God of War Ragnarok ปรากฎการณ์คำทำนายแม่น เพราะเราทำให้มันแม่นเอง (Self-fulfilling prophecy)
*เนื้อหามีการสปอยล์เนื้อเรื่องในเกม
เทวตำนานกับคำทำนายเป็นเหมือนคู่ชีวิตในเรื่องเล่าคลาสสิค และเข้าขั้นความเป็นสากล ทั้งปกรณัมกรีก-โรมัน ที่มีตัวอย่างคือคำทำนายชะตากรรมว่าซุสจะล้มโครนอสจากอำนาจ หรือแม้กระทั่งฝั่งไทยเองก็มีเรื่องทรพี ทรพา ส่วนตำนานนอร์ส แน่นอนว่าคำทำนายถึงมหาศึก Ragnarok ก็เป็นที่เล่าขานกันมานาน และถูกผลิตซ้ำในสื่อบันเทิงมากมาย
ความรู้สึกเมื่อเราได้ยินคำว่า คำทำนาย ในเรื่องเล่าพวกนี้ เรามักจะนึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนของตัวละครเอกเพื่อจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมอันเลี่ยงไม่ได้ คำทำนายจะเป็นจริงไม่ว่าพวกเขาจะพยายามแค่ไหนก็ตาม บทเรียนที่ได้ก็มักจะเป็น “อย่าคิดที่จะฝืนชะตาฟ้าลิขิต”
แน่นอนว่าเมื่อมี Ragnarok อยู่ในชื่อของ God of War เกมก็จะต้องเล่นกับประเด็นนี้แน่นอน แต่เรื่อง คำทำนาย ในเกมนี้มีความน่าสนใจนิดหน่อยตรงที่มันสะท้อนแนวคิด หรือ ปรากฏการณ์ที่ว่า คำทำนายแม่น เพราะเราทำให้มันแม่นเอง (Self-fulfilling prophecy)
Self-fulfilling prophecy คืออะไร
Self-fulfilling prophecy คือการฉายภาพอนาคตในหัวของเราว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น โดยอาศัยค่านิยม ความคิด ความเชื่อ หรือข้อมูล (ทั้งจริงและไม่จริง) มาเป็นฐานในการพยากรณ์เหตุการณ์ข้างหน้า สิ่งที่จะตามมาก็คือ การกระทำทั้งหมดแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวของเราจะได้รับอิทธิพลจากการพยากรณ์นั้น ซึ่งมีแนวโน้มนำพาไปสู่เหตุการณ์ตามที่ทำนายไว้จริง ๆ
ตัวอย่างของ Self-fulfilling prophecy ที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เราได้ยินว่าเพื่อนร่วมชั้นคนใหม่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ร่ำรวย เคยใช้ชีวิตต่างประเทศมาก่อน เราอาจใช้ข้อมูลนี้มาประมวลด้วยภาพเหมารวมว่าไอ้เด็กนอกคนนี้จะต้องมีนิสัยหยิ่ง ถือตัว แถมเรายังมีนิสัยขี้อายเข้าหาคนยากอีก และเหตุการณ์ในอนาคตก็คือมันจะไม่อยากคุยกับคนแบบเราแน่นอน
เมื่อถึงเวลาได้พบกันจริง อิทธิพลของคำทำนายนี้ก็ทำให้เราตีระยะห่างจากคนคนนั้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ยอมที่จะเข้าหาพูดคุยทักทายก่อน จนกระทั่งอีกฝั่งก็คิดในใจว่าเราดูไม่เป็นมิตรและไม่อยากยุ่งด้วย สุดท้ายเพื่อนร่วมชั้นคนใหม่นี้ก็ไม่มาพูดคุยทักทายเรา และเข้ากับสิ่งที่เราทำนายเป๊ะ
ปรากฎการณ์ที่คำทำนายแม่น เพราะเราทำให้แม่นเอง จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการนำมาใช้อธิบายข้อมูลในเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ ไปจนถึงขั้นใช้วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์เลยทีเดียว แล้วผมคิดว่าเราได้เห็นสิ่งนี้ใน God of War Ragnarok เหมือนกัน
