News Previews

พรีวิว เดโม Floodland

พรีวิว เดโม Floodland

ขอขอบคุณ PLAION สำหรับโค้ดเข้าเล่นเดโมล่วงหน้าสำหรับสื่อมวลชนมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

Floodland ยืนพื้นบนแนวคิด หรือ สารตั้งต้นอันเรียบง่ายว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับหากโลกพิพากษาให้มนุษย์แทบไม่เหลือแผ่นดินให้เดิน เพราะถูกผืนน้ำกลืนกินไปจนหมดจากการกระทำของมนุษย์เอง (เป็นเดโมที่มาได้ถูกจังหวะประเทศไทย) โชคดีที่กระแสน้ำไม่ได้พัดพาความหวังจากมนุษยชาติไปด้วย เราจะได้รับบทเป็นผู้กุมความหวังนั้น เป็นผู้นำของฝูงชนที่เหลือเพียงหยิบมือ แต่อาจจะนำพาอารยธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นบนโลก และเติบใหญ่จากการเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต

เดโมของ Floodland จะทำหน้าที่ประสานเราให้เข้าใจพื้นฐานของเกมนี้ ถ้าคุณเคยเล่นเกมแนวสร้างเมือง หรือ อารยธรรมมาบ้าง ก็ถือว่าคุณมีภาษีดีกว่าใครเพื่อน แต่สำหรับหน้าใหม่ หรือ คนที่กลัวจะเล่นไม่เป็น เกมจะมีให้เปิดโหมดฝึกสอนซึ่งจะแนะนำคุณในทุกขั้นตอนตลอดเดโม

เกมเพลย์

อย่างที่เราน่าจะเดากันออกว่าจุดเริ่มต้นของเกมแนวนี้จะมีให้เราเลือกฝ่ายกันก่อน ในเดโมมีทั้งหมด 4 ฝ่าย ก็คือ Good Neighbours, Oakhill Survivors, Fire Brigade, และ Berkut-3 แต่ละฝ่ายจะมีประวัติ มีทัศนคติในการมองโลกของตัวเอง อย่างฝ่ายแรกสุดจะให้คุณค่าเรื่องเสรีภาพกับการกระจายอำนาจ เน้นคุณค่าแบบโลกดั้งเดิม เอาเข้าจริงระบบเลือกฝ่ายมันก็เหมือนการเลือกประเทศในเกมแนวสร้างอารยธรรมนั่นล่ะครับ ที่แต่ละชาติมันก็จะมีข้อเด่นข้อด้อยด้านสเตตัสต่างกันไป

ในช่วงเริ่มต้น มันก็หนีไม่พ้นเรื่องการตะเกียกตะกายหาปัจจัย 4 ก่อน นั่นคือ อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษา (แต่ไม่ต้องหาเครื่องนุ่งห่ม) ช่วงแรกที่ยังไม่มีอะไร สิ่งที่ทำได้คืออาศัยสองมือสองเท้าเดินหน้าออกสำรวจค้นหาทรัพยากร ซึ่งมีกระจัดกระจายไปทั่วแผนที่ รวมถึงยังมีพวกซากอาคาร ซากโบราณสถานร้างให้เราเข้าไปสำรวจ เพื่อค้นหาของมีค่ามากมาย เฟสของการสำรวจเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะช่วงต้นเกม เพราะถ้าคุณพลาดสำรวจสถานที่บางแห่ง คุณจะไม่มีทรัพยากรมากพอมาใช้สร้างสิ่งที่จำเป็นของชุมชน เหมือนตัวเกมล็อคเส้นทางมาแล้วว่าให้คุณต้องสอดส่ายสายตาให้ทั่ว ก่อนที่จะไปสร้างพวกอาคารที่ผลิตทรัพยากรเองได้

