Reviews

Hi-Fi Rush – รีวิว [REVIEW]

by Reviewer Ocelot

Hi-Fi Rush – รีวิว [REVIEW]

รีวิว Hi-Fi Rush

*ขอขอบคุณ Bethesda Softworks สำหรับโค้ดเพื่อการรีวิวในครั้งนี้ด้วยครับ

**คนรีวิวเล่นเกมนี้จบในโหมดธรรมดา แล้วไม่ได้เล่นคอนเทนต์หลังเกมจบต่อ

ปลายเดือนแรกของปี 2023 กำลังจะจบไปแบบเรียบง่ายอยู่แล้ว แต่อยู่ดี ๆ Bethesda Softworks ก็เปิดศักราชด้วยการปล่อยเกม Hi-Fi Rush เกมที่เราน่าจะนิยามมันว่าเป็น Hack and Slash แนวดนตรี ที่ชวนให้คนเล่นกดปุ่มและโยกหัวขยับเท้าตามทำนองไปด้วยตลอดเวลา ซึ่ง Hi-Fi Rush เป็นผลงานที่ทีม Tango Gameworks ของป๋า Shinji Mikami รับผิดชอบพัฒนาขึ้นมา

หลายคนพอเห็นชื่อ Tango Gameworks ก็จะแปลกใจนิดหน่อยว่า เอ๊ะ ไอ้นี่มันสตูดิโอเน้นทำเกมผีสยองขวัญไม่ใช่เหรอ ทั้ง The Evil Within ภาค 1 ภาค 2 แล้วก็ Ghostwire: Tokyo ที่เพิ่งออกไปปีก่อนด้วย อยู่ดี ๆ ทำไมพี่หักหัวเรือ 180 องศา มาทำเกมแนวนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรครับ เพราะตัวของ Shinji เอง เขาก็เคยให้สัมภาษณ์มาก่อนแล้วว่า เขาก็อยากให้สตูดิโอลองหันไปทำแนวอื่นนอกจากแนวสยองขวัญบ้าง

แล้ว Hi-Fi Rush ก็ไม่ใช่งานทดลองเล่น ๆ ด้วยนะครับ เพราะเก้าอี้ผู้กำกับเกมนี้เขายกให้คุณ John Johanas ที่ฝากผลงานใน The Evil Within 2 มาแล้ว ส่วนป๋า Shinji ก็ไปนั่งแท่นหัวหน้าโปรดิวเซอร์เลย แต่จะเปลี่ยนแนว ไม่เปลี่ยนแนว จะมีใครมานั่งแท่นกำกับก็ไม่สำคัญเท่าคำถามที่ว่า Hi-Fi Rush คุ้มค่าที่จะหามาเล่นรึเปล่า?

และนี่คือคำตอบจากเราครับ

การเดินทางของ Chai

ขอเริ่มต้นกันที่เนื้อเรื่องก่อน เรื่องราวมันเริ่มต้นเมื่อ Chai พระเอกที่มีความฝันอยากเป็นร็อคสตาร์ไปเข้ารับการศัลยกรรมติดตั้งแขนกลที่บริษัท Vandelay แล้วด้วยความบังเอิญแบบที่สุด ในขณะที่กำลังอยู่ในกระบวนการติดตั้งแขนกล เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาดันร่วงลงมาที่หน้าอก Chai พอดี ทำให้มันถูกติดตั้งเข้าไปในตัวเขาด้วย ผลก็คือมันทำให้ Chai อยู่ในสถานะเหมือนของบกพร่อง (Defect) แล้วต้องถูกหุ่นยนตร์ในนั้นตามไล่เก็บ

จากนั้นเหตุการณ์มันก็ดำเนินไปจน Chai ไปเจอแม่สาว Peppermint กับหุ่นน้องแมว 808 ที่กำลังวางแผนทำลายโปรเจคลับอันชั่วร้ายของ Kale CEO ของ Vandelay แล้วการที่จะหยุดยั้งเขาได้ Chai ต้องออกไปปะทะกับหัวหน้าฝ่ายทั้งหมด รวบรวมพวกพ้องใหม่ ๆ มาเข้าร่วมตี้ด้วย เรื่องย่อเกมมันก็จะประมาณนี้ครับ

