Games Reviews

The Last of Us Part I – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

The Last of Us Part I – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เลือกเล่นแบบ Performance ซึ่งแสดงผลที่ 1440P และ 60FPS
***เกมนี้ได้รับการแปลภาษาไทยทั้งเกม

ในปีค.ศ.2013 นั้น ทีมงาน Naughty Dog ที่เคยฝากผลงานเอาไว้จากซีรีส์ Crash Bandicoot, Jak and Daxter และ Uncharted ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการด้วยเกม IP ที่ชื่อ The Last of Us ซึ่งวางจำหน่ายบน PlayStation 3 ด้วยโทนเรื่อง เนื้อหาและการนำเสนอที่เข้มข้นและจริงจังต่างกับผลงานที่ผ่านมาของสตูดิโอซึ่งมักจะนำเสนอในลักษณะที่ค่อนข้างสบายและเบาสมองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเสียงตอบรับจากสำนักวิจารณ์ก็ท่วมท้นไปในทางบวกไม่แพ้เสียงชื่นชมจากผู้เล่น จนมีภาคต่อในปีค.ศ.2020 ด้วยชื่อว่า The Last of Us Part II ให้ได้เล่นกัน

และในวันนี้ 9 ปีให้หลัง ตัวเกมภาคแรกสุดก็ได้กลับมาอีกครั้งในแบบการรีเมคบน PlayStation 5 ด้วยชื่อที่ปรับใหม่เป็น The Last of Us Part I เพื่อให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน แล้วการรีเมคครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ


เนื้อเรื่อง

เรื่องราวของ The Last of Us Part I จะเล่าเกี่ยวกับโลกในปีค.ศ.2013 (ซึ่งเป็นปีที่เกมวางจำหน่ายครั้งแรก) ที่จู่ ๆ ได้เกิดเหตุการณ์เชื้อราสายพันธุ์ใหม่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งทำให้เหล่าผู้ติดเชื้อขาดสติยั้งคิดคลุ้มคลั่งเข้าทำร้ายผู้อื่นไม่เลือกหน้า แน่นอนว่าตัวเอกของเรื่องอย่างโจเอล (Joel) เองก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้และนำไปสู่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล ทว่าในอีก 20 ปีให้หลัง (ปีค.ศ.2033 ในเกม) เขาที่ใช้ชีวิตเป็นคนรับจ้างลักลอบขนของเถื่อนจากเขตกักกันก็จะได้พบเจอกับเด็กสาวที่ชื่อเอลลี่ (Ellie) ซึ่งจะนำพาไปสู่เหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปโดยสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่ง

ผมคิดว่าในส่วนของเนื้อหาเกมนี้ คงต้องแจ้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าถ้าคนที่เคยเล่นภาคต้นฉบับบน PlayStation 3 มาก่อนหรือแม้แต่ภาครีมาสเตอร์บน PlayStation 4 ก็จะไม่มีอะไรให้ต้องพูดถึงกันมากนักครับ นั่นเพราะองค์ประกอบในแง่เนื้อหาทั้งหมดเหมือนเดิมโดยที่ไม่มีการเพิ่มเติมฉากคัตซีนพิเศษหรืออะไรทั้งนั้น จังหวะการเล่น จังหวะการเกิดเหตุการณ์ ฉาก set piece ทั้งหลาย หรือบรรดา optional conversation (บทสนทนาที่ไม่บังคับ) ทั้งหมดล้วนมีเหมือนเดิมครับ ซึ่งก็รวมถึงเนื้อหาในส่วนของ Left Behind ซึ่งเดิมเป็น DLC สำหรับเกมต้นฉบับบน PS3 ด้วยเช่นเดียวกัน

แต่เอาล่ะ ถึงแม้ว่าเนื้อหาทั้งหมดจะเป็นของเดิมก็ตาม แต่ว่าเรื่องราวของเกมนี้มันทรงคุณค่าในตัวเองนับตั้งแต่ภาคต้นฉบับมาแล้วครับ ด้วยบรรดาตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว บทบาทที่แสดงออก แนวคิดว่าด้วยการเอาตัวรอดของแต่ละคนในยามที่สังคมซึ่งทุกคนคุ้นเคยได้ล่มสลายลงไปกับตา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเกมนี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเกลียดชัง การเสียสละ การทรยศหักหลัง ความอำมหิต ความปรานีล้วนถูกแสดงออกมาอย่างทรงพลังผ่านสีหน้าท่าทางและการแสดงชั้นยอดจากเหล่านักแสดงผู้มีส่วนร่วมทุกคน

