Games Reviews

Star Ocean The Divine Force – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Star Ocean The Divine Force – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

Star Ocean นี่เรียกได้ว่าเป็นแฟรนไชส์ JRPG ที่อยู่คู่วงการมานานอีกเกมหนึ่งครับ นับตั้งแต่ที่วางจำหน่ายภาคแรกในปีค.ศ.1996 บนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม (หรือ SNES ในฝั่งตะวันตก) เป็นต้นมา เกมแฟรนไชส์นี้ก็ได้รับการพัฒนาและวางจำหน่ายภาคใหม่ออกมาเนือง ๆ ถึงแม้ว่าบางภาคจะกินเวลาห่างกันหลายปีก็ตาม ประสบการณ์ส่วนตัวของผมกับแฟรนไชส์นี้ก็คือภาค 2 ที่ชื่อ Star Ocean: The Second Story บน PlayStation 1 นั่นล่ะครับ และหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เล่นภาคใหม่ ๆ อยู่บ้างแม้จะไม่ครบทุกภาคก็ตาม แต่อย่างน้อยผมก็พอจะคุ้นเคยกับเอกลักษณ์อะไรหลาย ๆ อย่างของแฟรนไชส์นี้เหมือนกัน

และในคราวนี้ ผมก็ได้มีโอกาสมารีวิวเกมภาคล่าสุดมาให้ทุกท่านได้อ่านกันตรงนี้นั่นล่ะครับ


เนื้อเรื่อง

ผมคิดว่าเอกลักษณ์และเซ็ตติ้งบางอย่างที่พบเห็นได้แทบจะทุกภาคของ Star Ocean ก็คือ เหตุการณ์มักจะเกิดบนดวงดาวที่ถูกเรียกว่าเป็น “ดวงดาวที่ยังไม่พัฒนา” ซึ่งก็มักจะมีอารยธรรมและสถาปัตยกรรมในสไตล์ยุโรปยุคกลางบ่อยครั้ง โดยที่ตัวเอกแต่ละภาคนั้นถ้าไม่เป็นพลเมืองประจำดาวที่ว่าซึ่งมีเหตุให้ต้องพบปะกับผู้มาเยือนจากแดนไกล ก็มักจะเป็นกลุ่มผู้ที่มีเทคโนโลยีเหนือล้ำในการเดินทางข้ามหมู่ดาวแต่ก็มีเหตุให้ต้องยานตกมาบนดาวที่ยังไม่พัฒนาเช่นว่านี้ และเป็นจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดในภาคนั้น ๆ

แน่นอนว่าเซ็ตติ้งของ The Divine Force ก็ดำเนินไปตามขนบธรรมเนียมที่ว่ามานั่นล่ะครับ หากคุณเลือกเล่นเป็นเรย์มอนด์ (Raymond) ซึ่งเป็นตัวเอกชายของเกม คุณก็จะมีอาชีพเป็นกัปตันยานอีดัส (Ydas) ที่มุ่งหน้าไปส่งพัสดุในฐานะพนักงานของลอว์เรนซ์ลอจิสติกส์ (Lawrence Logistics) แต่ทว่ายานของคุณกลับโดนโจมตีโดยยานรบจากสหพันธ์แพนกาแลกติก (Pangalactic Federation) จนต้องมาติดแหงกบนดาวที่ยังไม่พัฒนาซึ่งชื่อแอสเตอร์โฟร์ (Aster IV) แต่ในอีกด้านหนึ่งถ้าคุณเลือกเล่นเป็นเลทิเซีย (Laeticia) ตัวเอกหญิงของเกม เธอจะเป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรออเซเรียส (Kingdom of Aucerius) ผู้ซึ่งเดินทางออกมาจากปราสาทด้วยเหตุผลบางประการ และโชคชะตาก็พาเธอมาพบกับเรย์มอนด์ที่ยานตกพอดี เรื่องราวทั้งหมดจึงเริ่มต้นจากจุดนั้น

