Reviews

The Lord of the Rings: Gollum – รีวิว [REVIEW]

by Reviewer Ocelot

The Lord of the Rings: Gollum – รีวิว [REVIEW]

The Lord of the Rings: Gollum – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Ripples Thailand มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

หลังจากแอนดี้ เซอร์คิส ได้ทำให้กอลลัมมีชีวิตขึ้นมา ในภาพยนตร์ไตรภาคเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ฉบับปีเตอร์ แจ็กสัน ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับว่า กอลลัมและวลี ของรักของข้า ได้กลายเป็นหนึ่งในไอคอนสำคัญทางวัฒนธรรมไม่แพ้แฟรนไชส์ฮอลลีวูดเรื่องอื่น ๆ และเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ โดยตัวมันเองก็เป็นนวนิยายไฮแฟนตาซีที่ขึ้นหิ้งอยู่แล้ว

แต่ความโด่งดังระดับโลกของกอลลัมหมายความว่านี่เป็นตัวละครที่เหมาะจะเอามาทำเป็นตัวเดินเรื่องหลักในวิดีโอเกมหรือไม่

ถ้าดูปฏิกิริยาของแฟน ๆ หลังจากมีการเปิดตัว The Lord Of The Rings: Gollum เสียงแฟน ๆ ก็แตกออกเป็นสองฝ่ายครับ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าน่าสนใจ อยากลองเล่นมานานแล้ว ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่ามันมีตัวละครเด่น ๆ ที่ปู่โทลคีนสร้างเอาไว้ให้เยอะแยะ และน่าจะทำออกมาเป็นเกมได้สนุกกว่ากอลลัม ทำไมทีมงานถึงตัดสินใจจะเลือกทางนี้ ส่วนตัวผมอยู่ฝ่ายไม่เห็นด้วยครับ เพราะผมนึกไม่ออกว่าในมิติของเกมเพลย์ ตัวละครอย่างกอลลัมมันจะเอาไปทำอะไรได้มากมาย นอกจากคุณจะสร้างเกมแนวผจญภัยลอบเร้น ไม่ก็เป็นเกมแนวอื่นไปเลย

แต่ก็นั่นแหละครับ นั่นมันคือความคิดเห็นของผมตอนต้นที่ยังไม่ได้เล่นเกมนี้ ผมยังให้เครดิตทีม Daedalic Entertainment  ว่าถ้าเขาเลือกจะเดินทางนี้แล้ว เขาก็คงมีของอยู่มั้ง

มาว่ากันคร่าว ๆ ถึงเนื้อเรื่องเกมก่อน ถ้าสงสัยว่าเนื้อเรื่องเกมนี้อยู่ในช่วงไหน คือมันจะเป็นเกมที่ตามติดชีวิตกอลลัมหลังจากออกจากภูเขามิสตี้ เพื่อไปตามหาของรักที่ถูกขโมยไป ก็คือแหวนแห่งอำนาจนั่นแหละ แล้วก็ซวยโดนพวกออร์กสมุนของเซารอนจับไปทรมานที่บารัดดูร์เพื่อเค้นความลับว่าแหวนอยู่ไหน หลังจากได้ข้อมูลแล้วกอลลัมก็ถูกปล่อยตัว แล้วก็ซวยซ้ำซวยซ้อนครับ โดนอารากอร์นตามไปไล่จับอีก คราวนี้แกนดัล์ฟพ่อมดเทาเป็นคนมาสอบปากคำเองเลย แล้วกอลลัมก็ถูกขังให้อยู่ในอาณาจักรของเอล์ฟซิลวันที่มีธรันดูอิลเป็นกษัตริย์ ก่อนจะหนีมาเจอคณะแหวนอีกครั้ง

สิ่งที่ทีมงานเขาต้องการจะทำก็คือ เขาจะยึดหนังสือเป็นแรงบันดาลใจหลัก แล้วเข้าไปเพิ่มเติมเรื่องราวของกอลลัมตั้งแต่โดนพวกออร์กจับไปทรมาน จนมาถึงถูกพวกเอล์ฟจับขังนี่แหละ คือมันเป็นช่องว่างของเนื้อเรื่องหลายปีก่อนหน้า แล้วก็คู่ขนานไปกับบทแรก ๆ ของ The Lord of The Rings เล่มแรก เป้าหมายของทีมก็คือเขาอยากให้เราได้สัมผัสการผจญภัยของกอลลัมว่าไอ้สิ่งมีชีวิตที่บิดเบี้ยวด้วยอำนาจแหวนตัวนี้มันใช้ความเจ้าเล่ห์เอาชีวิตรอดมาได้ยังไง รวมถึงเพิ่มมิติความซับซ้อนของการมีสองบุคลิกในตัวเดียวคือกอลลัมและสมีกอล เดี๋ยวผมจะบอกว่าเขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้สำเร็จรึเปล่า

