รีวิว Spider-Man Remastered PC
*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้
ไม่ว่าจะทั้งด้านเกมเพลย์ เนื้อเรื่อง หรือการนำเสนอ Marvel’s Spider Man ได้พิสูจน์ให้ชาว PS4 เห็นไปแล้วเมื่อ 4 ปีก่อนว่านี่คือหนึ่งในเกม Spider-Man ที่ดีที่สุด แม้เราจะพูดถึงมันอีกครั้งในตอนนี้ และทำให้ไอ้แมงมุมโหนใยตามเทพแห่งสงครามเข้ารอบผู้ท้าชิงเกมแห่งปี 2018 แบบไม่มีเสียงขุ่นข้องหมองใจจากผู้เล่น
ด้วยหลักฐานแห่งคุณภาพที่มัดตัวขนาดนั้น การ Remaster เพื่อชาว PC จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ โดย Nixxes Software เป็นสตูดิโอที่รับบทบาทนี้ และหากพูดกันตามตรงแล้ว ความแตกต่างอย่างเดียวที่คนอยากรู้ก็คงไม่พ้นคุณภาพของกราฟิก ที่ดึงลูกเล่น หรือ ขุมพลังของการ์ดจอค่ายต่าง ๆ ทั้งการรองรับความคมชัดของภาพขั้นสูง, การใช้ AI ของ DLSS มาประมวลผลกราฟิก, Ray Tracing ให้ชีวิตกับแสงเงา เพื่อให้เราได้รู้จักกับ Spider-Man ภาคนี้ด้วยความรู้สึกร่วมสมัย แต่หัวใจการเล่นยังเหมือนเดิม
สเปคเครื่อง PC ที่ใช้เล่นในครั้งนี้คือ
GPU: NVIDIA GeForce 2070 SUPER
CPU: Intel(R) Core(TM) i5-9400F CPU @ 2.90GHz
แรม: 16 GB
OS: Windows 10 64-bit
**ภาพประกอบบทความทั้งหมดถ่ายจาก PC โดยตรง
ต่อจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับ PC และจอของแต่ละคนแล้วครับ ว่าจะผลักดันศักยภาพที่ภาค Remastered นี้มีให้ไปถึงแค่ไหน สำหรับรีวิวนี้จะมาจากประสบการณ์ของคนที่เคยเล่นเกมนี้บน PS4 มาก่อน และอย่างที่ผมได้ให้ข้อมูลไปข้างต้นเกี่ยวกับ PC ที่ใช้สำหรับการรีวิวครั้งนี้ เมื่อเทียบกับ Specs เกมแบบทางการจากภาพด้านบนจะเห็นว่า PC ผมอยู่ในระดับกลาง ๆ คือผ่านช่วง Recommended ไปแตะขอบ ๆ Very High ผมลองทำการปรับแต่งค่าต่าง ๆ ให้รีดพลังของ PC มากที่สุดแบบไม่สะดุดประสบการณ์ พบว่าการปรับภาพเป็นความคมชัด 1080p กราฟิกขั้น Very High และเปิด DLSS โดยเน้น Quality ถือว่าเหมาะสมสำหรับผมมากที่สุด การปรับระดับภาพแบบนี้ช่วยให้ไอ้แมงมุมสามารถโหนใยไต่ขอบตึกได้แบบเฟรมเรทค่อนข้างนิ่ง แล้วก็ให้ภาพที่สวยคมอย่างน่าพอใจ ไม่มีอาการแครช หรือจอดับ เสริมด้วยการใช้ DLAA ลดรอยหยักของขอบวัตถุ ภาพที่ได้เลยเนียนขึ้นชนิดทิ้งความทรงจำเดิม ๆ ที่มีตอนเล่นบน PS4 ไปเลย
