News Reviews

Black Myth Wukong – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Black Myth Wukong – รีวิว [REVIEW]

*รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

ถ้าจะพูดถึงชื่อไซอิ๋วแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะนี่คือหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมของจีน และเนื้อหายังถูกนำไปผลิตและดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงอื่น ๆ มากมาย ทั้งภาพยนตร์คนแสดง การ์ตูน ซีรีส์ฉายโทรทัศน์ รวมถึงวิดีโอเกม และในคราวนี้กับ Black Myth Wukong ก็คือการนำเอาวรรณกรรมคลาสสิกมาเล่าเนื้อหาที่ทั้งคุ้นเคยและสดใหม่ไปในคราวเดียวกัน และเราก็จะมาเล่ารายละเอียดหลังเล่นจบให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ


เนื้อเรื่อง

สำหรับเนื้อหาใน Black Myth Wukong นี้ เป็นเรื่องราว “ตอนต่อ” จากตอนจบของวรรณกรรมต้นฉบับ กล่าวคือหลังจากที่คณะเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฏกเรียบร้อยแล้ว ซุนหงอคงได้รับฉายาเป็นโต้วจั้นเซิ่งฝอ (ยุทธวิชัยพุทธะ) แต่เลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ๆ ร่วมกับพลพรรควานรที่เขาฮัวกั่วซานเหมือนอย่างที่เคย หากแต่ว่าสวรรค์ไม่ยอมปล่อยเขาไป เพราะการดำรงอยู่ของเขานั้นอาจเป็นภัยต่อสวรรค์

ซุนหงอคงเข้าเผชิญหน้ากับทัพสวรรค์อีกครั้ง ก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับเทพเอ้อหลางเสินจนแตกดับ ซากร่างของเขากลับไปนอนสงบนิ่งในหินบนยอดเขาฮัวกั่วซานเหมือนอย่างที่เคย ดวงธาตุของเขาทั้งหก (อายตนะหก) กระจัดกระจายกันไปตามที่ต่าง ๆ เราในฐานะที่เป็นวานรหนุ่มจึงออกเดินทางเพื่อตามหาดวงธาตุทั้งหมดกลับมาและคืนชีพให้กับพญาวานรอีกครั้ง

หากจะกล่าวถึงในแง่ของเนื้อหานั้น เนื่องจากตัวเกมดำเนินเรื่องราวหลังจากตอนจบของวรรณกรรม ดังนั้นถ้าผู้เล่นพอจะมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับไซอิ๋วอยู่บ้างก็จะทำให้เข้าใจเหตุการณ์หรือความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ในเกมได้มากขึ้นครับ เพราะบรรดาตัวละครที่โผล่ในเกม ปีศาจแต่ละตัวนั้นโดยส่วนมากล้วนเป็นตัวที่เคยมีบทบาทในเรื่องราวต้นฉบับ และจะมีการกล่าวถึงหรืออ้างอิงต้นฉบับบ่อยครั้ง ฉะนั้นถ้าคุณไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับไซอิ๋วมาก่อนเลยเชื่อว่าจะมีงง ๆ แน่นอนว่าแต่ละคนคือใคร มาจากไหน ทำอะไร ฯลฯ แต่ถ้าคุณเคยผ่านหูผ่านตาเรื่องราวของไซอิ๋วมาล่ะก็ จะสนุกไปกับเนื้อหาของเกมได้มากครับ เพราะเกมนี้ถือเป็นการ “ต่อยอด” เรื่องราวออกมาได้ยอดเยี่ยมและยังเคารพต้นฉบับอย่างมากด้วยเช่นกัน

การนำเสนอในเชิงเนื้อหาของเกมนี้อย่างหนึ่งที่ผมชอบก็คือหลังจบแต่ละบทจะมีการนำเสนออนิเมชันครับ ซึ่งอนิเมชันแต่ละบทจะเป็นการเล่าเรื่องราว เล่าภูมิหลังจากวรรณกรรมต้นฉบับที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเนื้อหาของบทนั้น ๆ ซึ่งบ้างก็นำเสนอในเชิงนิทานธรรมที่มีคติสอนใจ บ้างก็ทำเอาซึ้งจนน้ำตาไหลได้เลย

