Articles News

แรงบันดาลใจและที่มาของไอคอนใน FINAL FANTASY XVI – [ARTICLE]

โดย G-jang

แรงบันดาลใจและที่มาของไอคอนใน FINAL FANTASY XVI – [ARTICLE]

เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเวทอัญเชิญอสูรนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับแฟรนไชส์ FINAL FANTASY มาช้านาน ซึ่งในภาคล่าสุดอย่าง FINAL FANTASY XVI นี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นและมีความสำคัญกับเรื่องราวเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาตามตำนานในโลกความจริงของบรรดาไอคอน (Eikon) ประจำเกมภาคนี้ทั้ง 8 ตัวกันครับ


Ifrit

เริ่มกันที่อิฟรีตซึ่งเป็นไอคอนแห่งเปลวเพลิงตัวหลักประจำภาคโดยมีโดมิแนนต์ (Dominant หรือก็คือร่างสถิต) อย่างไคลฟ์ รอสฟิลด์ (Clive Rosfield) ที่เป็นพระเอกของภาคนี้กันเลย หลายคนที่ได้เล่นก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าอิฟรีตนี้ก็เป็นหนึ่งในเวทอัญเชิญอสูรขาประจำของแฟรนไชส์ และที่ผ่านมาก็มักมีบทบาทเป็นเวทระดับต้น เพราะผู้เล่นจะได้มาใช้ช่วงต้น ๆ เกม แล้วพอเข้าท้าย ๆ เกมที่ผู้เล่นได้เวทอัญเชิญอื่น ๆ ที่ทรงพลังกว่ามาใช้ อิฟรีตก็มักโดนเก็บเข้ากรุขังลืมไปทุกที

ถึงอย่างนั้น ในภาค 15 อิฟรีตก็เป็นตัวตนที่ทรงพลังมากและปรากฏตัวในช่วงท้ายเกมเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่น็อกติส (Noctis) จะต้องเอาชนะ และในภาค 16 ก็ทรงพลังถึงขนาดว่าสามารถเข้าปะทะกับพระเจ้าจอมปลอมแห่งวาลิสเธีย (Valisthea) อย่างอัลติมา (Ultima) ได้เลยด้วยซ้ำ

คำว่าอิฟรีตนั้นได้รับกล่าวถึงอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม โดยที่อิฟรีตเองถือเป็นญิณ (Jinn) ประเภทหนึ่ง หากจะถามว่าพวกญิณนี้คืออะไร ก็กล่าวได้ว่าญิณคือตัวตนในเชิงจิตวิญญาณที่มีพลังอำนาจสูง มีอิทธิฤทธิ์สูง ถ้าในเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยล่ะก็ ผู้คนในปัจจุบันจะรู้จักกับญิณในฐานะของจีนี่ (Genie) หรือยักษ์วิเศษในตะเกียงที่มีบทบาทจากเรื่องอะลาดินกับตะเกียงวิเศษ (Aladdin and the Magic Lamp) ที่เป็นหนึ่งในเรื่องราวซึ่งบรรจุอยู่ในพันหนึ่งราตรี (The Book of One Thousand and One Nights) อีกที