พูดกันตามตรงเลย ถ้าว่าในแง่ของพล็อตเรื่องแบบเพียว ๆ มันก็มาแนวพระเอกรวมพลังพวกพ้องไปถล่มตัวร้ายที่เป็นเจ้าของบรรษัทยักษ์ใหญ่ แค่นั้นเลย พวกจุดหักมุม จุดเผยเรื่องราวสำคัญ ไม่ต้องเล่นเกมดูหนังมาเยอะก็พอเดาทางกันได้หมดอยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกได้เลยครับว่าทีมงานเขาเข้าใจเรื่องนี้ดี เขารู้ว่าตัวเองน่ะอยากเล่นพล็อตเรื่องประมาณแค่นี้แหละ จุดขายมันจะไปอยู่ที่การสร้างตัวละคร แล้วก็การขายขำมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นตลกแบบเสียดสี ตลกแบบเจ็บตัว ซึ่ง Chai ก็จะรับหน้าที่พวกนี้ไปซะเยอะ

ตัวละครแบบ Chai มันจะมาแนวพระเอกที่ดูเพี้ยน ๆ แล้วมันก็มั่นใจในความเพี้ยนของตัวเองด้วยนะ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ความตลกมันจะอยู่ที่พวกเพื่อน ๆ ในทีมมันพูดจาบุลลี่ไอ้ Chai นั่นล่ะครับ หรือบางครั้งมันก็บุลลี่ตัวเองด้วย แต่ต้องยอมรับว่าพวกบทสนทนา การว่าแดกดันเสียดสี เขาคิดคำพูดกันมาได้ค่อนข้างครีเอตดีแล้ว ก็คือมันดูไม่ใช่ตลกราคาถูก ถึงจะดูเยอะไปนิดในบางครั้ง แต่มันมีชั้นเชิงในการด่าอยู่

หรือถ้าคุณไม่ซื้อกับตัวละครอย่าง Chai ที่มันจะดูเป็นพระเอกสายฮา เพี้ยน ๆ แบบที่เราเห็นกันจนเกร่อ ผมว่าคุณจะชอบตัวละครหลักคนอื่น ไม่ก็ฝ่ายตัวร้ายเกมนี้ครับ แต่ละตัวจะมีจุดขายแบบเล่นเอาลืมไม่ลงเยอะเลยนะ อย่างไอ้หุ่นยนตร์ปากแจ๋วที่เวลาจะแสดงความรู้สึกต้องเอาเมจิกมาเขียนหน้าตัวเอง พอจะเปลี่ยนอารมณ์ก็ลบออกแล้วเขียนใหม่ ไอ้นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องฝ่ายพัฒนาที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ไม่สนงบ หรือ อีเจ๊หิวแสงฝ่ายการตลาด

แต่ถึงว่าคุณจะไม่ชอบใครเลย อย่างน้อยคุณจะมีหุ่นน้องแมว 808 คอยชุบชูจิตใจตลอดการเล่นครับ (แล้วเรา Customize น้องได้ด้วยนะ)

โลกแห่งดนตรี (ที่ไม่ใช่คำเปรียบเปรย)

แล้วสิ่งที่ผมคิดว่ามันเจ๋งมากในงานออกแบบฉากเกมนี้คือมันทำให้โลกในเกม เป็นโลกแห่งดนตรีจริง ๆ เลย ไม่ว่าจะ วัตถุ สิ่งของ อะไรก็ตามที่เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวมันจะขยับ เคลื่อนไหวเป็นท่วงทำนองหมด เวลาเราเจอแท่นยื่นจากผนัง 3 แท่น มันก็พุ่งออกมาเป็นทำนอง เราใช้แขนกลเกี่ยวแม่เหล็กก็มีทำนองของมัน ต้นไม้ประดับฉากแม่งยังเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเลย ซึ่งสิ่งพวกนี้มันเป็นงานลงรายละเอียดมากเลยนะ แต่ทีมงานสามารถใส่มันเข้าไปได้ตั้งแต่ต้นยันจบเกม