หากใครหวังว่าจะได้เนื้อเรื่องใหม่ ๆ หรือมีฉากที่เพิ่มเติมจากเดิมก็อาจจะต้องผิดหวังสักหน่อย แต่ว่าถ้าใครที่ยังไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อน หรือเพิ่งมาได้รู้จักกับซีรีส์ The Last of Us จาก Part II ล่ะก็ นี่คือโอกาสอันดีที่คุณจะได้สัมผัสและรับรู้กับหนึ่งในเรื่องราวที่อัดแน่นเอาไว้ด้วยความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม และสะเทือนใจมากที่สุดเกมหนึ่งของวงการวิดีโอเกมครับ ไม่แน่ว่าหากคุณได้เล่นเกมนี้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วคุณอาจมีมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้นก็เป็นได้


การแปลภาษา

หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมอาจต้องขอยกมาพูดถึงเป็นพิเศษ อย่างที่หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเกมภาคนี้ได้รับการแปลไทยเช่นเดียวกับ The Last of Us Part II ที่วางจำหน่ายไปก่อนหน้านี้ ผมจึงเชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากทราบว่าคุณภาพการแปลในเกมเป็นอย่างไร ในแง่นี้ผมยืนยันได้ว่าคุณภาพการแปลนั้นอยู่ในขั้นดีเยี่ยมครับ ถ้าจะให้คะแนนการแปลนั้นก็คงอยู่ที่ราว 90% ได้ ไม่ว่าจะบทสนทนาในเกม หรือพวกเอกสารใด ๆ ก็อ่านได้ไหลลื่นไม่มีติดขัด

จุดที่ผมคิดว่าทำได้ดีมากเลยก็ไม่พ้นการแปลหนังสือมุกแป้กที่เอลลี่มักจะหยิบเอามาอ่านเรื่อย ๆ ครับ ด้วยความที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษนี่บรรดามุกต่าง ๆ ในเล่มมันจะเป็นลักษณะของมุก pun หรือก็คือมุกพวกคำพ้องนี่แหละ ถ้าเอามาแปลไทยตรง ๆ มันจะกลายเป็นมุกไม่ฮาพาคนเล่นเครียดแน่ ๆ ทีมงานที่รับผิดชอบการแปลก็เลยแก้ปัญหาด้วยการใส่พวกมุกกระบือแบบไทย ๆ ลงไปแทนเลย ซึ่งมันเป็นการแก้ไขที่ถูกจุดมาก ๆ เพราะเนื้อหาในส่วนนี้มันไม่ได้กระทบอะไรเส้นเรื่องหลักแม้แต่น้อยครับ

แล้วถามว่าทำไมผมให้คะแนนที่ 90% ล่ะ? นั่นเพราะตลอดเกมผมยังเห็นจุดที่มีการแปลผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้างครับ บ้างก็ใช้สรรพนามแทนตัวผิด (เช่นโจเอลแทนตัวเองว่า “หนู”) บ้างก็ความหมายเพี้ยนจากบริบทต้นฉบับอังกฤษ ซึ่งจุดที่ผิดพวกนี้มักจะเป็นคำพูดทั่ว ๆ ไปในระหว่างเล่นครับ เช่น ตอนที่กดขึ้นบนหลังม้าแล้วโจเอลพูดว่า “scooch” ซึ่งเป็นการบอกเอลลี่ให้กระเถิบไป แต่ซับขึ้นว่า “ก้ม” แทน ในจุดนี้ผมเข้าใจว่าบางทีทีมผู้แปลอาจจะไม่ได้ทราบหรือไม่ได้เห็นว่าคำนี้พูดในสถานการณ์ไหนอะไรยังไงนั่นล่ะครับ แต่นอกเหนือจากจุดเล็กน้อยพวกนี้แล้วคุณภาพการแปลก็ยังถือว่าดีเยี่ยมอยู่ดีครับ


เกมเพลย์

องค์ประกอบโดยรวมในแง่ของเกมเพลย์นั้นยกยอดมาจากเกมต้นฉบับบน PS3 ทั้งหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการคราฟท์ของ การลอบเร้น การฟังเสียงเพื่อระบุตำแหน่งศัตรู รวมถึงระบบการอัปเกรดตัวละครหรืออัปเกรดอาวุธต่าง ๆ เพียงแต่ว่าพอนำเอาเอ็นจิ้นที่ใช้ในการพัฒนา Part II มารีเมค Part I ใหม่ก็เลยมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามาอย่างเช่นการอัปเกรดอาวุธที่ workbench แต่ละจุด เราก็จะได้เห็นโจเอลทำการถอดเปลี่ยน เอาอุปกรณ์ใหม่มาติด หรือแงะแกะปืนพร้อมเช็ดถูทำความสะอาดให้เห็น ประหนึ่งเป็น ASMR ย่อม ๆ ให้เหล่าผู้ชื่นชอบอาวุธปืนได้เปรมปรีดิ์ไปตาม ๆ กัน