โดยรวมแล้วเกม Black Myth Wukong นี้ถือเป็นเกมที่จับเอาแก่นของเรื่องราวจากวรรณกรรมต้นฉบับมาใช้ได้ครบถ้วน และมีการเพิ่มเติมต่อยอดในแบบของตัวเองที่ทำออกมาได้สนุกและน่าติดตามครับ ซึ่งผมเองก็อยากเห็นมากว่าภาคต่อไปจะนำเสนอเรื่องราวออกมาไปในทิศทางใดต่อไป


เกมเพลย์

สำหรับตัวเกมนี้ มีระบบต่อสู้ในลักษณะของเกม souls-like นั่นคือการออกแอ็กชันใด ๆ ของเราจะต้องใช้ค่า stamina ไม่ว่าจะการตี การกลิ้งหลบต่าง ๆ ดังนั้นระหว่างสู้คุณจึงต้องคอยสังเกตค่านี้เสมอว่าเวลาไหนควรผละออกมาฟื้นฟูเกจ ไม่สามารถลุยตีแหลกแจกกระบองได้ อีกประการหนึ่งก็คือตัวเรานั้นบางมาก เวลาเจอกับบอสนี่ถ้าเราหลบพลาดทีนึงก็จะโดน punish หนักเอาเรื่องครับหลายครั้งก็อาจจะกลับจุดเซฟได้จากการโดนโจมตี 3 หรือ 4 ครั้ง

ดังนั้นผู้เล่นจะต้องใจเย็นและคอยจำมูฟเซ็ตของบอสให้ดีแล้วหาจังหวะเข้าตี หาจังหวะผละออกมา ไม่ต่างอะไรกับเกมสไตล์โซลส์ ถ้าจะมีอะไรที่ผ่อนปรนกว่าก็คือเกมนี้พอเราตายจะไม่มีการเสียทรัพยากรอะไรใด ๆ จึงไม่ต้องกังวลมากครับ เวลาแพ้บอสก็แค่วิ่งมาสู้ใหม่จนกว่าจะผ่านได้ และไม่ต้องห่วงเพราะบอสบางตัวนี่คุณได้วิ่งหลายรอบแน่เพราะบอสเกมนี้ดุกันมาก ตีเราแทบจะไม่ให้พักหายใจหายคอเลย

อาวุธของเกมนี้ เราจะใช้พลองยาวในสไตล์ของพญาวานร (อาวุธประเภทหอกก็มีบ้างนะ) ให้สมกับที่เป็นเกมไซอิ๋วครับแต่เราเลือกใช้งานท่าร่างได้ 3 แบบที่จะมีประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป และผู้เล่นสามารถสลับท่าร่างเหล่านี้ในระหว่างเล่นได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นก็ยังมีเวทและวิชาต่าง ๆ ให้ใช้ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิชาที่คนคุ้นเคยกับไซอิ๋วหรือพอจะรู้ความสามารถของซุนหงอคงจะรู้จักกันดีครับ อย่างการแปลงร่างเป็นปีศาจตัวอื่น หรือการดึงเส้นขนออกมาเป่าแล้วเสกร่างจำแลงของตนออกมาช่วยสู้ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเกมที่ทำให้รับรู้ได้ชัดเจนว่านี่คือเกมไซอิ๋วแท้ ๆ เลย

