Reviews

God of War Ragnarok รีวิว [REVIEW]

by Reviewer Ocelot

God of War Ragnarok รีวิว [REVIEW]

God of War Ragnarok รีวิว [REVIEW]

รีวิว God of War Ragnarok

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้

**รีวิวนี้อ้างอิงจากการเล่นเกมบน PS5 โหมดเน้นประสิทธิภาพ

หลังจาก Kratos ได้ลงมือสังหาร Baldur ไปด้วยความจำเป็น ภพทั้ง 9 ของนอร์สก็ลงเรือชะตากรรมเดียวกันที่จะนำไปสู่มหาหายนะในชื่อ Ragnarok สองพ่อลูก Kratos และ Atreus จะได้เข้าร่วมในสงครามพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินซึ่งทวยเทพหลายองค์จะได้พบกับจุดจบ และเป็นสิ่งที่ถูกทำนายไว้แล้วว่ามันจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เชิญพบกับ

คำทำนายหรือทางเลือก?

เป็นเรื่องชัดเจนว่า God of War Ragnarok คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่นำเทวตำนานเดิมมาตีความใหม่ ซึ่งโจทย์ท้าทายของการใช้เรื่องราวเดิมก็คือ มีคนจำนวนมากที่รู้เรื่อง Ragnarok อยู่แล้ว โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คุณสามารถรู้เรื่องราวทั้งหมดแค่ปลายนิ้วเพียงพิมพ์คำว่า “ตำนาน Ragnarok” ใน Google ทีมเขียนบทจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการตีความเรื่องราวที่เล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ดูน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรออกห่างจากร่องจากรอยจนจับเค้าเดิมไม่ได้

สิ่งที่พวกเขาเลือกจะทำใน God of War Ragnarok ก็คือการเล่นกับเรื่องของ คำทำนาย ครับ เรามักจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาเยอะแล้วว่าในเทวตำนานกรีก-โรมัน หรือ ตำนานนอร์สนั้น คำทำนายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือยิ่งไปกว่าเทพเจ้า เพราะแม้แต่พวกเขาก็ไม่อาจฝืนสิ่งที่ลิขิตมาแล้ว God of War Ragnarok เอาเรื่องคำทำนายมาเป็นตัวชูโรง ตัวละครทั้งหมดในเรื่องต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า Ragnarok คืออะไร รู้ไปจนถึงลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ประเด็นคือทำไมพวกเขายังยอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นตามคำทำนาย มันเกิดจากอำนาจเบื้องบนเหนือพวกเขาไปอีก หรือแท้จริงมันมาจาก “ทางเลือก” ของพวกเขากันแน่?

ถึงแบบนั้น ผมก็ยืนยันเหมือนเดิมจนถึงจุดนี้ว่าเหตุการณ์ Ragnarok เป็นประเด็นสำคัญของภาคนี้จริง แต่ในแง่การเล่าเรื่องมันเป็นแค่โครง หรือ กรอบเพื่อที่จะเอามารับใช้ธีมสำคัญกว่านั่นคือ ความเชื่อใจ ของ Kratos และ Atreus ซึ่งทำออกมาได้บีบหัวใจและทรงพลังมาก ๆ รวมถึงตัวละครรายล้อมอื่น ๆ ทุกคนต่างมีครอบครัว มีความลับบางอย่างที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ ผมจะทิ้งไว้แค่นี้ให้ผู้อ่านไปค้นหากันเองครับว่าตัวละครแต่ละตัวจะคลี่คลายเรื่องราวคาใจเหล่านี้ไปในทิศทางไหน

พอเล่นจนจบผมเลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทีมพัฒนาต้องการจะเล่า หัวใจที่แท้จริงมันไม่ใช่เรื่อง Ragnarok ครับ แต่มันคือเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นแก่นเรื่องสามัญประจำบ้านมากคือเรื่อง ความเชื่อใจในกันและกันของครอบครัว God of War Ragnarok ตั้งคำถามเรียบง่ายแต่ยากที่จะตอบถึงคนเล่นว่า มันจะเป็นยังไง ถ้าเราจะยอมเชื่อใจแล้วปล่อยให้คนที่เรารักเลือกเส้นทางของตัวเอง แม้มันจะขัดใจเรา และแม้เขาจะต้องน้อมรับกับผลที่ตามมา ซึ่งอาจจะคงอยู่ไปชั่วชีวิตเลยก็ตาม