รูปแบบเกมเพลย์ของ The Last of Us Part I จะมีการแบ่งหลัก ๆ เป็น 2 ช่วงครับ คือช่วงสำรวจกับช่วงต่อสู้ ช่วงสำรวจนี่จะให้คุณได้ชมซากปรักหักพังของบ้านเมืองที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ตึกรามบ้านช่องคอนกรีตต่างก็โดนต้นไม้ใบหญ้าเข้ารุกราน และบางสถานที่ก็จะให้เราได้เห็นสภาพธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรที่แม้จะสวยงาม ในแต่ละช่วงสำรวจจะเป็นจังหวะให้คุณได้พักหายใจหายคอ เก็บรวบรวมทรัพยากร ตามอ่านเรื่องราวของผู้ที่เคยใช้ชีวิตในสถานที่แห่งนั้นพลางสงสัยว่าจนถึงตอนนี้แต่ละคนเป็นตายร้ายดีกันอย่างไร ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงให้คุณได้เตรียมความพร้อมรับมือกับบรรดาภัยคุกคามที่จะต้องเผชิญต่อไป

นั่นเพราะว่าในทุกที่ที่คุณไป ไม่ว่ามันจะสวยงามแค่ไหนหรือเต็มไปด้วยร่องรอยความเสียหายเพียงใด ต่างก็แฝงเอาไว้ด้วยอันตรายจากผู้ติดเชื้อหรือผู้ไม่ติดเชื้อที่พร้อมจะฆ่าเราตลอดเวลา ซึ่งเกมก็จะเข้าสู่ช่วงต่อสู้ให้เราโดยอัตโนมัตินั่นเอง ส่วนวิธีการรับมือของคุณในแต่ละสถานการณ์ต่อสู้นั้นก็แล้วแต่สไตล์เลยครับ ถ้าคุณอยากประหยัดทรัพยากรก็ต้องอาศัยลอบเร้นแล้วกำจัดเป้าหมายไปทีละคน (ทีละตัว) หรือถ้าคุณมั่นใจว่าการปะทะซึ่ง ๆ หน้านั้นคุณรับมือไหว ก็เปิดฉากระเบิดกระสุนโป้งป้างให้สนั่นไปเลยก็ยังได้

สิ่งหนึ่งที่เกมนี้ทำได้ดีก็คือพวกลูกล่อลูกชนในการรับมือกับศัตรูนี่ล่ะครับ ถ้าเป็นคนธรรมดาด้วยกัน เมื่อต้องปะทะกันซึ่ง ๆ หน้าคนพวกนี้จะมีทั้งพยายามพุ่งเข้ามาตีเราในระยะประชิด บ้างก็จะพยายามหาจังหวะตลบหลัง และพวกที่ใช้ปืนก็จะคอยยิงจากที่ไกล ๆ หรือไม่ก็จะปาระเบิดขวดใส่เพื่อบีบให้เราต้องออกจากที่กำบังและเปิดช่องให้คนอื่นโจมตี และพวกปฏิสัมพันธ์ในยามที่โดนโจมตีครับ ที่เห็นชัดเลยคือพวกคนนี่ถ้าโดนโจมตีหนักใกล้ตาย หรืออาวุธหลุดมือก็จะออกอาการกลัวตายร้องขอชีวิตให้เห็น หรือในกรณีที่เราจับล็อคคอศัตรูคนนึงไว้แล้วคนอื่นเห็นเข้าก็จะไม่รีบยิงตอบโต้แต่จะแค่เล็งดูท่าทีครับ

ในทางกลับกัน ถ้าศัตรูที่เป็นพวกติดเชื้อล่ะก็พวกนี้จะมีพฤติกรรมที่ตรงไปตรงมา นั่นคือถ้ามันรู้แล้วว่าเราอยู่ตรงไหนมันก็จะวิ่งพุ่งเข้าใส่ในทันที โดยไม่สนอาการบาดเจ็บของตัวเอง ที่สำคัญคือพวกมันจะไม่มีการหลบไม่มีหยุดพักดูสถานการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และแน่นอนว่าไม่สนด้วยแม้เราจะจับเพื่อนของมันล็อคคอเอาไว้ก็ตามที มันเลยทำให้ไดนามิคของเกมจะต่างกันออกไปในแต่ละรอบที่คุณเผชิญหน้ากับศัตรูแต่ละประเภทนั่นเอง