สภาวะของญิณนั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากไฟไร้ควันของพระอัลลอฮ์ และแม้จะมีพลังอำนาจมหาศาลแต่ก็ยังมีการดำเนินชีวิตคล้ายกับมนุษย์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างบริสุทธิ์แต่ก็สามารถกระทำบาปได้เช่นเดียวกัน และสำหรับอิฟรีตนี้ คัมภีร์ต่าง ๆ ของศาสนาอิสลามมักจะไม่ใช้คำว่าอิฟรีตตามลำพัง แต่มักจะต่อท้ายว่าอิฟรีตในหมู่ญิณเสมอ และด้วยความที่คำว่าญิณนี้ถูกใช้เรียกบรรดาตัวตนเชิงจิตวิญญาณเป็นการทั่วไปสถานะของอิฟรีตก็เลยไม่แน่ชัดมากนักว่าอยู่ในวงศ์วานลำดับไหนของญิณด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ต่อมาคำว่าอิฟรีตก็ได้รับการระบุอยู่ใน Kitāb al-mustaṭraf โดย Al-Ibshihi กลายมาเป็นคำเรียกปีศาจ (ชัยฏอน/Shaiton หรือชะยาฏีณ/Shayatin) ที่มักล่าเหยื่อเป็นหญิงสาว หรือไม่ก็เป็นวิญญาณของผู้วายชนม์ นอกจากนั้นแล้วในบันทึกฮะดีษ (Hadith) ของ Muhammad al-Bukhari ก็ได้มีการกล่าวถึงอิฟรีตในหมู่ญิณว่าได้มาข่มขู่คุกคามศาสดามูฮัมหมัดด้วยตัวตนอันร้อนแรงดุจเปลวเพลิง ซึ่งทูตสวรรค์เกเบรียล (Gabriel) ก็ได้สอนคำสวดภาวนา (ดุอา/Du’a) ให้แก่มูฮัมหมัดเพื่อปราบปรามอิฟรีต

ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นอิฟรีตแห่ง Final Fantasy จึงมีบทบาทเป็นเวทอัญเชิญธาตุไฟเป็นหลักนั่นเอง


Shiva

ชิวาหรือศิวะ ก็เป็นอีกหนึ่งในเวทอัญเชิญขาประจำของแฟรนไชส์ ภาพลักษณ์ของชิวานี้จะเป็นหญิงสาวผิวสีฟ้าและโจมตีด้วยธาตุน้ำแข็งอันหนาวเหน็บ ซึ่งสำหรับภาค 16 นี้มีโดมิแนนต์เป็นจิล วอร์ริก (Jill Warrick) หญิงสาวผู้เป็นนางเอกประจำภาคและคนรักของไคลฟ์นั่นเอง

ศิวะนั้นเป็นเทพเจ้าจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู และเป็นหนึ่งในตรีมูรติ (Trimurti) ที่เปรียบเสมือนเป็นเทพสูงสุดและสื่อให้เห็นถึงวัฏจักรของจักรวาลนี้ บทบาทของเทพแต่ละองค์แห่งตรีมูรติก็คือ พระพรหม (Brahma) คือผู้สร้าง พระวิษณุ (Vishnu) คือผู้รักษา และพระศิวะ (Shiva) คือผู้ทำลาย ความเป็นไปของสรรพสิ่งในสากลโลกตามความเชื่อศาสนาฮินดูจะเป็นไปตามวัฏจักรดังกล่าว

อย่างไรก็ดีถ้าพูดถึงพระศิวะแล้วก็จำเป็นต้องกล่าวถึงชายาของพระศิวะอย่างพระปารวตี (Parvati) ด้วยเช่นกัน นั่นเพราะหนึ่งในปางของพระปารวตีมีรูปลักษณ์เป็นสตรีผิวสีฟ้านั่นก็คือพระแม่กาลี (Kali) ผู้ที่ว่ากันว่าจะทำลายความชั่วร้ายทั้งมวลเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ และยังมีสถานะเป็นศักติ (Shakti) หรือก็คือพลังงานแห่งจักรวาลของพระศิวะอีกด้วย ภาพวาดหรืองานศิลป์ต่าง ๆ มักตีความพระแม่กาลีที่นอกจากจะมีผิวกายสีฟ้า/น้ำเงินเข้มแล้ว มักจะอยู่ในท่าที่ยืนเหยียบพระศิวะอยู่เสมอ

รูปลักษณ์ที่ยืนเหยียบพระศิวะนั้นรู้จักกันในชื่อว่าทักษิณากาลี (Dakshinakali) ที่บอกเล่าเหตุการณ์ในยามที่พระแม่กาลีคุ้มคลั่งภายหลังสังหารปีศาจไปมากมาย พระศิวะเองก็เกรงว่าพระแม่กาลีจะไม่หยุดจนกว่าทั้งจักรวาลจะพินาศสิ้น จึงได้นอนทอดร่างบนสนามรบและรอให้พระแม่กาลีมาเหยียบ เมื่อนางได้รับรู้ว่าตนเหยียบพระสวามีของตนก็ตกใจและได้สติกลับคืนมา