หากจะพูดจากใจจริง ผมคิดว่าเซ็ตติ้งของเกมภาคนี้มันก็ออกจะมีความคลีเช่นิด ๆ แต่ขณะเดียวกันให้ความรู้สึกคล้ายสมัยที่เล่นภาค 2 พอสมควร (ด้วยองค์ประกอบการเลือกตัวเอกได้) แม้กระทั่งเพื่อนที่เข้าร่วมปาร์ตี้ได้ก็ต่างกันนิด ๆ หน่อย ๆ โดยขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกเล่นเป็นตัวเอกคนไหน ถึงกระนั้น หลังจากที่เล่นจนจบแล้วผมคิดว่าบุคลิกลักษณะของตัวละครในปาร์ตี้ของเราแต่ละคนนี่โดดเด่นและมีความแตกต่างกันชัดเจนดีครับ ผมชอบปฏิสัมพันธ์และบทสนทนาของแต่ละคนในช่วง Private Action ไม่เบาเลย หลายครั้งมันทำให้ขำได้ดีแต่ไม่มีอะไรที่มันดูหลุดโลกเกินเลยไป การนำเสนอโทนเรื่องของภาคนี้ค่อนข้างจริงจังในระดับหนึ่ง และลดความเป็นอนิเม๊อนิเมลงไปพอสมควรในระดับที่รู้สึกได้

ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ นั้นผมคิดว่าตัวละครแต่ละตัวในปาร์ตี้ของเราประจำเกมภาคนี้ทุกคนมีบุคลิกที่เป็นผู้ใหญ่กันหมดนั่นล่ะครับ ไม่มีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่มันดูง้องแง้ง ดูน่าโบกหรือน่ารำคาญอะไรแบบนั้น ตัวละครทุกคนดูมีเสน่ห์กันหมดแล้วพฤติกรรมก็ค่อนข้างเป็นธรรมชาติเมื่อเราได้รู้ภูมิหลังของแต่ละคน

ถึงอย่างนั้น จุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันประหลาดไปหน่อยก็ไม่พ้นพวกตัวร้ายหลักของเกมนี้ครับ เหตุผลในการกระทำของตัวร้ายบางตัวนี่ก็เป็นอะไรที่ทำให้ผมงง ๆ ในแง่ของมูลเหตุจูงใจ แต่ที่ประหลาดสุดก็ไม่พ้นบอสใหญ่ประจำเกมครับ เพราะหลาย ๆ อย่างและองค์ประกอบแวดล้อมมันดูไม่ควรจะเป็นบอสใหญ่จริง ๆ ยิ่งพล็อตพอยต์สำคัญเบื้องหลังที่ก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งหมดนี่ก็เหมือนโดนใส่มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยไปหน่อย รวม ๆ มันเลยทำให้เนื้อหาของเกมอยู่ในระดับ “พอได้” เท่านั้นเองครับ

แต่เอาล่ะ ในส่วนของการนำเสนอเนื้อเรื่องนี่ โดยส่วนตัวผมคิดว่าภาคนี้ค่อนข้างจัดสมดุลระหว่างความเป็นแฟนตาซียุคกลางและความไซไฟได้โอเคอยู่ แม้ว่าเนื้อหาหลักจะอยู่บนดาวแอสเตอร์โฟร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีสถานที่อื่น ๆ ให้ได้แวะเวียนไปสำรวจเปลี่ยนบรรยากาศเหมือนกันครับ


เกมเพลย์

ในแง่ของเกมเพลย์นี่ ผมสนุกกับระบบต่อสู้ไม่น้อยเหมือนกัน ระบบต่อสู้ของ Star Ocean นี่เป็นกึ่งแอ็กชันกึ่งใส่คำสั่งสไตล์ JRPG มาตั้งแต่ภาคแรก ๆ แต่ในภาคนี้พอได้เล่นแล้วผมรู้สึกว่าตัวเกมมันรวดเร็วฉับไวใช้ได้ เหมาะมากสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมแอ็กชันความเร็วสูงทั้งหลาย

