รีวิว การ์ด Magic The Gathering Universes Beyond
ชุด The Lord of the Rings: Tales of Middle-earth
ขอขอบคุณ Wizards of the Coast สำหรับการสนับสนุนการ์ดชุด Tales of Middle Earth สำหรับการรีวิว
ถึงผมจะไม่ใช่แฟน Magic The Gathering เพราะไปเล่นเกมการ์ดอะไรก็อยู่ได้ไม่นาน (กำลังทรัพย์ช่างอ่อนแอ) แต่ผมคิดว่าไม่มีการครอสโอเวอร์ไหนที่จะเข้าคู่และกลมกล่อมมากไปกว่าเกมการ์ดในตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ในใจคนเล่นนับล้านคนทั่วโลก กับวรรณกรรมจากมือของนักเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของนวนิยายแนว High Fantasy
การครอสโอเวอร์ครั้งนี้ผมคิดว่ามาช้ากว่าที่คิดไปด้วยซ้ำ และในฐานะแฟนปู่โทลคีนคนหนึ่ง ก็นับว่าเป็นเกียรติที่ได้รับโอกาสให้มาพูดถึงประสบการณ์เกี่ยวกับเกมการ์ดชุดนี้
ในส่วนเนื้อเรื่องของ Tales of Middle Earth แน่นอนว่าเกมจะต้องเล่าเรื่องราวการผจญภัยของคณะแหวน และการรุกรานยึดครองดินแดนของเจ้าแห่งความมืดเซารอน โดยมีแหวนเอกธำมรงค์ (The One Ring) เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง รวมถึงเหตุการณ์จุดเปลี่ยนสำคัญอื่น ๆ ในยุคที่ 3 ของมิดเดิล เอิร์ธ ด้วย
ก่อนที่เราจะไปแกะซองมองการ์ดชุดนี้ ผมอยากจะขอพูดถึงการ์ดใบหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นหวยรางวัลที่ 1 มันคือการ์ดที่เรียกว่า The 1 of 1 Ring มันคือการ์ดแหวนแห่งอำนาจที่ไม่มีขอบ ลงเลข 001/001 (คือมีใบเดียวในโลก) ตรงคำอธิบายการ์ดถูกเขียนด้วยตัวอักษรเทงกวาร์ เป็นภาษาแบล็กสปีชที่สลักบนแหวนแฟน ๆ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี
นั่นคือ One Ring to Rule Them all หรือ วงเดียวเพื่อครองพิภพ (สำนวนแปลชั้นครูของคุณวัลลี ชื่นยง)
การ์ดใบนี้จะมีสุ่มให้เปิดในชุด Collector Boosters ภาษาอังกฤษเท่านั้น และตอนที่บทความนี้เผยแพร่ ก็มีคนได้เป็นเจ้าของการ์ดใบนี้แล้ว และจากราคาประมาณการเท่าที่เช็คล่าสุด คนที่เป็นเจ้าของน่าจะเตรียมการเปิดประมูลอยู่ ประมาณราคาขั้นต่ำเริ่มที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ! และก่อนหน้านี่มีร้านเกมสัญชาติสเปนเสนอขอซื้อในราคาที่มากกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วย
พูดได้ว่าเป็นเรื่องราวที่สั่นสะเทือนไปจนนอกวงการการ์ดเมจิกจริง ๆ เพราะนี่เป็นเรื่องที่สาวก The Lord of the Rings ทั่วโลกต่างก็เฝ้าจับตาว่าสุดท้ายเอกธำมรงค์นี้จะตกไปอยู่ในมือเจ้าแห่งความมืดคนไหน?