ไม่เพียงเท่านั้น พระศิวะและพระปารวตีเองก็มีปางรวมกันด้วยที่ชื่อว่าอรรธนารีศวร (Ardhanarishvara) โดยที่ร่างกายจะแบ่งออกเป็นสองซีกเท่ากันซึ่งซีกขวาจะเป็นเพศชายและซีกซ้ายจะเป็นเพศหญิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และการก่อเกิดของชีวิต ถ้าจะเรียกว่าชิวาหรือศิวะของ Final Fantasy คือการหยิบเอาองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่รายล้อมพระศิวะมารวมกันก็คงไม่ผิดนัก


Phoenix

ฟีนิกซ์คือไอคอนในภาค 16 ที่มีโดมิแนนต์เป็นโจชัว รอสฟิลด์ (Joshua Rosfield) น้องชายของไคลฟ์ ในแต่ละภาคของแฟรนไชส์นี้ฟีนิกซ์จะปรากฏตัวในรูปลักษณ์ของวิหคเพลิงมาโดยตลอด ซึ่งก็สอดคล้องกับตำนานอันเป็นแหล่งที่มาจริง ๆ

ต้นกำเนิดของฟีนิกซ์ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็คือจากตำนานกรีกโบราณในฐานะของวิหคเพลิงอมตะที่สามารถถือกำเนิดใหม่ได้จากกองเถ้าถ่าน อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกอย่างเฮโรโดตุส (Herodotus) นั้นเชื่อว่าต้นกำเนิดของฟีนิกซ์นั้นมาจากอียิปต์โบราณมากกว่า

ตามความเชื่อของอียิปต์โบราณนั้น ว่ากันว่าฟีนิกซ์มีขนาดรูปร่างพอ ๆ กับนกอินทรี โดยมีขนนกสีแดงและสีทองพร้อมเสียงร้องที่ไพเราะ ในแต่ละครั้งจะมีฟีนิกซ์ที่ดำรงอยู่เพียงตัวเดียวและมันมีชีวิตยืนยาวที่ไม่น้อยกว่า 500 ปี และเมื่อใกล้สิ้นอายุขัยฟีนิกซ์ก็จะสร้างรังขึ้นมาจากกิ่งไม้และเครื่องเทศก่อนจะจุดไฟในรังของตนเอง และจากกองเถ้าถ่านนั้นก็จะกำเนิดเป็นฟีนิกซ์ตัวใหม่ หลังจากนั้นฟีนิกซ์จะทำการรวบรวมเถ้าถ่านของตัวก่อนหน้าเอาไว้ในไข่ที่ทำจากไม้หอมแล้วบินพร้อมนำเถ้าถ่านนั้นไปสู่เฮลิโอโปลิส (Heliopolis หรือเมืองแห่งตะวัน) ในอียิปต์และนำเอาไข่ไปวางไว้บนแท่นบูชาของวิหารเทพเจ้าแห่งดวงตะวัน รา (Ra)

นอกเหนือไปจากอารยธรรมอียิปต์โบราณและกรีกโบราณแล้ว สัตว์ในตำนานที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกันกับฟีนิกซ์ก็มีปรากฏในตำนานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เฟิงหวง (鳳凰) และจูเช่อ (朱雀) ของประเทศจีนเป็นต้น ซึ่งรูปลักษณ์ของฟีนิกซ์ในภาค 16 นี้ก็เรียกได้ว่าสอดคล้องกับต้นกำเนิดโดยแท้จริง และยังมีความสามารถที่ชื่อเปลวเพลิงแห่งการกำเนิดใหม่ (Flames of Rebirth) ที่สื่อถึงคุณลักษณะในการคืนชีพของฟีนิกซ์ตามตำนานเช่นกัน


