News Reviews

Nobody Wants To Die – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Nobody Wants To Die – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก PLAION มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

เกม Nobody Wants To Die นี้ เป็นผลงานจาก Critical Hit Games สตูดิโอสัญชาติโปแลนด์ และเกมนี้ก็ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของพวกเขาครับ ด้วยความที่สตูดิโอก่อตั้งในปี 2020 นี่เอง จึงเรียกได้ว่าเกมนี้ใช้เวลาพัฒนาถึง 5 ปีเลยก็ว่าได้ ส่วนตัวเกมจะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะมาเล่าความรู้สึกให้ได้ฟังกัน


เนื้อเรื่อง

ในเกม Nobody Wants To Die นี้ เกมดำเนินเรื่องราวในมหานครนิวยอร์กแห่งยุคอนาคตในปีค.ศ.2329 ที่ซึ่งเทคโนโลยีนั้นพัฒนาล้ำหน้าไปไกล ชนิดที่ว่าความตายไม่ใช่ความตายอีกต่อไปเพราะทุกคนสามารถย้ายจิตสำนึกของตนไปสู่ร่างใหม่แล้วดำรงชีวิตต่อไปได้ในแบบที่ทำลายกฎธรรมชาติโดยสิ้นเชิง โดยเราจะรับบทเป็นนักสืบเจมส์ คาร์รา (James Karra) ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่มาเกินร้อยปี

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็โดนความทรงจำในอดีตตามหลอกหลอนและเขาจะต้องไปสืบคดีพิสดาร เมื่อเกิดเหตุที่คนใหญ่คนโตดันเสียชีวิตถาวรขึ้นมาเพราะเหตุฆาตกรรม เขาจึงต้องเข้าไปพัวพันกับแผนการใหญ่บางอย่างโดยเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ผมค่อนข้างชอบเซ็ตติ้งในโลกของเกมพอสมควรเพราะมันผสมความโบราณเข้ากับแนวคิดและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าได้ลงตัวแบบแปลก ๆ ครับ

ตอนที่มีข้อมูลเปิดเผยจากทีมงานว่าเกมนี้นำเสนอในสไตล์นีโอนัวร์นั้น ผมก็ยังคิดอยู่ว่ามันคืออะไรยังไง พอได้เล่นถึงรู้ว่าสถาปัตยกรรมและงานออกแบบต่าง ๆ ในเกมนี่แทบจะหลุดมาจากนิวยอร์กในช่วงยุคปี 1940s กันเลย (ยุคในภาพยนตร์ชุด The Godfather นั่นล่ะครับ) เสื้อผ้าหน้าผมทุกคนจะเป็นแบบย้อนยุค แม้แต่รูปทรงรถก็ย้อนยุคแต่สัญจรกันโดยขับรถบินไปมาทั่วเมือง พร้อมกับตึกระฟ้าที่สูงจนบดบังท้องฟ้า มันเลยเป็นส่วนผสมที่แปลกตาของสื่อบันเทิงสไตล์ฟิล์มนัวร์กับไซเบอร์พังก์เข้าด้วยกัน

เนื้อหาของเกมนั้นก็เดินเรื่องในแบบที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์หรือเกมสไตล์นัวร์และไซเบอร์พังก์ นั่นคือเต็มไปด้วยความหดหู่เศร้าหมอง ผู้คนที่เป็นชนชั้นแรงงานต่างใช้ชีวิตกันแบบกระเบียดกระเสียร ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดกันไป ส่วนบรรดาผู้ที่อยู่บนยอดพีระมิดต่างก็เสวยสุขกันบนความยากลำบากของผู้คนที่เป็นฐานพีระมิดอีกที

