Reviews

Atomic Heart – รีวิว [REVIEW]

by Reviewer Ocelot

Atomic Heart – รีวิว [REVIEW]

รีวิว Atomic Heart

เกมที่มีหัวใจอยู่ในชื่อ แต่ไม่ได้อยู่ในเกม

สเปกคอมที่ใช้เล่นเกมนี้คือ

Intel(R) Core(TM) i7-10700 CPU @ 2.90GHz   2.90 GHz

NVIDIA GeForce RTX 3070

RAM 32 GB

พื้นที่ติดตั้ง 74.7 GB

*ขอขอบคุณ Epicsoft Asia สำหรับโค้ดเพื่อการรีวิวด้วยครับ

**รีวิวนี้มาจากประสบการณ์เล่นเกมจนจบ 1 ครั้ง

ขอต้อนรับสู่สหภาพโซเวียตต่างโลก

ผมมั่นใจว่า Atomic Heart จะเป็นเกมที่สร้างปรากฎการณ์ของการนำเสนอเรื่องราวโลกดิสโทเปียอย่างมีชั้นเชิงและทำให้ชุมชนเกมเมอร์ต้องตื่นเต้นสุดขีด ถ้าเกมนี้ออกวางจำหน่ายสัก 16 ปีก่อน ในปีที่ Bioshock ภาคแรกวางจำหน่าย เพราะพอเล่นจบแล้ว มันก็ยิ่งชัดว่า Atomic Heart มีเลือด Bioshock ในการนำเสนอเกินครึ่งแน่นอน

เรื่องย่อคร่าว ๆ ก็คือ ในปี 1955 ของโลกที่โซเวียตเรืองอำนาจ Sechenov นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะได้คิดค้นเครือข่ายเชื่อมประสาท Kollectiv และกำลังจะปล่อยเวอร์ชัน 2.0 ออกมา ความพิเศษของมันคือการเชื่อมประสาทมนุษย์เข้าด้วยกัน ทุกคนจะควบคุมหุ่นยนตร์ได้ สามารถเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ในเวลาที่น้อยมาก แต่แผนการทั้งหมดก็ต้องถูกขัดขวาง เมื่อเกิดเหตุที่หุ่นยนตร์ที่ผลิตมาทั้งหมดเปิดโหมด “ต่อสู้” และออกไล่ฆ่ามนุษย์ เราซึ่งรับบทเจ้าหน้าที่พิเศษ P-3 จะต้องหยุดยั้งโศกนาฎกรรมนี้ และหาต้นตอแผนการร้ายที่จะเป็นภัยต่อเสรีภาพมนุษยชาติ

ถ้าพูดในมิติการเล่าเรื่อง Atomic Heart ไม่มีความได้เปรียบในแง่ของผู้มาบุกเบิกการนำเสนอแบบ Bioshock และทำให้เกมต้องหาจุดขายหรือต่อยอดแง่มุมการเล่าเรื่องเพิ่มเติมแทน น่าเสียดายว่าตลอดเวลาเกือบ 17 ชั่วโมง ที่ผมใช้กับเกมนี้ ผมไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นใน Atomic Heart นอกจากฉากอินโทรเปิดเกมที่บังคับให้ตัวละครเราทำอะไรไม่ได้นอกจากเดินไปมาถึงประมาณ 30 นาที กว่าที่เราจะได้จามขวานใส่ศัตรูตัวแรก

ทุนนิยมสามานย์ พล็อตเกมก็สามัญ

ในขณะที่ตัวละครต่างโยนศัพท์แสงอุดมการณ์การเมืองทั้ง สังคมนิยม ทุนนิยม ใส่กันไปมาตลอดทั้งเกม แต่พล็อตเรื่องจริง ๆ และสิ่งที่ฝ่ายร้ายต้องการจะทำไม่ได้มีมิติการเมืองซับซ้อนอะไรเลย มันออกแนวพล็อตตัวร้ายใช้พลังไซไฟเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการมากกว่า

ถ้าให้เปรียบเทียบชัด ๆ ในเกม Bioshock ภาคแรก พอเราเล่นจบเรายังตั้งคำถามกับตัวเองว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีจริงมั้ย? เล่น Bioshock Infinite ก็ยังเปิดมุมมองเรื่องมัลติเวิร์สให้เรา (ในตอนนั้นมาร์เวลที่เรารู้จักกันผ่านโรงหนังยังไม่จับประเด็นนี้ด้วยซ้ำ) แต่พอเล่น Atomic Heart จบ มันไม่ได้ทิ้งอะไรให้เราขบคิดมากนัก