Ramuh

รามูห์ เป็นอีกหนึ่งเวทอัญเชิญที่อยู่คู่กับ Final Fantasy มาช้านาน ซึ่งแต่ละภาคก็จะได้รับการออกแบบมาในลักษณะของชายชราผู้ทรงปัญญาและโจมตีด้วยสายฟ้าอันทรงพลัง ซึ่งในภาค 16 นี้รามูห์คือไอคอนของซิโดลฟัส เทลามอน (Cidolfus Telamon) หรือก็คือซิดที่เป็นตัวละครประจำแฟรนไชส์อีกคนหนึ่ง (และแน่นอนว่าซิดก็มีรูปร่างหน้าตาและนิสัยต่างกันไป)

ชื่อของรามูห์นั้น ไม่ได้อ้างอิงเฉพาะเจาะจงมาจากเทพเจ้าองค์ใดเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ทำให้พอจะทราบที่มาและแรงบันดาลใจก็คือในสมัยที่ Final Fantasy IV วางจำหน่ายบนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม (SFC/SNES) นั้น เวอร์ชันภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการของเกมได้เรียกเวทอัญเชิญของรามูห์ว่าอินดรา (Indra) หรือก็คือพระอินทร์ที่เรา ๆ รู้จักกันนั่นเอง

พระอินทร์นั้นคือเทพเจ้าตามคัมภีร์พระเวท (Vedas) ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยที่คัมภีร์พระเวทนี้จะประกอบไปด้วยฤคเวท (Rigveda) ที่มีเนื้อหาเป็นการสรรเสริญเหล่าเทพเจ้า ยชุรเวท (Yajurveda) ที่มีเนื้อหาว่าด้วยมนตราในการทำพิธีบวงสรวง สามเวท (Samaveda) คือบทเพลงขับกล่อมที่เนื้อหาเน้นสรรเสริญเทพเจ้าคล้ายฤคเวท และอาถรรพเวท (Atharvaveda) มีเนื้อหาเป็นบทรวบรวมคาถาและเวทมนตร์ต่าง ๆ

ในฤคเวทนั้น ได้กล่าวสรรเสริญพระอินทร์ในฐานะที่เป็นราชาของเหล่าเทวา (Devas) โดยที่พระอินทร์นั้นเป็นเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า, อัสนี, อากาศ, ฟ้าร้อง, พายุ, พิรุณ, แม่น้ำและสงคราม และวีรกรรมอันโดดเด่นของพระอินทร์ในฤคเวทก็คือการสังหารอสุราที่ชื่อวฤตระ (Vritra) ที่มีรูปลักษณ์เป็นอสรพิษรูปร่างใหญ่โตมหึมาผู้ทำการกักขังน้ำทั้งโลกเอาไว้จนบังเกิดความแห้งแล้งไปทั่ว และสุดท้ายพระอินทร์ก็กำจัดวฤตระลงได้โดยใช้สายฟ้าหรือก็คือวัชระ (Vajra) นั่นเอง

ซึ่งในแง่นี้ก็อาจสังเกตเห็นได้ว่าตำนานพระอินทร์ปราบวฤตระนี้คล้ายคลึงกับตำนานนอร์สที่ธอร์ (Thor) กำจัดอสรพิษโลกาอย่างยอร์มุงกันดร์ (Jormungandr) โดยใช้พลังสายฟ้าและค้อนมโยเนียร์ (Mjolnir) เช่นกัน

กระนั้น ดีไซน์ของรามูห์/พระอินทร์ใน Final Fantasy นี้ทีมงานตัดสินใจเลือกรูปลักษณ์ในแบบพ่อมดผู้ทรงปัญญาแห่งซีกโลกตะวันตก และรูปลักษณ์นี้ก็เป็นเอกลักษณ์ของรามูห์มาจนถึงปัจจุบัน


Garuda

การูดาในภาค 16 นี้มีบทบาทเป็นไอคอนธาตุลมและมีโดมิแนนต์ผู้ควบคุมพลังคือเบเนดิกตา ฮาร์แมน (Benedikta Harman) หญิงสาวผู้สวยงามและร้ายกาจ ผู้มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งในอดีตกับซิดมาก่อน ซึ่งพลังอำนาจของการูดาสามารถก่อให้เกิดพายุอันโหมกระหน่ำรุนแรงได้อย่างง่ายดาย รูปลักษณ์ของการูดาถูกออกแบบมาโดยอ้างอิงสัตว์ตระกูลนกเป็นหลัก นั่นเพราะว่าแรงบันดาลใจของการูดาก็คือครุฑที่พวกเรารู้จักกันนั่นเอง

