Games Reviews

Eiyuden Chronicle: Rising – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Eiyuden Chronicle: Rising – รีวิว [REVIEW]

ถ้าเอ่ยถึงชื่อ Suikoden หรือ Genso Suikoden ขึ้นมา เชื่อว่าเกมเมอร์ที่เคยผ่านยุค PS1 มาและชื่นชอบแนวเกม RPG ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อนี้หรือแม้แต่เคยเล่นมาสักภาคหรือสองภาคเป็นอย่างน้อย เอกลักษณ์ของ Suikoden ในยุคนั้นก็คือเป็นเกม RPG ที่มีจุดขายเป็นจำนวนตัวละครในปาร์ตี้ของเราสูงถึง 108 คน นั่นเพราะเดิมทีเกมซีรีส์นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมคลาสสิคของจีนอย่าง “สุยหู่จ้วน” (水浒传) ซึ่งเรามักรู้จักกันในชื่อ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานนั่นเอง ในช่วงที่ผ่านมา Suikoden ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพราะมีภาคต่อและภาคสปินออฟออกมาเยอะแยะ ก่อนที่จะหายสาบสูญไปอาจด้วยเพราะ Konami เลิกสนใจที่จะผลิตเกมหรืออะไรก็สุดแท้แต่

ทว่าสุดท้ายคุณโยชิทากะ มุรายามะที่ให้กำเนิดซีรีส์ Suikoden ก็ได้ออกมาเปิดสตูดิโออิสระของตัวเอง แล้วก็สร้างแคมเปญระดมทุนบน Kickstarter เพื่อทำการสร้าง RPG ในสไตล์ที่ตนเองคุ้นเคยจนประสบความสำเร็จไปอย่างล้นหลามจนจะเกิดเป็นเกมในชื่อ Eiyuden Chronicle: Hundred Heroes ที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น RPG ที่มีเพื่อนในปาร์ตี้หลักร้อยชีวิต แต่ทว่าก่อนที่ตัวเกมหลักจะวางจำหน่ายให้ได้เล่นกัน ทีมงานก็ตัดสินใจทำเกมสปินออฟออกมาขัดตาทัพก่อน เพื่อให้คนได้ทำความรู้จักกับโลกของเกม และจะได้มีอะไรเล่นรอกันไปพลาง ๆ ไม่รู้สึกว่านานเกินไป เกมที่ว่าก็คือ Eiyuden Chronicle: Rising นี่ล่ะครับ


เนื้อเรื่อง

Eiyuden Chronicle: Rising จะมีเนื้อหาที่เป็น prequel หรือเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดเรื่องราวในเกมภาคหลักนั่นคือ Eiyuden Chronicle: Hundred Heroes ในช่วงเวลาไม่นานนัก ซึ่งเนื้อหาก็จะทำให้ผู้เล่นได้ทำความคุ้นเคยกับชื่อของฝักฝ่ายหลัก ๆ ที่มีตัวตนอยู่ในโลกของเกมระดับหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วเนื้อหาของเกมนี้ก็จะเล่าในสเกลเล็กที่เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละตัวละครมากกว่าที่จะไปแตะประเด็นเนื้อหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและข้อพิพาทระหว่าง League of Nations กับ Galdean Empire ที่สุดท้ายก็จะไปเล่นในตัวเกมหลักเสียมากกว่า (คล้าย ๆ กับ Suikoden ในแต่ละภาคที่มักเน้นนำเสนอในเชิงนี้เป็นหลัก แต่หากเป็นสปินออฟก็จะเป็นเรื่องราวส่วนตัวของแต่ละตัวละคร)

