Articles Previews

พรีวิว God of War: Ragnarok (Early Impressions)

พรีวิว God of War: Ragnarok (Early Impressions)

พรีวิว God of War: Ragnarok (Early Impressions)

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้

**พรีวิวนี้ครอบคลุมเนื้อหาช่วงต้นเกมที่ทาง Sony อนุญาตให้เราเผยแพร่ได้ตามเวลาที่กำหนดครับ

Ragnarok กำลังมาเยือน Kratos และ Atreus

แต่ศึกใหญ่ที่แท้จริงคือการพิสูจน์ตัวเองกับผู้เล่น ว่าพวกเขาจะ Be Better จริงหรือไม่?

และนี่คือความประทับใจช่วงต้นเกม God of War: Ragnarok จากเราครับ

เนื้อเรื่อง

แนวทางการตลาดที่ชัดเจนมาตั้งแต่ God of War 2018 คือเน้นการสงวนท่าทีเป็นหลัก ประมาณว่ามีของดีอะไรก็ต้องเก็บไว้ให้ผู้เล่นไปเจอเองในเกมเต็ม แล้วมันก็เป็นเช่นเดียวกับ Ragnarok

สำหรับเนื้อเรื่อง ผมจะบอกเท่าที่บอกได้แล้วกันครับว่า ตัวอย่างเกมทั้งหมดที่ปล่อยออกมาคือแกงหม้อใหญ่ มีบางเรื่องที่แฟน ๆ คาดเดาแล้วมันก็เป็นไปตามนั้น แต่ก็มีหลายเรื่องเหมือนกันที่ตัวอย่างชี้นำเราไปทางหนึ่ง แต่เกมจริงมันพาเราไปอีกทาง มีบางการตัดสินใจที่ทำเอาเกือบจะร้องว่า อ ห ทีมเขียนบทพี่จะเอาแบบนี้จริง ๆ เหรอ?

ออกตัวก่อนว่า การที่มันไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิดไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะครับ แต่มันจะต้องดูกันไปจนจบเราถึงจะพอสรุปได้ว่า ทำไมเขาจึงเลือก “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” บางสิ่งบางอย่างกับตัวละครในเกม

ถ้าจะให้ผมสรุปแก่นเรื่องจนถึงจุดที่พูดได้ การเดินทางตามหาเทพ Tyr ได้ก่อความสงสัยขึ้นในใจของ Kratos ที่มีต่อ Atreus มันไม่ใช่แค่การหาวิธีหยุด Ragnarok หรือ พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของ Atreus แต่มันยังเป็นบททดสอบความเชื่อใจสองพ่อลูกที่ท้าทายที่สุด เพราะนี่ไม่ใช่ Boy คนที่ Kratos คาดหวังให้เดินตามเขาได้ตลอดอีกแล้ว

การแสดงและเสียงพากย์

God of War 2018 เป็นหนึ่งในเกมของ Sony ที่เลือนเส้นแบ่งของเกมกับภาพยนตร์ด้วยพลังของ Mocap มันช่วยถ่ายทอดแง่มุมความเป็นมนุษย์ในตัวเทพแห่งสงครามอย่าง Kratos ได้อย่างลึกซึ้งและหลากหลายกว่าที่เป็นมา รวมถึงตัวละครรายล้อมคนอื่น ๆ ด้วย

ใน God of War: Ragnarok ก็เป็นเช่นเดียวกันครับ การแสดงออกทางสีหน้า หรือ การกระทำง่าย ๆ กลายเป็นภาษาอันทรงพลังในการบอกเล่าความอึดอับคับข้องใจของ Kratos ได้ตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ Kratos คนเดียวที่ทำหน้าที่นี้ได้ดี และไม่ใช่แค่การแสดงน้อยแต่ได้มากเท่านั้น ถ้าบทไหนจะให้ตัวละครเล่นใหญ่ มันก็ใหญ่แบบกระชากอารมณ์ได้สมกับจังหวะเกมเพลย์ในตอนนั้น ๆ

เกมเพลย์

มันคงตลกมากถ้า Atreus ในวัยแตกเนื้อหนุ่มจะมากระโดดเกาะหลัง Kratos ให้พาไปนั่นมานี่ ด้วยเวลาที่ล่วงเลย Atreus ได้รับการฝึกฝนจนสามารถดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งในดินแดนอันโหดร้าย ซึ่งสิ่งนี้จะต้องสะท้อนในเกมเพลย์ด้วย

นั่นหมายความว่าตัว Kratos มีอิสระมากขึ้น เขาสามารถใช้ดาบโซ่โรยตัวจากที่สูง เหวี่ยงตัวเองไปอีกฝั่ง และดึงตัวเองขึ้นพื้นระดับสูงได้ พูดง่าย ๆ ว่าคล่องแคล่วจนสลัดคราบเทพแห่งสงครามพ่อลูกอ่อนได้ระดับหนึ่ง ทำให้การต่อสู้ในแนวดิ่งก็จะเยอะตามไปด้วย

อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือการให้ความสำคัญกับโล่มากกว่าเดิม ในภาคนี้เราสามารถสร้างกับอัปเกรดโล่ที่มีความสามารถต่าง ๆ ได้มากขึ้นแล้ว อย่างช่วงแรกจะมีโล่สองแบบให้เลือกคือโล่ที่เน้นการกะจังหวะเพื่อเคาเตอร์ศัตรู ด้วยคอนเสป High Risk High Reward (ยิ่งเสี่ยง สิ่งตอบแทนยิ่งสูง) ถ้าเราปัดป้องการโจมตีศัตรูได้ภายในเสี่ยววินาที Kratos ก็สามารถใช้โล่นี้กระแทกศัตรูอย่างรุนแรงให้กระเด็นได้ แล้วยังมีโล่ยักษ์ที่ยิ่งดูดซับความเสียหายมากเท่าไร ก็จะปล่อยคลื่นกระแทกได้แรงขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งของในฉากจะมีบทบาทในการต่อสู้ด้วย Kratos สามารถยกเสามาหวด และเหวี่ยงหินยักษ์ใส่ศัตรูเป็นกลุ่มได้ เพิ่มมิติของลูกเล่นและกลยุทธ์ถ้าคุณเลือกจะเล่นในความยากระดับสูง

หากจะมีอะไรที่ยังขัดตาข้องใจบ้าง ก็คือพวกท่าเผด็จศึกของ Kratos ที่ยังยึดหลักการแบบภาค 2018 คือเน้นจบงานไวไม่เลือดสาดเท่าไตรภาคเดิม ศัตรูที่โมเดลเหมือนกันมักจะโดนฆ่าด้วยท่าซ้ำ ๆ แต่สิ่งที่มาทดแทนจุดนี้คือถ้าเราเปลี่ยนอาวุธเป็นดาบโซ่ ท่าเผด็จศึกพวกศัตรูระดับลิ่วล้อก็จะเปลี่ยนตามอาวุธด้วย

ในส่วนของ Atreus ยังไม่มีอะไรให้พูดถึงมากในตอนนี้ครับ กลไกการต่อสู้ยังดูเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือได้ธนูความสามารถใหม่ใช้ในการทำลายสิ่งกีดขวางได้ หรือ ทำให้สิ่งก่อสร้างในฉากร่วงมาทับศัตรู

ความหลากหลายของศัตรู

จากเสียงตอบรับที่กระแทกหูผู้พัฒนาว่า God of War 2018 ว่ามีศัตรูซ้ำซ้อนกันมากเกินไป พอมาเจอภาค Ragnarok ช่วงแรกผมเจอศัตรูระดับลูกกระจ๊อก+มินิบอส ใกล้ ๆ ถึง 10 ชนิด แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้นิดนึงว่าหลายตัวในที่นี้จะใช้โมเดลเดียวกัน ต่างที่สกินกับท่าโจมตี และมีความยากค่อนข้างพอตัวเลยทีเดียว แม้จะเล่นในระดับปานกลางก็ตาม ผมจะสรุปเรื่องนี้อีกครั้งในรีวิวเต็ม เมื่อผมเห็นภาพรวมศัตรูเกือบทั้งหมดแล้ว

งานออกแบบฉาก

ภพที่เราได้ไปในช่วงแรกคือบ้านของเหล่าคนแคระ สวาร์ทัลฟ์ไฮม์ เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างจักรกลที่ใช้พลังน้ำขับเคลื่อนการทำงาน มีงานยากสำหรับทีมผู้พัฒนาที่ต้องทำให้วิทยาการพวกนี้ดูซับซ้อนสมเป็นงานคนแคระช่างฝีมือ และพวกเขาต้องปรับสิ่งที่ซับซ้อนนี้เป็นปริศนาให้ผู้เล่นใช้ความสามารถแก้ไขได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงการเชื่อมเส้นทางในฉากไม่ให้ซับซ้อน แต่ก็ไม่ดูถูกสติปัญญาผู้เล่นมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสำหรับผมคือให้ ผ่านหมด ครับ

สรุปใจความในช่วงแรกเลย ผมประเมินว่ามันเป็นเรื่องยากเอาการที่ God of War: Ragnarok จะทำให้ผู้เล่นผิดหวัง ทั้งในแง่เกมเพลย์และเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวอันน่าติดตามของเกมที่ไม่ได้จำกัดแค่การเผชิญหน้า Ragnarok แต่ยังมีเรื่องความเชื่อใจในกันและกันของสองพ่อลูก Kratos และ Atreus ที่น่าจะทวีความซับซ้อนร้อนแรงมากขึ้น จนสุดจะคาดเดาว่าเหตุการณ์จะนำพาทั้งคู่ไปสู่บทสรุปแบบไหน

แล้วติดตามรีวิวฉบับเต็มจากเราได้ วันที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 23:00 น. ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์