หน้าที่เราในช่วงแรกคือการตั้งรกรากชุมชนและแก้ปัญหาพื้นฐาน เช่น เราหาน้ำได้เพียงพอสำหรับชุมชนมั้ย ถ้าไม่พอก็ต้องสร้างโรงกรองน้ำสะอาดเพิ่ม ถ้าประชากรเราเจ็บป่วยจากการกินปลามีพิษ เราก็ต้องเร่งสร้างโรงครัวเพื่อทำอาหารปรุงสุกปลอดภัยสำหรับทุกคน สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการอันดับแรก ไม่งั้นเราจะได้ทราบข่าวร้ายเรื่องคนในชุมชนตาย หมายความว่าเราเสียทรัพยากรมีค่าไปด้วย

เมื่อตั้งตัวได้ระดับหนึ่ง เกมจะแนะนำให้เรารู้จักกับกงล้อวิวัฒนาการ นั่นคือเราสามารถเอาแต้มความรู้ไปปลดล็อคทรัพยากร ยิ่งค้นพบทรัพยากรใหม่ ๆ สิ่งปลูกสร้างที่มีให้ปลดล็อคก็จะมีมากขึ้น เราสามารถอัปเกรดสิ่งปลูกสร้าง 4 สาย นั่นคือ สายชีวิตความเป็นอยู่ สายสำรวจ สายพัฒนาการ และสายเอาชีวิตรอด  นับจากนี้ไปเราจะมีอิสระในการเลือกเส้นทางมากขึ้น

ความท้าทายในฐานะผู้นำชุมชน

Floodland ยังอาศัยทักษะบริหารจัดการของผู้เล่น เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยก็ว่าได้ มีปัจจัยหลายอย่างให้คุณต้องดูแลในวันวันหนึ่ง ทั้งการมอบหมายงาน การกระจายงาน การบริหารคลังเสบียง การพยายามคุมกระทั่งอารมณ์ความรู้สึกของคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้ถ้าจัดการไม่ดี มันก็ทำให้เราแพ้ภัยตัวเองได้ แต่เกมก็มีความยืดหยุ่นในแง่ความยากง่าย เพราะจะมีตัวเลือกให้เราตั้งแต่ต้นเลยว่าเราต้องการความท้าทายแบบไหน แบ่งเป็น 4 แบบคือ 1. ทรัพยากร 2. อารมณ์ของชุมชน 3. ความร้ายแรงของโรค 4. อัตราความต้องการของปัจจัยสี่ คุณสามารถปรับระดับความยากง่ายในหัวข้อทั้ง 4 นี้ได้อีก 4 ขั้น ขั้นท้าทายสุดนั้น เกมตั้งชื่อได้อำมหิตมากนั่นคือระดับ Prepare to Fail หรือ เตรียมเริ่มเกมใหม่ได้เลย ในเดโมนี้ผมยังไม่ใจกล้าขนาดนั้น เลยลองแค่ระดับ Face a Challenging World ก่อน ซึ่งก็น่าจะเปรียบเทียบได้กับระดับ Normal ของเกมทั่วไป

นอกจากนั้น เกมก็ยังแทรกเควสย่อย ๆ มาคอยท้าทายเรา ในรูปแบบของบทสนทนาเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เช่น เราได้พบกับคณะเดินทางที่เราอยากชวนมาอยู่ในชุมชม แต่เราอาจจะต้องเสียน้ำกินให้เขาเป็นการซื้อใจ หรือ คนของเราพบว่าแท่นกรองน้ำมีความผิดปกติ และเราต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะซ่อมหรือนิ่งดูดาย ยิ่งเกมดำเนินไปไกลเท่าไร เควสพวกนี้ก็จะเยอะขึ้น ตัวเลือกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นับเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกมดูไม่น่าเบื่อมากนัก

สิ่งที่ต้องรอดูต่อไป

ถ้าให้ชี้เป้าเลยว่าอะไรน่าจะเป็นจุดเด่นของ Floodland ผมให้เรื่องงานออกแบบตัวละครที่ทีมงานเลือกนำเสนอเป็นงานวาด รวมถึงพวกไอคอน สัญลักษณ์ต่าง ๆ ก็ดูมีเอกลักษณ์ดี ลักษณะของฉากก็จะสะท้อนความเป็นโลกหลังหายนะ ที่มองไปทางไหนก็มีแต่ผืนน้ำและเกาะแก่งเล็ก ๆ ที่รอดมาได้เท่านั้น