เอาล่ะ สำหรับเนื้อหาของ Eiyuden Chronicle: Rising นี้จะพูดถึงเมืองที่ชื่อ New Nevaeh ซึ่งเดิมทีก็เป็นแค่เมืองชนบทที่หาเลี้ยงชีพกันโดยการขุดแร่ในเหมืองทั่ว ๆ ไป ทว่าวันหนึ่งได้เกิดแผ่นดินไหวอันรุนแรงขึ้น จนทำให้บ้านเรือนเสียหาย แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ซากโบราณสถานปรากฏขึ้นมา จนกลายเป็นว่าเมืองนี้ได้ดึงดูดนักผจญภัยที่แสวงหาความมั่งคั่งมารวมตัวกันมากมายอย่างไม่คาดคิด และตัวเอกประจำเกมอย่าง CJ นักผจญภัยสาวน้อยผู้มีอาวุธเป็นอีเต้อคู่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเธอก็จะมีผู้ร่วมทางที่ได้พบเจอกันอย่าง Garoo มนุษย์สัตว์ป่าสายพันธุ์จิงโจ้ที่ใช้ดาบเล่มโตเป็นอาวุธ และ Isha สาวน้อยจอมเวทผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการณ์นายกเทศมนตรีของเมืองร่วมทาง รวมถึงบรรดาตัวละครอื่น ๆ ประจำเมืองที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากมายมาสร้างสีสัน (ซึ่งพวกเขาก็จะไปอยู่ในเกมภาค Hundred Heroes ด้วยแน่นอน)

ถ้าจะให้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อเนื้อหาของเกม ก็คงเรียกได้ว่าเพลิน ๆ แบบไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก มีจุดหักมุมบ้างนิดหน่อยแต่ก็เป็นอะไรที่พอจะเดากันออกได้ง่ายจากคำพูดและการกระทำของตัวละคร แต่ว่าสำหรับผมแล้วคิดว่าปัญหาหลัก ๆ เลยคือจังหวะของการดำเนินเรื่องที่สะดุดไม่ลื่นไหลบ่อยครั้ง บางทีพอเปิดดันเจี้ยนใหม่ วิ่ง ๆ ไปไม่ทันไรก็จะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ไปต่อยังไม่ได้ สุดท้ายตัวเราก็ต้องกลับมาคุยหาข่าวสารในเมือง พอคุยจบก็จะสามารถเคลียร์ทางได้แล้ว ซึ่งเกมนี้จะใช้ pacing นี้ตลอดทั้งเกม จนบางทีก็แอบรำคาญหน่อย ๆ เหมือนกันว่าทำไมไม่ยอมให้คนเล่นวิ่ง ๆ ลุยดันเจี้ยนตั้งแต่ต้นยันจบไปได้เลยในทีเดียว แอบรู้สึกเหมือนเป็นการยืดเรื่องโดยไม่จำเป็นในหลาย ๆ จุดเหมือนกันครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรดาตัวละครแต่ละคนก็ออกแบบกันมาดีใช้ได้ ชนิดที่มองปุ๊บรู้ปั๊บทันทีว่าคนนี้เป็นตัวละครสำคัญแน่นอนเพราะมักมีหน้าตาและเสื้อผ้าที่ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป ที่สำคัญคือบุคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละคนก็ชัดเจนกันดี ไม่มีตัวละครไหนที่ให้ความรู้สึกว่าซ้ำซ้อนกัน ยิ่งโดยเฉพาะตัวละครหลักสามตัวที่เหมือนแบ่งบทกันชัดเจนมาก คนนึงชง คนนึงตบมุก คนนึงปรามอะไรประมาณนั้น


เกมเพลย์

มาว่ากันในส่วนของเกมเพลย์ ในภาค Rising นี้จะต่างจากตัวเกมหลักอย่าง Hundred Heroes ที่จะเป็นเทิร์นเบส RPG ในแบบที่คนคุ้นเคยกันจาก Suikoden เพราะว่า Rising จะเป็นแอ็คชันเต็มตัวด้วยกราฟิกตัวละครเป็นพิกเซล 2D ที่มีฉากหลังเป็น 3D ดังนั้นรูปแบบการเล่นจึงมีแค่การวิ่งซ้ายหรือขวา จะไม่สามารถวิ่งเข้าไปสำรวจฉากอะไรได้อิสระ

