Articles News

ตำนานสุซาโนโอะและความเชื่อมโยงกับเกม Shin Megami Tensei V Vengeance

โดย G-jang

ตำนานสุซาโนโอะและความเชื่อมโยงกับเกม Shin Megami Tensei V Vengeance

รู้ไว้ไม่เสียหาย: ตำนานสุซาโนโอะและความเชื่อมโยงกับเกม Shin Megami Tensei V Vengeance

Shin Megami Tensei นั้นเป็นหนึ่งซีรีส์ที่อยู่คู่กับวงการมายาวนานอีกซีรีส์หนึ่ง ซึ่งแม้ว่าเดิมทีชื่อเสียงของซีรีส์นี้จะค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเกมเองก็ได้มีการปรับปรุงพัฒนาตามยุคสมัยจนเริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งนับตั้งแต่ภาคแรกที่วางจำหน่ายในปีค.ศ.1987 เป็นต้นมาก็เรียกได้ว่าอายุ 37 ปีเข้าไปแล้ว

เอกลักษณ์ของซีรีส์ก็ไม่พ้นการที่ตัวเกมแต่ละภาคนั้นอุดมไปด้วยเทพและปีศาจมากมายจากหลากหลายสรรพตำนานทั่วโลกที่มาร่วมสร้างเรื่องราวและสีสัน ส่วนเทพหรือมารจากตำนานใดจะได้รับบทเด่นก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาประจำภาคนั้น ๆ ว่าทีมงานตั้งใจนำเสนออะไร

ในคราวนี้กับภาคล่าสุดอย่าง Shin Megami Tensei V Vengeance เราจึงอยากนำเอาเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้เนื้อหาภาคนี้สนุกและน่าสนใจไม่เบามาฝากกันครับ

*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของเกมในบท Canon of Vengeance


สุซาโนโอะ และบทบาทในภาพรวมของเกม

เซ็ตติ้งสำคัญของเกมในภาคนี้ก็คือตัวเอกนั้นเป็นเพียงนักเรียนม.ปลายธรรมดาในโรงเรียนโจวอินประจำโตเกียว แต่เขาจับพลัดจับผลูพลัดหลงเข้าไปในมิติซึ่งเรียกว่า Netherworld และได้พบกับเหล่าปีศาจอันตรายมากมาย ซึ่งเขาจะไม่มีทางรอดชีวิตได้เลยหากว่าไม่ได้พบกับปีศาจสังเคราะห์ซึ่งเรียกตัวเองว่าอาโอกามิ และเมื่อตัวเอกรวมร่างเข้ากับอาโอกามิแล้ว เขาจึงมีพลังในการฝ่าฟันทั้งเทพและปีศาจใน Netherworld ได้ในฐานะของนาโฮบิโนะ

เรื่องราวที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งในเกมภาคนี้กล่าวถึงพระเจ้าแห่งกฎเกณฑ์ (God of Law) ผู้ซึ่งปกครองสรรพสิ่งตามวัฏจักรที่ควรจะเป็น หากแต่ว่าพระเจ้าไม่ประสงค์ที่จะให้มีใครมาช่วงชิงบัลลังก์ของตนได้ จึงทำการริบสิ่งที่เรียกว่าองค์ความรู้แห่งการสรรค์สร้าง (Knowledge of Creation) มาจากบรรดาเทพเจ้าองค์อื่น ๆ จนหมด ทำให้สถานะของเทพเจ้ากลายเป็นเหลือแค่เพียงปีศาจ และ Knowledge เช่นว่าก็กระจัดกระจายไปอยู่กับมนุษย์มากมาย ดังนั้นหากว่าปีศาจตนใดที่สามารถค้นหา Knowledge ของตนเจอก็ย่อมมีสิทธิในการขึ้นบัลลังก์เป็นพระเจ้าแห่งกฎเกณฑ์องค์ต่อไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปีศาจถึงได้ล้วนหมายตามนุษย์นั่นเองครับ


แล้วอาโอกามิที่ว่านี้คือใครกันล่ะ?