การูดาหรือครุฑ ถือเป็นมนุษย์ครึ่งเทพตามคติของศาสนาพราหมณ์ฮินดูซึ่งบทบาทสำคัญที่รับรู้กันทั่วไปก็คือการเป็นพาหนะให้แก่พระวิษณุ และถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในคัมภีร์ปุราณ (Puranas) และคัมภีร์พระเวท ซึ่งมักถูกบรรยายในลักษณะที่เป็นพญาวิหคและมีอิทธิฤทธิ์ที่ทรงพลังขนาดว่าเมื่อกระพือปีกก็สามารถทำให้สวรรค์, ปฐพีและนรกหยุดหมุนได้

รูปลักษณ์ของครุฑมักถูกตีความทั้งในแบบที่เป็นนกเต็มตัว หรือไม่ก็เป็นครึ่งคนครึ่งนก ซึ่งในแบบหลังนี่ก็มักจะมีจงอยปากแบบนก ดวงตาใหญ่แบบนก ร่างกายมีสีเขียวมรกต และมีปีกสีเหลืองทอง ส่วนแขนอาจจะมีสองแขนหรือสี่แขนก็สุดแท้แต่ศิลปินจะตีความ

ในมหากาพย์มหาภารตะ (Mahabarata) นั้นเล่าขานว่าครุฑมีเป้าหมายที่จะกินอสรพิษสุมุข (Sumukha) เป็นอาหาร จึงทำให้มาตาลี (Matali) ที่เป็นผู้ควบคุมรถม้าศึกของพระอินทร์เข้าช่วยเหลือโดยพาสุมุขไปหาพระอินทร์ที่ขณะนั้นพระวิษณุเองก็มาเยี่ยมเยือนพอดี พระวิษณุจึงเสนอแนะให้พระอินทร์มอบน้ำอมฤต (Amrita) ให้แก่สุมุข ซึ่งในทีแรกพระอินทร์ก็ลังเล เพราะแม้แต่วัชระของตนก็ทำให้ครุฑบาดเจ็บไม่ได้ แต่สุดท้ายพระอินทร์ก็ยินยอม แน่นอนว่าพอครุฑทราบเรื่องก็โกรธจัดและข่มขู่พระอินทร์ แต่พระวิษณุก็ตำหนิการกระทำของครุฑจนยอมสยบในที่สุด

ครุฑในมหาภารตะเปรียบดั่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังอันรุนแรง, รวดเร็วและอำนาจในการศึก เสมือนครุฑที่โฉบลงมาตะครุบนาค (Nagas) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ใน Final Fantasy XVI นี้จะใช้การูดาหรือครุฑเป็นตัวแทนของธาตุลม


Titan

ไททัน คือไอคอนธาตุดินที่มีโดมิแนนต์คือฮิวโก คุปกา (Hugo Kupka) ชายผู้มีรูปร่างสูงใหญ่และพละกำลังมหาศาล อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของไคลฟ์ ซึ่งร่างไอคอนของไททันนั้นก็สูงใหญ่สมกับรูปร่างของฮิวโกที่เป็นร่างสถิต

ไททันนั้นมีที่มาจากตำนานกรีกโบราณ เป็นคำเรียกกลุ่มเทพเจ้าที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าบรรดาเทพโอลิมปัส (Olympus) ที่เรารู้จักกัน โดยในบทกวีของเฮซิออด (Hesiod) นั้นระบุว่าไททันมีทั้งหมด 12 ตนที่เป็นบุตรและธิดาของเทพแห่งต้นกำเนิดอย่างยูเรนัสหรืออูรานอส (Uranus/Ouranos) แห่งท้องฟ้า และไกอา (Gaia) แห่งปฐพี ซึ่งในบรรดาไททันทั้ง 12 นี้ก็แบ่งออกเป็นชาย 6 และหญิง 6 เท่า ๆ กัน