เอาเข้าจริง รูปแบบการต่อสู้หลัก ๆ ของพลองนั้นออกจะค่อนข้างเรียบง่าย เพราะเกมไม่ได้มีคอมโบอะไรหวือหวา มีแค่ตีเบาเพื่อสะสมเกจโฟกัส จากนั้นคุณก็ใช้เกจโฟกัสเพื่อออกท่าตีหนักในบางจังหวะ หรือไม่ก็ชาร์จตีหนักสลับ ๆ ไป ดังนั้นความหลากหลายในแง่การเล่นก็จะอยู่ที่การผสมผสานการใช้เวทเพื่อสร้างจังหวะ เปิดโอกาสให้กับผู้เล่น หรือแปลงร่างเพื่อใช้งานท่าพิเศษที่จะสร้างความเสียหายรุนแรงครับ ถึงกระนั้น แม้จะเรียบง่ายแต่เอาเข้าจริงมันก็เล่นเพลินและเล่นสนุกนะ ถ้าคุณหาวิธีการเล่นที่เข้ามือได้แล้วก็จะติดลมเล่นได้ยาว ๆ เลย

จุดที่ผมชอบในแง่ของระบบเกมก็คือตัวเกมมีระบบความเป็น RPG อยู่ประมาณหนึ่ง เพราะว่าตัวเราจะสามารถเปลี่ยนชนิดของพลองที่ใช้ได้ โดยพลองแต่ละแบบก็จะมีค่าพลังหรือความสามารถพิเศษต่างกัน ซึ่งการที่จะได้มาใช้เราก็ต้องไปหาวัตถุดิบมาเพื่อคราฟต์มาใช้งาน รวมถึงบรรดาชุดเกราะต่าง ๆ ในเกมที่มีประโยชน์ใช้สอยต่างกันและได้มาจากการคราฟต์ ยังไม่นับว่ามีพวกเครื่องประดับที่ใส่ได้แล้วจะให้ผลลัพธ์ในด้านต่าง ๆ อีก แถมยังเลือกอัปเกรดความสามารถได้โดยการใช้แต้มสกิลว่าต้องการเน้นแนวทางใด มันก็เลยทำให้ผู้เล่นสามารถทดลองหา build ต่าง ๆ ที่เหมาะกับตัวเองได้ครับ คุณอาจปั้นตัวละครสายที่เก่งรอบด้าน หรือปั้นตัวละครสายคริติคอลถี่ ๆ หรือไม่ก็ละทิ้งสติปัญญาหวนคืนสู่ความเป็นลิงป่าแล้วเน้นพลังโจมตีเพียว ๆ ก็ได้หมดเหมือนกัน

ในแง่ของการสำรวจนั้น เกมนี้จะไม่ใช่โอเพนเวิลด์เต็มตัว โดยแต่ละพื้นที่จะแยกออกจากกันอย่างชัดเจนในแต่ละบท ถึงอย่างนั้นก็ตาม พื้นที่แต่ละส่วนก็กว้างเอาเรื่องครับ และมีอะไรให้วิ่งไปเจอ ไปสำรวจมากมาย ที่สำคัญคือบอสเกมนี้เยอะมาก ดังนั้นการที่คุณวิ่งสำรวจฉากไปเรื่อยนี่มีโอกาสสูงมากที่อยู่ดี ๆ ก็วิ่งไปเจอบอสไฟต์แบบไม่ทันได้ตั้งตัว เรียกได้ว่าบางครั้งนี่เดินเลี้ยวมุมฉากทีนึงก็เจอบอสทีนึงเลยครับ

ถึงกระนั้น ผมคิดว่าส่วนตัวแล้วเกมมีปัญหาในแง่ของการดีไซน์อยู่เหมือนกัน อย่างแรกเลยก็คือเกมนี้ออกแบบเควสต์ต่าง ๆ มาในลักษณะของเกมโซลส์แท้ ๆ นั่นคือไม่มีหัวข้อเควสต์ให้เราย้อนไปดูว่าเราคุยกับใครมา เราต้องไปคุยหรือทำอะไรต่อ ทุกอย่างต้องอาศัยความจำของผู้เล่นล้วน ๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณหลุดบทสนทนาไหนไปนี่ก็งานหยาบได้เหมือนกัน