ตามท้องเรื่องในเกมนั้น อาโอกามิคือหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่าปีศาจสังเคราะห์ (Proto-fiend) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยองค์กรเบเธล (Bethel) สาขาญี่ปุ่นซึ่งเป็นองค์กรที่คอยต่อสู้กับบรรดาปีศาจโดยไม่ให้สาธารณชนล่วงรู้ ร่างสังเคราะห์เหล่านี้มีไว้เพื่อบรรจุพลังแห่งเทพเจ้าญี่ปุ่นโบราณเข้าไป โดยที่ปีศาจสังเคราะห์เหล่านี้ถูกสร้างแบ่งเป็น 3 โมเดลด้วยกัน นั่นคือสุซาโนโอะ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อสู้, ซึคุโยมิ ที่มีวัตถุประสงค์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ส่วนโมเดลสุดท้ายคืออามาเทราสึ ที่มีวัตถุประสงค์ทั้งสองด้านที่กล่าวมาและจะเป็นผู้นำของเหล่าเทพอามาสึคามินั่นเอง

แน่นอนว่าอาโอกามิในเกม ก็คือปีศาจสังเคราะห์โมเดลสุซาโนโอะอย่างที่น่าจะคาดกันได้ และนั่นจึงทำให้บรรดาชื่อท่าและชื่อสกิลต่าง ๆ ในแบบเฉพาะของนาโฮบิโนะ (ซึ่งสามารถเก็บได้จากซากที่เหลืออยู่ของอาโอกามิที่พบได้ทั้งเกม) จึงล้วนแล้วแต่มีการอ้างอิงมาจากตำนานที่เกี่ยวข้องกับสุซาโนโอะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อท่าอย่างอารามาสะ หรือท่ามุราคุโมะ ที่อ้างอิงมาจากชื่อดาบในตำนานของญี่ปุ่นครับ

มาจนถึงตอนนี้ ใครที่เล่นเกมแล้วเคยสงสัยว่าทำไมท่าดาบอารามาสะในเกมถึงต้องเป็นการโจมตี 8 ฮิต นั่นก็เพราะในเมื่อตัวเอกมีพลังของสุซาโนโอะแล้ว การตวัดดาบ 8 ครั้งก็เปรียบเสมือนวีรกรรมในคราวที่สุซาโนโอะไปสังหารยามาตะโนะโอโรจิซึ่งเป็นอสรพิษแปดเศียรนั่นเอง ส่วนสกิลอื่น ๆ ก็จะเน้นนำเสนอธาตุรวมถึงภาพลักษณ์ที่แสดงออกถึงวารีและวายุ นั่นเพราะสุซาโนโอะคือเทพแห่งท้องทะเลและพายุตามตำนานญี่ปุ่น


ตัวละครสมทบในเกมที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับสุซาโนโอะ

ทาโอะ อิโซโนคามิ

ทาโอะนั้นเป็นนักเรียนม.ปลายของโรงเรียนโจวอินเช่นเดียวกับตัวเอก โดยที่เธอเป็นคนที่จิตใจดีงามและเอาใจใส่คนอื่น พร้อมทั้งมีพลังพิเศษตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้ให้ความช่วยเหลือในภารกิจของเบเธลสาขาญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน พร้อมกับได้รับฉายาว่าเป็นนักบุญ ซึ่งในบท Canon of Vengeance นั้นเธอเปรียบเสมือนตัวแทนของฝ่าย Law ของเกม

แม้ว่าเธอจะดูเป็นเด็กสาวม.ปลายทั่วไป แต่เมื่อดำเนินเรื่องราวไปจนช่วงท้ายแล้ว ความจริงจะเปิดเผยออกมาว่าเธอคือเทพธิดาแห่งการสรรค์สร้าง ผู้ซึ่งมีหน้าที่นำทางนาโฮบิโนะไปสู่บัลลังก์แห่งการสรรค์สร้างเพื่อขึ้นเทพแห่งกฎเกณฑ์องค์ใหม่ผู้ที่จะปกครองมนุษย์ต่อไป และไม่เพียงแค่นั้น แต่ในไซด์เควสต์ปราบยามาตะโนะโอโรจินั้นจะมีการบอกใบ้กลาย ๆ ด้วยว่าแท้จริงแล้วทาโอะก็คือ Knowledge ของอามาเทราสึนั่นเอง

ชื่อของเธอนั้นก็มีกิมมิคในการตั้งชื่ออยู่ เพราะว่าอิโซโนคามินั้นอ้างอิงมาจากชื่อของศาลเจ้าอิโซโนคามิในจังหวัดนาราของญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งศาลเจ้าชินโตแห่งนี้ว่ากันว่าเป็นที่เก็บรักษาดาบในตำนานอย่างโทสึกะโนะซึรุกิ (หรือถ้าจะให้เจาะจงก็คือดาบโอโรจิโนะอารามาสะ) ที่สุซาโนโอะใช้สังหารยามาตะโนะโอโรจิ รวมถึงดาบชิจิชิโตะหรือดาบเจ็ดกิ่งที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีจากสื่อบันเทิงอื่น ๆ หลายเรื่องนั่นล่ะครับ นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าที่นี่เก็บรักษา “สมบัติสิบประการ” ที่อาเมะโนะฮิโบโกะนำมาไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน

