Reviews

The Devil in Me – รีวิว [REVIEW]

by Reviewer Ocelot

The Devil in Me – รีวิว [REVIEW]

รีวิว The Devil in Me

เผชิญหน้าปิศาจในร่างคน

*ขอขอบคุณโค้ดเกมเพื่อการรีวิว จากบริษัท Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ

**รีวิวนี้เป็นการรีวิวจากการเล่นเกมจนจบรอบแรกบนเครื่อง PS5 เลือกโหมดเน้นประสิทธิภาพ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับ Supermassive Games ที่นำพาซีรีส์ The Dark Pictures Anthology เดินทางมาจนถึงตอนสุดท้ายของซีซันแรกคือ The Devil in Me ได้สำเร็จ จากผลงานที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าคะแนนวิจารณ์จะเป็นอย่างไร เกมในซีรีส์นี้ก็สร้างกระแสให้ทั้งชุมชนคนเล่นเกมและคนดูเกม ให้มีการพูดถึงและอยากรู้ชะตากรรมของเหล่าตัวละครในเรื่องราวสยองขวัญเสมอมา

ก่อนจะไปส่วนเนื้อหา ผมขอออกตัวก่อนว่า ผมเคยได้สัมผัสงานของค่ายนี้มาแล้วหนึ่งเกมคือ The Quarry ซึ่งพอจะให้ผมสามารถรีวิว Devil in Me ในเชิงเปรียบเทียบกับผลงานก่อนหน้าได้

เนื้อเรื่อง

เรื่องราวชวนขนหัวลุกเริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่อทีมถ่ายทำสารคดีจาก Lonnit Entertainment เหยียบเท้าลงบนเกาะที่ตั้งโรงแรมลึกลับ โดย Mr. Dumet เจ้าของโรงแรมผู้ได้ชื่อว่าเป็นแฟนตัวยงของฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของสหรัฐอเมริกา H.H.Holmes อนุญาตให้พวกเขาเข้าถ่ายทำในสถานที่แห่งนี้ได้ สำหรับทีมถ่ายทำแล้ว นี่อาจเป็นผลงานพลิกชีวิตให้กับรายการที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่สิ่งที่พวกเขาไม่นึกฝันเลยก็คือพวกเขาจะกลายเป็นหนูทดลองให้ฆาตกรจิตป่วย ที่จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่เก็บศพของพวกเขาในฐานะงานศิลปะ

The Devil in Me ขายความสยองบนความกลัวจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งอาจต่างจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติก่อนหน้า ในเกมนี้ ตัวของฆาตกร หรือ Mr. Dumet ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเหนือมนุษย์หน่อย ๆ ตามภาพเหมารวมที่เราเห็นในหนังเชือดสยองขวัญชื่อดังมากมาย เขามีร่างกายสูงใหญ่ ดูแข็งแรงเกินกว่าคนปกติทั่วไป ไม่พูดไม่จา ฉลาดในเรื่องผิดวิสัยมนุษย์ เน้นเดินตัวตรงต้อนเหยื่อให้จนมุม คืออีกนิดก็จะกลายเป็น Mr. X แล้ว

เกมยังเสริมบุคลิกที่คล้ายฆาตกรในซีรีส์ Saw เข้าไปในตัว Mr. Dumet ด้วย ทำให้เขาแทบจะเป็นตัวร้ายที่ไร้จุดอ่อน ทางกายภาพก็แข็งแรงสุด ๆ ด้านสมองก็มองทะลุจิตใจคน คอยปั่นหัวเหยื่อให้ประสาทกินได้สบาย ๆ จะพูดว่า Mr. Dumet เป็นหนึ่งในตัวละครที่ซับซ้อนที่สุด จนแม้แต่เมื่อเกมจบแล้ว ผมก็ไม่กล้าบอกว่าเข้าใจ ปม หรือ แรงขับของเขามากนัก

สิ่งที่ผมเห็นว่า The Devil in Me ทำออกมาได้ดี คือมิติความสัมพันธ์ของตัวละครในทีมตัวเอก ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานที่ไม่ถูกจริตกัน และคู่รัก สิ่งเหล่านี้ถูกขับเน้นออกมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นเกม และทำให้มันยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อความสัมพันธ์ทั้งหมดถูกเอาไปทดสอบในสถานการณ์ความเป็นความตาย เพราะฆาตกรจะมีทางเลือกให้ตัวเอกเลือกจะฆ่าใครคนใดคนหนึ่งในทีมเสมอ