และอย่างที่ Kratos เคยสอน Atreus ไว้ว่า อย่าได้เสียใจ แต่จงดีให้ยิ่งกว่าเดิม ตัวของ Kratos และแม้แต่ตัวละครหลักคนอื่น ๆ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นของคำสอนนี้ ทุกคนจะได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราเห็นว่าธรรมดาที่สุดคือครอบครัว

เรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ หลังจากตอนจบของภาคแรก มันมีคำถามนึงครับ คำถามใหญ่ที่ทิ้งไว้ให้คาใจทั้งแฟน ๆ ชาวไทยและเทศ เพื่อเป็นการไม่สปอยล์ผมจะไม่บอกแล้วกัน แต่คิดว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่อยากรู้จนแน่นอกแล้วครับว่าคำตอบมันคืออะไร แล้วเหมือนทีมพัฒนา God of War Ragnarok จับจุดความสงสัยนี้ได้ เขาก็ขยี้เลยครับ ขยี้จนสีตก แล้วให้ตายเถอะ มันดันได้ผลด้วยนะ มันเป็นการเล่นกับอารมณ์ตัวละครและอารมณ์ผู้เล่นที่สุดเหวี่ยงมาก ชนิดที่เขาบีบหัวใจเราจนปางตาย ปล่อยทิ้งไว้ แล้วก็บีบให้ใกล้ตายต่อ จนกว่าเราจะได้รู้คำตอบจริง ๆ นั่นแหละ

หากจะมีอะไรที่ผมติดขัดในแง่ของเนื้อเรื่อง ก็คือมันมีบางจุดที่ผมรู้สึกว่าเขาปูประเด็น หรือ ปูบทตัวละครบางตัวมาเยอะตั้งแต่ภาคก่อนจนถึงต้นเรื่องของภาคนี้ แต่สุดท้ายพอถึงเวลาจริงกลับไม่ค่อยรู้สึกว่ามันมีการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ลงแรงปูพื้นไปก่อนหน้ามากเท่าที่ควร โดยเฉพาะในภาคนี้จะมีช่วงหนึ่งเป็นการแนะนำตัวละครใหม่ที่กินระยะเวลานานเอาเรื่อง คือมันเป็นช่วงที่จะว่าน่าเบื่อก็พูดได้ไม่เต็มที่ จะบอกว่าสนุกก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่สำหรับผมที่เล่นรอบสอง ผมก็แอบรู้สึกว่าอยากข้ามช่วงนี้ไปเร็ว ๆ เหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ก็คือ เนื้อเรื่องบางส่วนในช่วงท้ายมันรวบรัดตัดความไปหน่อย เหมือนตอนที่ Cory Balrog เคยบอกเอาไว้ว่า เขาเสียดายช่วงที่ Atreus เป็นเด็กเกรียนในภาคก่อน มันใช้เวลาเล่าไม่ค่อยเพียงพอ เพราะการที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนบุคลิกได้ขนาดนั้นต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นใน God of War Ragnarok เหมือนกัน แต่ด้วยรูปแบบของเกมที่มันต้องเล่าให้จบ มันก็ต้องจบในระยะเวลาที่มีให้ได้ แล้วผมคิดว่าทีมพัฒนาก็ทำออกมาได้ดีที่สุดแล้ว

ความเป็นมนุษย์ในตัวเทพแห่งสงคราม

ถ้า God of War 2018 ประสบความสำเร็จในการขึ้นรูปความเป็น Kratos คนใหม่ จากเทพแห่งสงครามที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธแค้นและชิงชังไปสู่การค่อย ๆ เรียนรู้ความเป็นพ่อคน ใน God of War: Ragnarok นั้น ทีมพัฒนาก็ทำการลงรายละเอียดการขึ้นรูปนั้นให้เราเห็นมิติที่ลึกซึ้งขึ้น และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ไม่อาจหาจุดที่จะเอามาปฏิเสธได้เลย ผมเชื่อว่าผู้เล่นจำนวนมากจะอินกับตัวละคร Kratos มากที่สุดเท่าที่ซีรีส์นี้เคยทำมา

ไม่ใช่แค่ Kratos และตัวของ Atreus เท่านั้น ตัวละครหลักอื่น ๆ อย่าง Freya แม้แต่คนแคระสองพี่น้องก็จะมีโมเมนต์ที่ทำให้ผู้เล่นต้องสะเทือนใจเหมือนกัน