และนี่คือรีวิว The Lord of the Rings: Gollum ที่เล่นบนเครื่อง เพลย์สเตชัน 5 นะครับ

ความรู้สึกหลังเล่นจบ

เอาความประทับใจแรกหลังจากกดเริ่มเกมเลยนะ คำถามแรกเลย นี่คุณภาพกราฟิกหรือคุณภาพชีวิตของกอลลัม เวลาผมรีวิวเกมที่ไม่ใช่ AAA หรือเกมทุนสร้างสูง ๆ ผมจะมีไม้บรรทัดอันนึงในใจว่า ถ้ากราฟิกมันไม่เลวร้ายมาก ข้ามได้ก็ข้าม ไปเน้นดูไอเดีย ดูเกมเพลย์ ดูวิธีการนำเสนอดีกว่า แต่กับเกมนี้มันอดที่จะพูดถึงไม่ได้จริง ๆ ครับ เพราะพื้นผิวนี่บางครั้งเห็นเป็นก้อนเหลี่ยม ๆ เป็นโพลีกอนมาเลย ขนาดผมที่เตรียมใจมาก่อนแล้วยังรู้สึกว่าพี่จะเอาแบบนี้จริง ๆ เหรอ ผมก็ไม่อยากใช้คำพูดแบบนี้นะ แต่เวอร์ชันที่ผมได้รีวิวบนเพลย์ห้ากราฟิกมันค่อนข้างล้ำเส้นไปดูถูกรสนิยมคนเล่นพอสมควรเหมือนกัน แต่เอาล่ะ มันอาจจะเป็นเกมที่เล่นสนุกจนผมมองข้ามเรื่องนี้ไปก็ได้

แล้วพอพูดถึงเกมเพลย์ผมถึงขนาดไปอ่านบทสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์เกมจากเว็บไซต์ GamingBolt ว่ามันมีอะไรที่เข้าฝันบันดาลใจว่าเกมเพลย์กอลลัมน่าจะเวิร์ก ตัวโปรดิวเซอร์เขาให้จินตนาการภาพแบบนี้ครับว่า กอลลัมเนี่ยนะ เกมดีไซเนอร์ของเราออกแบบกลไกที่เน้นลักษณเฉพาะของกอลลัมเลย มันสามารถซ่อนในเงามืดเคลื่อนตัวผ่านยามได้ ปาหินหลอกยามได้ แล้วถ้าคุณไม่ชอบลอบเร้นใช่มั้ย คุณขึ้นไปบนขื่อเพดานแล้วกระโจนไปอีกฝั่งของโถงทางเดินได้ แล้วถ้ามันเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ได้จริง ๆ คุณสามารถให้กอลลัมแอบย่องตอดไปด้านหลังแล้วบีบคอศัตรูได้ด้วยนะ

พออ่านแล้ว ผมต้องมานั่งตั้งคำถามตัวเองเลยนะครับว่า นี่ผมอยู่คนละเซิร์ฟเวอร์คนละเวิร์สกับโปรดิวเซอร์คนนี้รึเปล่า ในเวิร์สของเค้าคงไม่มีเกมชื่อ Far Cry, Uncharted, Assassin’s Creed, Metal Gear Solid อะไรพวกนี้มั้ง

แล้วสิ่งที่เขาพูดมา มันครอบคลุมแทบจะ 100% ของเกมเพลย์ของกอลลัมแล้วครับ เพราะกอลลัมในเกมนี้ไม่มีสกิลใหม่ ๆ หรือท่าใหม่ ๆ ให้ปลดล็อกเลย นั่นหมายความว่า เกมนี้จะต้องพึ่งพาปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวละครหลักเยอะมาก เหมือน Stray มันจะต้องไปพึ่งงานฉาก พึ่งแนวทางอาร์ตไดเรกชัน พึ่งงานเลเวลดีไซน์ หรือพึ่งพวกฉากซีเควนซ์และเนื้อเรื่อง เพื่อทำให้ผู้เล่นรู้สึกอินและคอยติดตามไปจนจบเกม