บทบาทของเทพีแห่งโชคชะตาใน God of War 2 ภาค
ต้องบอกก่อนว่าเรื่องของความพยายามเปลี่ยนโชคชะตาในซีรีส์มีมาตั้งแต่ God of War 2 แล้ว ที่ Kratos ต้องไปต่อสู้กับ 3 พี่น้องแห่งโชคชะตา Moirai เพื่อเปลี่ยนอดีต แต่ในภาค Ragnarok เขาก็พบกับเทพีแห่งโชคชะตาของนอร์ส หรือเรียกว่า Norns 3 ตนอีกเหมือนกัน แต่บทบาทของพวกนางแตกต่างกันอย่างมาก
Moirai ที่ Kratos เคยเผชิญหน้าด้วยจะมีลักษณะเหนือเทพเจ้าขึ้นไปอีก เพราะ 3 พี่น้องมีความสามารถในการกำหนดชะตากรรมของทุกสรรพสิ่งได้ เรียกได้ว่าเป็นผู้ประพันธ์ความเป็นไปทุกอย่าง Atropos เคยพยายามจะเปลี่ยนอดีตเพื่อทำลาย Kratos ด้วยซ้ำ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ และสุดท้าย Kratos ก็ใช้เครื่องมือของ 3 พี่น้องไปเกณฑ์ไตตันมาปีนเขาโอลิมปัสให้เทพตบเล่น
ในทางกลับกัน บทบาทของ Norns ใน God of War Ragnarok กลับต่างกันมาก พวกเธอไม่ได้มีอำนาจถึงขนาดไปกำหนดชะตาใครได้ แถมบอก Kratos ด้วยซ้ำว่า มันไม่มีอำนาจเบื้องบนมาลิขิตอะไรทั้งนั้น ทุกอย่างมันเป็นทางเลือกของคนคนนั้นเอง การที่พวก Norns บอกอนาคตของทั้ง Kratos และ Freya รวมถึงคนอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่เพราะพวกเธอมีความสามารถเห็นอนาคตเลย แต่เพราะธรรมชาติ หรือพูดดิบ ๆ ว่า สันดาน ของทุกคนมันอ่านง่ายจนพวก Norns เห็นอนาคตเป็นฉาก ๆ
ถ้า Moirai ทำหน้าที่เป็นคนเขียนชะตากรรมทุกสรรพสิ่ง พวก Norns ในเกมก็ทำหน้าที่เหมือนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่คำนวณตัวแปรต่าง ๆ ได้แม่นยำจนเกือบ 100%
นิยามชะตากรรมของพวก Norns สอดคล้องกับแนวคิด Self-fulfilling prophecy ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Freya ได้รับคำทำนายว่า Baldur ลูกชายของเธอจะต้องตายไปแบบไม่จำเป็น คำทำนายนี้ส่งผลให้ Freya ร่ายมนต์ที่ไม่มีสิ่งใดทำให้ลูกชายตัวเองรู้สึกได้ กระทั่งเหตุการณ์ก็ผลักดันให้ Baldur เกิดความพยาบาทแม่ตัวเอง แล้ว Kratos ก็ต้องมาชิงฆ่าเขาก่อน ซึ่งเส้นทางของเรื่องราวเดินมาถึงจุดนี้ เพราะตัว Freya เองที่ทำให้คำทำนายนั้นเป็นจริง
ฉะนั้น ในตอนที่พวก Norns บอกว่า Heimdall จ้องจะฆ่า Atreus พวกเธอยังมีการแอบบอกใบ้ว่า Kratos “พลาดประเด็นสำคัญไป” นั่นคือ เขาพุ่งเป้าไปที่การฆ่า Heimdall เพื่อปกป้อง Atreus สุดกำลัง แต่ตัวแปรที่แท้จริงซึ่งจะเปลี่ยนชะตากรรมของเขาได้คือเขาต้องเปลี่ยนธรรมชาติ ความคิด หรือ ความเชื่อ เกี่ยวกับตัวเอง 2 เรื่อง คือ 1. ความเป็นจอมทำลายล้างในตัวเขา และ 2. ความไม่เชื่อใจในลูกชายตัวเอง หากเขาเปลี่ยนไม่ได้ การกระทำทั้งหมดของเขาก็จะนำทางไปสู่ความตายตามคำทำนายแน่นอน