พื้นฐานของการต่อสู้ก็คือทุกตัวละครที่เราเล่นได้ จะสามารถออกท่าโจมตี หรือใช้เวทต่าง ๆ ได้โดยขึ้นอยู่กับค่า AP ที่มีในตอนสู้ครับ หากเป็นท่าที่รุนแรงก็อาจใช้ AP หลายหน่วย แต่ว่ายืนพื้นเลยเราจะมีแค่ 5 หน่วย โดยการจะเพิ่มได้ก็ต้องใช้ระบบใหม่ของภาคนี้ซึ่งก็คือการใช้ D.U.M.A นั่นเองครับ โดยที่ D.U.M.A ที่ว่ามันจะทำให้ตัวละครของเราพุ่งโจมตีศัตรูได้อย่างรวดเร็วราวกับบินได้ในระยะสั้น ๆ เพื่อที่จะทำการฉากหลบอย่างรวดเร็วจนศัตรูชะงักนิ่ง (เรียกว่า Blindside) หรือไม่ก็ทำการโจมตีศัตรูในแบบ Surprise Attack ก็จะทำให้จำนวนของ AP เพิ่มขึ้นได้สูงสุด 15 หน่วย (และก็ลดได้ถ้าโดนโจมตี)

เกมค่อนข้างให้อิสระแก่ผู้เล่นพอควรในการเซ็ตรูปแบบการโจมตีของตัวเอง (เรียกว่า Chain Combo) ที่สามารถติดตั้งได้ต่างกันสามปุ่ม ซึ่งบนเพลย์สเตชันก็คือสี่เหลี่ยม, สามเหลี่ยมและวงกลม รวมถึงฟังก์ชันการกดแต่ละปุ่มค้างอีก มันจึงทำให้สามารถเซ็ตท่าโจมตีรวมถึงลำดับการออกท่าโจมตีได้ตามใจชอบ แม้ว่าระบบต่อสู้ของเกมจะไม่ได้อิสระจัด ๆ เหมือนพวกเกมแอ็กชันเพียว ๆ แต่มันก็สนุกได้ทุกครั้งในตอนเข้าฉากสู้ครับ

อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่าระบบเอกลักษณ์ของภาคนี้คือ D.U.M.A ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ในฉากต่อสู้แล้ว มันช่วยเพิ่มอิสระให้กับการเล่นได้เยอะดีทีเดียวครับ เพราะนอกจากการต่อสู้แล้วเรายังสามารถใช้มันเพื่อพุ่งตัวขึ้นที่สูงและเดินทางข้ามเหว ข้ามช่องว่างต่าง ๆ ที่การกระโดดปกติไม่สามารถไปถึงได้ มันเลยชวนให้อยากพุ่งไปพุ่งมาในแต่ละที่เพื่อทำการสำรวจหาไอเท็มหรือหาสมบัติที่ซุกซ่อนอยู่เมื่อได้แวะไปสถานที่ใหม่ ๆ ในแต่ละครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นระบบนี้ก็ยังไม่ค่อยเนี้ยบเท่าไรนักด้วยความที่เกมไม่มีระบบปีนป่าย ดังนั้นการที่คุณจะขึ้นไปบนพื้นที่ต่างระดับได้คุณจะต้องไปลอยตัวเหนือพื้นจุดนั้นแล้ว จะหวังให้ตัวละครเกาะขอบนั้นไม่มีทางครับ

ระบบหนึ่งที่ผมชอบและอยู่คู่ Star Ocean มาช้านานก็คือการสร้างไอเท็ม (Item Creation) นี่ล่ะครับ อันที่จริงมันเป็นระบบที่คุณไม่ต้องแตะเลยก็ได้ตั้งแต่ต้นยันจบเกม แต่ถ้าใช้ดี ๆ แล้วมันจะช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นได้เยอะแบบเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือพวกอาวุธชุดเกราะเทพ ๆ ทั้งหลายของแต่ละตัวละครก็ล้วนแต่ต้องสร้างเอาจากระบบนี้ทั้งนั้นเลย ดังนั้นถ้าคุณเป็นเกมเมอร์สาย perfectionist ล่ะก็ ระบบนี้จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่คุณจะใช้เวลากับมันนานมากแน่นอน