ซึ่ง…ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือสิ่งที่ตัวเกมมีให้ตั้งแต่ต้นฉบับนั่นล่ะครับ พวกจุดกำบังเอยอะไรเอยนี่จัดวางเอาไว้ในจุดเดียวกันเลย อาจจะมีต่างกันนิดหน่อยก็ในแง่ของรายละเอียดโมเดล ส่วนสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นในการรีเมคครั้งนี้แบบค่อนข้างชัดก็คงเป็นพวกองค์ประกอบเสริมต่าง ๆ อย่างเช่นเอฟเฟคต์เลือด หรือเศษซากที่กระจัดกระจาย อะไรทำนองนั้นมากกว่า ที่น่าเสียดายก็คือระบบการคลานแบบที่สามารถทำได้ใน Part II นั้นไม่มีให้ใช้งานใน Part I ครับ แต่ค่อนข้างเข้าใจได้เพราะเดิมทีตัวเกมต้นฉบับไม่ได้ออกแบบมาให้มีระบบคลาน ถ้าเกิดใส่เข้ามาในภาครีเมคก็จะต้องทำการปรับองค์ประกอบฉากอะไรต่อมิอะไรกันยกใหญ่หมดแน่นอน

ดังนั้น ในแง่ของเกมเพลย์หลัก ๆ หากคุณเคยเล่นเวอร์ชัน PS3 และ PS4 มาแล้ว มันก็คือเกมเดียวกันนั่นล่ะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้นฉบับไม่มีและได้รับการใส่เข้ามาในภาคนี้ก็คงเป็นพวก accessibility option หรือตัวช่วยในการเข้าถึงเกมมากกว่า อย่างเช่นการมีเสียงบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอเพื่อชดเชยสำหรับผู้มีปัญหาสายตา หรือไม่ก็การนำเอาแต้มที่ได้จากการเล่นเพื่อมาปลดล็อคสกินต่าง ๆ หรือไม่ก็โมเดลไว้ชมรายละเอียดตัวละคร ดูคอนเซปต์อาร์ต รวมถึงการปรับแต่งเกมเพลย์ที่ให้คุณได้เปิดใช้เพื่อเล่นในรอบล้างแค้น ไม่ว่าจะเป็นกระสุนไม่จำกัดเอย คราฟท์ของได้ไม่หมดเอย ยิงธนูระเบิดได้เอย ฯลฯ อะไรพวกนั้น

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้เล่นที่หลงใหลเนื้อหาและโลกของ The Last of Us น่าจะชื่นชอบกันเป็นพิเศษก็คงไม่พ้นสารคดีเบื้องหลังการสร้างทั้ง The Last of Us Part I และรวมถึง Left Behind ที่เป็น DLC นั่นล่ะครับ ในวิดีโอดังกล่าวก็ได้รับการแปลไทยทั้งหมด ดังนั้นถ้าคุณต้องการทราบรายละเอียดเชิงลึก รวมถึงปรัชญาในการพัฒนาของเกมนี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับคุณแล้วครับ

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องพูดถึงก็คือบทวิจารณ์ในฉากคัตซีนครับ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในเวอร์ชันนี้ก็คือเราสามารถเลือกฟังความเห็นต่าง ๆ จากนีล ดรักแมนน์ ที่เป็นผู้กำกับ รวมถึงนักแสดงนำอย่างทรอย เบเคอร์ (โจเอล) และแอชลีย์ จอห์นสัน (เอลลี่) ที่จะมาพูดคุยเกี่ยวกับฉากคัตซีนแต่ละฉากของเกมให้เราฟังกัน ในลักษณะที่เป็นเสียงบรรยายพากย์ทับฉากคัตซีนไปเลยซึ่งก็แน่นอนว่าแปลไทยมาให้ครบถ้วน เหมาะสำหรับคนที่เล่นจบไปแล้วหนึ่งรอบแล้วต้องการมาเก็บรายละเอียดเบื้องหลังว่าเพราะอะไรหรือทำไมแต่ละฉากถึงได้ออกมาเป็นอย่างที่เห็นกันครับ