ในตอนจบของเกม เรื่องราวยังสะท้อนให้เห็นการเติบโตของตัวละครเมื่อผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้ว เกมแทบจะเล่าออกมาในลักษณะนิทานสอนใจเลยว่าตัวละครแต่ละตัวได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งเป็นส่วนที่ชัดเจนที่สุดของ The Devil in Me แต่ส่วนที่ยังคงถูกทิ้งปริศนาคือตัวตนของฆาตกร และชะตากรรมของเขา

เกมเพลย์

ถึง The Devil in Me จะเป็นตอนปิดฉากซีซันแรกของซีรีส์ The Dark Pictures แล้ว แต่รูปแบบของเกมเพลย์โดยรวมยังไม่อาจพูดได้ว่าฉีกจากตอนก่อน ๆ หรือจากเกม The Quarry อย่างมีนัยสำคัญ เกมยังเน้นหนักไปที่การเล่าเรื่องผ่านฉากคัตซีน และเกมเพลย์แบบเน้นเดินสำรวจ ซึ่งทีมพัฒนาแบ่งสัดส่วนของทั้งสองอย่างแทบจะเท่า ๆ กัน แต่เพิ่มความคล่องตัวให้ตัวละครสามารถวิ่งเหยาะกับปีนป่ายไปพื้นที่ต่าง ๆ ได้

น่าเสียดายที่เกมเพลย์ไม่ได้สะท้อนจุดขายที่มีการโฆษณาว่าเป็นเอกลักษณ์ของ The Devil in Me มากเท่าไร นั่นคือระบบที่ตัวละครแต่ละตัวจะมีไอเทมเฉพาะของตัวเอง เพื่อเอาไปใช้แก้ปริศนาหรือเก็บข้อมูลลับ อย่าง Charlie สามารถใช้นามบัตรไขลิ้นชักต่าง ๆ ได้ หรือ Jamie จะมีอุปกรณ์ไว้ใช้จัดการกับพวกเบรกเกอร์ไฟฟ้า Mark จะมีกล้องไว้ถ่ายรูปที่อาจเป็นข้อมูลสำคัญ ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะมีบทบาทในช่วงแรกของเกมเท่านั้น แต่เมื่อเส้นเรื่องเลยจุดกลางเกมไป ผมแทบลืมไปเลยว่าไอ้ของใช้เฉพาะตัวพวกนี้มันมีไว้เพื่ออะไร

จุดขายที่โฆษณาก่อนเกมออกเรื่องการมอบสิ่งของให้คนร่วมทีมได้ แล้วมันจะเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เราได้เจอ มันมีจริงครับ แต่มันมีน้อยมากจนแทบไม่ควรนำมาใช้เป็นจุดขายสำคัญอะไรนัก ท้ายที่สุดแล้วความเป็นความตายของตัวละครยังขึ้นอยู่กับตัวเลือกการตัดสินใจ หรือ การกดปุ่มให้ทันสถานการณ์ (QTE) เป็นหลัก

คำใบ้ต่าง ๆ ที่เกมให้ยังคงความคลุมเครือ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือภาพนิมิตเหตุการณ์ล่วงหน้า ที่จะปรากฏขึ้นมาเมื่อคุณสำรวจภาพส่วนประกอบของอวัยวะมนุษย์ (มีทั้งหมด 13 ภาพในเกม) ซึ่งเมื่อถึงเวลาเจอเหตุการณ์นั้นแล้ว ผมคิดว่ามันก็ต้องไปวัดใจกันหน้างานอยู่ดีว่าตัวเลือกไหนจะรอด ตัวเลือกไหนจะเกม สำหรับผมภาพพวกนี้เลยเหมือนมีเอาไว้เป็นของสะสมมากกว่า

ยังดีที่ The Devil in Me ให้อิสระผู้เล่นในการย้อนกลับไปเล่นฉากซ้ำ หากคุณรู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์เดิม แน่นอนว่าคุณก็ต้องไปนั่งดูคัตซีนเล่นซ้ำ และเดินเกมแบบเดิมอีกรอบ แต่ฉากใน The Devil in Me ถูกซอยย่อยออกมาเยอะพอสมควร ทำให้คุณไม่ต้องไปใช้เวลาดูเหตุการณ์เดิม ๆ นานนัก ที่แน่ ๆ คือดีกว่า The Quarry