อีกอย่างก็คือเกมนี้ไม่มีแผนที่ครับ การจะไปไหนมาไหนต้องอาศัยความจำของผู้เล่นล้วน ๆ เช่นกัน แล้วสภาพแวดล้อมในหลายจุดมันจะดูคล้าย ๆ กันแบบไม่ค่อยมีจุดสังเกต มันเลยทำให้การไปถึงพื้นที่ใดก็ตามในทีแรก คุณจะเกิดอาการหลงทางแน่นอน และบางทีอาจจะต้องวิ่งวนไปวนมากว่าจะรู้ว่าต้องไปทางไหนต่อ และบางครั้งเราอาจอยากสำรวจต่อโดยยังไม่ทำเนื้อเรื่องหลัก แต่อาจเดินแล้วไปเข้าเส้นทางหลักแบบงง ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกันอีก ข้อดีอย่างหนึ่งคือเกมนี้เราสามารถวาร์ปกลับมาพื้นที่เก่าได้ตลอด และเมื่อกลับมาผมก็มักจะพบว่ามีพื้นที่หรือเนื้อหาราว ๆ 40% ที่พลาดไปแทบจะทุกรอบเพราะเกมไม่มีแผนที่นี่ล่ะครับ

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือการออกแบบสภาพแวดล้อมในเกมนี้หลายจุดจะแปลกตรงที่ว่า หลายที่เหมือนจะไปได้แต่เราไปไม่ได้เพราะจะติดกำแพงล่องหน หน้าผาจุดที่เหมือนจะลงได้แต่เกมก็จะไม่ให้ลง ในทางกลับกันถ้าจุดไหนที่ทีมสร้างจะใส่กับดักหรือการโจมตีมาดักผู้เล่น คุณก็จะตกผาไปม่องเท่งได้ครับ เรียกได้ว่าเล่น ๆ ไปนี่บางทีไม่รู้เลยว่าจุดไหนช่วงไหนที่เราจะร่วงไปม่องเท่งได้แบบงง ๆ เพราะส่วนตัวผมคิดว่าถ้าจะให้ตกได้ก็ควรให้ตกได้ตลอดทั้งเกม ถ้าจะตกไม่ได้ก็ควรตกไม่ได้ไปเลยทั้งเกม จุดนี้มันเลยเป็นอะไรที่ดูแอบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แปลก ๆ ครับ

ในแง่ของเกมเพลย์โดยรวมนั้น Black Myth Wukong นั้นถือเป็นเกมที่ท้าทายความสามารถผู้เล่นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันเป็นเกมที่เล่นได้สนุกและมีลูปเกมเพลย์ที่ชวนให้อยากเล่นต่อไปเรื่อย ๆ แม้จะมีส่วนที่ยังต้องปรับปรุงก็ตาม แต่ข้อดีมันก็เยอะกว่าข้อด้อยครับ


กราฟิก การนำเสนอ และเพอร์ฟอร์มานซ์

ตลอดการเล่นของผมในครั้งนี้ ผมเลือกตัวเลือกกราฟิกแบบ performance ซึ่งเกมมันก็รันได้ค่อนข้างโอเคตลอดเกม แต่ถามว่ามีช่วงที่เฟรมตกไหม ก็เจออยู่เหมือนกันครับ ยิ่งฉากไหนที่เอฟเฟกต์เยอะ ๆ นี่เฟรมตกชัดเจน แม้แต่ฉากที่เปิดให้เราสำรวจฉากได้ด้วยการท่องเมฆนี่จะพบปัญหาเฟรมเรตแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเล่นต่อเนื่องยาวนานนี่ปัญหาเรื่องเพอร์ฟอร์มานซ์จะยิ่งเกิดขึ้นบ่อย แต่ปิดเกมแล้วเข้าใหม่ก็จะแก้ปัญหานี้ไปได้อยู่ครับ