การใช้มุมกล้องแบบถ่ายยาวต่อเนื่องเป็นเทคนิคที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามันช่วยขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกตัวละครได้มากแค่ไหน แล้วมันก็ได้พิสูจน์ตัวของมันเองอีกครั้งใน God of War Ragnarok มุมกล้องที่ติดตามสองพ่อลูกไปในทุกภพช่วยในเรื่องความต่อเนื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก การเปลี่ยนฉากจากความจริงเป็นความฝัน หรือ จาก Kratos เป็น Atreus ทำออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง ไม่ใช่การตัดฉับทั่วไป

แต่ไม่ว่าจะมีเทคนิคการถ่ายขั้นเทพ หรือ การเขียนบทสนทนาระดับมือพระกาฬ ทุกอย่างจะลงตัวไม่ได้เลยถ้าขาดบรรดานักแสดง โดยเฉพาะคนที่รับบท Kratos Freya และ Odin ที่คุณไม่จำเป็นต้องไปจับตามองอะไรทั้งนั้น ทั้งสามตัวละครจะสะกดสายตาคุณได้เองโดยอัตโนมัติเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องโชว์ของ

ผมไม่เรียกสิ่งที่ Christopher Judge ว่าการแสดง แต่มันคือการเป็นตัวตนของ Kratos จริง ๆ และในฐานะคนที่ติดตามซีรีส์นี้มาตลอด ผมบอกได้แค่ว่าแฟน ๆ และสาวก God of War จะได้เห็น Kratos ในห้วงอารมณ์อันหนักหน่วงชนิดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน Kratos ในภาคนี้เป็นเทพแห่งสงครามที่เริ่มโหยหาเวลาเกษียณ ยิ่งเนื้อเรื่องของเกมดำเนินไปเรายิ่งเห็นถึงความเหนื่อยหน่ายในการสู้รบ ความพยายามที่จะแสดงออกถึงความรักครอบครัวแต่ต้องกดข่มมันไว้ การแบกรับความเป็นพ่อที่สาหัสยิ่งกว่าความเป็นเทพ ต้องขอบคุณ Judge ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาจากแววตา สีหน้า แม้แต่การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ Kratos จนอดจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าเราถอดพลังอำนาจเหนือเทพของเขาทิ้งไป ความจริง Kratos ก็คือพ่อธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็พร้อมจะสุขและทุกข์เคียงข้างลูกเสมอ

แน่นอนว่า Atreus เป็นอีกจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ทำให้ภาพนี้สมบูรณ์ ในภาคนี้เราอาจไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็น Boy คนเดิม (ซึ่งมันจะประหลาดมากถ้ายังเป็นแบบนั้น) Atreus เป็นวัยรุ่นแล้ว และเขาก็จะได้เจอปัญหาที่วัยรุ่นทั่วไปต้องเจอคือเรื่องการค้นหาตัวเอง และตัวตนของเขาก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่เมื่อมี Loki เป็นเงาซ้อนทับเข้ามาด้วย

งานแสดงที่สะท้อนความเคียดแค้น

Danielle Bisutti เป็นอีกคนที่มงต้องลงในบท Freya ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ขโมยแสงจากภาคนี้ไปเยอะมาก มันแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า Bisutti สามารถผลักดันตัวตนของเทพีที่มีเมตตาในภาคก่อน ให้กลายเป็น Freya ในเวอร์ชันที่ดูเคียดแค้นกว่า Kratos ในภาคดั้งเดิมได้ยังไง

รสชาติการต่อสู้ที่จัดจ้าน กลมกล่อม เคี้ยวมันทุกคอมโบ

ใน God of War 2018 ที่มีการยกเครื่องเกมเพลย์ใหม่ตั้งแต่ฐานรากโดยเฉพาะระบบต่อสู้ มันช่วยให้อย่างน้อยเกมภาคนั้นก็ได้คะแนนส่วนหนึ่งจากนักวิจารณ์หรือเกมเมอร์ที่คาดหวังใน “สิ่งใหม่ ๆ” จากซีรีส์นี้ได้ ถึงในตอนหลังพวกเขาจะเริ่มตกตะกอนแล้วคิดได้ว่ามันก็มีจุดที่ควรพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้บางส่วน เช่น ความคล่องตัวในสมรภูมิของ Kratos

