Games Reviews

Pac-man Museum+ – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Pac-man Museum+ – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นเวอร์ชัน PS4 ซึ่งราคาขายใน PSN ณ วันที่รีวิวคือ 590 บาท

พอพูดถึงชื่อ Pac-man นี่ผมก็จำได้ว่ามีความทรงจำร่วมกับแฟรนไชส์นี้มาเยอะอยู่ตั้งแต่เด็ก ๆ ล่ะนะครับ จำได้ว่าเคยเล่นภาคแรกก็ตั้งแต่สมัยแฟมิคอมนี่แหละ ในยุคนั้นก็เล่นแบบเล่นไปขำ ๆ เพราะรู้ว่าเกมมันเล่นยังไงก็ไม่จบ จากนั้นมาก็ได้เห็น Pac-man ที่ออกมาอีกมากมายหลายภาคพอดู บางภาคก็เคยเล่น บางภาคก็ไม่ได้แตะเลยแต่อาจจะเคยเห็นผ่านตาในนิตยสารเกมมาบ้าง ซึ่งสำหรับ Pac-man Museum+ ในคราวนี้ก็ถือเป็นการรวมฮิตเกม 14 เกมในแฟรนไชส์นี้เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเกมที่มีให้เล่นกันในอาร์เขดและเกมที่วางจำหน่ายบนคอนโซลครับ

ปกติสไตล์การรีวิวของผมมักจะแบ่งเป็นส่วนของเนื้อเรื่อง ส่วนของเกมเพลย์ กราฟิก และเพลงอะไรทำนองนั้น แต่กับเกมรวมฮิตอย่างนี้ แน่นอนว่าทำแบบนั้นไม่ได้ชัวร์ ๆ (ฮ่า ๆ) เพราะงั้นผมก็เลยจะมาพูดรวม ๆ ของการนำเสนอคอลเล็คชันในรอบนี้แทนครับ

อย่างที่บอกไปแล้วว่าตัวเกมเป็นการรวมฮิต 14 เกมในแฟรนไชส์ แต่ว่าทีมงานก็ทำการเพิ่มมูลค่าให้มากกว่าการเป็นคอลเล็คชันทั่ว ๆ ไปที่เรามักจะเห็นหลาย ๆ บริษัททำ UI ให้เลือกแต่ละเกมหลังกด start ที่หน้าจอเมนู เพราะว่าในเกมนี้เราจะเริ่มต้นในอาร์เขดเซ็นเตอร์ที่เปรียบเสมือนเป็นฮับกลางครับ ซึ่งในที่แห่งนี้เราจะสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของประดับฉากต่าง ๆ ได้ตามต้องการเพื่อสร้างอาร์เขดในแบบที่ชอบ ไม่ว่าจะปรับสีพื้นหรือเปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ก็ด้วย และสิ่งสำคัญก็คือบรรดาเกมตู้ต่าง ๆ ที่เราวางไว้ในพื้นที่ได้ ซึ่งเกมตู้พวกนี้นี่แหละที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นหน้าจอเลือกเกมที่จะเล่น แต่ละตู้ก็จะมีเกมต่างกันไป ส่วนเกมชุดไหนที่วางจำหน่ายบนคอนโซลก็จะมีโต๊ะที่รวมเกมคอนโซลเอาไว้ให้เลือกแทน

วิธีการเล่นแต่ละเกมก็เหมือนเวลาคุณไปเล่นเกมตู้นั่นแหละครับ คือในเกมจะมีเหรียญให้คุณเริ่มต้นที่ 500 เหรียญ จะเล่นหนึ่งครั้งก็หยอดหนึ่งเหรียญ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องเหรียญจะหมดเพราะถ้าคุณเล่นเกมหนึ่งครั้งแล้วเกมจบลง (ก็คือโอเวอร์นั่นแหละ) เกมก็จะให้เหรียญตอบแทนกลับมาอยู่ดี ที่สำคัญคือแต่ละเกมจะมี mission ให้คุณทำด้วยซึ่งถ้าทำได้ก็จะมีรางวัลเป็นพวกของตกแต่งเพิ่มเติม หรือบางทีก็เป็นพวกเพลงประกอบที่สามารถกดฟังได้จากตู้เพลงในอาร์เขดเซ็นเตอร์นั่นแหละ ซึ่งสำหรับเกมคลาสสิคจากอาร์เขดหลาย ๆ เกมก็จะมีเงื่อนไข mission ชนิดที่ว่า…นี่คาดหวังอะไรจากคนเล่นเหรอครับถามจริง…ผมคิดว่าถ้าคุณเป็นเกมเมอร์สาย Perfectionist ที่มีเป้าหมายในการเก็บอะไร ๆ 100% หรือต้องการเก็บ Trophy/Achievement ให้ครบล่ะก็…คุณอาจจะต้องเผชิญกับความโหดหินเอาเรื่องเลยล่ะ

เหรียญในเกมนี้นอกจากจะใช้เล่นเกมแล้ว ก็ยังสามารถนำไปหยอดตู้กาชาปองเพื่อไขเอาฟิกเกอร์ต่าง ๆ มาประดับฉากได้ หรือจะใช้ซื้อของตกแต่งอื่น ๆ ได้ที่ตู้ซื้อสินค้าเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในธีมของ Pac-man ทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นล่ะครับ

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า Pac-man Museum+ นี่ถือเป็นคอลเล็คชันรวมเกมที่ผมชื่นชมในแง่ของการนำเสนอนะครับ เพราะดูแล้วมีอะไร ๆ ที่ต่างจากคอลเล็คชันรวมเกมอื่น ๆ พอสมควรและยังมีเป้าหมายให้เกมเมอร์พิชิตมากกว่าจะเป็นการเล่นขำ ๆ ด้วย และเพื่อเป็นการช่วยในการตัดสินใจ ผมขอแปะรายชื่อทั้ง 14 เกมเอาไว้ตรงนี้ด้วยก็แล้วกันครับ

Pac-Man (1980)
Super Pac-Man (1982)
Pac & Pal (1983)
Pac-Land (1984)
Pac-Mania (1987)
Pac-Attack (เวอร์ชัน SNES; 1993)
Pac-In-Time (เวอร์ชัน SFC; 1995)
Pac-Man Arrangement (เวอร์ชันอาร์เขด; 1996)
Pac-Man Arrangement (เวอร์ชัน PSP; 2005)
Pac-Man Championship Edition (2007)
Pac-Motos (เดิมรวมอยู่ใน Namco Museum Remix; 2007)
Pac ‘n Roll Remix (เดิมรวมอยู่ใน Namco Museum Remix; 2007)
Pac-Man Battle Royale (2011)
Pac-Man 256 (เวอร์ชันคอนโซล, 2016)

The Review

70% วิ่งงับ ๆ ฉบับคลาสสิค 14 เกม

คอลเล็คชันรวมฮิต 14 เกมของ Pac-man ในครั้งนี้ถือว่ามีลูกเล่นที่มากกว่าคอลเล็คชันรวมเกมทั่ว ๆ ไปอยู่บ้าง ถ้าคุณเป็นแฟนของซีรีส์ ก็น่าลองหามาเล่นได้เพลิน ๆ เพราะราคาก็ไม่แรงเกินเอื้อมถึงครับ

70%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์