Games Reviews

The DioField Chronicle – รีวิว [REVIEW]

The DioField Chronicle – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

The DioField Chronicle คือเกมวางแผนการรบในสไตล์แฟนตาซียุคกลางที่ถือเป็น IP ใหม่ของ Square-Enix ที่ต้องยอมรับว่าผมเองก็สนใจอยู่ระดับหนึ่งในตอนที่เปิดตัวครับ ด้วยความที่หน้าเกมดูค่อนข้างจริงจังกว่าสไตล์เกม JRPG ที่คุ้นเคยอยู่พอสมควร และในตอนนี้ที่ผมได้สัมผัสตัวเกมแล้วก็จะมาบอกเล่าความรู้สึกหลังจากที่ได้เล่น (จนแพลต) มาให้อ่านกัน


เนื้อเรื่อง

The DioField Chronicle จะบอกเล่าเรื่องราวที่ดำเนินไปในเกาะ DioField Island (เกาะดิโอฟิลด์) ซึ่งมีอาณาจักร Alletain (อัลเลอเทน) ที่ปกครองโดยราชวงศ์ Shaytham (เชย์แธม) มายาวนานหลายศตวรรษ ตัวเอกของเกม Andrias Rhondarson (แอนเดรียส รอห์นดาร์สัน) ในวัยเยาว์ได้รับหน้าที่เป็นข้ารับใช้ให้กับองค์ชายสี่ของราชวงศ์เชย์แธมนั่นคือ Levantia Shaytham (เลวานเทีย เชย์แธม) โดยที่ในวันหนึ่งทั้งสองได้รับการส่งตัวไปยังที่พำนักของขุนนางตระกูล Lester (เลสเตอร์) ซึ่งที่นั่นก็ได้มีบุตรชายของตระกูลอายุรุ่นราวคราวเดียวกันคือ Fredret (เฟรเดร็ท) มาต้อนรับ ทั้งสามจึงกลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว

วันหนึ่งคฤหาสน์แห่งตระกูลเลสเตอร์ได้โดนกองกำลังหนึ่งบุกจู่โจม ส่งผลให้แทบทุกคนสิ้นชีพ เหลือรอดเพียงเด็กหนุ่มทั้งสามที่หนีตายกระเสือกกระสน และในเวลานั้นองค์ชายที่สี่เลวานเทียก็ได้โดนลอบสังหารไปต่อหน้าต่อตาแอนเดรียสและเฟรเดร็ท…กาลเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งแอนเดรียสและเฟรเดร็ทได้เติบใหญ่และแข็งแกร่ง วันหนึ่งพวกเขาได้ช่วยเหลือ Lorraine Luckshaw (ลอร์เรน ลัคชอว์) ที่โดนไล่ล่าอยู่ ซึ่งลอร์เรนมีตำแหน่งเป็นผู้รับใช้ของดยุค William Hende (วิลเลียม เฮนเด) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของ Lords Council (สภาแห่งลอร์ด) ที่คอยให้คำปรึกษาแก่ราชาแห่งดิโอฟิลด์

โชคชะตาอันแสนประหลาดนี้ ได้ทำให้ทั้งสองคน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยทหารรับจ้าง Blue Fox (จิ้งจอกน้ำเงิน) ที่ขึ้นตรงต่อดยุควิลเลียม และจำต้องไปพัวพันกับศึกภายนอกที่ Trovelt-Schoevian Empire (จักรวรรดิโทรเวลต์-โชเวียน) กรีฑาทัพมาหมายยึดครองเกาะดิโอฟิลด์เพราะต้องการแย่งชิง Jade (หยก) อันเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่เปี่ยมไปด้วยพลังเวทมนตร์ ทั้งยังมีศึกภายในที่แต่ละฝักฝ่ายของสภาแห่งลอร์ดก็ล้วนรบพุ่งฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองอีกด้วย