อีกอย่างหนึ่งคือการที่คุณจะได้ฉากจบแบบเลวร้ายสำหรับเกมนี้มันมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเยอะกว่า ถ้าเทียบกับการจะได้ฉากจบแบบดี (ดีในที่นี้คือยังไงก็มีคนรอด แม้จะไม่ครบทุกคน)

ข้อผิดพลาดทางเทคนิค

ในวันที่ผมเล่น The Devil in Me ตั้งแต่ช่วงแรกแบบเลือกโหมดประสิทธิภาพ ผมเจอข้อติดขัดทางเทคนิคทั้งแบบที่พอมองข้ามได้ ไปจนถึงบั๊กที่ทีมพัฒนาต้องรับผิดชอบด้วยการเอาไปแก้ไข บั๊กแบบแรกก็จะมีมากมายครับ เช่น เมื่อวนมาเล่นฉากซ้ำตัวละครกลับใช้อุปกรณ์อย่างไฟฉายไม่ได้ การโหลดฉากที่ตัดออกมาไม่เนี้ยบ

ส่วนบั๊กร้ายแรงก็เช่น เกมไม่ขึ้น QTE ในเหตุการณ์ที่ต้องขึ้น (ข้อผิดพลาดนี้พบในวันที่ 26 พ.ย.) ยังโชคดีที่การกดเริ่มเกมใหม่สามารถแก้ปัญหาพวกนี้ได้

การควบคุมตัวละครยังให้ความรู้สึกติด ๆ ขัด ๆ เช่น ตัวละครอื่นยืนขาเบียดบังเรา ทำให้เราเดินไม่ออก กรณีร้ายแรงหน่อยก็คือบังจนเหมือนตัวเราโดนแช่อยู่กับที่ ต้องอาศัยการหมุนปุ่มบังคับทิศทางไปมาอย่างทุลักทุเลกว่าจะผ่านมาได้

การนำเสนอ

ฉากเปิดยังทรงพลังและมีสไตล์ไม่ว่าจะดูกี่ครั้ง ภาพของลุง Curator ที่เดินไปตามโถงทางเดินสุดหลอนพร้อมเพลงประกอบคือดี คือเท่ที่สุด ถึง Curator จะวางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์เฉย ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสีหน้าท่าทาง ไปจนถึงบทพูดของเขา ก็แทบจะทำให้ Curator ถูกนับเป็นพระเอกของซีรีส์นี้ไปแล้ว

ในส่วนของการแสดงของตัวละคร อย่างที่ผมเขียนไปใน พรีวิว ก่อนได้เล่นเกมเต็ม ผมรู้สึกว่าตาของ Kate มีลักษณะลอยแปลก ๆ แต่พอได้เล่นเกมจริงแล้ว มีหลายฉากเลยทีเดียวที่ผมเห็นว่าตัวละครอื่นก็ตาลอย ตาแข็ง ทั้งเจอในฉากปกติและฉากหนีฆาตกร ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นข้อผิดพลาดทางเทคนิค หรือ ปัญหาด้านการแสดง แต่จากที่ดูวิดีโอสัมภาษณ์ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้อแรกมากกว่า

ผมชอบการเลือกและการสร้างฉากใน The Devil in Me ไม่ใช่แค่เพราะมันเข้ากับประวัติของ H.H.Holmes แต่มันยังสะท้อนให้เราเห็นถึงจิตใจอันซับซ้อนและยากจะเข้าถึงของฆาตกร การที่บรรดาตัวเอกได้เข้ามาในโรงแรมแห่งนี้ก็เหมือนการได้เข้ามาสำรวจเขาวงกตสุดวิปริต ได้สัมผัสสิ่งที่ขับเคลื่อนแรงบันดาลใจของศิลปินมือเปื้อนเลือดรายนี้