เซ็ตติ้งที่เป็นเอกลักษณ์ของเกมนี้ก็คือคอนเซปต์ของการมีชีวิตอยู่ต่อไปนี่ล่ะครับ โลกในเกมนี้จะเก็บความทรงจำของแต่ละคนเอาไว้ในสิ่งที่เรียกว่าอิคอร์ไรต์ (Ichorite) ที่หากเมื่อใดร่างกายปัจจุบันของบุคคลนั้นใกล้ดับสูญก็สามารถไปหาซื้อร่างกายใหม่ได้เพื่อดำรงชีพต่อไป แต่ปัญหาก็คือร่างกายเกรด A หรือแม้แต่เกรด B นั้นต่างมีราคาแพงลิบลิ่วที่คนทั่วไปยากจะไขว่คว้าได้ สุดท้ายจึงมีเพียงแค่ชนชั้นปกครองหรือพวกอีลิตเท่านั้นที่จะได้ไป ทำให้ประชาชนทั่วไปมีแค่เพียงร่างกายเกรด D หรือเกรด E กันเป็นส่วนใหญ่ (ที่มักพ่วงมาด้วยปัญหาหรือโรคประจำตัว)

ไม่เพียงแค่นั้น โลกในเกมนี้ยังลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานในเนื้อตัวร่างกายของประชาชนอีก เพราะว่าแต่ละคนจะใช้ชีวิตโดยปกติได้จนถึงเพียงแค่อายุ 21 เท่านั้น เมื่ออายุถึงเกณฑ์ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐเพื่อใช้ชีวิตต่อไปในร่างของตนเอง ถ้าจ่ายไม่ไหวคุณก็จะโดนดึงความทรงจำออกไปเก็บสู่คลังข้อมูล ส่วนร่างกายก็จะโดนปล่อยขายต่อไปทันที ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันสร้างโลกอนาคตในแบบดิสโทเปียที่หดหู่ออกมาได้ดีและน่าติดตามไม่เบาเลย

นอกจากเซ็ตติ้งของเกมแล้วในส่วนของเนื้อหาหลักก็สนุกและชวนติดตามครับ ตลอดเกมจะมีการใช้ชื่อและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในแง่ปรัชญาหรือตำนานโบราณบ่อยครั้ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันทำหน้าที่ได้ดีและมีจังหวะจะโคนการเล่าเรื่องที่เรียกได้ว่า “มีของ” เหมือนกัน

ผมเชื่อว่าถ้าคุณเป็นคนที่อ่านอะไรมาเยอะพอควร ดูอะไรมาหลากหลายพอควร ตลอดเวลาที่เล่นไปเกมมันจะทำหน้าที่ในการสื่อสารกับคุณโดยตรงได้ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งครับ แล้วเมื่อเล่นไปจนถึงฉากจบ เกมมันก็อาจจะทำให้คุณได้หวนกลับมานึกมานั่งคิดอะไรหลาย ๆ อย่างว่าสุดท้ายแล้วสิ่งใดกันคือคำตอบของชีวิตในแบบของคุณครับ

แต่นะครับ…มีแต่ สิ่งสำคัญที่ต้องทราบก็คือเกมนี้อาศัยความเข้าใจในภาษาอังกฤษระดับที่ค่อนข้างสูงเหมือนกัน ดังนั้นเรื่องภาษานี่อาจเป็นกำแพงใหญ่ที่ทำให้คุณเล่นไม่สนุกไปเลยก็ได้


เกมเพลย์

ในส่วนของเกมเพลย์สำหรับ Nobody Wants To Die นี้จะค่อนข้างเบาบางถ้าเทียบกับในส่วนของเนื้อหา เพราะตัวเกมนี้เป็นแนว interactive ที่เน้นการกดสำรวจ ตรวจสอบร่องรอยสถานที่เกิดเหตุ หาข้อมูล หาเบาะแสเพื่อดำเนินเรื่องต่อไป และในหลายครั้งก็ต้องเลือกตอบบทสนทนาที่จะมีผลต่อเรื่องราวและการตอบสนองของตัวละคร ซึ่งมันก็สมกับเป็นเกมสืบสวนสอบสวนดีครับ

