Articles Games

Laniakea Supercluster ต้นแบบดีไซน์ของอสูรเอลเดน – [ARTICLE]

โดย G-jang

Laniakea Supercluster ต้นแบบดีไซน์ของอสูรเอลเดน – [ARTICLE]

เชื่อว่าจนถึงตอนนี้ หลายคนน่าจะเล่น Elden Ring จนจบกันไปพอสมควรแล้ว และครั้งแรกที่ได้พบเจอกับบอสใหญ่อย่าง Elden Beast (อสูรเอลเดน) นั้นก็คงรู้สึกว่าดีไซน์ของอสูรเอลเดนนั้นดูแปลกตาพิกล ด้วยลำตัวที่โปร่งใสแต่ข้างในนั้นมีสายพลังทองคำที่โยงใยไปทั่วร่างกายประหนึ่งเป็นเส้นประสาทของสิ่งมีชีวิต และภายในช่องว่างอื่น ๆ ในลำตัวก็ประกอบไปด้วยจุดแสงระยิบระยับมากมาย ประหนึ่งเป็นดาราจักรมากมายที่รวมตัวอยู่ใกล้ชิดกัน

หากมองกันในแง่ของการดีไซน์แล้วก็คงพอจะคาดเดาได้ว่าองค์ประกอบที่ใส่ลงมาเป็นอสูรเอลเดนนี้ เกิดจากธีมมากมายไม่ว่าจะเป็น “ชีวิต” จากเส้นสายทองคำทั่วร่างที่เหมือนเป็นเส้นประสาท และยังมี “จักรวาล” ที่เป็นอีกหนึ่งธีมหลักด้วยเช่นกัน แล้วเส้นสายทองคำที่ว่ามันมีความเกี่ยวข้องอะไรยังไงกับจักรวาลล่ะ? นั่นก็เพราะรูปแบบของเส้นสายทองคำที่ว่ามันมีลักษณะแบบเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า Laniakea Supercluster นั่นเองครับ


Laniakea Supercluster นั้นคืออะไร?

Laniakea Supercluster นั้นมีการแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้ว่ากลุ่มกระจุกดาราจักรลาเนียเคอา ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มดาราจักร (หรือกาแล็กซี่) ที่รวมตัวกันอยู่จำนวนมากมายประมาณ 100,000 ดาราจักร ซึ่งก็รวมถึงดาราจักรทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) ที่มีระบบสุริยะซึ่งพวกเราใช้ชีวิตกันอยู่ในตอนนี้นี่ล่ะครับ

สำหรับชื่อของลาเนียเคอานี้ ได้รับการนิยามเอาไว้ในเดือนกันยายนปี ค.ศ.2014 โดยกลุ่มนักดาราศาสตร์ที่ประกอบไปด้วย R.Brent Tully แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย, Hélène Courtois แห่งมหาวิทยาลัยลียง, Yehuda Hoffman แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม และ Daniel Pomarède แห่งมหาวิทยาลัย CEA ปารีส-ซาเคลย์ ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทความลงในนิตยสาร Nature เกี่ยวกับวิธีการใหม่ในการนิยามกลุ่มกระจุกดาราจักรนี่เอง

การค้นพบในครั้งนั้นเป็นการกำหนดขอบเขตของดาราจักรที่อยู่ใกล้เคียงกัน และสร้างจุดเชื่อมต่อที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยตระหนักถึงมาก่อนหน้านี้ท่ามกลางดาราจักรจำนวนมากในจักรวาล โดยกลุ่มกระจุกดาราจักรที่กล่าวถึงนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาลที่เราสามารถรับรู้ได้ และเต็มไปด้วยกลุ่มดาราจักรจำนวนมากมายที่ต่างก็เชื่อมต่อกันภายในโครงข่ายของเส้นใยอันมหาศาล แต่ว่าแม้โครงสร้างเหล่านี้จะเชื่อมต่อกันแต่มันก็ไม่ได้มีขอบเขตที่สามารถระบุได้ชัดเจนนัก

ทีมค้นคว้าวิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลของกว่า 8,000 ดาราจักรที่ล้อมรอบดาราจักรทางช้างเผือกของเราอยู่ แล้วจากนั้นก็ได้ทำการระบุตำแหน่งรวมถึงการเคลื่อนไหวของดาราจักรเหล่านั้นในอวกาศ ซึ่งด้วยการวิจัยเช่นว่านั้นจึงทำให้ทราบว่าทางช้างเผือกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบดาราจักรที่ใหญ่โตมโหฬารมากเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็คือกลุ่มกระจุกดาราจักรลาเนียเคอานั่นเอง (ทางช้างเผือกของเราอยู่ตรงบริเวณส่วนปลายสุดของโครงสร้างนี้)

หากจะให้อธิบายไปแล้วจักรวาลหรือเอกภพนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายโยงใยของดาราจักรจำนวนมหาศาลที่เปรียบเหมือนเป็นใยแมงมุม ในบางพื้นที่อาจมีเพียงความว่างเปล่าที่ดำมืดแต่ในพื้นที่อื่นก็จะหนาแน่นไปด้วยกลุ่มกระจุกดาราจักรจำนวนมาก