โจทย์ของพวก Norns จึงยากและซับซ้อนกว่าพวก Moirai มาก เพราะมันไม่ใช่แค่การทำ หรือ หยุดทำอะไรบางอย่าง แล้วคำทำนายจะเป็นไปตามที่ต้องการ แต่มันคือการที่ Kratos ต้องเปลี่ยนความคิด ความเชื่อตัวเอง แล้วหวังว่าทุกการกระทำหลังจากความเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ใหม่
ไม่ใช่อสุรกาย ไม่ใช่จอมทำลายล้าง แต่คือผู้สร้างหนทางใหม่
ตั้งแต่ต้นเกม เราจะเห็นตัวละครที่เรียก Kratos ว่า อสุรกาย มากมาย ตั้งแต่ Thor ที่พยายามบีบให้ Kratos ต้องเอาจริง ด้วยการพูดว่า “ขอดู อสุรกาย ในตัวเจ้าหน่อย” ตอนที่ Kratos จะไปเจอพวก Norns เขาก็ได้เห็นนิมิตที่ Atreus เรียกเขาว่า อสุรกาย เหมือนกัน
และอีกตอนก่อนที่ Heimdall จะสิ้นใจตายก็เรียก Kratos ว่า อสุรกาย นั่นหมายความว่าถึง Kratos จะดูมีนิสัยเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่มันก็ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนธรรมชาติ หรือด้านที่เรียกว่า ผู้สังหารเทพ ของเขาได้ เป็นเหตุให้เขาฆ่า Haimdall และทำให้คำทำนายเริ่มจะกลายเป็นจริงมากขึ้น
จุดที่ Kratos ทำได้สำเร็จ คือการต่อสู้กับ Thor ครั้งที่ 2 หลังจากหวดขวานและค้อนกันอย่างดุเดือด Thor ก็พลาดท่าให้ Kratos ซึ่งเขาจะฆ่า Thor ตอนนั้นก็ได้ แต่ Kratos เลือกจะไม่ทำ แม้ Thor พยายามจะบอก Kratos อย่างสิ้นหวังว่า ทั้งสองเป็นจอมทำลายล้างที่เกิดมาเพื่อก่อความพินาศเท่านั้น
ตรงจุดนี้เองที่โซ่ตรวนแห่งคำทำนายถูกทำลายลงไปเส้นหนึ่ง เมื่อ Kratos ยืนยันกับ Thor ว่าพวกเขาไม่ใช่จอมทำลายล้าง และถ้าพวกเขาเห็นแก่ลูกตัวเองจริง ๆ พวกเขาจะต้องดีกว่านี้
ส่วนเรื่องการเชื่อใจลูกชายตัวเอง เริ่มขึ้นเมื่อ Kratos กับ Atreus ทำสัญญาทางใจกัน และเขายอมจะปล่อยให้ลูกชายตัวเองกลับเข้าไปใน Asgard ซึ่งเป็นดงศัตรูอีกครั้ง โดยไม่มีอะไรรับประกันว่า Atreus จะกลับมาได้ นอกจากเขาต้องเชื่อในการตัดสินใจลูกเท่านั้น
และในฉากสู้โอดินตอนสุดท้ายที่ Kratos ก็ยอมให้ Atreus เลือกว่าจะใช้หน้ากากตามคำชวนของ Odin หรือไม่ ถึง Kratos จะรู้อยู่ลึก ๆ ว่า Atreus อยากใช้หน้ากากเพื่อหาหนทางช่วยเขามาก แต่ท้ายที่สุด เส้นทางใหม่ของโชคชะตาก็ถูกสร้างขึ้นแล้ว เมื่อ Atreus เลือกจะทำลายหน้ากากและปล่อยมันลอยหายเข้าไปในรอยแยกปริศนา
จากความเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 เรื่อง ได้ชักนำทุกการกระทำของ Kratos ให้สามารถเอาชนะคำทำนายเดิมได้ แล้วนำมาสู่บทสรุปสุดท้ายที่เกมต้องการนำเสนอว่า คนที่ต้องพ่ายแพ้ก็คือคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลยอย่าง Odin ซึ่งแม้จะจนตรอกขนาดไหน เขาก็ยังคงยืนกรานกับ Atreus ว่าเขาเปลี่ยนไม่ได้ เขายังเป็นเทพที่กระหายในความรู้ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรก็ตาม