ใน God of War Ragnarok ทีมพัฒนาไม่มีความได้เปรียบเรื่อง ความสดใหม่ อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ทีมพัฒนาพอจะทำได้คือยกระดับเกมเพลย์ภาคก่อนให้ดียิ่งขึ้น โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังอะไรที่มันต้องแตกต่างไปจากเดิมมากนักกับ God of War Ragnarok เพราะเอาเข้าจริงเกมนี้ก็เพิ่ง Remake ไปภาคเดียว แล้วผมคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องบังคับให้เกมภาคต่อต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีอยู่แล้วของตัวเองแบบถึงรากถึงโคน เพียงเพื่อจะซื้อใจคนที่เรียกร้องสิ่งแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

ถึงผมจะตั้งความคาดหวังว่าคงได้เห็นการยกระดับเกมเพลย์เพียงเล็กน้อย แต่พอถึงเวลาเล่นจริง God of War Ragnarok กลับเซอร์ไพรส์ผมด้วยลูกเล่นที่เพิ่มเข้ามา แล้วยอมเสี่ยงอะไรใหม่ ๆ กับระบบต่อสู้จนมันเกินคำว่า “เล็กน้อย” ไปไกลในแบบที่ทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนแน่ ๆ เมื่อเกมออกวางจำหน่าย

อย่างแรกก็คือสิ่งที่ผมเคยเล่าไปในพรีวิวความประทับใจช่วงแรกแล้วว่า Kratos ในภาคนี้สลัดคราบของเทพแห่งสงครามพ่อลูกอ่อนไปแล้ว เกมเพลย์ของเขามีความคล่องตัวขึ้นจนน่าตกใจ ภาพของ Kratos ในยุคก่อนที่ใช้ดาบโซ่เหวี่ยงตัวเองไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างว่องไวทรงพลังถูกเอากลับมาใช้ใน God of War Ragnarok อีกครั้ง มันช่วยมอบอิสระในการเดินทางไปพื้นที่ต่างระดับได้รวดเร็วทันใจมาก

นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว พวกเขาก็เพิ่มรสชาติของการต่อสู้แบบเทพแห่งสงครามเข้าไปอีก ให้ Kratos สามารถใช้ขวาน หรือ ดาบโซ่ ฟาดตอนใกล้ลงพื้นจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างและทำให้ศัตรูกระเด็นเสียหลักจนบางครั้งเราก็สามารถเข้าไปต่อหมัดซ้ำ หรือ ใช้ท่าไม้ตายเก็บไปได้ง่าย ๆ หลายตัวในคราวเดียว

อีกระบบที่ช่วยเพิ่มมิติทางกลยุทธ์อย่างมากคือการชาร์จพลังขวานเยือกแข็ง และการหมุนแส้เพลิงด้วยการกดปุ่มสามเหลี่ยมค้างเอาไว้ พลังพวกนี้ต้องอาศัยการดูจังหวะที่เรายังไม่โดนโจมตีจนกระทั่งเราชาร์จพลังสำเร็จแล้วระเบิดมันออกมา เป็นท่าโจมตีในวงกว้างที่ทำให้ศัตรูต้องผงะแถมติดสถานะน้ำแข็ง หรือ ไฟไหม้ มันรุนแรงถึงขนาดพลิกสถานการณ์ให้เรากลับมาได้เปรียบอีกครั้ง ถึงคุณจะไม่ใช้มันเพื่อเอาตัวรอด แต่การใช้มันเพียว ๆ ก็ให้อารมณ์สะใจอยู่ดี

กลไกการใชโล่ในภาคนี้ก็ถูกยกระดับให้เข้าใกล้ความสำคัญของอาวุธชิ้นหลักแล้ว เราจะชินกับการโจมตีศัตรูที่มีวงกลมสีเหลือง (ตีหนัก) และสีแดง (ตีทะลุการป้องกัน) แต่ในภาคนี้เราจะเจอการโจมตีแบบวงกลมสีฟ้าด้วย มันคือการโจมตีที่เหมือนศัตรูง้างรอก่อนค่อยปล่อยใส่เรา ถามว่าแรงมั้ย? ก็แรงแบบ Kratos โดนแล้วง่วงนอนเลยอ่ะครับ วิธีที่จะแก้ก็คือต้องใช้โล่ขัดจังหวะพวกมันด้วยการกด L1 ซ้ำ 2 ครั้ง ซึ่งเราสามารถใช้เทคนิคนี้กับศัตรูที่ตั้งท่าป้องกันอยู่ได้ด้วย ฝึกให้ชินครับ เพราะการโจมตีสีฟ้าจะมีบทบาทในระบบต่อสู้ภาคนี้ไม่แพ้การโจมตีสองแบบแรก

