Articles

Aconcagua: เล่นเกมเล่าการเมือง

by Reviewer Ocelot

Aconcagua: เล่นเกมเล่าการเมือง

Aconcagua…เมื่อผมเล่นเกมที่เล่าการเมือง

ปัจจุบันข้อถกเถียงของเกมที่มุ่งเน้นแต่เรื่องความรุนแรงก็เริ่มเปลี่ยนทิศไปสู่การวิพากษ์ตัวเนื้อหาของเกมในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้น (อย่างน้อยก็ในโลกตะวันตก) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ซึ่งก็เป็นผลจากเกมรุ่นพี่ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ ถึงประวัติศาสตร์เกมจะมีอายุน้อยกว่าสื่ออื่น แต่ก็มีเกมหลายชื่อหรือนับไม่ถ้วนทีเดียวที่พยายามเลือนเส้นแบ่งระหว่างเกมกับศิลปะลงเรื่อย ๆ

ในบทความนี้ผมอยากพูดถึงเกมอีกเกมหนึ่งที่อาจเป็นหมายเหตุเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์นี้ เกมที่ว่าด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเอาชีวิตรอดบนภูเขาหิมะ โดยมีฉากแบ็คกราวด์เป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายพลเรือนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

เกมนั้นมีชื่อว่า Aconcagua จากสตูดิโอ WACWAC!

อะไรที่ทำให้ผมอยากพูดถึงเกมนี้ที่เกมเมอร์ส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่ได้ทำยอดขายได้น่าประทับใจเท่าไร เหตุผลหนึ่งก็คือนอกจากเกมนี้จะอาศัยแบ็คกราวด์เป็นเรื่องราวทางการเมืองในยุคที่เราเพิ่งคุ้นเคยกับคำว่า Playstation ใหม่ ๆ แล้ว มันยังสามารถสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองในโลกแห่งความจริงได้ด้วย

Aconcagua เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครหลัก 5 คน ที่โดยสารเครื่องบินไปยัง Meruza คือ Kato นักข่าวชาวญี่ปุ่น Pachamama แอคติวิสหญิงผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยให้ Meruza ผู้เปรียบเสมือนดอกไม้แห่งประชาธิปไตยแห่ง Meruza คนต่อมาคือ Steve วิศวกรชาวอเมริกัน Julia ผู้เป็น CIA ที่ปลอมตัวมาเป็นนักข่าวบนเครื่องบินโดยสารของ Pachamama และ Lopez ตัวละครทั้ง 5 ประสบเหตุก่อการร้ายจนเครื่องบินตกที่ภูเขาชื่อ Aconcagua และต้องร่วมหัวจมท้ายด้วยกันในการเอาชีวิตรอดจากทั้งภัยของพายุหิมะและภัยของหน่วยลอบสังหารที่รัฐบาลทหารจาก Meruza ส่งมาลอบสังหาร Pachamama ด้วย

เกมจะเน้นการแก้ปริศนาโดยให้ผู้เล่นอาศัยทักษะของทั้ง 5 ตัวละครให้เป็นประโยชน์ Kato จะมีทักษะในการปีนเขาหรือกำแพง Steve มีทักษะด้านงานวิศวกรรม Julia สามารถอาศัยทักษะด้าน CIA ลอบสังหารศัตรูได้ ส่วน Lopez อาศัยร่างกายใหญ่โตยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ในขณะที่ Pachamama จะอาศัยทักษะด้านภาษาของเธอในการติดต่อสื่อสาร ทั้ง 5 คนต้องอาศัยความร่วมมือในการเอาตัวรอดและหาหนทางพา Pachamama กลับไปยัง Meruza ในวันประกาศอิสรภาพให้ได้

เกมจบด้วยเหตุการณ์ที่ Pachamama กับพวกสามารถเอาชนะ Lopez ที่แท้จริงเป็นสายลับของรัฐบาลทหาร Meruza ที่แทรกตัวเข้ามาสืบเรื่องในกลุ่ม และหวนคืนสู่แผ่นดินของเธอพร้อมเสียงโห่ร้องของประชาชนแห่ง Meruza ในวันประกาศเอกราช หลังจากนั้นเธอจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและนำประชาชนของเธอเข้าสู่รุ่งอรุณใหม่ของประเทศ

แม้ว่าเรื่องราวของเกมจะอาศัยฉากเป็นประเทศสมมุติอย่างประเทศ Meruza แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศนี้กลับคล้ายคลึงกับเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินาในยุครัฐบาลทหารช่วงกลางทศวรรษ 1970 – 1980 มาก

อย่างแรก ชื่อ Meruza นี้น่าจะเป็นการดัดแปลงที่อ้างอิงจากเขต Mendoza ที่เป็นเขตทางด้านตะวันตกของประเทศอาร์เจนตินานั่นเอง และเกมยังเปิดเรื่องด้วยการเล่าว่าประเทศ Meruza ในขณะนี้มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพลเรือนและรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศด้วยการกดปราบผู้เห็นต่าง ซึ่งก็ชวนให้เราตีความได้ว่าแรงบันดาลใจของการวางเนื้อเรื่องนี้น่าจะมาจากเหตุการณ์ที่เรียกว่าสงครามสกปรก (Dirty War) หรือเราจะเรียกมันด้วยชื่อไทยๆ ว่าเป็นเหตุการณ์ ขวาพิฆาตซ้าย ในอาร์เจนตินา ก็ได้

สงครามสกปรกเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาที่พยายามกำจัดผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม ทำให้สูญหาย กระทั่งฆาตกรรม ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นภัยต่อรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหว สื่อ นักเรียน หรือผู้สนับสนุนล้วนตกเป็นเป้าหมายของขบวนการขวาพิฆาตซ้ายนี้ทั้งสิ้น กว่าช่วงเวลาดำมืดนี้จะสิ้นสุดก็หลังจากที่รัฐบาลทหารพ่ายแพ้ในสงคราม เกาะ Falklland ในปี 1982 และตามมาด้วยการที่ประชาชนได้เลือกตั้งผู้แทนของตัวเองอีกครั้งในปี 1983

Aconcagua จึงเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือนอาร์เจนตินาผ่านฉากและตัวละครสมมุติในเกม ตัวของ Pachamama ที่แท้ก็คือตัวแทนของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่มี Lopez เป็นตัวแทน เพราะแบบนี้ในขณะที่ผู้เล่นใช้เวลาทั้งเกมไปกับการเอาชีวิตรอดบนภูเขาหิมะ แต่เมื่อเกมจบลงนอกจากการที่ตัวละครรอดชีวิตแล้ว คุณค่าที่เกมต้องการเชิดชูนั่นก็คือผู้เล่นสามารถนำประชาธิปไตยมาสู่ Meruza ได้ พร้อมจุดจบของเผด็จการทหาร

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับคุณค่าที่ Aconcagua เชิดชูในตอนจบหรือไม่ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเล่นเกมบางเกมก็คือการรับรู้เรื่องราวของการเมืองอย่างหนึ่งทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ผู้เขียนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า หากพล็อตเรื่องระดับนี้ถูกสรรสร้างบน Engine และเทคนิคการเล่าเรื่องในเกมสมัยใหม่ มันจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง นี่คงจะเป็นคำถามที่ลอยเคว้งอยู่ในใจของเกมเมอร์ยุค 90 อย่างผู้เขียนบทความไปอีกนานแสนนาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์