ไททันชายหนึ่งในนั้นคือโครนัส (Cronus) ได้ครองคู่กับรีอา (Rhea) ผู้เป็นพี่สาวของตนเอง และให้กำเนิดทวยเทพแห่งโอลิมปัสกลุ่มแรกขึ้นมานั่นก็คือ ซุส (Zeus), เฮดีส (Hades), โพไซดอน (Poseidon), เฮสเทีย (Hestia), ดิมีเตอร์ (Demeter) และเฮรา (Hera) ซึ่งตำนานกรีกเล่าว่าโครนัสและเหล่าพี่น้องไททันของตนได้ยึดอำนาจจากยูเรนัส แล้วก้าวขึ้นมาปกครองจักรวาลนี้ แต่แล้วทวยเทพโอลิมปัสที่นำโดยซุสก็ได้ก่อสงครามกับเหล่าไททันที่กินเวลายาวนานสิบปีอันเรียกว่าไททันโนมาคี (Titanomachy) โดยที่ผลลัพธ์ของสงครามก็คือเหล่าไททันพ่ายแพ้และโดนจองจำในทาร์ทารัส (Tartarus) อันเป็นโลกใต้พิภพแห่งตำนานกรีก ส่วนเทพโอลิมปัสก็กลายมาเป็นเทพเจ้าผู้ปกครองสรรพสิ่งโดยถาวร

รูปลักษณ์และการตีความของไททันในตำนานกรีกแต่เดิมนั้น ไม่ได้ระบุถึงขนาดรูปร่างของไททันเอาไว้ แต่ว่าสื่อบันเทิงต่าง ๆ ในปัจจุบันเมื่อพูดถึงไททันก็มักจะตีความให้มีรูปร่างใหญ่โตมโหฬารราวกับเป็นภูเขาเดินได้กันแทบทั้งนั้น ซึ่งในประเด็นนี้เชื่อว่าเป็นอิทธิพลมาจากวรรณกรรมชื่อสวรรค์สิ้นสูญ (Paradise Lost) ของจอห์น มิลตัน (John Milton) ซึ่งเผยแพร่ในปีค.ศ.1667 ที่บรรยายถึงขนาดของไททันเอาไว้ว่าใหญ่โตมโหฬารซึ่งคนรุ่นหลังก็ยึดถือคุณลักษณะนี้สืบต่อกันมา

เมื่อบวกกับประเด็นที่ว่าไททันถือกำเนิดมาจากไกอาที่เป็นพระแม่ธรณี เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมไททันของ Final Fantasy จึงมีร่างกายมโหฬารและมีการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับผืนปฐพีทั้งสิ้น


Bahamut

บาฮามุตนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเวทอัญเชิญที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในแฟรนไชส์ Final Fantasy ซึ่งรูปลักษณ์ที่ถูกนำเสนอออกมาก็คือมังกรผู้เป็นเจ้าแห่งท้องนภาและมีท่าโจมตีประจำตัวอันรุนแรงคือเมกาแฟลร์ (Mega Flare) ซึ่งในภาค 16 นี้บาฮามุตถือเป็นไอคอนธาตุแสงที่มีโดมิแนนต์เป็นดิออน เลอซาจ (Dion Lesage) องค์ชายแห่งอาณาจักรซันเบรก (Sanbreque) และยังเป็นอัศวินมังกรที่เก่งกาจ ไคลฟ์ก็ต้องปะทะกับเขาในเกมแต่ภายหลังเขาก็ได้กลายมาเป็นมิตรสหายที่แข็งแกร่ง

ถึงแม้ว่าภาพจำของบาฮามุตในสื่อบันเทิงปัจจุบันจะเป็นพญามังกรก็ตาม แต่หากอ้างอิงจากต้นกำเนิดแล้ว บาฮามุตนั้นไม่ใช่มังกรอย่างที่เราเข้าใจกันครับ