ถ้านั่นยังรู้สึกไม่เพียงพอ ในภาคนี้สภาพแวดล้อมก็จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ด้วย แล้วมันจะแตกต่างกันไปในแต่ละภพที่เราไปเยือน เช่น ในภพของพวกเอล์ฟก็จะมีหินสะท้อนให้เราปาขวานใส่แล้วมันจะกระเด้งไปโดนศัตรูอัตโนมัติสร้างความเสียหายต่อเนื่องขั้นรุนแรง ในภพของคนแคระ Kratos ก็สามารถคว้าเสาไม้ออกมาหวดศัตรูรอบตัว ช่วยเปิดช่องให้หายใจในเวลาที่มีศัตรูรุมล้อม หรือบางทีมันก็อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการให้ Kratos ใช้ขวานกวาดศัตรูลงเหว นั่นก็นับเป็นการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมเหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ยืนพื้นอยู่บนฐานคิดที่ว่า ถึงจะมีอาวุธหลักน้อยชิ้น แต่ทีมพัฒนาสามารถโฟกัสเพื่อลงลึกในรายละเอียดของการคิดค้นท่าใหม่ ๆ ให้ผสานกับอาวุธชิ้นอื่น ๆ ช่วยให้ผู้เล่นสามารถสร้าง Build ของ Kratos ได้หลากหลายมาก

ยิ่งใช้ท่าไหน ท่านั้นจะโหดขึ้น

โดยเฉพาะการที่เกมมีระบบให้เราเพิ่มระดับของท่านั้น ๆ เช่น ถ้าคุณใช้ท่าวิ่งจามขวานไปเยอะ ๆ ระดับของมันก็จะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดหนึ่งคุณจะสามารถเลือกติดโทเค็น 1 ใน 3 อย่างให้มันได้ เช่น ทำให้มันตีแรงขึ้น หรือ ทำให้มันตีแล้วมีสถานะเป็นธาตุ ทำให้การต่อคอมโบในภาคนี้มีความลื่นไหลหลากหลายกว่าภาคก่อน และให้รางวัลสำหรับผู้เล่นที่ไม่ใช้อาวุธอยู่แค่แบบเดียว คนที่ชอบระบบต่อสู้ภาคเดิมอยู่แล้วก็จะยิ่งมัน ส่วนคนที่คิดว่าระบบภาคแรกมันอืดอาดไปหน่อยก็ไม่เสียหายที่จะมาลองภาคนี้

แล้วขอแถมให้อีกนิดครับว่าเมื่อคุณเล่นจนได้ “ของเล่น” ชิ้นใหม่ของ Kratos แล้ว คราวนี้ลุยกันยันหว่าง

สิ่งที่อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบางกลุ่มก็คือพวกท่าเผด็จศึกครับ ใน God of War Ragnarok ยังเน้นท่าสังหารที่ปลิดชีพไว อำมหิตแบบไม่เวิ่นเว้อ เลือดสาดเท่าที่จำเป็น ซึ่งก็สมเหตุสมผลว่าทำไมมันถึงออกมาเป็นแบบนี้ถ้าดูจากพัฒนาการด้านตัวละครของ Kratos ตามที่เขียนไปด้านบน

ถึงแบบนั้น สิ่งที่จะมาทดแทนในเรื่องนี้ก็คือท่าเผด็จศึกจะเปลี่ยนไปตามอาวุธที่เราใช้ในขณะนั้นด้วยครับ แล้วท่าพวกนี้จะแสดงให้เห็นกับศัตรูที่มีโมเดลเหมือนคนเป็นหลัก (มีหัว แขน ขา) มันฟังดูไม่หวือหวา แต่อย่าลืมว่าในเกมจะมีศัตรูที่มีโมเดลแบบนี้เยอะมาก แค่นี้ทีมแอนิเมชันก็น่าจะหอบกินไปหลายคนแล้ว ส่วนศัตรูประเภทโมเดลสัตว์ประหลาดทุกชนิด รวมถึงบอส Kratos ก็จะมีท่าสังหารเฉพาะของแต่ละตัว

อีกระบบหนึ่งที่โดดเด่นใน God of War 2018 แล้วต้องเอากลับมาใช้ในภาคนี้อีกคือระบบตัวละครสนับสนุนการต่อสู้ของ Kratos โดยรวมแล้วยังมีการทำงานคล้ายของเดิม ความเด็ดมันจะอยู่ที่ในภาคนี้เราจะมีผู้ช่วยคนอื่น ๆ นอกจาก Atreus ด้วย!