ในแง่ความเป็น RPG นั้น เกมนี้ก็นำเสนอในลักษณะมาตรฐานนั่นล่ะครับ มีฉากฟิลด์ที่คุณจะได้พบเจอกับศัตรู และมีสมบัติรวมถึงไอเท็มต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนให้ค้นหา และเมื่อเข้าหมู่บ้านหรือเข้าเมืองคุณก็จะได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนในปาร์ตี้เพื่อทำ Private Action เพิ่มความสนิทสนมและได้รับรู้นิสัยใจคอแต่ละคนมากขึ้น รวมถึงบางทีก็ได้คุยกับ NPC เพื่อรับไซด์เควสต์มาทำ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอะไรที่คุณคาดหวังได้จากเกม JRPG ครับ หากแต่ถ้าจะมีอะไรน่าเสียดายก็คือแม้ในเมืองจะมี NPC อยู่เยอะ แต่คนที่เราสามารถพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ได้กลับน้อยเอาเรื่อง แถมพวกบรรดาคนที่คุยได้ก็มักเป็นการคุยเพื่อไปขอเล่นมินิเกม Es’owa กันแต่เพียงอย่างเดียวแค่นั้นเอง (แต่มินิเกมมันแอบเพลินใช้ได้อยู่นะ)

อย่างไรก็ตาม ตัวเกมภาคนี้มีจุดบอดใหญ่มาก ๆ เลยอยู่จุดหนึ่งก็คือเฟรมเรตครับ ต้องบอกก่อนว่าในเวอร์ชัน PlayStation 5 นี้ ตัวเกมจะให้เราเลือกปรับกราฟิกได้สองโหมดคือเน้นคุณภาพของภาพ กับอีกอย่างคือเน้นเฟรมเรตเพื่อความไหลลื่น ตลอดการรีวิวนี้ผมเลือกเน้นเฟรมเรตด้วยความที่ต้องการเน้นความคล่องตัวในการเล่น ซึ่งแรก ๆ ก็สมูธเรียบเนียนดีใช้ได้อยู่ มีบางช่วงที่เฟรมตกบ้างแต่ก็ไม่น่าเกลียด

ทว่าพอเริ่มเข้าช่วงกลางเกมไป บางเมืองและบางดันเจี้ยนนี่เฟรมร่วงจนแทบไม่อยากเชื่อเลยครับ แค่วิ่งเฉย ๆ ในเมืองแบบที่ไม่มีเอฟเฟกต์อะไรในจอเฟรมยังหล่นได้ แล้วพอเจอดันเจี้ยนที่แค่วิ่งเฟรมก็ตกนี่ พอเข้าฉากสู้ที่อัดแน่นไปด้วยเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ทีนี่แทบจะร้องไห้เลย เพราะกระทั่งปุ่มกดเองก็ยังดีเลย์ได้ จากปกติที่ผมพุ่งเข้าไปสู้ศัตรูตลอด พอเจอเฟรมร่วงกราวรูดนี่มันก็ทำเอาไม่อยากสู้ไปโดยปริยาย และปัญหานี้ก็พบเจอได้ไปจนถึงช่วงท้าย ๆ เกมเลย จึงเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งความประทับใจที่มีเยอะเอาเรื่องเหมือนกัน


กราฟิกและการนำเสนอ

ในส่วนของกราฟิกและอาร์ตสไตล์นั้น ผมมีความรู้สึกปน ๆ กันแปลก ๆ เพราะว่าโมเดลตัวละครนี่ปั้นออกมาได้ใกล้เคียงกับดีไซน์ที่เป็นภาพวาดเลยล่ะครับ เพียงแต่ว่าพอมันปั้นออกมาใกล้เคียงมันก็ดูเหมือนไม่ค่อยสุดในแต่ละทาง คือเหมือนพอจะดูในแง่ความสมจริงแต่มันก็มีความเป็นตุ๊กตา พอจะดูเป็นอนิเมมันก็จะมีบางองค์ประกอบที่มันดูสมจริง มันเลยเป็นส่วนผสมที่แอบประหลาดไปหน่อยในบางที