แล้วมันไปช่วยขยายมิติของเนื้อเรื่องด้วย เพราะเราเล่นเป็น Chai ที่มีเครื่องเล่นเพลงฝังในอก สภาพแวดล้อมในสายตาเขามันก็จะกลายเป็นท่วงทำนอง การใส่รายละเอียดในฉากที่ว่าไปมันเลยเหมือนเราเข้าใจสภาพแวดล้อมผ่านสายตาของ Chai ไปด้วย

ถ้าผมจะติเรื่องงานออกแบบฉาก ก็คงมีนิดหน่อยคือช่วงด่านแรก ๆ มันจะให้อารมณ์เหมือนเราหลงอยู่ในโรงงานซะเยอะ แล้วแต่ละด่านค่อนข้างยาว ความน่าเบื่อมันก็จะมีนิดหน่อย แต่ช่วงหลังเหมือนทีมพัฒนารู้ตัว เขาตัดด่านให้สั้นกระชับขึ้น แล้วก็ทำให้มันดูหลากหลายกว่าช่วงแรก

ซื้อเกมพ่วงแอนิเมชันระดับทอปฟอร์ม

อีกส่วนที่ต้องยกให้เป็นเดอะแบกของ Hi-Fi Rush เลยคืองานภาพและการนำเสนอครับ นี่เป็นเกมเซลเฉดที่ผสมการ์ตูนแอนิเมชัน 2D แล้วก็ผสมภาพสไตล์หนังสือการ์ตูนเข้าไปอีก มันไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการก็จริง แต่ประเด็นคือคุณภาพงานแอนิเมชันเกมนี้มันสูงทะลุฝ้าทะลุเพดานไปไกลมาก ตั้งแต่ฉากที่แท่งเหล็กของ Chai มันเรียกเศษเหล็กมาประกอบเป็นกีตาร์ เอฟเฟกต์การทำลายล้างของพวกบอสต่าง ๆ

แล้วมันไม่ใช่ดีในแง่คุณภาพอย่างเดียว ในแง่การเรียบเรียง เช่น การเปลี่ยนจากเซลเฉดไปเป็นภาพสองมิติเวลาบอสเปิดตัวก็ทำออกมาดุและสอดคล้องกับการเล่าเรื่องในตอนนั้น พวกลูกเล่นต่าง ๆ เช่น การเล่นกับตัวอักษรแบบหนังสือการ์ตูนก็เรียกได้ว่าสร้างสีสันให้การนำเสนอแบบไม่ขัดหูขัดตา

ผมพูดอย่างนี้เลยว่าถ้าตัดเอาเฉพาะฉากคัตซีนของ Hi-Fi Rush มาเรียง ๆ กัน คุณจะได้แอนิเมชันคุณภาพสูงเรื่องนึงไว้ดู

ความน่าประทับใจในแง่การนำเสนอยังไม่หมดแค่นี้ พวกฉากซีเควนซ์ หรือ ฉากไล่ล่าเล่นใหญ่เกมนี้ก็ทำออกมาดีดูน่าสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ ฉากเผด็จศึกบอสหลายตัวก็น่าจดจำ สำหรับผมในเรื่องภาพกับการนำเสนอไม่มีอะไรติดขัดเลยนะครับ ให้ผ่านแบบยาว ๆ ไปเลย

ใครเขาใช้กีตาร์เล่นเพลงกัน?

ว่ากันเรื่องระบบต่อสู้ของเกม Hi-Fi Rush จะยืนพื้นบนระบบต่อสู้เกมแนว Hack and Slash ทั่วไปเลยครับ ทั้งการต่อคอมโบ การใช้ไม่ตาย การแพร์รี อาจมีพิเศษหน่อยตรงเรียกเพื่อนมาช่วย แต่จุดที่ทำให้มันมีความเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ คือถ้าเรากดโจมตีให้เข้ากับจังหวะบีตเพลง มันก็ยิ่งทำให้เราเก็บศัตรูง่ายขึ้น แล้วมันจะไปส่งผลเรื่องการประเมินคะแนนในแต่ละไฟต์ด้วยครับ เกณฑ์ของเกมนี้มันจะนับเรื่องคะแนนคอมโบ คะแนนการกดตามจังหวะ และคะแนนเวลาเคลียร์ศัตรู แล้วก็เอาทั้งหมดไปสรุปจบตอนท้ายฉากอีกที