ก็ต้องยอมรับว่าเล่นช่วงแรก ๆ นั้นเกมเพลย์ถือว่าค่อนข้างจืดพอสมควรเลย เพราะรูปแบบการเคลื่อนไหวและการโจมตีนั้นจำกัดมาก และดูไม่มีลูกเล่นหรือเทคนิคอะไรใด ๆ ในแบบที่เกมแอ็คชันปัจจุบันจะเป็นกัน ทว่าพอเริ่มได้ตัวละครใหม่มาร่วมทีม มันก็ทำให้ตัวเกมมีความหลากหลายขึ้นมาโดยอัตโนมัติครับ พูดง่าย ๆ ก็คือการมีตัวละครใหม่เข้ามามันมีลักษณะเป็นการเปิดระบบการโจมตีใหม่ไปในตัวนั่นเอง

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คือ CJ ที่มีการโจมตีต่อเนื่องรวดเร็วและจำนวนฮิตเยอะสุดเหมือนเป็นสายสปีด Garoo ก็จะตีช้าจำนวนฮิตน้อยแต่แรง ส่วน Isha จะเป็นคนเดียวที่โจมตีระยะไกลได้ ซึ่งการจะใช้ท่าโจมตีใดของใครจะเป็นการ fix ปุ่มเอาไว้โดยเฉพาะเลย อย่างกรณีที่ผมเล่นบน PlayStation นี้ กดสี่เหลี่ยมก็จะเป็นการโจมตีโดย CJ แต่ถ้ากดสามเหลี่ยมก็จะเป็นการโจมตีโดย Garoo ส่วนปุ่มวงกลมจะเป็นการโจมตีโดย Isha หรือก็คือว่าเกมนี้เอาระบบการโจมตีเบา โจมตีหนัก และโจมตีระยะไกลซึ่งเป็นพื้นฐานของเกมแอ็คชันมาใช้นั่นแหละ แต่ผูกเข้าด้วยกันกับตัวละครเฉพาะไปเลย มันก็เลยเกิดเป็นระบบที่แปลกตาดีใช้ได้อยู่ และที่สำคัญคือแต่ละคนสามารถทำ Link Attack เพื่อสลับออกมาโจมตีศัตรู/บอสได้ในแบบทันที จากแรกสุดที่รู้สึกว่าเกมออกจะช้า ๆ ไม่ทันใจ แต่พอเล่นไปก็รู้สึกว่ามันคล่องตัวสนุกใช้ได้ไม่หยอกครับ

นอกเหนือไปจากท่าโจมตีที่แบ่งตามตัวละครและแบ่งตามปุ่มแล้ว เกมนี้มีองค์ประกอบของ RPG เยอะอยู่ นั่นคือการอัปเลเวลตามแบบฉบับ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการอัปเกรดอาวุธและชุดเกราะของแต่ละคนนั่นเอง เพราะนอกจากค่าพลังที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้แต่ละคนออกท่าต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย บ้างก็กระโดดสองชั้นได้ บ้างก็เพิ่มจำนวนฮิตโจมตี บ้างก็เป็นการชาร์จโจมตี ฯลฯ ที่พออัปเกรดไปจนถึงจุดแล้วทุกอย่างมันจะลื่นไหลกว่าเดิมเยอะมาก และมีตัวเลือกต่าง ๆ ให้ผู้เล่นใช้งานได้เยอะในแบบที่เกมแอ็คชันฉับไวควรจะเป็นครับ