เซตการ์ดที่ได้มา
สำหรับการ์ดชุดที่เราได้รับมาในชื่อ Lord of the Rings Tales of Middle Earth จะมีสองส่วนหลัก ๆ ครับ คือตัวของแพ็ค Jumpstart ที่มาเป็นกล่อง ข้างในมีสองซอง แต่ละซองมีการ์ด 20 ใบ สามารถเอาการ์ดทั้งสองซองมารวมกัน สับการ์ดแล้วก็เล่นได้เลย
ชุด Jumpstart เขาจะแบ่งเป็นตีมสีและชื่อมาให้นะครับ มี 5 แบบ คือ Courageous (ความกล้าหาญ-สีขาว), Tricksy (ความมากเล่ห์มากกล-สีน้ำเงิน), Mordor (มอดอร์-สีดำแน่นอน), Marauders (พวกปล้นชิง-สีแดง), และ Journey (การเดินทาง-สีเขียว)
โดยตีมที่ผมได้มาก็คือ Courageous และ Tricksy ตามที่เห็นนี้เลยครับ
ส่วนอีกหนึ่งจะเป็นของใหญ่เลยครับ เรียกว่าเป็น Set Booster พอเปิดกล่องขึ้นมาก็จะมีซอง Realms & Relics คอยต้อนรับอยู่ ในนั้นจะมีการ์ดฟอยล์หนึ่งใบ ซึ่งใบที่ผมได้ก็คือ Helm’s Deep หรือปราการฮอร์นเบิร์ก สมรภูมิที่ทำหน้าที่เป็นฉากหลังของการรบอันยิ่งใหญ่ในภาพยนตร์ภาค The Two Towers นั่นเอง
ความสนุกมันเริ่มจากนั้น ก็คือในกล่องจะมีซองการ์ดทั้งหมด 30 ซอง แต่ละซองมี 12 ใบ โดยจะการันตีว่าเราจะได้การ์ดฟอยล์อย่างน้อย 1 ใบแน่นอน พร้อมกับการ์ดอาร์ตซีรีส์ที่เน้นขายงานอาร์ตเป็นการ์ดที่อยู่ใบสุดท้ายของแต่ละซองด้วย
ส่วนใครจะได้อะไรก็ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ขององค์วาลาร์แล้วล่ะครับ ผมไม่ได้เปิดซองการ์ดจำนวนมากขนาดนี้มาหลายปีแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ดที่บันเทิงใช้ได้ กระตุ้นการสูบฉีดเลือดดี ส่วนผลลัพธ์ก็ต้องบอกว่า ผมได้การ์ดหายากมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็นับว่ายังขาดไปอีกหลายใบ น่าเสียดายที่ผมได้การ์ดทั้งแกนดัล์ฟและซารูมานน้อยมาก แต่ก็ยังดีที่ได้การ์ด The One Ring มาใบนึง
เกมเพลย์ที่เน้นพลังแห่งแหวน
ความพิเศษของเกมเพลย์ Tales of Middle Earth ก็คือจะมีคีย์เวิร์ดเฉพาะเป็น “The Ring Tempts You” หรือแหวนล่อลวงใจคุณ การ์ดหลายใบในเซตจะมีคีย์เวิร์ดนี้ ซึ่งถ้ามันทำงาน จะทำให้มันเกิดสองสิ่งกับผู้เล่น คือ หนึ่งผู้เล่นจะต้องเลือก Creature ที่อยู่ในควบคุมมาหนึ่งใบ ให้รับหน้าที่เป็นผู้ถือแหวน และสองการ์ดแหวนแห่งอำนาจจะปลดล็อกความสามารถของมัน โดยมีทั้งหมด 4 ระดับ
เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเอฟเฟกต์ “The Ring Tempts You” อีก คุณก็จะต้องมาทำการเลือกผู้ถือแหวนอีกครั้ง (จะให้ Creature เดิมเป็นตัวถือต่อไปก็ได้) แล้วก็ปลดล็อกพลังมันไปเรื่อย ๆ จนครบ 4 แม้คุณจะไม่มี Creature อยู่ในการควบคุมก็ตาม “The Ring Tempts You” ก็จะทำงานอยู่ดี
แต่จากการไปส่องคนเล่นการ์ดเมจิกที่มารีวิว นี่เป็นกลไกที่ซับซ้อนพอสมควร และยังไม่มีใครกล้าฟันธงอย่างชัดเจนว่ามันดีหรือไม่ดี Op หรือ สมดุล แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าถ้าพูดในแง่การออกแบบกลไกของมันให้เข้ากับเนื้อเรื่อง คีย์เวิร์ดนี้ก็ดูไปกันได้กับความเป็นแหวนแห่งอำนาจอยู่ เพราะมันจะค่อย ๆ ล่อลวงใจคุณไปทีละขั้น และมันสามารถครอบงำใครก็ได้
การตีความ
ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากรู้จักและเข้าใจเรื่องราวของ The Lord of the Rings จากการดูหนังของปีเตอร์ แจ็กสัน ซึ่งก็ได้สร้างภาพติดตาของตัวละครหลาย ๆ ตัวเอาไว้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการตีความตัวบทในเวอร์ชันนึงเท่านั้น
สำหรับ The Lord of the Rings ที่ถูกตีความในจักรวาลของการ์ดเมจิก ต้องพูดเลยว่าค่อนข้างมีสีสัน น่าสนใจ และมีเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือแต่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาในฉบับภาพยนตร์พอตัว รวมถึงการมองตัวละครบางตัวด้วยมุมมองที่อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่ามันต้องมีประเด็นแน่ ๆ
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงการตีความตัวละคร อารากอร์น (Aragorn) และตัวละครมนุษย์อีกหลายตัวในการ์ดเซตนี้ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาใหม่ให้กลายเป็นคนผิวดำ และไม่ใช่แค่ตัวอารากอร์นที่ 2 เอเลสซาร์ เท่านั้น เหล่านักรบจากดินแดนอาชาโรฮานอย่างท่านหญิงเอโอวีนก็กลายเป็นคนผิวดำด้วย
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตฝั่งตะวันตกไม่อาจหลีกเลี่ยง เกิดการถกเถียงถึงความเหมาะสมในการตีความนี้กันอย่างมากมาย สื่อหลายสำนักก็ถึงกับเอาเรื่องนี้ไปพาดหัว หรือ รายงาน
จะยังไงก็ตาม โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษกับการตีความตัวเอกในการ์ดเซตนี้นอกเหนือไปจากแค่ความสนใจ เพราะงานศิลปะ โดยเฉพาะงานวรรณกรรมให้คนอ่านร้อยคนก็ตีความกันออกมาร้อยแบบ ถึงแบบนั้นผมก็ได้ไปรื้อฟื้นดูว่าต้นฉบับที่มีการเอ่ยถึงรูปลักษณ์กายภาพของอารากอร์นในหนังสือเป็นยังไง มีข้อพรรณนาว่า
“a shaggy head of dark hair flecked with grey, and in a pale stern face a pair of keen grey eyes.”