และนี่คือข่าวร้ายครับ เกมนี้ทำไม่ได้ ไปไม่ถึงสักอย่างครับ

งานขายฉากและอาร์ตไดเรกชัน

เอาเรื่องงานฉาก ให้ผมเดาใจทีมพัฒนา คือเขากะจะขายความอลังการของแบ็คกราวด์เหมือน Uncharted หรือ Tomb Raider ตอนที่เรากำลังบังคับตัวละครไต่ไปตามขอบผาแล้วก็เห็นความยิ่งใหญ่ของงานสถาปัตยกรรมที่อยู่เบื้องหลัง เพราะเกมนี้สัดส่วนการปีนป่ายกระโดดไปมามันประมาณ 70 ถึง 80% นะครับ สำหรับผมมันเข้าข่ายเกมเน้นแพลตฟอร์มไปแล้ว ผมเห็นหลายซีนเลยเขาพยายามจะแพนกล้องให้ดูฉากหลังว่ามันใหญ่โต มันอลังการ ไอ้ใหญ่น่ะดูใหญ่ แต่อลังการนี่คงไม่ มันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไงถ้ากราฟิกเกมมันคุณภาพแค่นี้ แล้วก็ใช้ Asset เกมซ้ำไปซ้ำมา ผนังที่เกาะได้ก็หน้าตาเหมือน ๆ กัน

ออกตัวก่อน ผมไม่ได้บอกว่าเกมนี้ หรือ เกมที่ขายฉากแบ็คกราวด์ดี ๆ มันควรจะทำได้เทียบเท่ากับ Uncharted นะ แต่ผมกำลังพูดถึงในแง่ของคอนเสป ว่าถ้าตัวละครที่คุณบังคับมันทำอะไรไม่ได้มาก คุณก็ต้องหาจุดขายอื่น ๆ แล้วการขายความสวยงามของกราฟิกและพื้นหลังคือเรื่องสำคัญถ้าคุณจะเดินทางสายนี้

แล้วงานอาร์ตไดเรกชันของเกมกอลลัมก็ไม่ใช่จุดแข็งขนาดนั้นด้วยนะ ดูตัวกอลลัมเองแล้วกันว่าทำยังไงออกมาแล้วดูแย่กว่าในฉบับภาพยนตร์ จะบอกว่าขายความอลังการของดินแดนออร์ก และดินแดนเอลฟ์ จุดนี้ผมก็ไม่ซื้อ มันมีแค่งานดีไซน์ตัวละครบางตัวที่ดูแล้วก็พอไปได้อย่าง เมาต์ ออฟ เซารอน หรือตัวละครใหม่อย่างแคนเดิลแมน ส่วนงานออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง ผมคิดว่าไปงัดกับ Dragon Age ภาคแรกยังยากเลย

เกมเพลย์เน้นปีนป่าย 70-80%

ตัวตึงของเกมจริง ๆ คืองานเลเวลดีไซน์ครับ ทั้งตึงเครียด ตึงจนขาด คืออย่างที่บอกไปว่าเกมนี้มีความเป็นแพลตฟอร์มและอาศัยการปีนป่ายกระโดดไปมาประมาณ 70-80% เพราะฉะนั้นในแต่ละโซนที่ออกแบบมามันจะต้องออกแบบโดยตั้งอยู่บนฐานที่ว่าผู้เล่นต้องรู้สึกสนุก แต่สิ่งที่ผมได้จากการเล่นเกมนี้คือ การบอกให้ปีนจากจุด A ไปจุด B คือมันเส้นตรงจนน่าเบื่อ

แต่ที่มันแย่กว่าน่าเบื่อคืออะไรรู้มั้ย เวลาคุณเล่นเกมแนวปีนป่าย มันจะมีการทาสีบอกใบ้ให้ใช่มั้ยครับว่าจุดไหนกระโดดเกาะได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือทีมพัฒนาว่าทำออกมาแล้วเนียนขนาดไหน สำหรับกอลลัมมันเนียนจนกลืนน่ะ ความโดดเด่นมันเบาบางมากจนหลายครั้งต้อง เอาวะ เสี่ยงดวงกระโดดเอา ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เริ่มใหม่ เพราะมองมา 2-3 นาทีแล้วก็ไม่เจอสักที