ศาลเจ้าอิโซโนคามินี้ถือเป็นหนึ่งในศาลเจ้าชินโตที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นและสมาชิกราชวงศ์ของญี่ปุ่นก็มักแวะสักการะบูชาที่นี่กันบ่อยครั้ง


ยูซึรุ อัตสึตะ / มิยาซึ อัตสึตะ

ยูซึรุและมิยาซึนั้นเป็นสองพี่น้องที่เรียนในโรงเรียนม.ปลายโจวอินเช่นเดียวกับตัวเอก โดยที่ยูซึรุผู้เป็นพี่ชายนั้นคือนักเรียนดีเด่นที่มีความสามารถรอบด้าน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของเบเธลสาขาญี่ปุ่น และเขาต่อสู้โดยใช้งานโปรแกรมอัญเชิญปีศาจในการต่อสู้ (อาจจะเรียกเป็นการคารวะเกมภาคแรกและนิยายต้นฉบับก็ว่าได้) ในขณะที่มิยาซึผู้เป็นน้องสาวนั้นมีร่างกายอ่อนแอและค่อนข้างขี้อาย และการที่ทั้งสองไม่มีเครือญาติอื่นหลงเหลืออยู่อีก ยูซึรุจึงพยายามอย่างหนักในการทำหน้าที่พี่ชายรวมถึงหน้าที่ด้านอื่น ๆ และทำให้มิยาซึก็แอบเป็นกังวลว่าพี่ชายของเธอจะฝืนตัวเองเกินไป

ตามท้องเรื่องในเกมนั้นยูซึรุคือ Knowledge ของเทพญี่ปุ่นโบราณอีกองค์หนึ่งนั่นคือสึคุโยมินั่นเอง สึคุโยมินั้นถือเป็นเทพแห่งจันทราในตำนานญี่ปุ่นโบราณ  ในขณะที่มิยาซึนั้นเป็น Knowledge ของเทพอียิปต์อย่างคอนซูแทน ซึ่งคอนซูนั้นก็เป็นเทพแห่งจันทราดุจเดียวกันตามตำนาน เรียกได้ว่าทั้งสองพี่น้องนี้ถูกออกแบบมาให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ครับ

นามสกุลของสองพี่น้องนี้มีที่มาจากศาลเจ้าชินโตในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นั่นคือศาลเจ้าอัตสึตะในจังหวะนาโกยะของญี่ปุ่น ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษาดาบในตำนานอย่างดาบคุซานางิเอาไว้ ส่วนเทพเจ้าองค์ใหญ่ประจำศาลเจ้าแห่งนี้ก็คือเทพีอามาเทราสึครับ (และยังมีการสักการะสุซาโนโอะรวมถึงเทพองค์อื่นเช่นกัน) ดาบคุซานางินี้ถือเป็นหนึ่งในสามเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของญี่ปุ่น โดยที่ชื่อของดาบเล่มนี้มีการบรรยายเอาไว้ในโคจิกิ (ที่เป็นบันทึกเกี่ยวกับปกรณัมญี่ปุ่น) ว่าเดิมทีดาบเล่มนี้ชื่อว่าดาบอามะโนะมุราคุโมะ (หรืออาเมะโนะมุราคุโมะ แปลได้ประมาณว่า ดาบมวลเมฆาสวรรค์) ซึ่งสุซาโนโอะค้นพบอยู่ในหางของยามาตะโนะโอโรจิที่ตนเองสังหารไปนั่นเองครับ

ต่อมายามาโตะ ทาเครุที่เป็นวีรบุรุษแห่งตำนานยามาโตะก็ได้ใช้ดาบเล่มนี้หนีเอาตัวรอดมาจากวงล้อมได้ ในตอนนั้นยามาโตะ ทาเครุตกอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีหญ้าสูงที่มีไฟลุกท่วม เขาได้ใช้ดาบเล่มนี้ตัดหญ้าไม่ให้กลายเป็นเชื้อไฟเพิ่ม แล้วพบว่าดาบมีพลังควบคุมสายลม เขาจึงตวัดดาบให้สายลมพัดพาเปลวเพลิงย้อนกลับไปยังผู้ประสงค์ร้ายจนได้ชัยชนะ เขาจึงตั้งชื่อดาบเสียใหม่ว่าดาบคุซานางิ (ดาบตัดหญ้า…)