และอย่างที่ทุกคนน่าจะนึกภาพออกครับว่าภาพที่อัปเกรดมันช่วยอัปเลเวลความสนุกของโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งภาพที่ใช้ประกอบในบทความนี้ก็ถ่ายโดยใช้การตั้งค่าด้านบนทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตทีมพัฒนาว่าออกแบบฉากนำเสนอแบบบังคับมุมกล้องมาดีมาก มันจะเป็นฉากที่เราจะเข้าโหมดถ่ายภาพได้แต่เคลื่อนมุมกล้องไม่ได้ เพราะเกมต้องการนำเสนอให้เราเห็นฉากนั้น ๆ ในมิติแบบภาพยนตร์ ซึ่งก็จะมีความสวยในแบบของมันโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น รอแค่เรากดชัตเตอร์ก็จึ้งแล้ว
สำหรับฉากต่อสู้ หรือ การเดินทางทั่ว ๆ ไป โหมดถ่ายภาพก็มีลูกเล่นให้เราปรับแต่งเอาสไตล์เท่ ๆ , ดาร์ก, หรือคอมิกก็แล้วแต่ความครีเอตแต่ละคนเลยครับ ซึ่งภาพที่ได้ออกมารวมแสงเงาก็สวยทีเดียว แค่อาจต้องเลือกจังหวะกดเข้าช็อตที่เราต้องการ
นิวยอร์คที่มีชีวิตด้วยพลัง Ray Tracing
Spider-Man น่าจะเป็นอีกเกมที่เหมาะจะสาธิตพลังของฟีเจอร์นี้มาก ด้วยมหานครนิวยอร์คที่ให้เราสำรวจแบบโอเพนเวิลด์ ซึ่งถ้าเราเล่นแบบไม่ใช้ฟีเจอร์นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าพวกกระจกหน้าต่างตามตึกทั่วไป ทีมงานจะใช้วิธีเหมือนแปะวอลเปเปอร์หลอกตาว่ามันสะท้อนหรือมีอะไรบางอย่างข้างใน แต่เมื่อไรที่คุณเปิดฟีเจอร์นี้ขึ้นมาหมายความว่ากระจกทุกบานจะสะท้อนวัตถุตามที่มันเป็นในเกมจริง ๆ เลย
ถึงใจจะเชื่อมั่นว่าพลังของ Ray Tracing ช่วยยกระดับภาพของเกมแน่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกกังวลใจก่อนเล่นว่า PC ที่ใช้มันจะเข็นไปจนถึงขั้นนั้นรึเปล่า ยิ่งกับ Spider-Man ที่มีการห้อยโหนเปลี่ยนมุมกล้องเล่นซ่อนตึกแทบจะตลอดเวลา แล้วตึกทุกที่ก็มีกระจกเป็นสิบ ๆ ช่อง ไม่รวมที่ต้องประมวลผลคน รถ แม้กระทั่งแอ่งน้ำที่ถนนด้านล่างอีก
ผลปรากฏว่าพอเปิดใช้จริง ๆ แล้ว เหมือนการ์ดจอผมชกข้ามรุ่นครับ ยอมรับว่าภาพสมจริงไปอีกระดับสมกับที่เขาตั้งชื่อให้ว่า Amazing Ray Tracing แต่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับว่ามันแลกกับอาการไม่สะดวกในการเล่น ถึงจะปรับทุกอย่างให้ต่ำสุดแล้วก็ตาม Ray Tracing เลยเป็นฟีเจอร์ที่ผมต้องเก็บไว้ใช้กับพวกโหมดถ่ายภาพโดยเฉพาะ และผมคิดว่าถ้าจะเปิด Ray Tracing ต้องระดับ High ขึ้นไป ภาพที่สะท้อนออกมาจะได้อารมณ์ที่สุด
เข้าถึงแฟนตาซี Spider-Man ผ่านเกมเพลย์
หนึ่งในความสำเร็จที่ Spider-Man เกมนี้ทำได้ มันคือการให้ผู้เล่นเข้าใกล้ความเป็น Spider-Man มากที่สุด โดยใช้หัวใจสำคัญ 3 ข้อ มาเป็นเสาค้ำยันเกมเพลย์ไว้ นั่นคือ การโหนใย สภาพแวดล้อม และระบบต่อสู้