ข่าวร้ายยังไม่หมดแค่นั้น การควบคุมตัวกอลลัมหลายครั้งมีปัญหาด้วยนะ ทั้งปัญหาการปรับจูนระยะทาง เดี๋ยวกระโดดใกล้ไป เดี๋ยวไกลไป ปัญหาโลจิกประหลาด ๆ อย่างการวิ่งของกอลลัมที่ตอนอยู่ในโหมดปกติกดวิ่งแปปเดียวค่าสตามินาหมดแล้ว แต่พอถึงฉากที่บังคับให้วิ่งหนี ก็ดันวิ่งเร็วได้ไม่จำกัด สรุปความสม่ำเสมอมันอยู่ตรงไหน รวมถึงบั๊กอีกเพียบ โดยเฉพาะบั๊กเวลากดเกิดที่จุดเช็คพอยต์แล้วอยู่ดี ๆ ก็ตาย ผมเจออย่างน้อย 4-5 รอบตลอดทั้งเกม ร้ายแรงสุดคือเริ่มเล่นฉากนั้นใหม่เลย

ตั้งแต่หลังครึ่งหลังของเกมไปผมยอมรับเลยว่ายิ่งเล่นยิ่งรู้สึกหงุดหงิด อะไรมันก็ขัดตาขัดใจไปหมด แล้วมันไม่ใช่เกมสั้น ๆ ถ้าเล่นรอบแรกก็ปาไป 6-7 ชม. คนออกแบบเลเวลดีไซน์ก็หาทำจริง ๆ คือยืดภารกิจไปได้เรื่อย ๆ แล้วก็วนเวียนปีนจากจุด A ไป B ย้อนมา C ในฉากเดิม ๆ มีให้เล่นช่วงลอบเร้น ช่วงแก้ปริศนาบ้าง แต่โดยภาพรวมมันเป็นการเล่นเกมที่ค่อนข้างบั่นทอนจิตวิญญาณเกมเมอร์อย่างไม่น่าเชื่อ

เนื้อเรื่องใหม่ที่เราไม่รู้

ว่ากันที่เนื้อเรื่อง เกมนี้พยายามจะขยี้ไอ้ปมสองบุคลิกของกอลลัม ด้วยการใส่ระบบตอนที่เมื่อกอลลัมเจอกับทางแยกในการตัดสินใจ มันจะตัวเลือกบทสนทนาขึ้นมาว่าเราจะเข้าข้างฝ่ายไหน สมมติเราเข้าข้างสมีกอลเราก็ต้องเลือกเหตุผลที่เอาชนะกอลลัมให้ได้  จุดนี้ขอชมนิดนึง คือเขาไม่ได้สร้างให้กอลลัมเป็นตัวแทนฝ่ายชั่วร้าย สมีกอลเป็นตัวแทนฝ่ายดี คือมันเทา ๆ ด้วยกันทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับผู้เล่นว่าจะซื้อเหตุผลของฝ่ายไหนมากกว่ากัน แต่ถามว่ามันส่งผลต่อประสบการณ์การเล่นเกมนี้ขนาดไหน ถือว่าเบาครับ ถ้าเทียบกับความพังพินาศของเกมเพลย์ด้านอื่น ๆ ระบบนี้ไม่ได้ช่วยและไม่ได้เป็นจุดขายหลักอย่างที่หลายคนคิดกัน

เนื้อเรื่องใหม่ที่ใส่ตัวละครใหม่เข้ามาทั้งฝ่ายออร์กและฝ่ายเอลฟ์ ทั้ง Candle Man และ Mell  ตอนแรกมาทรงอยากเล่นใหญ่ แต่เกมให้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครไม่พอ สุดท้ายผมถูกทิ้งไว้กับคำถามว่า ใส่ตัวละครตัวนั้นตัวนี้เขามาทำไมวะ ในเมื่อเนื้อเรื่องก็ไม่ได้กะจะเอามาใช้ถ่ายทอดพัฒนาการของตัวละครกอลลัมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออกไปในทางตัดจบด้วยซ้ำ ผมว่า Shadow of Mordor หรือ Shadow of War ที่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้ดีอะไรมากแถมแฟนโทลคีนหลายคนสาปส่งว่าไม่เคารพต้นฉบับหนักมาก ยังดูน่าสนุกกว่าเกมนี้อีก