โยโกะ ฮิโรมิเนะ

โยโกะ ฮิโรมิเนะนี้ถือเป็นตัวละครใหม่ที่ได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาในเนื้อหาบท Canon of Vengeance โดยเฉพาะ ซึ่งการมีตัวตนของเธอก็ทำให้เนื้อหาหลักของเกมเปลี่ยนแปลงไปจาก Canon of Creation ที่เป็นต้นฉบับอย่างมากเลยก็ว่าได้

เธอเป็นเด็กสาวม.ปลายแห่งโรงเรียนเซนต์มารีนา และได้พบกับตัวเอกครั้งแรกใน Netherworld และเปิดเผยว่าตัวเธอเองนั้นมีพลังพิเศษในการต่อสู้กับเหล่าปีศาจนับตั้งแต่เด็กเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่าเป็นนักบุญและแท้จริงก็เป็นหนึ่งในเทพธิดาแห่งการสรรค์สร้าง ซึ่งหลังจากที่เธอได้พบกับตัวเอกไม่นาน เธอก็ย้ายโรงเรียนมาอยู่ใกล้ชิดกับเขาที่โรงเรียนม.ปลายโจวอิน

เมื่อดำเนินเรื่องไปเราจะได้รู้ว่า แม้เธอจะมีฝีมือโดดเด่นแต่กลับโดนเบเธลปิดผนึกเอาไว้เพราะความสามารถของเธอนั้นเกินหน้าเกินตาใคร ๆ มากไป ด้วยเหตุนั้นเอง เธอจึงเคียดแค้นระบบและรวมถึงการดำรงอยู่ของโลกนี้ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากพระผู้สร้าง ความปรารถนาของเธอจึงเป็นการลบทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ โยโกะจึงเป็นตัวแทนของฝั่ง Chaos ในเกม

นามสกุลฮิโรมิเนะของเธอนั้น มีที่มาจากศาลเจ้าชินโตนั่นคือศาลเจ้าฮิโรมิเนะ ที่ตั้งอยู่บนภูเขาฮิโรมิเนะในจังหวัดเฮียวโกะ โดยที่ศาลเจ้าแห่งนี้ทำการเคารพบูชาเทพโกซึเท็นโน (เทวราชเศียรวัว) ซึ่งหากพูดถึงโกซึเท็นโนแล้ว มีทฤษฎีที่เชื่อกันว่าเดิมทีโกซึเท็นโนคือเทพผู้พิทักษ์วัดเชตวันมหาวิหารในอินเดีย ก่อนจะเกิดการหลั่งไหลและผสมผสานของวัฒนธรรมในจีน ก่อนจะเข้ามาในญี่ปุ่นจนสุดท้ายก็เกิดการหลอมรวมวัฒนธรรม จนโกซึเท็นโนนั้นกลายเป็นองค์เดียวกับสุซาโนโอะในยุคต่อ ๆ มาไปโดยปริยายครับ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าทีมพัฒนานำเอาองค์ประกอบความเกี่ยวโยงในส่วนนี้มาตั้งชื่อโยโกะนี่เองครับ


อิจิโร ดาไซ

อิจิโร ดาไซเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนม.ปลายประจำโรงเรียนม.ปลายโจวอินเช่นกัน ตัวละครอย่างดาไซนั้น ถูกนำเสนอในลักษณะของคนที่มีบุคลิกร่าเริงแต่ว่าค่อนข้างไม่เอาอ่าว เป็นคนที่ไม่มีอะไรโดดเด่นในด้านการเรียน หรือในด้านอื่น ๆ จึงทำให้ผู้คนรอบข้างมองเขาว่าเป็นคนไร้ประโยชน์ ในช่วงต้นเกมเราเลยจะได้เห็นเขาพยายามจะสร้างชื่อเสียงและต้องการเป็นคนเด่นดังโดยไปทำการไลฟ์สตรีมในอุโมงค์ทาคานาวะที่มีข่าวลือว่ามีปีศาจปรากฏตัว แต่นั่นก็ทำให้เขาเองติดร่างแหและหลุดไปยัง Netherworld ด้วยอีกคนในตอนที่เกิดเหตุอุโมงค์ถล่ม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาได้รับการช่วยเหลือและได้ทำความรู้จักกับเบเธลแล้ว เขาก็ได้รับการชักชวนเข้าเป็นสมาชิกของเบเธลและได้รับโปรแกรมอัญเชิญปีศาจมาใช้งานในลักษณะเดียวกันกับยูซึรุด้วยเหมือนกัน แม้ว่าในช่วงแรกเขาจะยังคงมีบุคลิกที่ขี้ขลาด แต่เขาก็เริ่มมั่นใจขึ้นเมื่อดำเนินเรื่องราวต่อไป ก่อนจะกลายเป็นคนที่เชื่อมั่นตนเองจนเข้าขั้นอวดดีและหยิ่งยโสไปโดยปริยาย