สองข้อแรกเป็นเรื่องที่ต้องมาควบคู่กัน เพราะการใช้ใยท่องไปทั่วเมืองจะต้องมีอาคารสิ่งก่อสร้างให้ใยเกาะเกี่ยวด้วย ซึ่งต้องออกแบบไปพร้อม ๆ กับท่าทางของ Spider-Man ในเกมนี้ ที่มีทั้งการโหนกระโดดธรรมดา การดึงตัวด้วยใย (Zip) การดิ่งตัว การดีดตัว การวิ่งและไต่ตึกสูง ท่าทางพวกนี้ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของผังเมืองที่จัดวางด้วยฝีมือชั้นครู เพื่อไม่ให้ผู้เล่นใช้แค่ท่าบางท่าไปตลอดทั้งเกม (แต่ถ้าอยากลำบากชีวิตโดยใช่เหตุ มันก็คงทำได้นั่นล่ะครับ) มีจุดให้ติเล็กน้อยที่ผู้เล่นจะสังเกตได้ตอนเก็บพวกกระเป๋าเครื่องมือตรงจุดที่เป็นซอก หรือยอดตึกบางยอด มันจะมีความโหนเลยโหนเกินอยู่บ้างทั้งที่เราก็คิดว่าควบคุมดีแล้ว เป็นการบ้านไว้สำหรับออกแบบระบบเดินทางภาคต่อไป
ส่วนระบบต่อสู้คือการผสมทั้ง 3 สิ่งเข้าด้วยกัน ถึงจะใช้กลไกของ Batman ซีรีส์ Arkham มาเป็นพื้นฐาน แต่ Spider-Man เป็นฮีโรที่มีความคล่องตัว ลูกเล่นเยอะ ขณะเดียวกันก็มีความแรงเหนือมนุษย์ การต่อคอมโบกลางอากาศ ยิงใยพุ่งใส่ศัตรู หรือการดึงฝาท่อมาเหวี่ยงเลยถูกใส่เข้ามาให้ผู้เล่นเข้าใกล้จินตนาการความเป็น Spider-Man มากที่สุด รวมถึงอุปกรณ์และพลังของชุดต่าง ๆ ที่สะท้อนด้านของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเขาออกมาด้วย พอมันผสมกันอย่างลงตัว Spider-Man เกมนี้เลยให้ความรู้สึกสนุกทุกครั้งที่บวก และทำให้คาแรคเตอร์ของ Spider-Man ดูหนักแน่น
DualSense
การบังคับผ่านเมาส์และคีย์บอร์ดอาจให้ความสนุกกับคุณได้ในระดับหนึ่ง พร้อมตัวช่วยในการปรับแต่งที่มีให้ครบครัน แต่นี่คือโอกาสทองของคนที่เป็นเจ้าของ DualSense เพราะคุณควรต้องใช้มันครับ แล้วถ้าคุณกำลังมอง ๆ ว่าจะซื้อหรือไม่ คุณก็ควรต้องถอยออกมาสักตัวแล้วครับ เพราะแทบทุกมิติในเกมทั้งการโหนใย การต่อสู้ การเอาชีวิตรอด ถูกถ่ายทอดผ่านการสั่นได้ไม่แพ้ทุกเกมที่รองรับฟีเจอร์นี้ พูดได้ว่ามันแทบเป็นส่วนเดียวกับกล้ามเนื้อของคอนโทรลเลอร์ ถ้าจะมีอะไรที่เหนือกว่าก็มีเพียงบรรดาเกม Exclusive สำหรับ PS5 เท่านั้น และโดยธรรมชาติของระบบต่อสู้ในเกม คอนโทรลเลอร์แบบ DualSense ยังไงก็มันมือกว่าครับ
รวม 3 DLC เปิดปมสำคัญในเมืองที่ไม่เคยหลับใหล
หากวายร้ายที่ยกขบวนในเนื้อเรื่องหลักยังไม่หนำใจพอ เกม Spider-Man Remastered ฉบับนี้ยังมัดรวม 3 DLC ในชื่อ The City That Never Sleeps มาให้ปีเตอร์ปราบภัยคุกคามครั้งใหม่ และเปิดปมสำคัญที่ดำมืดยิ่งกว่าเดิม
DLC นี้แบ่งออกเป็น 3 ตอนที่มีเรื่องราวร้อยเรียงกัน พร้อมวายร้ายหลักคนใหม่ ซึ่งถ้าเรามองแยกออกเป็น 3 ตอน แต่ละตอนก็มีเนื้อหาหลักในปริมาณที่ไม่น่าเกลียดเลย แล้วยังปูทางสู่ตอนต่อ ๆ ไปอย่างน่าติดตาม หากมองรวมทั้ง 3 เป็นเรื่องราวเดียว ผมคิดว่า The City That Never Sleeps เป็นได้แม้กระทั่งภาคเสริมของเกมนี้ด้วยซ้ำ ด้วยความยาว สิ่งที่ให้ทำ รวมถึงการเปิดแง่มุมใหม่ ๆ ของตัวละครหลัก อันน่าจะส่งผลถึงภาคต่อไปด้วย