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าต้องกดปุ่มจังหวะไหน มันก็มีวิธีสังเกตหลายแบบครับ อันดับแรกคือเน้นฟังเสียง ถ้าไม่ฟังเสียงก็ให้ดูลูกบอลน้องแมว 808 ที่มันจะปล่อยสีออร่าออกมาเป็นจังหวะ ก็ให้กดตามที่เห็น แต่ส่วนมากเวลาสู้จริงเราไม่มีเวลาไปนั่งดูเยอะหรอกครับ เน้นฟังเอามากกว่า บางทีก็ไม่ได้ฟังเลย ใช้รัวปุ่มเอามันไว้ก่อน แล้วไปกดให้โดนจังหวะจริง ๆ ตอนมีวงกลมขึ้นบนหน้าจอ

การกดให้ตรงตามจังหวะบีตยังเอาไปใช้เป็นลูกเล่นการต่อสู้หลายอย่างเลยนะครับ เช่น จะมีศัตรูระดับสูงแบบหุ่นยนตร์ซามูไรที่ก่อนมันจะตายมันจะขอท้าดวลกับเรา (ก่อนดวลมีท่องกลอนไฮกุใส่ด้วยนะ อย่างปั่น) แล้วมันจะปล่อยการโจมตีมาชุดนึง ถ้าเรากดแพร์รีตามจังหวะมันได้เกือบหมด Chai จะใช้ท่าเผด็จศึกมันได้เลย เหมือนเป็นมินิเกมที่แทรกเข้ามาน่ะครับ ไอเดียนี้ผมว่าเข้าท่าดี แต่ก็เข้าใจว่าบางคนอาจจะรู้สึกมันไปขัดจังหวะการต่อสู้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น กว่าจะใช้เวลาเรียนรู้ให้เล่นเป็นก็นานพอตัวครับ แล้วถ้าจะเอาเก่งจริง ๆ ก็ต้องมีชั่วโมงบินนานมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังจากเกมมันเปิดระบบต่อสู้หลัก ๆ มาครบหมดแล้ว คุณจะเห็นเลยว่าการต่อสู้ในฉากนึงมันเกิดอะไรขึ้นเยอะ คุณต้องกดโจมตีให้ตามทำนองเพลง คอยหลบหรือแพร์รีศัตรู คอยดูเกจไม้ตาย คอยดูว่าเพื่อนพร้อมให้เรียกมาช่วยรึยัง คอยระวังศัตรูที่หลุดออกจากหน้าจอ

ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจกังวลว่าคนไม่ถนัดเกมดนตรีจะเล่นได้มั้ย ถ้าโจทย์คุณคือเล่นให้ผ่าน เล่นให้จบ มันเล่นได้ เล่นสนุกครับ แต่ถ้าคุณเป็นพวกสายความรับรู้เหนือมนุษย์ เป็นนิวไทป์ เล่นอะไรก็ต้องสมบูรณ์แบบ เล่น Devil May Cry ต่อคอมโบไม่มีพลาด หรือเล่น Bayonetta ได้ Pure Platinum ทุกฉากต่อสู้ Hi-Fi Rush มันก็ให้อะไรท้าทายแบบนั้นได้เหมือนกัน ถึงจะไม่ได้ซับซ้อนเท่าสองเกมที่ว่ามาก็เถอะ

การโจมตีให้เป็นท่วงทำนองถือว่าเป็นลายเซ็นของเกมนี้ ไม่ปฏิเสธครับ แต่อีกด้านนึงมันก็ยังมีความขลุกขลักให้เห็นบ้างเหมือนกัน