การไขตัวตนจึงตกเป็นหน้าที่ของเรา เกมจะไม่ให้คำตอบเราตรง ๆ แต่จะมีหัวข้อที่รวบรวมเบาะแสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร เทปบันทึกเสียง ศพ หรือ อวัยวะ ไดอารี่ และอีกมากมายตามที่เราได้พบ จุดที่อาจทำให้ผู้เล่นรู้สึกเข้าถึงยากคือ ข้อมูลพวกนี้เน้นตัวอักษรเยอะมากถึงมากที่สุด เช่น บันทึกประวัติคนไข้ที่มีทั้งแผ่นหน้า-แผ่นหลัง แล้วยังมีข้อมูลของพวกตัวละครอื่น ๆ ทั้งเหยื่อรายก่อน ๆ , ผู้สมรู้ร่วมคิด, ญาติของฆาตกร ไม่รวมสิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเกม ถ้าเอากองข้อมูลพวกนี้มารวมกัน ผมคิดว่าได้นิยายสั้นเล่มนึงเลย

เมื่อเกมมีการนำเสนอแบบนี้ มันทำให้อารมณ์ตอนเล่นเกมค่อนข้างขาดความต่อเนื่อง และไม่น่าแปลกใจว่าคนหลายคนจะหันหน้าเข้าหาคำตอบจากช่องต่าง ๆ ใน YouTube มากกว่าที่จะเล่นเกมซ้ำอีกรอบ เอาเข้าจริงต่อให้มีการแปลเอกสารทั้งหมดเป็นภาษาไทย การอ่านหลักฐานและเบาะแสทั้งหมดก็ดูเป็นเรื่องท้าทายอยู่ดี

สรุป

ผมเห็นความพยายามจะเพิ่มมิติใหม่ ๆ ในแง่ของเกมเพลย์ให้ The Devil in Me น่าเสียดายว่าของใหม่ ๆ แทบทั้งหมดไม่ได้ยกระดับประสบการณ์เล่นเกมโดยภาพรวมมากนัก ไอเทมเฉพาะตัวละครที่ใส่เข้ามาไม่ได้มีบทบาทต่อเนื้อเรื่องเท่าที่ควร การแลกไอเทมที่ประกาศว่าเป็นจุดขายก็เหมือนกัน สิ่งที่ส่งผลต่อชะตากรรมตัวละครยังเป็นการเลือกตัวเลือกที่ถูกต้อง และการกด QTE ให้ทันเวลา

สิ่งที่ผมชอบคือบรรยากาศและฉากในเกม มันสะท้อนตัวตนอันวิปลาสของฆาตกรได้สุดจริง ๆ ทั้งโรงแรมที่สลับเส้นทางให้เป็นเขาวงกตได้ การเอาหุ่นจำลองมาผสมกับอวัยวะมนุษย์แล้วทำให้เหมือนคนจริง ๆ เพื่อใช้ปั่นประสาทเหยื่อ

สำหรับทีมตัวละครเอก ถึงจะมีการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกบนใบหน้าไม่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่บทของแต่ละคนก็คือจุดเด่น ปมความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครถูกผูกออกมาอย่างดี และยิ่งน่าสนใจเมื่อมันถูกทดสอบในสถานการณ์ความเป็นความตาย จนเราได้เห็นตัวละครเรียนรู้แล้วนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในตอนจบ

จุดเด่น

  • บรรยากาศและฉากในเกมทั้งหลอนและสะท้อนตัวตนอันซับซ้อนของฆาตกรได้อยู่หมัด
  • ปมความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครน่าสนใจ และมีพัฒนาการจากการร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไปจนจบเรื่อง
  • เกมมีความคล่องตัวในการบังคับขึ้นกว่าผลงานก่อน ๆ

จุดด้อย

  • ยังพบบั๊กที่ส่งผลต่อการเล่นเกม รวมถึงการเก็บงานที่ยังไม่เนี้ยบ เช่น ฉากโหลดเกม
  • เกมเพลย์ใหม่ที่บอกว่าเป็นจุดขายไม่ได้มีบทบาทในตอนเล่นจริงขนาดนั้น
  • คำใบ้และเบาะแสเน้นข้อความจำนวนมาก สร้างความท้าทายเรื่องกำแพงภาษาให้ผู้เล่น

The Review

75% เกมหลอนที่คุณภาพอาจไม่เนี้ยบ แต่สร้างกระแสพูดคุยให้ชุมชนได้แน่นอน

75%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์