ผมพูดง่าย ๆ สำหรับระบบต่อสู้ในภาค Ragnarok แบบนี้ครับ แน่นอนครับว่าตัวตนของมันยังเป็น God of War 2018 ชัดเจน แต่ยิ่งผมเล่นไปเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าระบบต่อสู้มันดุเดือดขึ้น แล้วไม่มีท่าทีจะแผ่วลงเลย มีกลยุทธ์ คอมโบ และ Build ให้ทดลองมากมาย จนเมื่อจบเกมแล้วมาประมวลดูภาพรวมทั้งหมด ความจริง God of War Ragnarok ไม่ได้ทำแค่ยกระดับระบบต่อสู้แล้วครับ นี่คือการยกเครื่องแบบย่อม ๆ ซึ่งจากก้นบึ้งของหัวใจผมบอกได้เลยว่า โคตรมัน โคตรตึง

ภพทั้งเก้าที่รอคุณอยู่แค่ปลายนิ้ว

ใน God of War 2018 พวกเขาสร้างภพของนอร์สไปประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือคือการเพิ่มภพใหม่เข้าไปให้มันครบ แล้วก็ขัดเกลาเปลี่ยนแปลงภพเก่าให้มีอะไรน่าค้นหามากกว่าเดิม ความเปลี่ยนแปลงใน God of War Ragnarok คือเราไม่จำเป็นต้องใช้ห้องในวิหาร Tyr เป็นเครื่องมือเดินทางอีกต่อไป แต่เราสามารถใช้เมล็ดอิกดราซิลกับประตู แล้วก็เลือกภพกับตำแหน่งที่จะลงได้เลย พูดง่าย ๆ ว่าตัดความอุ้ยอ้ายของการเดินทางภาคก่อนไปเยอะ และเป็นการย่อโลกของนอร์สทั้งใบที่มาอยู่ในมือคุณ

คุณจะได้ออกท่องไปในทุ่งน้ำแข็งของภพ Midgard ที่ถูกฤดู Fimbulwinter ครอบงำหลังจาก Baldur ตาย ได้ลุยเข้าอาณาจักรลึกลับของพวกเอล์ฟแสงกับเอล์ฟมืดอีกครั้ง เดินทางเข้าสู่ภพ Vanaheimr ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชมีชีวิต แต่ไม่เป็นมิตรสำหรับทุกคน และแน่นอนเราจะได้ไปเยือนภพศูนย์กลางการปกครองของบิดาแห่งสรรพสิ่ง Asgard

การทำภพให้ดูสวยอาจเป็นแค่งานออกแบบฉากที่ดี แต่งานออกแบบฉากที่ยอดเยี่ยมจะต้องให้ฉากเล่าเรื่องราวของตัวมันเองได้ด้วย แล้ว God of War Ragnarok ทำสิ่งนั้นได้ทุกภพที่ไป อย่างสวาทัลฟ์ไฮม์ เราจะพบแม่น้ำ ถ้ำ เหมือง แต่ความโดดเด่นคือ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สามารถสะท้อนความฉลาดของคนแคระในการเอาธรรมชาติ เช่น น้ำ หรือ แร่หินต่าง ๆ มารับใช้พวกเขาได้ ส่วน Asgard ก็จะมีความยิ่งใหญ่ของกำแพงยักษ์ที่กีดกันไม่ให้คนนอกเข้าไปได้ง่าย ๆ สะท้อนการแบ่งแยกของเทพผู้ปกครองและคนนอกอย่างชัดเจน

เหนือสิ่งอื่นใดคือการวางเส้นทาง วางหีบสมบัติ มันมีอยู่ในทุกพื้นที่ พูดได้ว่าเกมให้รางวัลสำหรับนักสำรวจสุด ๆ แต่ลำพังการสำรวจยังไม่พอ คุณต้องขบคิดไปด้วยเพราะปริศนาในเกมนี้มีเยอะถึงเยอะมาก อยู่ในระดับที่ไม่ยากและไม่ง่าย บางอันเรียกร้องความตั้งใจสูง ถ้าคุณรู้สึกติดปริศนาไหนก็ตาม ผมขอบอกใบ้เทคนิคให้เล็กน้อยครับ พยายามหมุนกล้องขึ้นลงไปมาเยอะ ๆ