เพื่อที่จะหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของกลุ่มกระจุกดาราจักรที่เราอาศัยอยู่นี่เองทีมนักวิจัยที่นำโดย Brent Tully จากมหาวิทยาลัยฮาวายได้ทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของดาราจักรรอบตัวเรา ซึ่งเราอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่าจักรวาลมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็จะมีแรงดึงดูดที่คอยต้านการขยายตัวดังกล่าวอยู่ พวกเขาได้ทำการคำนวณการขยายตัวของจักรวาลในกรณีดังกล่าว และได้สร้างข้อมูลภาพของดาราจักรที่ถูกดึงเข้าหาเราเป็นสีฟ้า และดาราจักรที่ถูกผลักออกจากเราเป็นสีแดง

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้พวกเขาสามารถสร้างแผนที่ที่แสดงการเคลื่อนไหวในอวกาศขึ้นมาเป็นเส้นทางที่ดาราจักรจะเคลื่อนตัวไปทีละเล็กละน้อยด้วยแรงดึงดูด ซึ่งด้วยความเคลื่อนไหวแบบนี้เองที่ทำให้พวกเขาคิดค้นวิธีใหม่เพื่อสร้างแผนที่ของการกระจายสสารในอวกาศขึ้นมา ซึ่งสำหรับในกลุ่มกระจุกดาราจักรที่เป็นบ้านของพวกเรานี้จะเห็นได้ว่าดาราจักรส่วนใหญ่ต่างถูกดึงเข้าหาจุดศูนย์กลางที่มีความแน่นหนา ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ The Great Attractor (เดอะ เกรท แอทแทรคเตอร์) ซึ่งดาราจักรของเราก็เป็นหนึ่งในดาราจักรที่เคลื่อนตัวเข้าไปสู่จุดนี้ด้วยเช่นกัน

ในอดีตที่ผ่านมาก่อนมีการตีพิมพ์งานวิจัยครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้ทำการจัดหมวดหมู่ของทางช้างเผือกรวมถึงดาราจักรใกล้เคียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Virgo Cluster (กระจุกเวอร์โก้) และอีกกว่า 100 กระจุกดาราจักรว่าทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มกระจุกดาราจักรที่อยู่ห่างกันทั่วไปถึง 100 ล้านปีแสง แต่ว่าด้วยวิธีการคำนวณแบบใหม่นี้จึงทำให้ทราบว่ากระจุกดาราจักรที่เรารับรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มกระจุกดาราจักรที่ใหญ่กว่ามากเลยทีเดียว

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวสามารถกำหนดและวาดขอบเขตแผนที่ของกลุ่มกระจุกดาราจักรได้ตามภาพที่นำเสนอนี้ สีดำคือกลุ่มกระจุกดาราจักรที่เราอยู่ ส่วนโครงสร้างใกล้เคียงที่เป็นสีแดงนั่นคือ Perseus-Pisces (เพอร์ซีอุส-ไพซีส) จะเห็นได้ว่ามีจุดที่กระแสการเคลื่อนตัวของดาราจักรแยกออกจากกัน ซึ่งตรงนี้นี่เองที่นักวิจัยใช้เป็นการกำหนดขอบเขตของกลุ่มกระจุกดาราจักรครับ

คำว่าลาเนียเคอา เป็นภาษาฮาวายที่แปลว่า “สวรรค์อันไม่อาจประเมินได้” ซึ่งเป็นชื่อที่เสนอโดย Nawa’a Napoleon ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาภาษาฮาวาย และยังเป็นผู้บริหารของคณะภาษาศาสตร์และวรรณกรรมแห่งวิทยาลัยชุมชนคาปิโอลานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาวาย ไม่เพียงเท่านั้น แต่ชื่อนี้ยังตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่นักเดินทางชาวโพลีนีเซียที่ใช้ความรู้เกี่ยวกับท้องฟ้าและตระเวนไปทั่วความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิคในอดีตนั่นเอง

หากเราพิจารณาตัวตนของอสูรเอลเดนของเกม Elden Ring ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนเป็นอำนาจหรือตัวแทนของ The Greater Will (พระมหาประสงค์) ซึ่งมีอำนาจอันล้นเหลือที่สร้างสิ่งซึ่งทรงพลังและสามารถปกครองแทบจะทุกสิ่งอย่างได้เช่นนี้ การออกแบบโดยอ้างอิงสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะประมาณได้อย่างกลุ่มกระจุกดาราจักรลาเนียเคอานี่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ


ที่มาของข้อมูล:

National Radio Astronomy Observatory. “Newly identified galactic supercluster is home to the Milky Way.” ScienceDaily. ScienceDaily, 3 September 2014. www.sciencedaily.com/releases/2014/09/140903133319.htm

Laniakea: Our home supercluster
https://youtu.be/rENyyRwxpHo

เกร็ดข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจของ Elden Ring อย่าง REBIS สามารถอ่านได้ที่นี่
https://thaigamewiki.com/2022/03/28/alchemical-rebis-elden-ring-did-you-know/

รีวิวของ Elden Ring สามารถอ่านได้ที่นี่ https://thaigamewiki.com/2022/02/23/%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7-elden-ring/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์