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ พวกดีไซน์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ นี่ผมชอบเอาเรื่องอยู่ครับ พวกสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บนดาวแอสเตอร์โฟร์นี่ออกแบบมาสวยงามดีใช้ได้ในสไตล์แฟนตาซียุคกลาง แล้วพอไปจุดที่เทคโนโลยีล้ำหน้าก็มีดีไซน์ของเมืองที่ทำให้ดูแล้วรู้สึกได้ว่ามันคือเมืองไซไฟที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ว่าคุณภาพกราฟิกจะไม่ได้สวยเวอร์อลังการ (บางจังหวะนี่โมเดลในเกมยังแอบคล้ายเกม PS3 ด้วยซ้ำ) แต่การออกแบบงานศิลป์ของเกมนี่ถือว่าช่วยเอาไว้ได้เยอะอยู่

ซึ่ง…มันก็ชวนให้ผมสงสัยขึ้นมานั่นล่ะครับว่า แล้วมันเกิดปัญหาเฟรมเรตร่วงกราวรูดแบบที่เป็นได้ยังไง ทั้งที่ดูจากกราฟิกแล้วก็ไม่น่าจะกินทรัพยากรเครื่องขนาดนั้นน่ะนะ


เพลงประกอบและเสียงพากย์

เพลงประกอบนี่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ยอดเยี่ยมของเกมครับ ผมชื่นชอบซาวด์แทร็กของเกมนี้หลายเพลงอยู่ ไม่ว่าจะเพลงตอนสู้ เพลงตอนฉากเดินในฟิลด์ หรือพวกเพลงในเมืองต่าง ๆ ทำออกมาได้ดีหลายเพลงเลย ยิ่งผมชอบสู้กับศัตรูบ่อย เพลงฉากสู้เลยติดหูมาก แต่ก็มีหลายเพลงในฉากฟิลด์ที่ชวนผ่อนคลายให้เราค่อย ๆ สำรวจฉากได้เหมือนกัน

เสียงพากย์ของตัวละครในเกมก็ทำออกมาได้ดีสมกับบุคลิกและบทสนทนาครับ ตัวละครไหนที่บุคลิกช่างแซะก็มีน้ำเสียงในโทนจิกกัดแบบชัดเจน ตัวไหนที่ค่อนข้างซีเรียสจริงจังกับทุกเรื่องโทนเสียงก็จะออกแข็งกร้าวนิด ๆ แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งต้องชมทีมงานผู้แปลบทสนทนาฉบับภาษาอังกฤษด้วย เพราะรู้สึกได้เลยว่าตัวละครไหนที่มีพื้นเพบนดาวแอสเตอร์โฟร์ ก็จะมีการใช้คำพูดและไวยากรณ์ที่ติดจะโบราณ แต่ตัวละครที่มาจากนอกดาวจะใช้คำพูดกันในลักษณะเหมือนคนยุคปัจจุบัน จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้เป็นอะไรที่แสดงความใส่ใจของทีมงานได้ไม่เลว


สรุป

Star Ocean The Divine Force เป็น JRPG ที่สนุกใช้ได้และมีระบบที่คุ้นเคยจากแฟรนไชส์ Star Ocean หลายอย่างของเกมค่อนข้างชัดเจนว่าทีมงานเอาใจใส่กันเต็มที่แล้ว แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นซึ่งไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุอะไร (หลัก ๆ ก็คือเฟรมเรต) มันเลยเป็นตัวฉุดรั้งคุณภาพเกมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ได้แต่หวังว่าทีมงานจะสามารถอัปเดตและทำการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในอนาคตครับ

The Review

65% เกมเน้นแอ็กชันที่ดันมีปัญหาเฟรมเรต

Star Ocean The Divine Force เป็นเกมที่โดนฉุดรั้งด้วยปัญหาทางเทคนิค จนทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างที่ควรจะเป็น แม้ระบบต่อสู้จะสนุกแต่เฟรมเรตที่กระตุกก็เป็นสิ่งที่ทำให้เสียอารมณ์ไปเลยเหมือนกัน

65%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์