มันก็มีเรื่องรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะหยุดการร่วงของคะแนนได้บ้าง คือเรื่องของซับไตเติล ปกติมันจะมีการใส่ชื่อตัวละครที่พูดประโยคนั้น ๆ ใช่มั้ยครับ แต่ในกอลลัมเขาจะไม่ใส่ชื่อตัวละครแบบทางการ เขาจะไปใช้ชื่อที่กอลลัมเรียกคน ๆ นั้น เช่น ตอนแกนดัล์ฟพูด เขาจะไม่ใส่ชื่อแกนดัล์ฟ แต่จะใส่คำว่า พ่อมด แทน เพราะในหัวกอลลัมมันเรียกแกนดัล์ฟว่าพ่อมด หรือพวกเอล์ฟที่คุมตัวกอลลัมเวลาพูดเขาก็จะไม่ใส่ชื่อตัวละคร แต่จะใช้คำว่าเอล์ฟผู้โหดร้ายอะไรแบบนั้น ซึ่งมันก็เป็นการสะท้อนความคิดของกอลลัมว่าเขามองตัวละครพวกนี้ยังไง เป็นกิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเนื้อเรื่องที่ผมคิดว่าก็โอเค

สรุป

สรุป The Lord of the Rings: Gollum มันเป็นเกมที่มีสิ่งให้คุณต้องกล้ำกลืนเยอะมาก ถ้าจะมีคนที่ชอบเกมนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นติ่งโทลคีนชนิดที่เลือดบริสุทธิ์มาก ซึ่งผมก็ยังมีคำถามอยู่ดี ถ้าเกิดคุณจะทำหรือคุณอยากได้เกมเดอะลอร์ดที่เน้นขายลอร์ ขายเรื่องราว ขายตำนานกอลลัม อยากให้โลกรู้ว่าชะตากรรมตัวละครนี้มันน่าเศร้าแค่ไหน งั้นทำไมไม่เลือกทางที่มันดูตอบโจทย์กว่า อย่างไปทำแนว 2D สไตล์การ์ตูนอย่าง Valiant Hearts: The Great War หรือแนว 3D แต่เน้นการสำรวจขายเนื้อเรื่องจุก ๆ แบบ Syberia ภาคล่าสุดก็ได้ ทำไมจะต้องเป็นแนวลอบเร้นปีนป่ายอย่าง Uncharted ที่มันมีความท้าทายในการออกแบบเกมเพลย์ โดยเฉพาะกับตัวละครที่มันออกแอ็กชันอะไรไม่ค่อยได้

คิดไปมาทีมพัฒนาทีมนี้ก็เหมือนกอลลัมนะ คือมีสองบุคลิกทะเลาะกัน ไอ้ด้านนึงอยากขายสิ่งที่มันเคารพหนังสือมาก ไม่พยายามตามเวอร์ชันปีเตอร์ แจ็คสัน ในเกมชุด Precious Edition นี่ถึงขนาดมีใส่ให้ตัวละครเอลฟ์พูดภาษาซินดารินเลยนะ แต่อีกด้านก็อยากจะขายความเมนสตรีม อยากขายอะไรที่มันดูอลังการ แล้วสุดท้ายกลายเป็น กอลลัม ซิมูเลเตอร์ เพราะปัญหามันไม่ใช่แค่เรื่องบั๊ก หรือ การเก็บงานทางเทคนิคที่เกมนี้มันหลุดเยอะ แต่ปัญหามันลงลึกไปถึงตัวตนของเกมตั้งแต่การตั้งโจทย์ตั้งเป้าหมายเลยว่า ทำไมต้องกอลลัม แล้วทำไมต้องทำแนวนี้

สิ่งที่เกมนี้ทำสำเร็จได้มากที่สุดก็คือมันทำให้ผมเข้าใจกอลลัมมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกรักและเสียดายของรักของหวง อาจต่างกันตรงที่ของกอลลัมเป็น แหวน แต่สำหรับผมคือ เวลา ครับ

จุดเด่น

  • งานเขียนบทกอลลัมและสมีกอลทำออกมาได้ดี มีลักษณะเทา ๆ ไม่ขาวดำ
  • ตัวละครบางตัวมีงานออกแบบน่าสนใจ

จุดด้อย

  • งานขายฉากเบื้องหลังอยากเล่นใหญ่ แต่ไปไม่ถึง
  • เลเวลดีไซน์มีลักษณะเป็นเส้นตรง องค์ประกอบความตื่นเต้นและเซอร์ไพรส์แทบเป็นศูนย์
  • การไฮไลต์บอกตำแหน่งจุดที่เกาะได้ทำออกมาไม่เด่นชัดมากพอ
  • ตัวละครใหม่ที่ใส่เข้ามา เหมือนจะมีบทบาทสำคัญตอนแรก แต่สุดท้ายมีชะตากรรมถูกตัดจบ
  • บั๊กและข้อบกพร่องทางเทคนิคอีกมากมาย

The Review

40% เกมที่ทำให้เราหวงแหนของรักของเราที่สุด "เวลา"

40%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์