ถ้าหากคุณอ่านทั้งหมดข้างบนนั่นแล้วงง ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะตัวเกมเริ่มมาก็ถล่มคุณด้วย lore ของเกมแบบพรั่งพรูอย่างที่ผมพิมพ์ไปนั่นล่ะครับ ไม่ว่าจะความเป็นมาของแต่ละขุมอำนาจเอย ตัวละครเอย ตอนนี้ใครมันตีกับใคร ใครเข้าพวกกับใคร เกิดอะไรขึ้นบ้างในเกม ทุกอย่างเล่าแบบไปค่อนข้างเร็วเอาเรื่องชนิดที่ว่าถ้าคุณเผลอหันความสนใจไปทางอื่นนิดนึงอาจจะต่อไม่ติดเลย ยังดีที่ว่าตัวเกมมีพวกเอกสารให้ไปไล่อ่านเซ็ตติ้งต่าง ๆ ของเกม และมีให้เลือกดูคัตซีนย้อนหลังเพื่อทวนความจำได้อยู่ ช่วงแรก ๆ ของเกมนี่ผมใช้เวลาไปกับการทำความเข้าใจเซ็ตติ้งหลายอย่างของเกมเยอะเหมือนกัน แต่พอเริ่มรู้สถานะของตัวละครและฝักฝ่ายแล้ว ก็พบว่าเนื้อหาเกมมันเข้มข้นใช้ได้ครับ

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในช่วงต้น ๆ เกมเลย เนื้อหาดำเนินไปอย่างค่อนข้างเนิบ ๆ เรียบ ๆ ดูไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา ซึ่งพอมานึกแล้วผมก็เข้าใจว่าเกมต้องการให้เราค่อย ๆ ทำความเข้าใจซึมซับกับโลกของเกมไปนั่นล่ะครับ เพราะเมื่อเดินเรื่องไปถึงจุดนึง เนื้อหาจะเริ่มมีอะไรพลิกมาเรื่อย ๆ ให้ต้องแบบ “เอ๊ะ? เอ๊ะ?? เอ๊ะ???” ตลอดเวลาก็ว่าได้

สิ่งที่ผมชอบก็คือตัวละครแต่ละคนโดยเฉพาะพวกตัวหลักนี่ ถึงที่สุดแล้วทุกคนเป็นตัวละครสีเทา ๆ กันหมด (แน่นอน ไม่เว้นแม้แต่แอนเดรียสที่เป็นพระเอกหลัก) ทุกคนขับเคลื่อนกันด้วยเจตนาแอบแฝงของตนเองทั้งนั้น มันเลยทำให้พอเข้าช่วงกลาง ๆ เกมไป แทบจะมองไม่ค่อยออกเลยว่าใครจะอยู่หรือใครจะไปตอนไหน เหมือนทุกคนพร้อมจะหักหลัง พร้อมจะสลับข้างกันตลอดเวลา

ในแง่นี้คงต้องยกประโยชน์ให้กับการดีไซน์ตัวละครของเกมด้วย สารภาพเลยว่าด้วยความที่ตัวเกมเป็น JRPG ยืนพื้น ผมเลยจะมีภาพจำของบรรดาตัวละครในใจอยู่พอควร แต่เกมนี้เลือกที่จะเดินเรื่องแบบค่อนข้างแหก trope ของตัวละครไปเยอะอยู่มากเหมือนกัน มันเลยให้รสชาติที่แปลกและสนุกเอาเรื่องครับ กลายเป็นว่าโทนเรื่องนี่จริงจังและพัฒนาไปในแนวทางที่สมจริงใช้ได้อยู่ เพราะไม่มีปัญหาไหนในเกมเลยที่สามารถแก้ไขได้แบบเบ็ดเสร็จและทุกคนแฮปปี้ดี๊ด๊ากันหมด นั่นเลยทำให้ผมคาดหวังอยากจะได้เห็นภาคต่อของเกมพอควรเลยว่าเนื้อหาจะพัฒนาไปในแนวทางไหนต่อไป