จะเห็นว่ารูปลักษณ์ของอารากอร์นก็ไม่ได้มีการให้รายละเอียดมากนัก แต่คำว่า Pale หรือซีดก็สื่อได้ว่าน่าจะเป็นคนที่มีผิวสีขาวอยู่ รวมถึงรูปลักษณ์ของเอโอวีนก็มีคำว่า Fair ชัดเจน คือมีลักษณะผิวสีขาวซีด เลยไม่น่าแปลกใจว่าแฟนซีรีส์ หรือ คนที่อ่านหนังสือมาก็จะมีประเด็นกับขาวไม่ขาว ซึ่งเป็นการตีความที่อยู่นอกเหนือเนื้อหาในตัวบท
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้เพราะอยากจะมาเปิดประเด็นเรื่องสีผิว หรือ ชาติพันธุ์ตัวละครให้มันดราม่าน่ะครับ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่คนถกเถียงกันเกี่ยวกับการ์ดชุดนี้มันก็เลี่ยงจะพูดถึงไม่ได้ เอาเป็นว่ามันคือบทสนทนาของแฟน ๆ ที่มีต่องานออกแบบตัวละครของเมจิก แล้วก็เป็นการตีความเวอร์ชันหนึ่งของศิลปิน
ยังไม่หมด การ์ดชุดนี้ยังให้ภาพตัวละครที่เราน่าจะรู้จักกันแล้ว แต่เราจะได้เห็นแง่มุมที่หนังไม่ได้ถ่ายทอดออกมา แต่มีอยู่ในหนังสือ แล้วอาจจะทำให้หลายคนประหลาดใจ ที่ชัดเจนเลยก็คือ Saruman of Many Colors
นี่ไม่ได้เป็นพ่อมดโว๊กหรือเป็นการมาตีความเพิ่มเติมอะไรทั้งนั้นนะครับ ถ้าดูในหนังเราจะรู้จักแต่ด้านที่ซารูมานเป็นพ่อมดขาว แต่ในหนังสือความทะเยอทะยานอย่างหนึ่งของซารูมานก็คือเขาไม่ได้อยากแค่เป็นพ่อมดสีขาว แต่ต้องเป็นพ่อมดที่มีสีเยอะ ๆ (ไม่รู้จะเรียกพ่อมดหลายสี หรือพ่อมดสีรุ้งดี) แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มันมาพร้อมกับสี
น่าเสียดายที่เซตที่ผมได้มา ผมแกะไม่ค่อยเจอตัวละครพ่อมดเท่าไร อาจเพราะเป็นความชอบส่วนตัวแล้วก็อาร์ตพ่อมดในเซตนี้ ไม่ว่าจะสีอะไรทำออกมาดูดี ดูเท่ เกือบทุกใบเลย แต่เท่าที่เปิดมาผมเจอแค่ราดากัสต์ แกนดัล์ฟ และซารูมานร่างพ่อมดขาวเท่านั้น
นั่นทำให้เรามาสู่งานออกแบบการ์ดที่บอกช่วงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในยุคที่ 3 ของมิดเดิล เอิร์ธ ซึ่งก็จัดเต็มออกมาในรูปแบบของ Scene Cards (การ์ดที่สามารถเอามาต่อกันจนเป็นภาพเหตุการณ์ใหญ่ได้) ผมขอยกตัวอย่างจากการ์ดเท่าที่ผมเปิดได้ในชุดนี้ นั่นคือ
เหตุการณ์ Witch-king of Angmar นำทัพครั้งใหญ่บนหลังเฟลบีสต์
มหาศึกแห่งทุ่งเพเลนนอร์ เป็นซีนเหตุการณ์ที่ผมได้มาเกือบครบแล้ว น่าเสียดายจริง ๆ ว่าผมขาดการ์ดใบเดียวคือ Eowyn, Fearless Knight
ถ้าให้พูดในแง่ความประทับใจในฐานะแฟน The Lord of the Rings ผมว่าการ์ดชุดนี้มันสนุกในแง่การดูเนื้อเรื่อง ดูลอร์ต่าง ๆ ที่ศิลปินเขาตีความตัวละครหลักและรองในเรื่อง
รวมถึงความเด่นตรงลูกเล่นของงานอาร์ตไม่น้อยหน้าไปกว่าเกมเพลย์ที่ออกแบบมาโดยอิงกับพลังของแหวนเลย ผมอาจจะประเมินได้ไม่แม่นยำถ้าเทียบกับคนที่เล่นการ์ดเมจิกจริง ๆ แต่ผมบอกได้ว่าถ้าพูดในฐานะแฟน The Lord of the Rings มันก็น่าตามเก็บมาก โดยเฉพาะพวก Scene Cards