องค์ประกอบสำคัญของเกมนี้อย่างหนึ่งก็คือการฟื้นฟูเมืองที่เสียหายจากแผ่นดินไหว ตลอดทั้งเกมคุณจะได้เจอกับคำร้องขอ (ก็เควสต์นั่นแหละ) จากชาวเมืองมากมายเป็นร้อยเควสต์ ที่นอกจากจะได้รางวัลเป็น EXP และเงินแล้ว หลายเควสต์จะเป็นการช่วยชาวเมืองให้ซ่อมแซมร้านค้ากลับมาได้ และก็จะเป็นการเปิด facility ใหม่ ๆ ให้เราได้ใช้งาน (แน่นอนว่าร้านอาวุธและชุดเกราะก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน) บ้างก็เป็นร้านอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังและค่า stat ถาวรให้ตัวละคร บ้างก็เป็นร้านสำหรับสร้าง Rune-Lens ที่จะช่วยเพิ่มธาตุโจมตีให้กับอาวุธหรือธาตุในการป้องกันสำหรับชุดเกราะ

ถึงกระนั้น ข้อเสียอย่างหนึ่งที่พบเจอได้ทั้งเกมเลยก็คือการออกแบบเควสต์นี่ล่ะครับ มีหลายเควสต์เลยที่มักจะให้เราแค่ไปวิ่งวน ๆ ในเมืองเพื่อคุยกับใครสักคน บางทีก็เป็นเควสต์ที่ใครบางคนรอของรอสินค้าจากอีกคนอยู่ แต่ของยังไม่มาส่งตามนัดเลยวานให้เราไปคุยแทน แต่เอาเข้าจริงคนที่ต้องไปคุยก็อยู่ห่างกันไปอีกราวสองอาคารถัดไปแค่นั้นเองจนสงสัยว่าแล้วทำไมไม่เดินไปคุยเองวะ…?

และหลายเควสต์มาก (มากกกกก) ที่จะเป็นการให้เราไปหาวัตถุดิบอะไรมาให้ตามจำนวน ส่งผลให้คุณจะต้องไปลงดันเจี้ยนเดิม ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อไล่ตีศัตรูแล้วหวังให้มันดรอปของที่เราต้องการ ถ้ารอบไหนไม่เจอก็ออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ ลูปเกมเพลย์หลัก ๆ จะมีแค่นี้จริง ๆ คือเปิดดันเจี้ยนใหม่ ลงดันเจี้ยนแต่ยังไปต่อไม่ได้ กลับเมือง เปิดทางไปต่อได้ กลับเมืองรับเควสต์ ลงดันไปฟาร์มวัตถุดิบ กลับเมืองมาส่งเควสต์ หลัก ๆ ก็จะมีแค่นี้ ถ้าใครที่ไม่ชอบการทำอะไรซ้ำซากก็อาจจะเบื่อไปเลย ยังไม่นับว่าพวกเครื่องประดับที่จะมีขายตามร้านหรือแม้แต่ขวดยาเติมพลังก็ตาม เราต้องไปหาวัตถุดิบมาให้ครบก่อนเพื่อ “สร้าง” สินค้าให้มีขายในร้านก่อนด้วยซ้ำนะ เรียกได้ว่าใครเป็น perfectionist ก็เตรียมตัววิ่งวนในดันเจี้ยนจนอ้วกไปข้างได้เลยครับ

อีกจุดหนึ่งที่แทบจะเป็นเอกลักษณ์ (ในทางไม่ค่อยดี) ของเกม RPG มาแต่ไหนแต่ไรก็คงไม่พ้นการออกแบบศัตรู ที่หากจะนับกันจริง ๆ แล้วในเกมนี้จะมีประเภทศัตรูแค่ไม่กี่แบบ ชนิดที่ว่าไปดันเจี้ยนไหนก็จะเจอแต่หน้าเดิม ๆ แค่อาจจะเปลี่ยนสีเปลี่ยนธาตุเปลี่ยนดีเทลอะไรนิดหน่อยแค่นั้นเอง กิมมิคในการสู้ก็อาจจะต่างกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรฉีกไปกว่ากันเท่าไหร่ ถ้าจะมีพวกที่ต่างกันชัดเจนไปเลยก็เป็นบรรดาบอสประจำดันเจี้ยนทั้งหลายนี่ล่ะครับที่พอจะมีทริคและกิมมิคในการต่อสู้ที่หลากหลายอยู่