กราฟิก

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องออกปากชื่นชมเลยครับ คือตัวเกมภาคต้นฉบับบน PS3 นั้นเป็นเกมที่ได้รับการยกย่องว่ารีดพลังของเครื่องออกมาได้สุด ๆ แล้ว และการกลับมาในคราวนี้บน PS5 ก็ได้ใช้ประโยชน์จากพลังของเครื่องอย่างเต็มที่ พวกแสงเงาต่าง ๆ นี่ทำออกมาได้ดูดีสวยงามสมจริง ภาพสะท้อนในกระจกหรือพื้นผิวอื่น ๆ ก็ไม่หลอกตา แถมโมเดลตัวละครนี่ก็เห็นริ้วรอยรายละเอียดบนใบหน้าชัดเจนมาก ขนาดว่าผมเปิดเล่นทั้งเกมแบบ performance ก็ยังออกมาดูดีมาก ๆ เลย

จุดที่เป็นวิวทิวทัศน์นี่คือสวยเลิศจริง ๆ หลายซีนหลายฉากนี่สามารถแคปไปทำเป็นโปสการ์ดหรือเป็นวอลล์เปอร์งาม ๆ ได้เลยครับ ส่วนในแง่ของการนำเสนอความดิบเถื่อนนี่ก็ทำได้ดีในอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน พวกเลือดเนื้อต่าง ๆ ที่กองกระจายในตอนที่คนหรือพวกติดเชื้อโดนระเบิด หรือไม่ก็ซากเกรียม ๆ เมื่อโดนไฟจากระเบิดขวดเผา แม้แต่รอยแผลจากการโดนกระสุนยิงก็ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความอำมหิต โหดดิบและความเลวร้ายของโลกในเกมรวมถึงสิ่งที่ผู้คนจะต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี


เสียงพากย์และเพลงประกอบ

เสียงพากย์ของเกมฉบับรีเมคนี้ ก็ไม่ต่างจากเกมต้นฉบับครับ การพากย์ในทุกจังหวะและทุกฉากคือการหยิบยกเอาของเก่าจากต้นฉบับมาทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายอะไร นั่นเพราะเดิมทีงานพากย์ของเกมนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นระดับท็อปของวงการครับ นักแสดงแต่ละคนล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ได้สมบทบาทและเค้นอารมณ์กันออกมาสุด ๆ แล้ว ไม่ว่าจะซีนโศกเศร้า ซีนตึงเครียด และฉากระเบิดอารมณ์ต่าง ๆ หากว่าคุณไม่เคยสัมผัสเกมนี้มาก่อน รับรองได้ว่าคุณจะต้องทั้งช็อค โกรธเกรี้ยว เสียน้ำตา หดหู่และอีกสารพัดอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างเล่นแน่นอน

ด้านเพลงประกอบก็ทำหน้าที่ได้ดีในการขับเน้นอารมณ์แต่ละฉาก ดนตรีของเกมนี้มีทั้งบรรยากาศแห่งความโดดเดี่ยวอ้างว้าง มีทั้งบรรยากาศผ่อนคลาย และรวมถึงการสร้างบรรยากาศตึงเครียดจากการเผชิญหน้า  ดนตรีในเกมนี้คือองค์ประกอบที่จะอยู่เคียงข้างผู้เล่นไปตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่รู้สึกแปลกแยกและจะสอดคล้องกับเนื้อหาของเกมตลอดเวลา


สรุป

The Last of Us Part I คือเกมรีเมคจากต้นฉบับที่แทบจะเหมือนต้นฉบับเกือบทุกประการครับ หากว่าใครที่ยังไม่เคยเล่นมาก่อนเลยก็ขอแนะนำให้เล่นเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือหนึ่งในเกมชั้นเยี่ยมที่จะถูกกล่าวถึงไปอีกนาน ส่วนใครที่เคยเล่นต้นฉบับหรือภาครีมาสเตอร์มาแล้ว ถ้าหากอยากจะสัมผัสเรื่องราวและความประทับใจที่คุณเคยสัมผัสมาก่อน The Last of Us Part I นี้ก็จะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโจเอลและเอลลี่ในแบบฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ครับ

The Review

80% กราฟิกเปลี่ยนไป แต่หัวใจยังคงเดิม

The Last of Us Part I คือภาครีเมคที่ยกเครื่องกราฟิกใหม่หมด แต่ไม่ได้เพิ่มองค์ประกอบมากนักในแง่เกมเพลย์ แฟนเก่าจะได้สัมผัสเกมที่ประทับใจในฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง ส่วนผู้ไม่เคยเล่นก็จะได้สัมผัสกับหนึ่งในเกมขึ้นหิ้งประจำวงการที่จะติดอยู่ในใจคุณไปอีกนานแสนนาน

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์