เกมเพลย์

มาว่ากันด้วยจานหลักของเกมนี้ก็คือเกมเพลย์กันครับ ตัวเกมจะแบ่งออกเป็นสองส่วนก็คือส่วนเตรียมตัวกับส่วนต่อสู้นั่นเอง ซึ่งส่วนเตรียมตัวที่ว่านี่จะให้เราเดินไปเดินมาในฐานบัญชาการของจิ้งจอกน้ำเงิน (ซึ่งก็ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรนัก) เพื่อทำการซื้อของ, คราฟท์อาวุธ, อัปเกรด Magilumic Orb (ลูกแก้วมาจิลูมิก) รวมถึงการอัปเกรดสกิลอะไรทำนองนั้น ซึ่งที่นี่ก็จะเปิดโอกาสให้คุณได้ตระเวนพูดคุยกับบรรดาสหายร่วมรบทั้งหลายเพื่อรับรู้ lore ของเกมเพิ่มเติม หรือไม่ก็เป็นการเปิดซับเควสต์ใหม่ ๆ ให้ทำเพื่อรับรางวัลครับ

ถ้าจะมีอะไรที่น่าเสียดายในส่วนของการเตรียมตัวก็คือ ทั้งเกมคุณจะไม่ได้ออกไปเดินในโลกภายนอกเลย ทุกอย่างจะอยู่แค่ในฐานบัญชาการอย่างเดียวนี่ล่ะครับ จะไม่มีการให้คุณได้ออกเดินเล่นในเมือง หรือไปสำรวจสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอะไรแบบนั้น คุณจะได้เห็นฉากภายนอกก็ต่อเมื่อคุณออกไปทำภารกิจในแต่ละภารกิจเพียงอย่างเดียว

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของระบบเกมพื้นฐานคร่าว ๆ ก่อนจะไปพูดถึงระบบต่อสู้ครับ คือเกมนี้จะแบ่งความสามารถหลัก ๆ ออกเป็นสองแบบนั่นคือ Abilities (อบิลิตี้) ของตัวละคร และ Skill (สกิล) รวมของท่าโจมตี ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือเมื่อตัวละครไหนเลเวลอัปขึ้นมา ตัวละครนั้นก็จะได้อบิลิตี้พอยต์ไปใช้ปลดล็อกความสามารถแบบ passive ของตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกับตัวละครอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอย่างโจมตีเร็วขึ้น บ้างก็เป็นตีแล้วดูดเลือด เป็นต้น

ในขณะที่สกิลจะเป็นการใช้สกิลพอยต์ที่ได้จากการเคลียร์ฉากตามเงื่อนไขเพื่ออัปเกรดท่าโจมตีเฉพาะของแต่ละคลาส (ซึ่งก็จะแบ่งไปตามอาวุธแต่ละชนิดอีกที) ที่เมื่อคุณอัปเกรดไปแล้วตัวละครทุกตัวในสายเดียวกันหรืออาวุธชนิดเดียวกันก็จะได้ผลลัพธ์จากการอัปเกรดไปเหมือนกันหมดนั่นเองครับ

ระบบที่แปลกใช้ได้ (ส่วนจะเรียกว่าดีหรือไม่ อันนี้ก็ไม่ค่อยแน่ใจ) คือพวกสกิลต่าง ๆ ของแต่ละตัวละครจะไปผูกอยู่กับอาวุธที่สวมใส่ครับ ทำให้แต่ละตัวละครจะมีสกิลที่ใช้ได้ในฉากสูงสุดคือ 3 สกิล + 1 สกิลประจำคลาสของตัวเอง (ไม่รวมพวก passive นะ) เท่านั้น แต่ก็แน่นอนว่าสกิลที่มีให้ในเกมโดยรวมจะมากกว่า 3 แน่ ๆ ดังนั้น ในหลายครั้งผู้เล่นจะเจอสถานการณ์แบบที่ว่าอยากเปลี่ยนอาวุธที่ดีขึ้น แต่ดันไม่มีสกิลที่ชอบหรือเข้ามือก็มักต้องใช้ชิ้นเดิมไปก่อน หรือไม่ก็ปรับวิธีเล่นของตัวเองครับ