มีไม่กี่อย่างที่ผมอยากวิจารณ์ DLC ชุดนี้ คือภารกิจรองของ Screwball วายร้ายเสพติดโซเชียลราวกัญชาเสรี ที่ชอบมาขัดจังหวะการเล่าเรื่อง ทำลายโทนจริงจังแบบไม่รู้จังหวะ แถมยังโผล่มาทั้ง 3 ตอน ส่วนอีกเรื่องก็คือตัว DLC น่าจะมาพร้อมสกิลใหม่ ๆ (ที่ไม่ใช่สกิลชุด) สักหน่อย เพราะถ้าคุณเล่นแคมเปญหลักถึงประมาณ 80% เลเวลก็ตันแล้ว
ถึงแบบนั้น ในภาพรวม The City That Never Sleeps ก็ถือว่าน่าพอใจมาก ทีมงานคงคุณภาพในการเล่าเรื่อง และการสร้างภารกิจ ตอนนี้ก็พ่วงมันเข้ากับ Remastered ในราคา 1,690 บาท (ยึดราคาตาม Steam) คุ้มจริงอะไรจริง
แมลงตัวอื่นที่ไม่ใช่แมงมุม
ท่ามกลางความลงตัวของเกมเพลย์ เนื้อเรื่อง และการนำเสนอ น่าเสียดายว่าเกมในฉบับ PC นี้ก็ยังมีบั๊กที่มองข้ามไม่ได้อยู่ เช่น พี่ทหารรับจ้างสองคนในภาพที่ยืนดูเราสู้เหล่าร้ายอย่างเอ็นดู ศัตรูที่กระเด็นหลุดเข้าไปในตึกและเราไม่สามารถจบการต่อสู้นั้นได้ ไปจนถึงการแสดง UI ที่อาจสร้างความสับสน เช่น การกดเปิดเมนูเพื่อจะอัปสกิลซึ่งต้องกด Touch Pad ด้านบน แต่ในเกมช่วงสอนจะขึ้นเป็นไอคอน D-Pad ลูกศรชี้ขึ้นบนแทน ทั้งหมดทั้งมวลนี้เหมือนแมลงที่โผล่ออกมากวนใจบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้เยอะจนสร้างความท้อแท้ให้กับการเล่น แค่น่าเสียดายว่าถ้าเก็บงานเพิ่มเติมเนี๊ยบกว่านี้อีกสักหน่อย ก็ไม่ต้องทำให้ลำบากใจในการให้คะแนน
สรุป
ทั้งหมดทั้งมวลสำหรับ Spider-Man เวอร์ชัน PC นี้ สิ่งที่ผู้เล่นจะได้แน่นอนคือ การผจญภัยผ่านสายตาของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ที่มีเรื่องราวเข้มข้นชวนติดตาม ระบบการเดินทางที่จะทำให้ทั้งนิวยอร์คเป็นสนามโหนใยมหึมา ระบบต่อสู้ที่ถูกหยิบยืมดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์ฮีโรความคล่องตัวสูง พูดได้ว่าทีมงานสามารถส่งต่อประสบการณ์น่าประทับใจของผู้เล่นบน PS4 PS5 มาถึงชาว PC ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง รวมการพัฒนาด้านกราฟิกให้เข้ากับกำลัง PC ของแต่ละคน การให้ชีวิตแก่แสงเงากระจกสะท้อนเมื่อเปิด Ray Tracing ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้โหมดถ่ายภาพมากกว่าเดิม ตัวเกมฉบับนี้ยังผูก DLC รสเข้มข้นมาให้ครบ 3 ตอน เล่นรอภาคใหม่กันไปยาว ๆ
สำหรับผม เมื่อได้เล่นจนจบอีกครั้ง เกมฉบับ Remastered ของ PC นี้ ยังให้คำตอบเหมือน 4 ปีที่แล้วว่าคือเกม Spider-Man ที่อเมซิ่งที่สุด