แต่สิ่งที่ทำให้การสืบสวนสอบสวนมันดูน่าสนใจก็เป็นพวกเครื่องไม้เครื่องมือที่เจมส์จะมีไว้ใช้งานนี่ล่ะครับ อุปกรณ์ที่จะต้องพูดถึงที่สุดก็คงไม่พ้นอุปกรณ์ Reconstructor ครับ ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี่จะทำหน้าที่ในการ “ย้อนเวลา” สถานที่เกิดเหตุ ทำให้เรามองเห็นเหตุการณ์ในขั้นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงเก็บเบาะแสใหม่ ๆ มาได้ (แม้ผมจะหาคำอธิบายไม่ได้ว่าแล้วพวกของที่มันเสียหายไปนี่กลับคืนมาอีท่าไหนก็เถอะนะ) ซึ่งเจ้าระบบที่ว่านี่นำเสนอออกมาได้ละเอียดไม่เบาครับ

พวกบรรดาฉากระเบิด หรือฉากความพังทลายนี่เราสามารถเลื่อนไปข้างหน้าหรือเลื่อนย้อนกลับได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยที่เศษชิ้นส่วนต่าง ๆ นี่ใส่รายละเอียดพวกทิศทางที่กระเด็น จุดตกกระทบ หรืออะไรอื่น ๆ ให้เห็นชัดเจนทุกขั้นตอน ถ้าคุณไม่รีบเล่นก็สามารถหยุดดูพวกรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้เพลิน ๆ แน่นอนครับ

อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีใช้งานก็อย่างเช่นการใช้อุปกรณ์ฉายรังสี UV เพื่อสำรวจคราบเลือดและตามหาร่องรอยหรือไม่ก็อุปกรณ์ X-Ray ที่มักใช้เพื่อตรวจสอบร่องรอยความเสียหายบนร่างกาย ฯลฯ ที่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนจำเป็นต้องใช้เพื่อดำเนินเรื่องต่อไปครับ

หลังออกจากที่เกิดเหตุมาได้เกมก็จะมีฉากให้คุณเชื่อมโยงหลักฐานเข้ากับข้อสงสัยที่มีเพื่อสร้างเป็นสมมติฐานในการสืบสวน ถึงกระนั้น องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างของเกมในส่วนสืบสวนนั้นมันจะไม่ค่อยมีผลลัพธ์ใด ๆ ตามมาถ้าเราเลือกผิดครับ คือคุณสามารถเลือกเชื่อมโยงหลักฐานส่งเดชมั่ว ๆ ไปรายชิ้นจนกว่าจะถูกเลยก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าคุณทำความเข้าใจเรื่องราวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายมันก็จะไม่เสียเวลามากแค่นั้นเอง

จุดที่จะต้องบอกกันตรง ๆ เลยก็คือเกมนี้จะไม่มีฉากแอ็กชัน ไม่มีฉากชูตติ้งหรืออะไรให้คุณได้ต่อสู้เองนะครับ ทั้งเกมมีแค่การเลือกจุดสำรวจหาหลักฐานและหาเบาะแสแค่นั้น แม้ว่าหน้าเกมจะดูเป็นเกม FPS และเจมส์เองก็พกปืนและมีฉากที่ต้องใช้ปืนยิง แต่ทุกอย่างจะเป็น context-based คือกดตามสถานการณ์ล้วน ๆ ไม่มีให้เราเลือกยิงเลือกสู้ได้อย่างอิสระครับ ด้วยเหตุนี้ถ้าใครคาดหวังว่าจะได้มีฉากบู๊เยอะ ๆ ยิงแยะ ๆ นี่ก็บอกเลยว่าผิดหวังแน่นอน

ดังนั้นในส่วนของเกมเพลย์นี้ ถ้าคุณชอบเกมเน้นเนื้อหาและมีรูปแบบการสำรวจที่หนักหน่วงเพื่ออ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาในลักษณะคล้าย ๆ เกม Interactive อื่น ๆ เหมือน Detroit: Become Human ล่ะก็คุณจะสนุกไปกับ Nobody Wants To Die ได้ไม่ยากครับ แต่ถ้าคุณต้องการเกมที่เคลื่อนไหวได้เยอะ ๆ ทำอะไรได้มากมาย ปรับแต่งตัวละครได้ ฯลฯ เกมนี้จะไม่ตอบโจทย์คุณเลย


