Articles

ภาพซามูไรที่เพิ่งสร้าง อุดมการณ์ที่ทำร้ายคนทุกชนชั้น

การผลิตซ้ำภาพซามูไรใน Ghost of Tsushima

“เจ้าเป็นซามูไร มีพันธะแห่งคุณธรรมที่ต้องยึดมั่น มีชีวิต ต่อสู้ และตายด้วยเกียรติยศ หากเจ้าละซึ่งวิถีนี้แล้ว เจ้าจะกลายเป็นสิ่งใด…” – ชิมูระ

ประโยคจากตัวอย่างวางจำหน่ายของ Ghost of Tsushima ได้กำหนดความคาดหวังของผู้เล่นเอาไว้ว่า นี่ไม่น่าจะใช่เกมที่เชิดชูคุณธรรมซามูไรที่เรารับรู้กันผ่านสื่อกันจนชินหูชินตา แต่น่าจะเป็นเกมที่ตั้งคำถามถึงคุณธรรมที่ซามูไรยึดถือ และหักล้างภาพเดิมของซามูไรที่มีเกียรติ รักศักดิ์ศรียิ่งชีพ คอยช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งเราได้เสพผ่านสื่อกันมานาน ทั้งฟากตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะตัวละครเอก จิน ซาไก ที่ตั้งคำถามกับวิถีที่พ่อบุญธรรมของเขาพร่ำสอนมา

แต่ถึงแบบนั้น เมื่อผู้เขียนได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งที่ชื่อ Ghost of Tsushima, Kurosawa, and the political myth of the samurai ของคุณ Kazuma Hashimoto จากเว็บไซต์ Polygon.com (ดูลิงก์บทความได้ที่ด้านล่าง) กลับพบว่ามีการตีความเกมนี้ได้น่าสนใจ และจะขอนำมาเล่า พร้อมต่อยอดในบทความนี้

วิถีบูชิโด ภาพซามูไรที่เพิ่งสร้าง

ในบทความของคุณ Hashimoto เขาปูพื้นฐานความเข้าใจให้เราว่าภาพจำของซามูไรที่เรารู้จักกันผ่านสื่อทุกวันนี้ เป็นการตีความวิถีบูชิโดสมัยใหม่จากงานประพันธ์ของ Inazō Nitobe ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ Bushido: The Soul of Japan ซึ่งเป็นการสำรวจคุณค่าแห่งวิถีซามูไร และส่งอิทธิพลต่อแนวคิดทางการทหารของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนักชำระประวัติศาสตร์อีกมากมายที่พยายามทำให้ภาพจำของซามูไร ถูกยกระดับให้ทัดเทียมอัศวินของยุโรปยุคกลาง ที่ธำรงไว้ซึ่งความกล้าหาญและเกียรติยศ รวมถึงการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์อย่าง The Last Samurai ในปี 2003 ก็เป็นการผลิตซ้ำภาพดังกล่าวของเหล่าซามูไรจนฝังรากลงในความทรงจำของโลกทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก

แน่นอนว่าภาพซามูไรในเกม และซามูไรตัวจริงในประวัติศาสตร์ย่อมมีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่การจับผิดเรื่องความถูกต้องของสื่อกับประวัติศาสตร์ ทว่าเป็นเรื่องของการนำเสนอว่า เกมนำเสนอภาพซามูไรออกมาอย่างไร แล้วมีความหมายอะไรในการนำเสนอนั้น

คุณ Hashimoto ชี้ให้เห็นว่า Ghost of Tsushima มีการออกแบบเกมเพลย์ที่เชิดชูภาพผลิตซ้ำของซามูไร เช่น การออกแบบเควสต์ที่เน้นไปที่การให้จินช่วยชาวบ้าน ลักษณะนิสัยของจินที่มีความชาตินิยม (ซึ่งผู้เขียนยังสงสัยนิดหน่อยว่ายุคสมัยในเกมมีแนวคิดเรื่อง ชาติแล้วหรือยัง) หรือการออกแบบการดวลดาบที่ฉากหลังสวยงาม ล้วนแล้วแต่ตอกย้ำภาพดั้งเดิมของซามูไร แทนที่จะวิพากษ์ระบบหรืออุดมการณ์ที่ธำรงชนชั้นนี้อยู่ ทั้งที่งานของคุโรซาวะ โดยเฉพาะช่วงท้ายของการทำงานสายอาชีพนี้ เขาได้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่องที่วิพากษ์ชนชั้นซามูไรในยุคเซ็นโกกุอย่างถึงแก่น ด้วยสารที่ต้องการสื่อว่า บรรดาซามูไรก็ไม่ได้ต่างจากคนรากหญ้า ที่ล้มเหลวเป็น แล้วก็ไม่ได้ทรงสถานะอันศักดิ์สิทธิ์เหนือคนชนชั้นอื่นเลย