โดยรวมแล้วเกมเพลย์เรียกได้ว่าค่อนข้างง่ายและเป็นมิตรกับคนเล่นครับ ถ้าอัปเกรดมาดี ๆ เซ็ตธาตุอาวุธให้ถูก คุณก็จะส่งมอนสเตอร์ธรรมดาและบอสไปนอนคุยกับรากมะม่วงได้ในเวลาอันรวดเร็ว


กราฟิก

กราฟิกในเกมนี้ไม่ได้หรูเลิศอลังการอะไรนัก แต่ถึงกระนั้นก็ดูดีไม่หยอกกับการออกแบบในแต่ละฉากแต่ละดันเจี้ยนที่มีความแตกต่างกันชัดเจน จะมีสิ่งน่าเสียดายก็คงเป็นแค่ว่าไม่สามารถวิ่งไปสำรวจให้ทั่วได้เพราะเกมบังคับการเดินในแบบ 2D นี่ล่ะครับ แต่อย่างน้อย ๆ วิวทิวทัศน์ที่ต่างกันในแต่ละดันเจี้ยนก็ช่วยทำให้ดูไม่ซ้ำซากจำเจเกินไปนัก


เสียงประกอบ

ในส่วนของซาวด์แทร็คประจำเกมนี้ ส่วนตัวแล้วผมมองว่าก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้อยู่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีหลายเพลงที่พอจะติดหูอยู่เหมือนกัน (แต่ติดหูเพราะวิ่งวนไปมาที่เดิมหลายรอบรึเปล่า…ก็ไม่ค่อยแน่ใจ) แต่ผมก็หวังว่าในตัวเกมหลักอย่าง Hundred Heroes จะมีการสร้างเพลงธีมประจำซีรีส์ที่ฟังปุ๊บนึกถึงได้ปั๊บอยู่เหมือนกันครับ

อ้อ อีกอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือเกมนี้ไม่มีเสียงพากย์เลยครับ ไม่มีทั้งเสียงญี่ปุ่นหรือเสียงอังกฤษ อันที่จริงก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าเดิมที Suikoden ภาคแรก ๆ แบบคลาสสิคเลยก็ไม่มีเสียงพากย์เหมือนกัน และการจะเพิ่มลงไปมันก็คือต้นทุนที่มากขึ้น แต่ก็อดหวังไม่ได้ว่าในภาคหลักจะมีเสียงพากย์ลงมาบ้างอยู่นะ


สรุป

Eiyuden Chronicle: Rising ถือเป็นเกมแอ็คชันที่เล่นได้พอเพลิน ๆ ที่มีระบบต่อสู้สนุกใช้ได้ แต่มีปัญหาเรื่องความซ้ำซากของรูปแบบเควสต์ตลอดทั้งเกม ถ้าคุณไม่มีปัญหาอะไรในจุดนั้นก็จะเล่นได้สนุกอยู่ครับ หรือใครที่อยากทำความคุ้นเคยกับโลกของ Eiyuden ก่อนตัวเกมหลักจะมาก็อยากให้ลองพิจารณากันดูเหมือนกันครับ

The Review

70% ปฐมบทแห่งตำนานร้อยผู้กล้า

Eiyuden Chronicle Rising มีความซ้ำซากในการออกแบบเควสต์ที่อาจทำให้ผู้เล่นเบื่อไปเสียก่อน แต่ถ้ามองข้ามจุดนั้นได้ก็จะถือเป็นเกมแอ็คชันที่เล่นได้เพลิน ๆ เกมหนึ่งเช่นกัน

70%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์