อีกวิธีก็คือการหายูนิตย่อยมาร่วมทางไปก็จะทำให้เราใช้สกิลที่หลากหลายขึ้นได้ ซึ่งจะเน้นยูนิตสายเดียวกันหรือสลับสายก็แล้วแต่ผู้เล่นเลย ซึ่งจุดนี้มันก็เลยทำให้เกมขาดองค์ประกอบของพวกระบบอาชีพที่หลายคนคาดหวังจากแนว Simulation RPG แบบคลาสสิกอยู่เหมือนกัน เพราะคุณจะไม่สามารถสลับอาชีพ เพิ่มสกิลใหม่ ๆ ให้กับตัวละครได้เลย ยูนิตไหนอยู่สายอะไรก็จะอยู่ไปแบบนั้นจนจบเกม

ในส่วนของเกมเพลย์นั้น รูปแบบการเล่นจะเป็นในสไตล์ที่เรียกว่า Real-Time With Pause (RTWP) หรือก็คือเป็นเกมที่เล่นแบบเรียลไทม์แต่สามารกดหยุดเกมได้ในบางจังหวะเช่นตอนเลือกใช้สกิล มันเลยทำให้ตัวเกมไม่มีความตึงเครียดเท่ากับเกม Real-Time Strategy (RTS) ที่ทุกอย่างจะดำเนินไปตลอดเวลาไม่มีหยุดครับ เรียกได้ว่ายังมีจังหวะให้คนเล่นพักหายใจหายคอและนั่งคิดว่าจะทำอะไรยังไงต่อไปนั่นเอง กระทั่งตอนศัตรูใช้สกิลก็จะมี grace period เปิดจังหวะให้เราคิดก่อนว่าจะรับมือยังไง และเมื่อเรากดใช้สกิลก็จะออกสกิลได้เลยทันทีไม่มีดีเลย์ เกมเลยค่อนข้างง่ายพอสมควร ที่สำคัญคือพวกฉากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ได้ส่งผลอะไรกับการเล่น มันเลยไม่มีจังหวะให้ต้องระแวดระวังในตอนเคลื่อนที่เลยว่าจะไปเจอกับดักหรืออะไรพวกนั้นรึเปล่า

ยูนิตของเกมนี้จะแบ่งออกเป็นสี่ประเภทด้วยกันนั่นคือสายแทงค์ สายเคลื่อนที่เร็ว สายเวท และสายระยะไกล ซึ่งแต่ละสายก็จะแตกย่อยลงไปอีกสองแบบตามชนิดอาวุธ (ยกเว้นแทงค์ที่มีสามแบบ) ที่สกิลและประโยชน์ใช้สอยต่างกัน ทำให้ผู้เล่นสามารถลองเลือกมิกซ์แอนด์แมทช์แล้วหาวิธีการเล่นที่เข้ามือตัวเองได้หลากหลายอยู่เหมือนกัน คุณอาจเลือกให้สายแทงค์วิ่งไปกลางวงศัตรู กดสกิลตั้งโล่เพื่อทำหน้าที่กระสอบทรายพร้อมดึงศัตรูไปไว้จุดเดียวเปิดโอกาสให้สายเวทกดสกิลหมู่ หรือจะให้สายเวทเพิ่มความเร็วแก่สายเคลื่อนที่เร็ววิ่งล่อศัตรู แล้วให้คนอื่นอ้อมตีด้านหลังศัตรูเพื่อแดเมจที่สูงขึ้น หรือจะให้สายธนูคอยใช้สกิลยิงขัดจังหวะเวลาบอสจะใช้ท่าจนมันยืนมึนแล้วยอมให้เราตีฟรีก็ได้ เกมเปิดโอกาสให้คนเล่นลองหาอะไรที่เหมาะกับตัวเองเยอะพอควร

นอกเหนือไปจากการใช้สกิลส่วนตัวของแต่ละยูนิตแล้ว เกมยังมีระบบช่วยเหลืออีกอย่างก็คือการใช้ลูกแก้วมาจิลูมิกเพื่อทำการเรียกอสูรออกมาใช้งาน ที่ก็จะให้ผลลัพธ์ต่างกันไปตามแต่ละตัว (แน่ล่ะว่าอัปเกรดความแข็งแกร่งได้ที่ฐานบัญชาการ) ซึ่งถ้าใช้ถูกจังหวะก็จะทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นมากเลยทีเดียวเช่นกัน แต่ว่าผู้เล่นจะสามารถเลือกไปลงฉากได้แค่สองตัว เพราะงั้นคุณจะเลือกอะไรไปก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การเล่นของคุณนั่นล่ะครับ

