ได้ที่

อ่านพรีวิวเผยรายละเอียดเกมเบื้องต้น (ลิงก์)
พรีวิว THE CENTENNIAL CASE: A SHIJIMA STORY เกมผจญภัยไขปริศนาในแบบคนแสดง มีธีมว่าด้วยชีวิตนิรันดร์!

โอเค! มาเริ่มกันเลยครับผม สำหรับเกมใหม่ในแนวสืบสวนสอบสวน อิงการแสดงแบบละครซีรีส์ญี่ปุ่น ในชื่ออย่างยาวว่า The Centennial Case : A Shijima Story โดยเวอร์ชันที่ผมเล่นเพื่อการทดสอบนี้เป็นเพียงเดโม่ในบทที่หนึ่ง ของเวอร์ชันสตีมพีซี ซึ่งทาง SQUARE ENIX ใจดีให้ตัวอย่างเกมมาให้ทีมงานลองเล่นกันก่อน เพื่อจะได้รู้จักหน้าตาของเกม และดูว่าตัวเกมมันมีระบบวิธีการเล่นอย่างไรกันแน่

ดังนั้น บทความรีวิวเดโม่ในครั้งนี้ของผม จึงจะเน้นอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่า เกมนี้มันเล่นยังไงกันแน่ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า หลายคนที่ได้ดูตัวอย่างภาพสกรีนช็อต หรือเทรลเลอร์ในยูทูบไปบ้างแล้วก็อาจจะยังงงๆ ว่า เอ๊ะ แล้วมันเล่นอย่างไร สนุกแค่ไหน ฯลฯ ซึ่งผมจะขอพาเข้าสู่หัวข้อเรื่องระบบเกมนี้ก่อนเลยครับ

GAMEPLAY

เมื่อเริ่มเกม ผู้เล่นจะได้นั่งรับชมภาพยนตร์จากการแสดงจากนักแสดงมากฝีมือ คุณภาพระดับเดียวกับละครญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันดี โดยระหว่างซีน ถ้ามีจังหวะที่มีเหตุการณ์สำคัญ หรือสถานการณ์แปลก ๆ ที่น่าจะมีเบาะแสสำคัญ เราสามารถกด บันทึกเป็นโน้ตเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องกลัวดูไม่ทันนะครับ เพราะเราสต็อป หรือดูย้อนหลังได้ตลอด แต่การดูครั้งแรกจะกด skip หรือเร่งความเร็วไม่ได้ เกมบังคับให้เราดูอย่างละเอียดต้นจนจบ

เมื่อดูจบตอน เกมจะเข้าสู่โหมด วิเคราะห์เบาะแส และตั้งสมมติฐาน โดยจะทำออกมาเป็นเส้นทางเดินที่เชื่อมต่อด้วยตารางหกเหลี่ยม เบื้องต้นตัวเกมจะตั้งสมมติฐานให้เราก่อน เราต้องไปเลือกหยิบเบาะแสหรือหลักฐาน มารองรับสมมติฐานนั้น ๆ ด้วยการวางตารางหกเหลี่ยมให้เชื่อมต่อกัน ซึ่งการสนับสนุนและหักล้างกันเองของหลักฐานต่าง ๆ จะนำไปสู่ความชัดเจนของรูปคดีมากยิ่งขึ้น

คือมันคล้าย ๆ กับวิชาตรรกศาสตร์นั่นแหละครับ

หากถึงทางตัน คิดไม่ออก สามารถกดขอคำแนะนำจากเกมได้ แต่จะถือเป็นการโดนหักแต้มเมื่อถึงตอนสิ้นสุดคดี

ทีนี้ เมื่อผ่านไปหลายตอนของเนื้อเรื่อง จนถึงช่วงสุดท้าย เกมจะเข้าสู่ช่วงสรุปคดี ที่เราต้องชี้ตัวผู้ต้องหา จากผู้ต้องสงสัยทั้งหมด โดยตัวเกมทำออกมาเป็นช้อยส์ให้เราเลือกตอบทีละปม ถ้าตอบถูกก็จะเดินเรื่องไปต่อได้ ถ้าตอบผิด จะต้องกลับไปเริ่มใหม่

หลังจบตอน ได้ตัวคนร้ายแล้ว ก็จะมีหนังฉากจบให้ดูอีกเล็กน้อย แล้วก็จะเป็นการวัดผลให้คะแนนการไขคดีเป็นการส่งท้าย

STORY

สำหรับเรื่องราวในเดโม่ เป็นตอนแรกสุดของตำนานเลือดแห่งตระกูลชิจิมะ ในชื่อตอน คดีฆาตกรรมในงานประมูลปี 1922 ทั้งนี้ เนื้อเรื่องเกมจะเดินผ่านหลายยุคหลายสมัย สาเหตุก็เพราะ ตัวเอกในเกมนี้คือสาวสวย ฮารุกะ คากามิ นักเขียนเรื่องลึกลับที่เดินทางเข้าสู่ที่ดินของตระกูลดังกล่าว พร้อมสาวใหญ่บรรณาธิการคู่ใจ เพื่อหาข้อมูลมาเขียนนิยายแต่สุดท้ายได้ไปพัวพันกับคดีใหญ่มาก ๆ ถึง 4 คดี ที่เกิดต่างช่วงเวลากัน ทำให้คากามิ ต้องพยายามสร้างตัวละคร และฉากสำคัญต่าง ๆ ผ่านหลักฐานข้อมูลและหนังสือบันทึกหลักฐานของตระกูลชิจิมะ มาใช้สร้างเป็นเรื่องราวทั้งหมดขึ้นมาใหม่