กล่าวโดยสรุปก็คือคุณ Hashimoto เสนอว่า Ghost of Tsushima กลับยิ่งทำให้ภาพซามูไรที่มีทั้งเกียรติ ศักดิ์ศรี ความสู้ไม่ถอยและเมตตาต่อชนชั้นล่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นไปอีกผ่านเกมเพลย์ พูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้มีการตีความซามูไรแตกต่างไปจากการรับรู้เดิมของคนมากนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากเสนอข้อเห็นต่าง และมุมมองเพิ่มเติมว่า Ghost of Tsushima เองก็มีการวิพากษ์วิถีซามูไรเหมือนกัน และเกมก็สะท้อนให้เราเห็นถึงกลไกการทำงานของอำนาจจากอุดมการณ์ซามูไรที่ให้ทั้งคุณและโทษได้กับคนทุกชนชั้น

ปราการแห่งชนชั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

เมื่อเราพูดถึงอำนาจ ภาพในใจที่เรานึกถึงน่าจะเป็นอำนาจทางกายภาพที่คนทำกับคน รัฐทำกับคน หรืออำนาจที่จับต้องได้ยากขึ้นมาหน่อย เช่น การขูดรีดภาษี แต่อำนาจที่มองไม่เห็นแล้วสร้างความรุนแรงที่สุด คืออำนาจทางอุดมการณ์ซึ่งใน Ghost of Tsushima ได้สะท้อนสิ่งนี้ชัดเจนผ่านอุดมการณ์ซามูไร ที่ตัวละครหลักต่างยึดถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งชีวิต โดยเฉพาะตัวละคร ชิมูระ ผู้นำเหล่าซามูไรแห่งเกาะ และผู้พร่ำสอนสิ่งต่าง ๆ ให้จิน แต่เกียรติยศที่เขายึดถือกับการกระทำกลับมีความขัดแย้งกันในตัวเอง

เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าโลกทัศน์ของชิมูระมีการแบ่งชนชั้นของคนอย่างชัดเจนมาก สะท้อนจากเหตุการณ์ที่เขาต้องการจะป้ายความผิดให้กับโจรชาวบ้านธรรมดาอย่าง ยูนะ ทั้งที่ยูนะเป็นคนช่วยชีวิตบุตรบุญธรรมของเขาก็คือ จิน อีกทั้งยังคอยช่วยจินกอบกู้บ้านเมืองจากมองโกลจนเสียน้องชายตัวเองไป

นอกจากกรณียูนะแล้ว การสั่งบุกทวงคืนปราสาทของชิมูระเอง ตัวเขาก็ยังคิดกลยุทธ์การปะทะซึ่ง ๆ หน้าแบบซามูไร ทั้งที่รู้ผลลัพธ์ว่ามันจะต้องนำความสูญเสียมาให้ไพร่พลมากมาย จนตัวจินเอง ต้องเลือกวิธีการอื่นในการบุกตีครั้งนี้

การกระทำของชิมูระเอง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า สิ่งที่เกมต้องการจะสื่อก็คือวิถีของซามูไรก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เพื่อธำรงชนชั้นในสังคม และเกียรติยศของซามูไรก็สูงส่งจริง ๆ นั่นคือสูงส่งในแง่ของการยกสถานะคนกลุ่มหนึ่งให้เหนือกว่าคนทั่วไป ทำให้คนไม่เท่ากัน เพื่อกอบโกยผลประโยชน์

สารประเด็นนี้ยังสะท้อนออกมาในเชิงสัญลักษณ์จากเควสต์ของยูริโกะ น้าที่เลี้ยงจินมาตั้งแต่เด็ก ในตอนที่ทั้งคู่นั่งดูน้ำตกและปราสาทอันใหญ่โตของชิมูระด้วยกัน ยูริโกะบอกจินว่า ตัวชิมูระมองความแข็งแกร่งเป็นภูผามหึมาที่ไม่ไหวติงต่อสิ่งใด และชี้ให้จินเห็นโขดหินอันแข็งแกร่งที่ยังพ่ายแพ้แก่น้ำตกที่ซัดสาด พร้อมแง่คิดว่า “ความแข็งแกร่งที่เราต้องการทั้งหมด ต่างอยู่รอบตัวเรา” ในฉากนี้เราสามารถตีความได้ว่าปราสาทอันใหญ่โตของชิมูระไม่ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงปราการทางชนชั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะมีเพียงซามูไรเท่านั้นที่ผูกขาดเกียรติยศและความแข็งแกร่ง สิ่งที่ยูริโกะให้แง่คิดแก่จินก็ได้พิสูจน์ในเกมแล้วว่าจินจะไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้เลย ถ้าเขาไม่ได้ความร่วมมือจากทั้งซามูไร ชาวบ้าน แม้แต่โจรอย่างยูนะ