ยกตัวอย่างก็คือพวกฉาก QTE (กดปุ่มบนหน้าจอเพื่อจัดการศัตรู) ที่ในเกมนี้มันจะมาในรูปแบบแถบโน๊ตแล้วให้กดปุ่มตาม ประเด็นก็คือ เวลาเกมมันให้เราเล่นฉากแบบนี้เราจะเพ่งจุดสนใจไปที่ปุ่มต่าง ๆ บนหน้าจอมากกว่า ทั้งที่ใจเราแม่งอยากดูแอนิเมชันฉากบู๊ของตัวละครในจังหวะนั้นมากเลยนะ แต่เราก็เสพแบบเต็ม ๆ ตาไม่ได้ เพราะมันต้องแยกสมองไปกดปุ่มให้ทันก่อน

เพราะฉะนั้น คอนเสปการกดตามจังหวะดนตรีมันดีมากเลยนะ แล้วก็เป็นจุดแข็งที่ผู้พัฒนาดูจะมั่นใจมาก ๆ ใช่ครับ มันคือจุดแข็ง อันนี้ไม่เถียง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นจุดอ่อนที่ไม่ถึงขั้นสาหัส แต่ก็เรียกร้องความสนใจกับความพยายามของผู้เล่นเยอะไปหน่อย

เคาะกันเลยดีกว่า

สรุปแล้ว Hi-Fi Rush เป็นเซอร์ไพรส์ที่อยู่ ๆ ก็โผล่มาปิดฉากเดือนมกราคม แล้วเข้าไปนั่งเกากีตาร์รอในงาน The Game Awards เฉยเลยครับ ซึ่งผมว่ายังไงเกมนี้ก็ได้เข้าชิงแน่นอน แต่จะเข้าชิงกี่สาขา สาขาอะไรบ้าง แล้วจะคว้ามากี่รางวัลอันนี้ต้องรอดู แต่เอาเฉพาะหน้าตอนนี้ ถ้าคุณอยากหาเกมแอ็กชัน Hack and Slash ที่มีภาพและการนำเสนอคุณภาพสูง มีระบบการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์ มีตัวละครที่น่าสนใจ คอนเทนต์ก็อัดแน่นไปยันหลังจบเกม Hi-Fi Rush คือเกมนั้นครับ

ทั้งหมดทั้งมวล คะแนนสำหรับ Hi-Fi Rush ผมขอเคาะที่ 8.5 ครับ

หายไป 1.5 คะแนน มาจาก 1.พล็อตเรื่องที่ธรรมดามาก แต่ได้บทพูด งานภาพ กับการนำเสนอมาช่วย หัก 0.5 2. ด่านในเกมช่วงแรกให้ความรู้สึกซ้ำ ๆ ไปหน่อย หักอีก 0.5 และ 3. ระบบต่อสู้ผมว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ยังมีจุดติดขัดตอนเอาไปทำเป็นลูกเล่นบางอย่างในเกม หายไปอีก 0.5 ตามนี้ครับ

เพราะฉะนั้น โดยภาพรวมแล้ว สายแอ็กชันผจญภัย Hack and Slash ถ้ามี Xbox หรือคอมแรง ๆ มีช่องทาง มีกำลังทรัพย์ ไม่ต้องลังเลกับ Hi-Fi Rush ถ้าลังเลให้ตีมือตัวเองแล้วกดซื้อไปเลย

จุดเด่น

  • งานภาพ งานแอนิเมชันเข้าขั้นสุด เป็นเดอะแบกของเกม
  • ระบบต่อสู้ที่ผสานเกมแนวดนตรี เอกลักษณ์แน่น ๆ
  • งานออกแบบฉากและตัวละครน่าสนใจ
  • บอสไฟต์ที่น่าจดจำถึงขั้นลืมไม่ลง

จุดด้อย

  • พล็อตเรื่องที่ธรรมดา
  • ด่านในเกมช่วงแรกให้ความรู้สึกซ้ำไปหน่อย
  • ลูกเล่นดนตรีบางอย่าง ยังใส่มาได้ไม่ลงตัว

Hi-Fi Rush วางจำหน่ายแล้วบนแพลตฟอร์ม Windows และ Xbox Series X/S

The Review

85% เซอร์ไพรส์ที่มาปิดฉากเดือนแรกของปี 2023 อย่างสวยงาม

85%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์