นามสกุลดาไซของเขานั้นก็มีที่มาจากศาลเจ้าชินโตเช่นกัน นั่นคือศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกุ ในจังหวัดฟุกุโอกะของญี่ปุ่น โดยที่ศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกุนี้เป็นศาลเจ้าที่อุทิศให้แด่สึกาวาระ มิจิซาเนะ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นเทพเท็นจินที่โดดเด่นด้านการเรียนรู้, วัฒนธรรมและศิลปะครับ โดยสึกาวาระนั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ.845-903 และมีคุณูปการมากมายในด้านวัฒนธรรมและการเมืองในสมัยนั้น ความโดดเด่นทำให้เขากลายมาเป็นผู้ที่องค์จักรพรรดิพอพระทัย แต่ทว่ากลับไปขัดหูขัดตาตระกูลฟูจิวาระที่ทรงอิทธิพลในยุคนั้น

สึกาวาระโดนใส่ความว่าใช้อำนาจและตำแหน่งในทางที่ไม่ชอบ จนโดนเนรเทศให้มาใช้ชีวิตที่ดาไซฟุ ต้องจากครอบครัวและราชสำนักในเกียวโต ก่อนจะจากโลกนี้ไปในปี 903 ตอนอายุได้ 59 ปีโดยปราศจากตำแหน่งและทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งว่ากันว่าในตอนที่สึกาวาระเสียชีวิตนั้น ศพของเขาได้ถูกลำเลียงขึ้นเกวียนเพื่อนำไปฝัง ทว่าวัวที่ลากเกวียนนั้นกลับหยุดยืนอยู่ ณ จุดหนึ่งโดยไม่ยอมขยับเขยื้อนไปไหน ศพของสึกาวาระจึงถูกฝังอยู่ ณ ที่แห่งนี้อันกลายมาเป็นตำแหน่งที่ตั้งของศาลเจ้านั่นเอง

อาณาบริเวณของศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกุนี้ มีรูปปั้นสำริดรูปวัวอยู่ด้วยกันทั้งหมด 11 ตัวโดยเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งบทบาทของศาลเจ้านี้ในการดูแลสังขารของสึกาวาระ มิจิซาเนะครับ


สุซาโนโอะ วัว และเทพเจ้าแห่งการสรรค์สร้าง

จากที่กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นได้ว่าบรรดาตัวละครหลัก รวมถึงตัวละครสมทบมากมาย ล้วนมีการอ้างอิงและมีส่วนเกี่ยวพันกับตำนานโบราณของญี่ปุ่นในระดับที่ค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร (รวมถึงตัวอื่น ๆ ที่เราไม่ได้กล่าวถึงในคราวนี้)

แต่ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องสุซาโนโอะ ทำไมต้องตำนานญี่ปุ่นโบราณ เพราะในภาพรวมแล้ว Shin Megami Tensei V Vengeance ก็ดูจะมีเซ็ตติ้งที่อ้างอิงจากกลุ่มศาสนาอับราฮัมเป็นหลัก ทั้งเรื่องพระเจ้าสูงสุดผู้สร้าง ทั้งเรื่องผลแห่งปัญญาที่อสรพิษล่อลวงให้มนุษย์กิน ฯลฯ หรือว่าทีมสร้างต้องการแค่จะอวยตำนานประจำประเทศของตัวเองแค่นั้น?