ชื่อของบาฮามุตปรากฏอยู่ในหนังสือจักรวาลวิทยาของ Zakariya al-Qazwini ที่เขียนขึ้นในปีค.ศ.1203 โดยมีการบรรยายโครงสร้างของโลกเอาไว้ว่าโลกนี้มีเทวทูตที่แบกเอาไว้อยู่ เทวทูตผู้นี้ยืนอยู่บนแผ่นอัญมณีและใต้แผ่นอัญมณีนี้มีวัวขนาดใหญ่ที่เรียกว่าคุยุตะ (Kuyuta) คอยรองรับเอาไว้ และด้านใต้ของคุยุตะก็คือบาฮามุตที่เป็นปลาขนาดยักษ์และอยู่นิ่ง ๆ เพื่อความมั่นคง เรียกได้ว่าบาฮามุตนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวตนที่มีต้นกำเนิดมาจากอารยธรรมอาหรับ

แต่ในเมื่อตำนานดั้งเดิมกล่าวถึงบาฮามุตว่าเป็นปลาแบบนี้ แล้วทำไมจู่ ๆ ถึงกลายมาเป็นมังกรได้ล่ะ? เพราะไม่ใช่แค่แฟรนไชส์ Final Fantasy เท่านั้นแต่ว่าสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดในปัจจุบันต่างก็ตีความบาฮามุตเป็นมังกรทั้งหมด เรื่องนี้ก็ต้องอ้างอิงไปถึงเกมกระดานชื่อดังอย่างดันเจียนส์แอนด์ดราก้อนส์ (Dungeons & Dragons) ที่นำเอาชื่อบาฮามุตมาใช้กับตัวละครที่เป็นมังกรเทพเจ้าครับ ถ้าจะให้เจาะจงไปกว่านั้นก็คือในหนังสือคู่มือ Monster Manual ที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ.1977 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบกับเกมกระดาน Advanced Dungeons & Dragons 1st edition ในยุคนั้น

และด้วยอิทธิพลดังกล่าวนี่เอง ก็เลยทำให้ปัจจุบันนี้เวลาพูดถึงชื่อบาฮามุตทีไร ความรับรู้ของคนทั่วไปก็จะเข้าใจว่าเป็นพญามังกรที่มีอิทธิฤทธิ์มหาศาลกันไปแล้ว ไม่มีใครนึกถึงต้นกำเนิดจริง ๆ ที่เป็นปลาครับ ซึ่งก็แน่นอนว่าบาฮามุตของ Final Fantasy ก็รับอิทธิพลมาจากมังกรเทพเจ้าตัวที่ว่านี้นั่นล่ะ


Odin

สำหรับไอคอนตัวสุดท้ายที่จะขอพูดถึงก็คือโอดิน ที่เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือเทพเจ้าสูงสุดแห่งเทพเอเซียร์ (Aesir) ในปกรณัมนอร์ส ผู้ได้ฉายาว่าบิดาแห่งสรรพสิ่ง (Allfather) ซึ่งในภาค 16 นี้โอดินเป็นไอคอนประจำธาตุดินซึ่งมีโดมิแนนต์คือบาร์นาบัส ธาร์เมอร์ (Barnabas Tharmr) ผู้เป็นราชาแห่งอาณาจักรวาลูด (Waloed) พร้อมกับที่มีฝีมือดาบเก่งกาจจนเอาชนะไคลฟ์ได้หลายครั้ง

ภาพลักษณ์โดยทั่วไปของโอดินก็คือหมวก, เครายาว, ผ้าคลุมและมีตาเดียว และมีอาวุธคู่มือคือหอกกุงเนียร์ (Gungnir) ส่วนสัตว์พาหนะประจำตัวของโอดินก็คือสเลปเนียร์ (Sleipnir) ซึ่งเป็นม้าที่มีแปดขาด้วยกันตามตำนาน ไม่เพียงเท่านั้นโอดินยังมีอีกาสองตัวคือฮูกินน์ (Huginn) และมูนินน์ (Muninn) ที่จะคอยโบยบินไปทั่วโลกในแต่ละวันเพื่อนำข่าวสารกลับมาแจ้งให้โอดินทราบ