ในส่วนของตอนที่ 1 ที่ว่าด้วยการฆาตกรรมในงานประมูล ผมถือว่าสอบผ่าน ทำได้ดีมากในการชักจูงให้ผู้เล่น “อยากรู้” ว่าใครกันแน่คือคนร้ายตัวจริง และเขาคนนั้นทำไปด้วยสาเหตุอะไร ถึงแม้ว่าในช่วงของการปะติดปะต่อเบาะแส จะดูฟุ่มเฟือยไปบ้างก็ตาม (กล่าวคือ บางเหตุผลมันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาวิเคราะห์ละเอียดมาก แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมันเป็นทางเชื่อมในเส้นทางหกเหลี่ยม ยังไงคนเล่นก็ต้องกดเติมช่องว่างให้เต็มอยู่ดี จนบางครั้งรู้สึกว่ามันยืดยาด และใช้เวลานานเกินไปบ้างพอสมควร)

ขณะที่ตอนเฉลย ปมปริศนามันง่ายเกินไป เดาได้ตั้งแต่กลางเรื่องแล้วว่าใครฆ่า เพราะจำนวนผู้ต้องสงสัยมีน้อยมาก ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะยังแค่ฉากแรกของเกมครับ ในเวอร์ชันเต็มน่าจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านี้เยอะเลย

My Opinions

The Centennial Case : A Shijima Story แสดงออกชัดเจนมากครับ ว่าต้องการถ่ายทอดบรรยากาศแบบนิยายนักสืบยุคคลาสสิก อย่าง ผลงานของ เอโดงาวะ รัมโป มาจนถึงมังงะอย่างโคนัน หรือ คินดะอิจิ โดยนักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้ดี มีหลายฉากที่เป็นลายเซ็นเฉพาะของนิยายแนวนี้ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี (โดยเฉพาะกับซีนเวลา “ปริศนาคลี่คลายแล้ว!” จังหวะโบ๊ะบ๊ะแบบนี้แหละครับ มันต้องมีสำหรับเรื่องสไตล์นี้) โปรดักชั่นก็ไม่ได้ขี้เหร่ ดูแล้วเทียบได้กับซีรีส์ทางช่องสตีมที่เราดู ๆ กันอยู่ และที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวคือนางเอกน่ารักมาก! อิอิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเล่นจนจบคดีแรกที่ถือเป็นอันสิ้นสุดเดโม่เกม ผมมีความรู้สึกเหมือนไม่ได้เล่นเกมเลยครับ เหมือนดูหนังมากกว่า แต่เป็นหนังที่มีจังหวะพัซเซิลคั่นกลางให้เราต้องกดแก้ปริศนากันนิดหน่อย ถึงจะได้ดูตอนต่อไป ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว น้ำหนักสำคัญในการเลือกที่จะซื้อหาเกมนี้มาเล่นหรือไม่ของผู้เล่นทุกคน ก็จะไปอยู่ที่ปัจจัย “ความชอบในแนวหนัง” ว่า คุณชอบเรื่องราวแบบนี้หรือเปล่า อยากเข้าไปขบคิดหาตัวคนร้ายด้วยการตัดสินใจของตัวเองดูมั้ย ถ้าคำตอบคือใช่ ก็โอเคเลย ตัวเกมมีคุณภาพเพียงพอให้คุณสนุกได้แบบไม่เสียดายตังค์ แต่ถ้าคำตอบคือไม่ หรือเฉยๆ ไม่แน่ใจ คุณอาจจะพบว่า The Centennial Case : A Shijima Story เป็นเกมที่ยืดยาด เฉื่อยช้าเกินไปกว่าจะเดินเรื่องไปได้แต่ละช่วง จนอาจจะพานเบื่อไปซะก่อนได้ครับ

ขอไม่ให้คะแนนนะ เพราะผมเล่นแค่เดโม่เท่านั้น แต่จะให้เป็นข้อดีข้อด้อยเท่าที่พบเจอในระหว่างการเล่นแทนครับผม

จุดเด่น

  • พล็อตเรื่องหลักถือว่าดี น่าติดตาม
  • การแสดงทำได้ดี นางเอกน่ารักมวั่ก!
  • เมนูการใช้งานออกแบบมาดี การค้นหาเบาะแสระหว่างซีนการแสดงทำได้สะดวก
  • เมนูข้อมูลหลักฐานและแผนที่ ซึ่งผู้เล่นใช้ดูประกอบการวิเคราะห์คดีทำได้ดี ทำให้เล่นแล้วเหมือนได้เป็นนักสืบ

จุดด้อย

  • ระบบการเติมเต็มช่องหกเหลี่ยม เพื่อใช้บรรลุสมมติฐานนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้วมันมั่วได้ แปะจนกว่าจะลงล็อคหมดก็ผ่านฉากได้เหมือนกัน
  • คนร้ายในตอนแรกของเรื่องเดาง่ายไปหน่อย (แต่หลัง ๆ คงยากกว่านี้)
  • เมื่อรู้ตัวคนร้ายแล้ว เกมนี้จะเล่นซ้ำไม่สนุกทันที

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์