ถ้าจะให้นิยามในแง่ของเกมเพลย์นั้น ผมคิดว่าคล้ายกำลังเล่นแนว Multiplayer Online Battle Arena (MOBA) ที่ตัดในส่วนของมัลติเพลเยอร์ออนไลน์ออกและให้เราเล่นแคมเปญอย่างเดียว เพราะแต่ละยูนิตจะมีลักษณะเหมือนเป็นฮีโรที่มีสกิลเฉพาะตัวและวิธีการใช้งานต่างกันครับ เล่นแรก ๆ คุณอาจจะต้องปรับตัวและทำความเข้าใจระบบพอสมควร แต่พอชินมือและหากลยุทธ์ที่เข้ากับตัวเองได้แล้วก็สามารถลุยได้ยาว ๆ ยันจบเกมเลย

หากจะมีจุดหนึ่งที่ผมแอบเสียดายก็คงเป็นการดีไซน์ศัตรูและฉากครับ พอเล่นไปถึงสัก 70% ของเกมแล้วคุณก็จะได้เห็นดีไซน์ศัตรูครบแล้ว เกมนี้ไม่มีมอนสเตอร์ที่มันยิ่งใหญ่อลังการหรือดูเป็นระดับภัยคุกคามโลกเหมือนเกม JRPG อื่น ๆ ครับ เพราะโดยส่วนตัว Bahamut (บาฮามุต) ที่เป็นเวทอสูรที่เราใช้ได้นี่ดูเท่และยิ่งใหญ่กว่ามอนสเตอร์อื่น ๆ ในเกมหมดเลย แต่เข้าใจว่าเพราะเกมเน้นไปเล่าเรื่องการขัดแย้งและชิงอำนาจกันระหว่างมนุษย์มากกว่า เลยไม่เปิดโอกาสให้มีพวกมอนสเตอร์ระดับ world-ending ปรากฏตัว (แต่ถ้ามีภาคหน้าก็ขอให้โผล่กันมาหน่อยนะ)


กราฟิกและการนำเสนอ

กราฟิกของเกมอยู่ในระดับกลาง ๆ ครับ โมเดลตัวละครยังมีความเป็นกึ่งอนิเมอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ซื่อตรงกับภาพวาดและดีไซน์ตัวละครใช้ได้ กระนั้นเกมก็ไม่ได้เน้นนำเสนอความละเอียดของพวกเสื้อผ้าหน้าผมและเท็กซ์เจอร์ต่าง ๆ เท่าไร ถึงอย่างนั้นแม้จะไม่ได้สวยระดับต้องออกปากชม แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดจนต้องพูดถึง ซึ่งเข้าใจว่าเพราะด้วยความที่เกมเป็นแนว RTWP ที่มุมกล้องจะจับจากมุมสูงบ่อย ๆ ทั้งเกมเพื่อให้ผู้เล่นเห็นภาพรวมของฉากสู้จึงไม่ใช่จุดที่มุ่งเน้นเท่าไรนัก ข้อดีก็คือ แม้จะเลือกเล่นแบบเน้นกราฟิกแต่ก็ไม่เจอปัญหาแล็กหรือเฟรมตกแม้ในตอนที่สู้กันชุลมุนหรือมีเอฟเฟคต์กระจายทั่วฉากครับ (หรือถ้ามีก็แทบสังเกตไม่เห็น)

ฉากการเล่าเรื่องของเกมนี้เลือกจะใช้สามรูปแบบด้วยกัน แบบแรกเลยก็คือพวกฉากคัตซีนที่กว่า 80% จะเป็นตัวละครนั่งคุยกันรอบโต๊ะบัญชาการ ที่เหลือก็มีซีนแอ็คชันให้ดูบ้างเล็กน้อย แบบที่สองก็คือเป็นฉากคุยกันในฟิลด์ต่อสู้ที่มากระทั่งวงกลมสีฟ้ารอบขาตัวละครเพื่อบ่งบอกว่านี่คือฝ่ายเรา โดยฝ่ายศัตรูก็จะมีวงกลมสีแดงรอบขาเหมือนกัน และแบบสุดท้ายก็คือการใช้ภาพวาดปรากฏขึ้นบนจอคลอไปกับเสียงบรรยายครับ จะว่ามีสไตล์ที่หลากหลายก็คงได้ แต่ส่วนตัวก็แอบคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิธีการประหยัดงบของทีมงานอยู่ เพราะหลาย ๆ ฉากผมคิดว่าถ้าทำคัตซีนเคลื่อนไหวน่าจะออกมาดูดีและสร้างอิมแพคต์ได้มากกว่าเป็นแค่ภาพวาดเฉย ๆ