ในแง่ของ P-3 ตัวละครเอกของเกม ผมรู้สึกว่างานพากย์ดี แต่ดีไม่สุดเพราะการเขียนบทมีปัญหา เกมพยายามจะปูพื้นว่า P-3 มันเป็นคนมีปริศนา มันลึกลึบ และมันมีอดีตที่จะต้องกลายเป็นจุดหักมุมครั้งสำคัญ แต่พอเราเดินทางไปถึงจุดที่ว่านั้นจริง ๆ มันก็เป็นการหักมุมที่โค้งมนมาก และหลายคนก็น่าจะเดาทางได้มาก่อนแล้ว แต่ถึงเดาไม่ได้ มันก็ไม่มีเหลี่ยมอะไรให้รู้สึกทิ่มแทงถึงใจไปกับฝีมือการเขียนบทเลย

เหล่าบรรดาตัวละครหลัก ความจริงจะบอกว่าเป็นตัวละครหลักก็พูดได้ไม่เต็มปากอีก เรียกเป็นตัวละครสมทบแล้วกัน เพราะนอกจาก Sechenov คนที่เป็นบอสของเรา ถุงมือพูดได้ของเรา กับยายแก่แม่มดปืนโต Zina แล้ว ที่จืดยิ่งกว่าน้ำเปล่าก็คือตัวละครสมทบคนอื่น ๆ นั่นแหละครับ โผล่มาผูกปมเบา ๆ ต้นเกม แล้วก็หายยาว พอจะโผล่อีกทีก็มาแบบคลี่ปมกันง่าย ๆ มันทำให้สับสนว่า ตกลงบทพวกนี้มันสำคัญหรือไม่สำคัญกันแน่

ผมขอเปรียบเทียบแบบนี้ ถ้าใครยังจำได้ มันมีตัวละครฝาแฝด Lutece ใน Bioshock Infinite สองตัวนี้เป็นตัวละครเอกที่ทั้งกระตุ้นความรู้สึกชวนสงสัย น่าค้นหา เป็นลูกเล่นในการนำเสนอเรื่องราวที่ฉลาดและมีผลต่อคอนเสปมัลติเวิร์สของเกม แล้วแย่งแสงจากพระเอกไปได้อีก ส่วนใน Atomic Hearts คุณไม่ต้องคาดหวังถึงสเกลระดับฝาแฝดคู่นั้นเลย เอาแค่เป็นตัวละครสมทบธรรมดาก็ยังยาก

ว่ากันตามตรง หุ่นยนตร์แฝดในเกมนี้ ถึงจะไม่มีบทพูด แต่การปรากฏตัวแต่ละครั้งยังดูน่าสนใจกว่าพวกตัวละครสมทบที่มีเวลาบนจอมากกว่าอีก แถมมีเรื่องราวเก็บงำไว้ด้วย ซึ่งให้ผู้เล่นรอไปค้นหากันเองดีกว่า

ทั้งเกมเราจึงใช้เวลาประมาณ 70% คุยกับถุงมือที่มีจิตสำนึกของเราไป แล้วก็มุกตลกแบบทะเลาะ หรือ Sexual Harassment กับหุ่นยนตร์รายทาง

เกมเพลย์

สิ่งที่พอจะพูดได้ว่าเป็นของที่ต่อยอดมาจริง ๆ ก็คือระบบต่อสู้ในเกม Atomic Heart มีเกมเพลย์ที่สนุกอยู่ครับ ตัวละครเราจะแยกการต่อสู้เป็นสองสายหลัก คือสายอาวุธ และสายพลังพิเศษ และสิ่งที่เพิ่มเติมมาคืออาวุธบางชิ้นใช้กระสุน บางชิ้นใช้ค่าพลัง Energy ฟังคอนเสปโดยรวมแล้วอาจธรรมดา แต่ในแง่รายละเอียดมีหลายจุดที่ผมคิดว่าเข้าท่า

อย่างแรกเลยคือระบบ Catridges ระบบนี้จะให้เราเสริมธาตุเข้าไปในอาวุธได้ ไม่ว่าจะทั้งอาวุธระยะประชิด หรือ ระยะไกล มี 3 ธาตุคือ ไฟเอาไว้สู้กับพวกสิ่งมีชีวิต ไฟฟ้าจะชนะทางหุ่นยนตร์ และน้ำแข็งเอาไว้แช่แข็งศัตรู

พลังธาตุยังเอามาผสานกับพลังสายโพลีเมอร์ของเราได้ดี พลังสายนี้คือเราจะปล่อยโพลีเมอร์ละเลงใส่ศัตรูและพื้น หากเราทำความเสียหายธาตุใส่ พวกโพลีเมอร์ก็จะติดสถานะของธาตุนั้นด้วย สมมุติถ้าเราใช้สายฟ้ายิงใส่โพลีเมอร์บนพื้นแล้วมีหุ่นยนตร์มาเหยียบ มันก็จะโดนช็อตค้างอยู่อย่างนั้นนานจนเราเก็บมันได้สบาย ๆ เป็นลูกเล่นที่ผมว่าเข้าท่าที่สุดแล้ว และเปิดแง่มุมการต่อสู้ที่เน้นกลยุทธ์ได้ด้วย