อีกเรื่องคือเกมเพลย์ด้านการสำรวจ ไม่ใช่ว่าอาคาร ซากโบราณสถานทุกแห่งจะให้เราเข้าถึงได้ทันที แต่เมื่อเกมดำเนินไปเราต้องอาศัยการอัปเกรดวิทยาการเพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ต้องพัฒนาความรู้เรื่องกุญแจก่อนถึงจะเข้าบ้านบางหลังได้ ต้องพัฒนาเลื่อยก่อนถึงโค่นต้นไม้ได้ รวมไปถึงการสร้างหอวิทยุเพื่อเปิดช่องทางการสื่อสาร ของพวกนี้มันเป็นการสะท้อนแฟนตาซีในหัวผู้สร้างว่ามนุษย์จะทำอะไรได้บ้างในโลกหลังหายนะน้ำท่วม ซึ่งก็ถือเป็นตัวตนของเกมนี้นั่นแหละ

สิ่งที่ขัดใจผมอยู่คืองานออกแบบพวกอาคารสิ่งก่อสร้างในเกมที่ส่วนใหญ่ผมว่าดูแห้ง ๆ แล้วถ้าให้พูดตรง ๆ ต้องบอกว่ารายละเอียดยังค่อนข้างหยาบอยู่ครับ โดยเฉพาะพวกซากปรักหักพังซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเกมที่เราต้องส่งคนไปค้นหาไอเทมผมคิดว่ายังทำให้เด่นได้กว่านี้ ปัจจุบันมันเหมือนของประกอบฉากทั่วไปที่คุณสามารถเผลอลากจอข้ามด้วยความไม่รู้ ทั้งที่ข้างในนั้นมันมีไอเทมที่จำเป็นต่อการเดินหน้าเกมในช่วงต้นมาก ๆ และมันจะดียิ่งกว่านี้ ถ้าเกมสามารถระบุให้เรารู้เลยว่าซากอาคารไหนบ้างที่เราสำเร็จไปแล้ว อาจจะทำเป็นวงไฮไลท์ก็ได้ให้ผู้เล่นไม่ต้องมาวนเวียนอีก

พวกข้อเสียที่อยู่ในสายเลือดเกมแนวนี้ อย่างการจำเป็นต้องกดฆ่าเวลาทิ้ง เพราะในช่วงเวลานั้นเราทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอให้ทรัพยากรถูกเติมเข้ามา แถมประชากรของเราก็มีสุขอนามัยที่ดีมาก เข้านอนเร็ว ตื่น 6 โมงเช้าทุกวัน ทำให้หลายครั้งเราต้องข้ามเวลาไปประมาณสองสามวันกว่าจะได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อไปต่อ แต่อย่างที่บอกล่ะครับว่าผมเล่นในระดับธรรมดา ถ้าลองระดับยากสุดจริง อาจจะต้องกดหยุดเกมวางแผนกันนาทีต่อนาทีเลยก็ได้

สรุป

ถ้าให้เดาอนาคตว่า Floodland เกมจริงจะเป็นยังไง ผมคิดว่าตัวเกมคงไม่ได้เป็นเครื่องไทม์แมชชีนพาเราข้ามเวลาไปไกลได้เท่าซีรีส์ Civilization และพวกกลไกก็คงไม่ได้ซับซ้อนยิบย่อยขนาดนั้น แต่ยังไงมันก็ต้องอาศัยเวลาเยอะอยู่ดี และการอุทิศตัวประมาณนึงถึงพอจะเข้าใจไอเดียพื้นฐานของมันได้ โดยเฉพาะจากการประเมินของผมแล้ว นวัตกรรมที่เกมอนุญาตให้เล่นในเดโมนี้ยังไปไม่ถึงครึ่งทางเลย ซึ่งมองเป็นข้อดีก็ได้ครับ เพราะสำหรับคนที่ไม่อยากเล่นเกมสร้างอารยธรรมแบบ 3 วัน เพิ่งจบตานึง ก็จะมีทางเลือกเป็น Floodland นี่แหละ

Floodland มีกำหนดวางจำหน่ายวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 บน Microsoft Windows

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์