อีกจุดหนึ่งที่น่าเสียดายก็ไม่พ้นการออกแบบฉากครับ แต่ละฟิลด์ที่มีให้สู้นั้น ไม่ว่าจะต่างสถานที่ ต่างแคว้นไปแค่ไหน แต่สุดท้ายผมก็รู้สึกว่ามันดูเหมือน ๆ กันไปหมดไม่ได้มีการออกแบบที่มันโดดเด่นกว่ากันจนรู้สึกได้ว่าเป็นคนละสถานที่กัน ไม่ว่าจะฉากสู้ในเมืองหรือสู้ในป่าในเขา ในหนองบึงก็ตามที มันดูไม่ได้ต่างอะไรกันชัดเจนครับ


เพลงประกอบและเสียงพากย์

เพลงประกอบของเกมนี้ให้บรรยากาศในแบบดาร์คแฟนตาซียุคกลางได้ดีครับ ธีมหลักนี่ฟังแล้วยิ่งใหญ่อลังการฮึกเหิมดีเพราะมาทั้งเสียงคอรัส มาทั้งเสียงดนตรีแบบครบวง รวมถึงพวกธีมประกอบในตอนสู้เอยอะไรเอยต่าง ๆ ก็อยู่ในบรรยากาศแบบยุคกล๊างยุคกลาง แต่ที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวคงเป็นบรรดาเสียงพากย์ตัวละครครับ ทุกคนพูดกันในสำเนียงแบบอังกฤษจ๋า ๆ บริติชมาก ถ้าใครที่เล่นเกมหรือดูซีรีส์ด้วยสำเนียงอเมริกันเยอะ ๆ อาจรู้สึกแปลกหูไปหน่อย แต่พอเล่นไปจะรู้สึกว่าตัวละครพูดกันได้สมกับบรรยากาศของเกมไม่เบาครับ


สรุป

The DioField Chronicle นี่เป็นเกม IP ใหม่ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นผลงานที่ Square-Enix “ทดลอง” ไอเดียใหม่ ๆ ดูว่ามันจะออกมาเวิร์คหรือไม่ ซึ่งถ้าถามผมที่เข้ามาเล่นแบบไม่ได้ลองเดโมมาก่อน ไม่ได้คาดหวังอะไร มันสนุกใช้ได้อยู่เหมือนกันนะ ประเด็นคือคุณถ้าคุณคาดหวังพวกระบบอาชีพที่หลากหลายมากมายแบบเกมคลาสสิกอย่าง Tactics Ogre หรือไม่ก็ Final Fantasy Tactics คุณอาจจะผิดหวัง แต่ถ้าคุณโอเคกับเกมสไตล์ MOBA ที่เล่นแบบ RTWP ล่ะก็ นี่ถือเป็นเกมที่สนุกดีเกมนึงเลย ซึ่งถ้าคุณจำ lore และจำเซ็ตติ้งของเกมได้ จะมีการตัดสินใจของตัวละครที่ชวนให้ตกใจอยู่เนือง ๆ ครับ

The Review

75% IP ใหม่แนวทดลอง ที่อยากให้ลองกันดูสักครั้ง

The DioField Chronicle เป็นเกมที่คล้าย MOBA มากกว่าจะเป็น Sim-RPG แบบคลาสสิกซึ่งค่อนข้างเล่นง่ายในตัวเอง แม้คุณไม่ถนัด MOBA หรือแนววางแผนการรบก็สามารถเล่นได้แบบไม่ยากเย็น

75%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์