เกมนี้ยังบังคับให้เราใช้อาวุธระยะประชิดกับศัตรูบางประเภทด้วย คือถ้าใช้ปืนยิงจากระยะไกล ศัตรูบางตัวแทบจะเลือดไม่ลด ยกเว้นคุณจะเสริมธาตุที่มันแพ้ทางเข้าไป

ส่วนศัตรูเกมนี้ถ้าให้คะแนนความยาก ต้องบอกว่าช่วงแรก ๆ จะรับมือยากหน่อย เพราะมันมีทั้งตีธรรมดาและตีแรง แต่พอหลัง ๆ ตัวละครเรามันจะมีพลังและอาวุธขี้โกงอยู่ อย่างดาบ PASHTET ที่ตีได้ทั้งระยะใกล้ไกลทำความเสียหายรุนแรง ถ้าใช้คู่กับการอัปสกิลสายโล่โพลีเมอร์ก็คือใช้แค่สองอย่างนี้ไปจนถึงบอสใหญ่ได้เลย

ความหลากหลายของศัตรูผมให้แค่พอผ่านนะครับ ทั้งเกมเราก็จะเวียนว่ายตายเกิดกับหุ่นลุงหนวดชุดขาว ลุงหนวดชุดดำ ลุงหนวดชุดขาวถือกระบองไฟฟ้าและโล่ กับบรรดาหุ่นยนตร์และสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ที่นับนิ้วรวมกันแล้วก็ประมาณ 10 กว่าชนิด

สิ่งที่ผมคิดว่าใส่เข้ามาแล้วทำให้เกมดูราคาตกคือระบบ QTE ครับ ไม่ใช่ว่า QTE มันแย่ด้วยตัวมันเอง แต่การปรับใช้ QTE เกมนี้มันไม่ได้ให้รางวัลกับผู้เล่นและทำให้เสียเวลาแบบเปล่าประโยชน์ คือถ้ากดติดหมดเราก็แค่เอาตัวรอดจากศัตรูได้ แค่นั้นเลย แล้วการขึ้นปุ่ม QTE ก็เร็วแบบเร็วมาก คืออีกนิดก็ต้องเอาการตอบสนองขั้นเหนือมนุษย์ไปรับมือแล้ว

แล้วมันมีเกมเพลย์แบบนึงครับที่ทำให้ผมรู้สึกสงสัยมากว่าในหัวนักพัฒนาเขาคิดอะไรอยู่ มันคือระบบขับรถครับ สงสัยข้อแรกก็คือ ระบบขับรถมันกลายมาเป็นจุดขายของเกมตั้งแต่เมื่อไร (ในเกมจะมีฉากที่ถุงมือมันแนะนำเรื่องการขับรถเป็นเรื่องเป็นราวเลย) แต่พอได้ขับจริง ความสงสัยอีกข้อก็ตามมาครับว่า เขาจะใส่มาทำไมวะ ในเมื่อพอขับชนดงศัตรูเราก็โดนโจมตีตายอยู่ดี แล้วตายง่ายกว่าเดินเท้าอีก ซึ่งผมก็ลองขับหาทางโล่ง แต่ทางโล่งในเกมนี้ดูจะไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็ต้องอาศัยสองเท้าสู้ชีวิตอยู่ดี

งานออกแบบฉาก

ถ้าให้ว่ากันตามตรง งานออกแบบฉากเกมนี้จะเน้นโทนสีขาวสลัว ๆ ให้บรรยากาศเหมือนห้องแลป ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา ขัดกับตอนออกมาอยู่บนพื้นดินข้างนอกที่เราเห็นท้องฟ้ากับแม่น้ำ ซึ่งก็คงเป็นบรรยากาศที่ทีมงานตั้งใจจะให้เรารู้สึกนั่นล่ะครับ เพียงแต่มันจะดูค่อนข้างวนเวียนไปมาเฉย ๆ

จะยังไงก็แล้วแต่ ผมคิดว่าทีมพัฒนาค่อนข้างไปได้สวยในแง่ของการสร้างปริศนาในฉากให้ออกมาท้าทายแล้วก็สร้างสรรค์เกือบทั้งหมด ผมไม่ได้หมายถึงพวกมินิเกมถอดสลักกุญแจที่เราต้องเจอตลอดการเล่น แต่หมายถึงปริศนาที่ตั้งใจใส่เข้ามาเป็นชิ้นเป็นอันในฉากหลักของเกมเลย อย่างปริศนาที่ผมชอบมากที่สุดคือเงาสะท้อนแสงของหุ่นยนตร์เต้นบัลเลต์