อย่างที่บอกไปว่าเซ็ตติ้งของเกมภาคนี้ จะพูดถึงวัฏจักรการปกครองของโลก (และจักรวาล) ในองค์รวม ที่เมื่อมีเทพองค์ใดขึ้นมาเป็นพระผู้สร้าง เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีนาโฮบิโนะที่เข้ามาท้าทายบัลลังก์และโค่นอำนาจองค์เก่าเพื่อครองอำนาจแทน เป็นวัฏจักรเช่นนี้สืบไป

โดยเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ในเกมกล่าวถึงมาร์ดุก (Marduk) ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นเทพมีเขาหรือเทพวัว (Horned God/Bull God) ผู้สังหารเทียมัต (Tiamat) ซึ่งเป็นอสุรกายบรรพกาลและมีบทบาทเป็นเทพมารดรแห่ง Chaos ในเกม ภายหลังจากที่เทียมัตโดนโค่นล้มแล้ว มาร์ดุกได้ทำการสร้างระบบบัลลังก์ขึ้นมาแล้วร่ายคำสาปเอาไว้ว่า แม้ตนจะโดนโค่นล้มไปแต่ระบบเช่นนี้จะยังคงดำรงอยู่สืบไป ซึ่งก็อ้างอิงจากตำนานเมโสโปเตเมียโบราณที่เมื่อมาร์ดุกสังหารเทียมัตแล้ว เขาก็ได้สร้างโลกขึ้นมาจากร่างกายของเทียมัตนั่นเองครับ

ในเนื้อหาของ Canon of Vengeance นี้ ตัวเอกจะได้เผชิญหน้ากับเทียมัตเป็นหนึ่งในบอสอันร้ายกาจในช่วงท้ายเกม ซึ่งแม้ว่าเทียมัตจะมีตัวตนเข้าใกล้ความเป็นอมตะ แต่สุดท้ายก็ถูกกำจัดได้ด้วยพลังของอาโอกามิ (สุซาโนโอะ) ภายใต้เหตุผลที่ว่าพลังแห่งเทวะของเทียมัตนั้นมีคอนเซปต์พื้นฐานจากมังกร ทว่าสุซาโนโอะนั้นได้ชื่อว่าเป็นเทพผู้สังหารมังกร (ยามาตะโนะโอโรจิ) มันก็เลยมีสถานะเป็นการข่มกันในเชิงคอนเซปต์ไปโดยปริยายครับ นี่ยังไม่นับว่าสุซาโนโอะเองก็ถูกหลอมรวมเข้าไปกับโกซึเท็นโนที่เป็นเทวราชเศียรวัวอีก การต่อสู้กับเทียมัตจึงมีความคล้ายคลึงกับตอนที่มาร์ดุกสังหารเทียมัตด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นเทพวัวผู้สังหารมังกรปฐมกาลนี่เอง

และก็ด้วยเหตุนี้อีกเช่นกัน ที่ทำให้ตัวเอกในฐานะนาโฮบิโนะของสุซาโนโอะ สามารถก้าวขึ้นสู่บัลลังก์เพื่อสรรค์สร้างโลกขึ้นมาใหม่ในแนวทางที่ตนเชื่อมั่นและวาดฝันเอาไว้ ส่วนจะไปในแนวทางใด Law? Neutral? Chaos? ทั้งหมดแล้วแต่ผู้เล่นจะเป็นคนตัดสินใจครับ


แม้ว่า Shin Megami Tensei V Vengeance จะมีเนื้อหาที่เป็นการขยำรวมสรรพตำนานต่าง ๆ เข้าไว้จากทั่วโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมงานนั้นมีความรอบรู้เกี่ยวกับเทวตำนานต่าง ๆ ในระดับที่ยอดเยี่ยมจนสามารถหยิบองค์ประกอบต่าง ๆ มาจับเล็กผสมน้อยจนมันเข้ากันได้แบบไม่น่าเชื่อแบบนี้นี่ล่ะครับ

ที่มาของข้อมูล

https://kansai-odyssey.com/isonokami-shrine/

https://www.city.sakurai.lg.jp/section/yamato-travel/destination/area01/spot07/

https://www.sarusawa-nara.com/post/tenri-city

https://www.atsutajingu.or.jp/en/intro/

https://www.japanesewiki.com/Shinto/Ama%20no%20Murakumo%20no%20Tsurugi.html

https://d-museum.kokugakuin.ac.jp/eos/detail/?id=9933

https://www.dazaifutenmangu.or.jp/en/discover-dazaifu-tenmangu/history/

https://faculty.humanities.uci.edu/sbklein/images/GHOSTS/michizane/pages/sumi305.htm

https://oracc.museum.upenn.edu//amgg/listofdeities/marduk/index.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์