กราฟิก

ในส่วนของกราฟิกนั้นเป็นองค์ประกอบที่ทำออกมาได้ดีกว่าที่คาดไว้สำหรับสตูดิโอขนาดเล็กอย่าง Critical Hit Games ครับ นอกเหนือไปจากอาร์ตดีไซน์ที่โดดเด่นและแปลกตาแล้ว พวกเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ในเกมก็ทำออกมาดูดีโดยเฉพาะพวกสถานที่เกิดเหตุที่เราสามารถย้อนดูเหตุการณ์ก่อนและหลังได้โดยไม่มีการตัดฉากโหลด และมีการนำเสนอโลกดิสโทเปียออกมาได้เข้มข้นชัดเจนมาก ไม่ว่าจะหันไปมองทางไหนก็มีแต่ความหดหู่ที่ชวนให้เป็นซึมเศร้า แต่ขณะเดียวกันมันก็มีเสน่ห์ชวนให้ค้นหาและติดตามได้ตลอดทั้งเกม


งานเสียง

สำหรับในหัวข้อนี้ผมยกคะแนนให้กับเสียงพากย์ของบรรดาตัวละครสำคัญแต่ละคนเลย ผมคิดว่างานพากย์ทุกคนนั้นทำถึงมาก และบทสนทนาก็เลือกใช้ถ้อยคำในแบบฟิล์มนัวร์ดี มีบ่อยครั้งที่เจมส์จะคิดและบรรยายสถานการณ์วิพากษ์สังคมในเชิงเสียดสีที่หากใครดูภาพยนตร์แนวนั้นบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคยกันแน่นอน

เจมส์ที่เป็นตัวเอกก็มีเสียงพากย์ที่ให้ความรู้สึกสไตล์นักสืบวัยกลางคนผู้ที่เห็นอะไรต่ออะไรมาเยอะจนเบื่อหน่ายและด้านชากับชีวิต (ถึงเจ้าตัวจะอายุเกินร้อยก็เถอะ) ส่วนซาร่าที่เป็นคู่หูแต่อายุยังน้อยก็มักใช้โทนเสียงจิกกัดเวลาที่เจมส์คิดจะทำอะไรซึ่งอาจกระทบต่อหน้าที่การงานของเธอได้ เคมีตัวละครนั้นถือว่าทำออกมาได้ดี เพลินเหมือนดูพวกหนังสืบสวนสอบสวนเจ๋ง ๆ ครับ


สรุป

Nobody Wants To Die นั้นเป็นเกม Interactive ที่นำเสนอเนื้อหาสนุกและชวนติดตาม แต่องค์ประกอบด้านเกมเพลย์อาจจะเบาบางไปสักหน่อย ถ้าคุณชอบเรื่องราวสืบสวนสอบสวนและมีเนื้อหาชวนคิดล่ะก็คุณจะสนุกไปกับเกมได้ไม่ยากครับ แต่ถ้าคุณอยากได้เกม FPS สไตล์ระเบิดภูเขาเผากระท่อมล่ะก็เกมนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ

The Review

80% เมื่อชีวิตไร้ความตาย เหตุใดจึงเรียกชีวิต

Nobody Wants To Die เป็นอีกหนึ่งเกม interactive ที่เน้นนำเสนอแนวคิดและเนื้อหาที่ชวนตั้งคำถามในประเด็นของชีวิตมากกว่าจะเน้นความบันเทิงในการต่อสู้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ประกอบในการนำเสนอนั้นทำออกมาได้น่าสนใจและน่าติดตาม ชวนให้อยากรับรู้เรื่องราวไปจนถึงตอนจบครับ

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์