โอดินนั้นได้ชื่อว่าเป็นเทพผู้เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงมาจากศีรษะของมิเมียร์ (Mimir) ที่โดนเทพวาเนียร์ (Vanir) ตัดศีรษะ แต่โอดินก็ได้ใช้เวทรวมถึงสมุนไพรรักษาศีรษะของมิเมียร์เอาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย และความรู้อันมากมายเหล่านั้นก็มาจากการบอกเล่าของมิเมียร์ ส่วนในร้อยกรองเอ็ดดา (Poetic Edda) ระบุว่าโอดินยอมสละดวงตาของตนหนึ่งข้างให้แก่บ่อน้ำของมิเมียร์เพื่อแลกกับความรู้มากมายมหาศาล (ซึ่งศีรษะของมิเมียร์ก็ยังคงให้คำปรึกษาแก่โอดินอยู่ดี)

แต่ไม่ว่าโอดินจะมีความสามารถเพียงใด มีความรู้แค่ไหนและเตรียมการมากเท่าไร สุดท้ายแล้วเมื่อแร็กนาร็อก (Ragnarok) มาถึง โอดินก็มีอันต้องจบชีวิตลงภายใต้คมเขี้ยวของเฟนเรียร์ (Fenrir) ร่วมกับเทพเอเซียร์องค์อื่น ๆ เป็นอันสิ้นสุดยุคสมัยของเหล่าเทพเอเซียร์

ดีไซน์ของโอดินในเกม Final Fantasy แต่ละภาคจะมีลักษณะเป็นอัศวินบนหลังม้า (ซึ่งก็คือม้าสเลปเนียร์) และในภาค 16 นี้ก็มีการอ้างอิงชื่อเรียกหลายอย่างจากตำนานนอร์ส ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการกองทัพวาลูดคนสนิทที่ชื่อสเลปเนียร์ รวมถึงความสามารถที่ไคลฟ์ใช้ได้ภายหลังจากที่ดูดพลังโอดินมาแล้วอย่างเช่นกุงเนียร์ เป็นต้น


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วไว้เราจะหยิบยกอะไรน่าสนใจมานำเสนอกันอีกครับ!

แหล่งข้อมูล

Peterson, Mark Allen (2007). “From Jinn to Genies: Intertextuality, media, and the making of global folklore”. In Sherman, Sharon R.; Koven, Mikel J. (eds.). Folklore/Cinema: Popular film as vernacular culture. Logan, UT: Utah State University Press – via Utah State U. digital commons.

Flood, Gavin (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0521438780.

Chelhod, J., “ʿIfrīt”, in: Encyclopaedia of Islam, Second Edition, Edited by: P. Bearman, Th. Bianquis, C.E. Bosworth, E. van Donzel, W.P. Heinrichs. Consulted online on 06 October 2019 <http://dx.doi.org/10.1163/1573-3912_islam_SIM_3502> First published online: 2012 First print edition: ISBN 9789004161214, 1960-2007

Herodotus, The Histories (1858 translation)Book II Archived 2011-06-29 at the Wayback Machine Trans. G. Rawlinson (1858)

Berry, Thomas (1996). Religions of India: Hinduism, Yoga, Buddhism. Columbia University Press. pp. 20–21. ISBN 978-0-231-10781-5.

  1. A. Gopinatha Rao (1993). Elements of Hindu iconography. Motilal Banarsidass. pp. 285–287. ISBN978-81-208-0878-2Archivedfrom the original on 6 July 2023. Retrieved 7 January 2018.

Johannes Adrianus Bernardus Buitenen (1973). The Mahabharata, Volume 3 (Book 4: The Book of the Virata; Book 5: The Book of the Effort). University of Chicago Press. pp. 167–168, 389–393. ISBN 978-0-226-84665-1Archived from the original on 6 July 2023. Retrieved 7 January 2018.

HesiodTheogony 133–138

John Milton, Paradise Lost (second edition; 1674), 192–202

Lane, Edward William (1883). Lane-Poole, Stanley (ed.). Arabian society in the Middle ages: studies from the Thousand and one nights. London: Chatto & Windus. pp. 106–107.

Gygax, GaryMonster Manual (TSR, 1977)

https://www.worldhistory.org/odin/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์