เรื่องการแสดงผลและประสิทธิภาพ

ตอนมีการเปิดเผยข้อมูลสเปก PC ของ Atomic Heart สาย PC หลายคนก็รอดจากภาวะหัวใจวายกันไป เพราะนับว่าสเปกไม่ได้แรงมากอย่างที่คิด แต่มันอดสงสัยไม่ได้ว่าเราจะสามารถไปถึงภาพที่โฆษณาด้วยสเปกราว ๆ นี้จริงเหรอ ด้วยสเปกคอมที่ใช้รีวิวนี้ เกมก็จัดค่ากราฟิกเริ่มต้นมาให้เป็นค่า Atomic เลย (สูงสุด) และทั้งเกมก็สามารถรันได้แบบ 120 FPS

แต่ถึงแบบนั้น เกมนี้มีการเก็บงานที่ไม่เนี๊ยบนะครับ มีบั๊กที่ผมทำเป็นมองข้าม ๆ ไปไม่ได้ เอาเน้น ๆ เลยก็คือเมื่อเกมมีขึ้นตัวเลือกบทสนทนาเป็นข้อ ๆ ผมไม่สามารถกดขึ้นลงเพื่อเลือกได้ แล้วมันส่งผลเสียคือเนื้อเรื่องมันจะไปต่อได้ยังไง ต้องอาศัยวิธีเล่นบนคีย์บอร์ด แล้วต่อจอย Dualsense เพื่อเอาไว้กดเลือกหัวข้อสนทนาโดยเฉพาะ ซึ่งผมไม่รู้ว่านักรีวิวคนอื่นจะเจอปัญหาเดียวกันหรือเปล่า

นอกจากนั้นยังมีข้อขัดข้องของการแสดงผลภาพแบบประปราย เช่น ตู้เซฟเกมที่อยู่ ๆ ใบพัดก็หายไป ฉากตัดเข้าคัทซีนแล้วเปลี่ยนกลับมาฉากบังคับตัวละครก็มีจุดที่ทำไม่เนียน เวลาเราตีศัตรูที่ถูกแช่แข็งจนตาย อยู่ดี ๆ มันก็ระเบิดหายไปเลย แต่บางครั้งก็มีศพหลงเหลืออยู่

แล้วมันจะมีฉากที่พยายามเล่นกับจิตสำนึก (เหมือนตอนเราเล่น Batman Arkham Asylum แล้วเจอพิษของ Scarecrow) ที่เกมบังคับให้เราวิ่งไปตามทางจนเจอทางตัน แล้วหันกลับมาเส้นทางจะเปลี่ยนไป ตรงจุดนี้คือเก็บงานไม่เรียบร้อยอย่างเห็นได้ชัดเลย เพราะมันจะมีอาการคล้ายจอกะพริบไปแวบหนึ่ง ซึ่งเรารู้ได้ทันทีว่า อ้อ จะเล่นมุกเปลี่ยนเส้นทางฉากสินะ

และสำหรับ Atomic Heart นั้น

จากที่ได้สัมผัสเกมมา ผมรู้สึกว่าถ้า Atomic Heart จะไม่ปัง หลักใหญ่ใจความไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์การเมืองอะไรทั้งนั้น แต่คือคุณภาพของเกมเองนั่นแหละ ผมรู้สึกได้เลยว่านี่คือเกมที่ใช้แรงบันดาลใจจาก Bioshock มาเป็นกรอบ แล้วทีมพัฒนาแต่ละคนต่างก็เอาไอเดียที่คิดว่าน่าจะเจ๋งมาโยนใส่กรอบนี้ จากนั้นก็ค่อยปะติดปะต่อให้มันออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ได้ โดยไม่ได้ลงแรงกับแก่นเรื่องที่อยากเล่ามากพอ

มันมีกรณีที่ค่ายเกมบางค่ายปล่อยเกมแรกออกมาแล้วก็ดังเลย สำหรับ Mundfish นั้น ถึงผมจะไม่ปฏิเสธว่านี่เป็นอีกสตูดิโอหนึ่งที่มีศักยภาพให้ต่อยอดอีกเยอะ แต่ Atomic Heart ไม่น่าใช่ผลงานเปิดตัวที่ไปถึงขั้นนั้น

นี่เป็นเกมที่เกมเพลย์สนุกใช้ได้ มีการออกแบบปริศนาที่ดี มีบางตัวละครที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันเกมก็เจอปัญหาเรื่องประสิทธิภาพหลายอย่าง มีระบบเกมเพลย์ที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างการปรับใช้ QTE มีพล็อตที่เดาทางได้ อาศัยศัพท์แสงทางการเมืองมาเป็นของโรยหน้าให้เหมือนต้นแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาเท่านั้นเอง

The Review

70% ผลงานเปิดประเดิมค่ายที่น่าจะได้ไปต่อ แต่คงต้องต่ออีกไกล

70%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์