คอนเทนต์ของเกมนี้จึงอัดแน่นมากถ้าเทียบกับราคาที่เกมวางขาย ขนาดผมเล่นแบบเน้นเนื้อเรื่องกับเควสรายทางเล็กน้อย ยังใช้เวลาไปถึง 29 ชั่วโมง ถ้าจะเก็บเควสและรายละเอียดทั้งหมด คิดว่าต้องเพิ่มเวลาไปอีกเท่าตัว

กราฟิกขั้นงานคราฟต์

เนื่องจาก God of War Ragnarok เป็นเกมออกคร่อมเจนทั้ง PS4 และ PS5 คุณภาพกราฟิกจึงไม่สามารถเกินหน้าเกินตา God of War 2018 ได้มากนัก แต่ถ้าถามว่าสวยมั้ย ก็ต้องบอกว่ามันสวยมากทั้งในแง่ของการออกแบบ รวมถึงรายละเอียด ซึ่งคุณจะสัมผัสได้โดยเฉพาะตอนไต่เขา หรือ เชิงผา การสังเกต Texture ของชั้นหินและพืชพรรณดูเป็นธรรมชาติมาก ท้องฟ้าก็เหมือนจำลองมาให้เห็นจริง ๆ แสงเงาทั้งตอนเช้า กลางวัน เย็น ที่ตกกระทบเกราะเหล็กของ Kratos และ Atreus สวยใช้ได้เลย

แต่ข้อที่ผมแอบกังวลแทนคนที่เล่นบน PS4 ก็คือเรื่องเฟรมเรทนี่แหละครับ ในรีวิวนี้เล่นเกมจบบน PS5 ที่เน้นโหมด ประสิทธิภาพเป็นหลัก ซึ่งเฟรมเรทก็วิ่งแถว ๆ 60 (แต่ถ้าทีวีมีคุณภาพถึงก็จัดโหมดเฟรมเรทสูง 120 ไปเลยครับ)

ถึงแบบนั้นก็ยังแอบพบว่ามีการโหลดแสงเงาของฉากพื้นหลังไม่ทันบ้างเหมือนกัน พอลองปรับเป็นโหมดเน้นความละเอียดภาพ บอกเลยว่าทำใจเล่นยากครับ ขนาดเป็น PS5 นะ โดยเฉพาะในฉากต่อสู้ที่ต้องมีการหันมุมกล้องและสาดเอฟเฟกต์ยังไงโหมดประสิทธิภาพก็ตอบโจทย์มากที่สุดแล้ว ถ้าเล่นบนเครื่องเจนก่อนผมคิดเอาเองว่าเฟรมคงโดนกดหนักเอาเรื่องและเครื่องก็คงทำงานหนักเหมือนกัน ชาว PS4 ต้องรอไปดูกันหน้างานแล้วล่ะครับว่าคราวนี้เครื่องตัวเองจะกลายเป็นเครื่องบินไอพ่นรึเปล่า

เสียงและดนตรีที่ดียันปิดม่าน

เสียง ยังเป็นความละเอียดที่ทีมพัฒนาใส่ใจ โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Kratos ทั้งเสียงขวานลอยแหวกอากาศแล้วคว้าหมับยังให้อารมณ์ติดใจเหมือนเดิม หรือ การใช้ดาบโซ่กระโดดเกาะเชิงผาก็ให้ความรู้สึกหนักแน่น พวกท่าเผด็จศึกทั้งการต่อย การบิด การฟันคอ หรือพวกฉากต่อสู้ไฮไลต์ Kratos vs Thor ก็กึกก้องไปด้วยเสียงน้ำแข็ง ไฟ และสายฟ้า

พูดถึงเรื่องเพลง ในภาคนี้เรายังมีเพลงประจำตัวของ Atreus ด้วย เป็นเพลงทำนองสนุกสนานที่แสดงออกถึงอารมณ์ของเทพที่เพิ่งค้นพบพลังและได้ออกผจญภัยในโลกกว้างจริง ๆ แต่ดาวเด่นของงานยังต้องมอบให้เพลง Memories of Mother และ The Summit ที่โผล่มาเมื่อไรก็เป็นฉากเขย่าใจทุกรอบ รวมถึงเพลง Main Theme ของภาค 2018 ก็มีการเอามาปรุงรสใหม่ให้เข้ากับฉากหนึ่งในตอนท้ายเกมที่เมื่อเพลงนี้ดังขึ้นก็เล่นเอาขนลุกไปกับความยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์เลยทีเดียว