อุดมการณ์ทำร้ายคนได้ทุกชนชั้น

เราคงเคยได้ยินคำนี้โดยมีนามสกุลต่าง ๆ ต่อท้ายอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ และเรามักจะนึกเสมอว่าสังคมที่เป็นแบบนี้ ผู้ชายจะได้รับประโยชน์เต็มที่ 100% และผู้หญิงจะต้องเสียเปรียบตลอดเวลา แต่หากสังเกตดี ๆ เราจะพบว่าผู้ชายเองก็ได้รับผลกระทบจากอุดมการณ์นี้หลายเรื่อง เช่น การห้ามแสดงอารมณ์ความรู้สึกชัดเจนเหมือนผู้หญิง การถูกเรียกร้องให้แสดงออกถึงความเป็นชายชาติทหาร ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ต่างจากอุดมการณ์ซามูไร ที่สะท้อนให้เห็นในตอนสุดท้ายของเกมว่าตัวมันเองก็ไม่มีความปรานีกับคนที่ดูจะได้ประโยชน์จากมันมากที่สุดอย่าง ชิมูระ

ตอนสุดท้ายเมื่อจินและพรรคพวกสามารถขับไล่ทัพของมองโกลออกไปได้ ชิมูระได้นัดพบกับจินและบอกข่าวร้ายว่าโชกุนมีคำสั่งให้สังหาร จิน ซึ่งตอนนี้ได้ละจากวิถีซามูไรและกลายเป็นนักรบปิศาจเต็มตัวแล้ว

ผมค่อนข้างเชื่อแน่นอนว่า ชิมูระรู้ว่าการสั่งฆ่าจิน เป็นเหตุผลทางการเมืองที่โชกุนไม่อยากให้นักรบปิศาจได้ฐานเสียงไปจากฝั่งซามูไร ซึ่งในทางปฏิบัติ คนระดับชิมูระนั้นสามารถที่จะช่วยชีวิตลูกชายบุญธรรมด้วยสารพัดวิธี และด้วยสารพัดทรัพยากรที่ตัวเองมี (แม้แต่ตัวจินเองก็ขอร้องให้ชิมูระปล่อยเขาไป) เพราะเราเห็นแล้วว่าชิมูระเองก็มีการติดต่อและมีเส้นสายกับพ่อค้าของเถื่อนให้นำสารไปส่งถึงโชกุนได้ การจะหาทางหนีทีไล่ให้กับจิน จึงไม่น่าใช่เรื่องยากถ้าคิดจะทำ แต่คนอย่างชิมูระทำไม่ได้ เพราะมีอุดมการณ์ซามูไรที่ค้ำคอเขามาชั่วชีวิต

“ท่านเองก็ตกเป็นทาสของมัน (เกียรติยศซามูไร)” นี่เป็นคำพูดของจินที่สรุปประเด็นนี้ได้ดีที่สุด ชิมูระใช้ชีวิตอย่างเสวยสุขกับชนชั้นของเขาด้วยอุดมการณ์นี้ แต่ก็ต้องมาสู้เอาเป็นเอาตายกับคนที่รักเหมือนลูกตัวเองเพราะมันเช่นกัน

แม้ว่า Ghost of Tsushima จะเป็นการผลิตซ้ำภาพซามูไร ตามที่บทความ คุณ Hashimoto กล่าวไว้ แต่เกมก็แสดงให้เห็นการวิพากษ์ชนชั้น และกลไกการทำงานทางอุดมการณ์ ไม่ว่าจะอุดมการณ์รูปแบบไหน ว่ามันสามารถส่งผลต่อคนทุกคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่คนที่น่าจะได้ผลประโยชน์จากมันมากที่สุด ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียและเจ็บปวดอย่างสาหัสจากสิ่งที่เรายึดมั่นโดยไม่เคยตั้งคำถามได้

ขอขอบคุณบทความ Ghost of Tsushima, Kurosawa, and the political myth of the samurai จากเว็บไซต์ https://www.polygon.com/…/ghost-of-tsushima-kurosawa…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์