ในแง่ของกราฟิก ผมคิดว่าด้วยโหมด performance นี่เกมให้การแสดงผลที่โอเคครับ ไม่ได้แย่ แต่มันจะมีช่วงที่พวกพื้นผิววัตถุแอบเบลอ ๆ เป็นดินน้ำมันอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ซีเรียสว่าภาพจะต้องเนี้ยบคมกริบทุกขณะที่เล่นนี่ก็อาจไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาอะไรนัก

สิ่งที่ต้องชมจริง ๆ เลยคือการนำเสนอครับ เกมนี้นำเสนอความเป็นจีนและวัฒนธรรมจีนออกมาได้เจ๋งมาก เรียลมาก (ก็แหงสิ สตูดิโอจีนนี่หว่า) และอลังการมากครับ พวกสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในเกมนี่นอกจากจะไปอ้างอิงจากวัดวาอารามที่มีอยู่จริงแล้ว บรรดารูปสลัก รูปเคารพนี่ก็ทำออกมาได้เคารพของจริงอย่างมากเลยทีเดียว ไม่ได้รู้สึกว่ามันขัดหูขัดตาหรือมีความเพี้ยนหรือประหลาดในจุดไหน คือต่อให้สิ่งต่าง ๆ ในเกมมันจะมีที่มาจากวรรณกรรมและตำนาน มันก็แอบทำให้เราเชื่อได้ว่าเออ มันน่าจะเคยมีอยู่จริงนะ ยิ่งพวกคอสตูมตัวละครในคัตซีนนี่อารมณ์เหมือนกำลังดูหนังจีนกำลังภายในเลย


ระบบเสียง

เสียงในเกมนี้ทำออกมาได้ดีครับ พวกซาวด์เอฟเฟกต์ต่าง ๆ ในตอนสู้ หรือพวกเสียงบรรยากาศรอบ ๆ ตัว มันให้อารมณ์เหมือนกำลังดูหนังจีนในแบบที่เราคุ้นเคยกันดี บางทีคุณอาจได้ยินเสียงบทสวดมนต์ในแบบภาษาจีน (โอม มา นี แปะ หมี่ ฮง) หรือพอสำรวจจุดนั่งสมาธิในเกม ระหว่างที่กล้องจับภาพวิวต่าง ๆ ให้เราชมก็จะมีเสียงระฆังดังเป๊งคลอประกอบตามไป ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผมรู้สึกว่าเกมนี้มีความจีนแบบ 100% ก็เลยแนะนำว่าใครที่อยากเล่นขอให้ลองเลือกเล่นเสียงพากย์จีนเลยครับเพื่อได้อรรถรสแท้ ๆ ของเกม


สรุป

Black Myth Wukong เป็นเกมแอ็กชันสไตล์ souls-like ที่สนุกและท้าทาย แต่จุดเด่นที่สุดของเกมก็ไม่พ้นการนำเอาวรรณคลาสสิกระดับโลกอย่างไซอิ๋วมาใช้ได้อย่างเคารพต้นฉบับและนำเสนอในแนวทางใหม่ที่แปลกตา ที่สำคัญคือพรีเซ็นเทชันของเกมนี้ “ทำถึง” ครับ ใครที่คุ้นเคยหรือชื่นชอบไซอิ๋วเป็นทุนเดิม หรือคุ้นเคยกับบรรดาเทพเจ้าจีนนั้น คุณจะชอบเกมนี้ได้ไม่ยากเลย แม้ว่าจะยังมีปัญหาทางเทคนิคที่อาจต้องปรับแก้อยู่ก็ตามที

The Review

85% เรื่องราวบทใหม่ ในตำนานพญาวานร

Black Myth Wukong คือเกมที่นำเอาวรรณกรรมคลาสสิกที่หลายคนหลงรักมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างเกมได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งเคารพต้นฉบับและสดใหม่ไปในคราวเดียวกัน เล่นได้สนุกและท้าทาย แม้จะยังมีข้อติดขัดทางเทคนิคบ้าง แต่โดยรวมแล้วนี่คือเกมคุณภาพดีอย่างไม่ต้องสงสัย

85%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์