ซับไตเติลไทย

นี่เป็นเกม God of War ภาคแรกที่เปิดศักราชด้วยด้วยการใส่ซับไตเติลไทยเข้าไป ถ้าว่ากันถึงเรื่องคุณภาพงานแปล ผมให้สอบผ่านครับ ถึงมันจะมีบางจุด บางคำ ที่ควรปรับ เช่น ดำเนินการต่อ น่าจะเป็น เล่นต่อ บางชื่อที่ผมคิดว่ามันควรจะคงเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า อย่าง Blade of Chaos ที่แปลว่าเป็น ดาบแห่งหายนะ ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงผมไม่ถือว่าต้องไปตัดคะแนนอะไรหรอกครับ เพราะเรื่องการคิดชื่อใหม่จากชื่อภาษาอังกฤษ หรือ การเลือกคำบางอย่างมันค่อนข้างเป็นเรื่องความชอบไม่ชอบและประสบการณ์ของแต่ละคน ขอแค่มันไม่ผิดจากความหมายต้นฉบับก็พอ

อัปเดตวันที่ 11 พ.ย. 2565 มีการอัปเดตแก้ไขการแสดงผลซับไตเติลเรียบร้อยแล้วครับ

การที่เกมนี้มีซับไทยผมคิดว่าดีมาก เพราะไม่ใช่แค่เราจะรู้เนื้อเรื่องหลัก แต่เพราะเกมภาคก่อน และ God of War Ragnarok ทำหน้าที่เป็นสารานุกรมขนาดย่อม ให้เราได้สนุกไปกับเกร็ดน่ารู้ของตำนานนอร์สและมุกตลก ๆ ของ Mimir (ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครมากสีสันของภาคนี้) ในระหว่างการเดินทางอันยิ่งใหญ่ด้วย

สงครามครั้งสุดท้ายของเทพแห่งสงคราม?

เมื่อตอนที่ผมได้ยินว่าเรื่องราวของ Kratos ในที่ทางแห่งเทวตำนานนอร์สจะจบลงในภาค Ragnarok นี้โดยไม่มีภาคที่ 3 เหมือนกับไตรภาคดั้งเดิม ผมรู้สึกกังวลใจมากพอตัว เพราะ Ragnarok ไม่ใช่เหตุการณ์สั้น ๆ และมีตัวละครอย่างเทพเจ้ากับอสุรกายเข้ามาพัวพันมากมาย แต่อย่างที่ Cory Balrog เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าแกนของเรื่องราวใน God of War ยุคใหม่คือความสัมพันธ์พ่อลูก ยิ่งพวกเขายืดเรื่องออกไป พวกเขาก็จะเน้นเรื่องนั้นได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้ God of War ภาคสองเป็นแค่สะพานเชื่อมเพื่อรอไปจบในภาคที่สาม

การที่พวกเขาเลือกจะคลี่คลายปมให้จบใน God of War Ragnarok คือการเปิดช่องทางให้พวกเขาโฟกัสกับ Kratos Atreus และความสัมพันธ์ของตัวละครอื่นได้เต็มไม้เต็มมือ เมื่อเล่นจนจบแล้วผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้เต็มร้อย นี่คือ God of War ภาคที่มีมวลอารมณ์เข้มข้นที่สุด มีระบบต่อสู้ที่คิดมาอย่างฉลาด มีคอนเทนต์ที่จะให้ผู้เล่นได้ดำดิ่งและถกเถียงกันไปอีกยาวนานเกิน 40 ถึง 50 ชั่วโมงยังได้

ผมรู้สึกใจหายเหมือนกันตอนที่เราได้รู้บทสรุปของเรื่องราว แต่อีกหนึ่งความรู้สึกที่รุนแรงไม่แพ้กันคือมันอิ่มใจมากที่เห็นซีรีส์นี้ออกเดินทาง ได้เห็นเทพแห่งสงครามเติบโตจนรู้จักความเป็นมนุษย์จริง ๆ สักที อนาคตของ God of War ยังเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ เราไม่มีคำทำนายเรื่องนั้น แต่ถ้าผมจะเดิมพันอะไรสักเรื่อง ผมขอคาดการณ์ว่า God of War Ragnarok จะปักธงปรากฎการณ์ ขีดเส้นมาตรฐานใหม่ให้วงการเกมต่อจากนี้ไปอีกหลายปี

และถ้าเวที Game of the Year ปีนี้ยังมีตัวตึงเป็น Elden Ring ก็ต้องบอกว่า คู่ต่อสู้ของมันมาถึงแล้ว…

The Review

95% Blade of Chaos ยังลุกโชน!

90%
100%
100%
100%
100%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์