News Reviews

รีวิว Death Trick Double Blind กลซ่อนตาย

by Reviewer Ocelot

รีวิว Death Trick Double Blind กลซ่อนตาย

รีวิว Death Trick Double Blind กลซ่อนตาย

*ขอขอบคุณ Neon Doctrine สำหรับโค้ดเพื่อการรีวิวในครั้งนี้ด้วยครับ

จะเกิดอะไรขึ้น หากดาวเด่นของคณะละครสัตว์ชื่อดังถูกฆาตกรรมอย่างปริศนา และฆาตรกรก็ยังคงลอยนวลอยู่ในคณะละครสัตว์แห่งนี้ Death Trick Double Blind (ต่อไปนี้จะเรียกย่อ ๆ ว่า DTDB) พร้อมเปิดม่านให้คุณเข้ามาสัมผัสกับการแสดงที่ถึงเลือดถึงเนื้อที่สุด “กลซ่อนตาย”

หลายคนที่ได้ดูตัวอย่างเกมก็อาจสงสัยในใจว่า ถ้ามาทรงนี้ เกมนี้จะเล่าเรื่องราวอะไร? และที่น่าสงสัยกว่านั้นก็คือ เกมเพลย์มันจะออกมาลักษณะไหน? หลังจากเล่นจนจบแล้ว ก็มาอ่านรีวิวกันเลยครับ

เกมนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร? พูดให้สั้นและกระชับที่สุด ละครสัตว์แห่งนี้เกิดคดีฆาตกรรมขึ้น ซึ่งเหยื่อก็คือดาวเด่นของโชว์ประจำคณะที่ได้ฉายาว่า อเมซิ่ง แฮตตี้ หน้าที่ของเราคือการสืบสวนสอบสวนผ่านสายตาของตัวละคร 2 คน คือหญิงสาวปริศนาที่อ้างว่าเธอจะมารับหน้าที่แทนแฮตตี้ และนักสืบเอกชนที่หัวหน้าคณะจ้างให้มาคลี่คลายปมปริศนา เพราะตำรวจไม่สามารถช่วยพวกเขาได้

ถ้าถามว่าอะไรคือจุดเด่นของเกมนี้ นั่นก็คือผมไม่รู้สึกว่าผมกำลังเล่นเกมอยู่ แต่มันเหมือนผมกำลังอ่านนิยายที่มีการใส่แอนิเมชันและใส่เกมเพลย์เข้าไปมากกว่า เพราะหน้าที่ตลอดทั้งเกมของเราก็คือการพูดคุยกับบรรดาตัวละครในคณะละครสัตว์ เพื่อหาเบาะแส เช่น วันเวลาเกิดเหตุ  ใครอยู่ที่ไหน ใครโกหก ใครมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ชอบหน้าใคร และรวบรวมหลักฐานอะไรก็ตามที่จะนำพาคุณไปสู่คำตอบที่เป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียว

ฟังแบบนี้แล้ว หลายคนก็อาจจะถอยฉากอย่างรวดเร็ว แล้วปล่อยเกมนี้ให้อยู่ในหลืบอันเงียบสงบของร้านค้าบน Steam

แต่ผมยืนยันว่า ถึงมันจะให้ฟีลของการอ่านนิยาย แต่ทีมเขียนบทก็มีฝีมือร้ายกาจมากพอที่จะลากให้เราให้เดินไปบนเส้นทางอันดำมืด ควานหาจิ๊กซอว์เบาะแส แล้วค่อย ๆ ประกอบมันจนกลายเป็นภาพใหญ่

และที่เขาทำให้ผมรู้สึกติดเกมนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพราะเราอยากจะตามล่าหาคำตอบว่าใครคือฆาตกร แต่มันคือเรื่องราวเฉพาะตัวของแต่ละตัวละคร ที่ต่างคนต่างก็มีบุคลิกลักษณะนิสัยโดดเด่น เราจะได้พบกับนักเล่นเพลิงสาวอดีตคู่รักของแฮตตี้และเป็นคอแฟนตัวยงของนิยายนักสืบ เราจะได้เจอกับเด็กสาวสุดแสบที่มีเป้าหมายคือการจะหาสิ่งที่สมาชิกแต่ละคนกลัวให้ได้ กระทั่งชายที่สื่อสารกับเราผ่านตุ๊กตาหุ่นเชิด

อย่างที่เกมได้โฆษณาเอาไว้ครับ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวการสืบสวนสอบสวน แต่มันคือเรื่องราว ‘ชีวิต’ ของสมาชิกทุกคนในคณะละครสัตว์แห่งนี้ การพัฒนาตัวละครเลยเป็นสิ่งที่โดดเด่นมาก ไม่มีใครถูกทิ้งให้ลืมไปกับความจืดชืดของบท ผมจำโมเมนต์สำคัญของตัวละครในเกมนี้ได้ทุกตัว และทุกคนต่างก็มีปมของตัวเองรอให้ไขไปพร้อมกับคดี ซึ่งก็จะทำให้เราได้เห็นความเป็นไปของพวกเขาในตอนจบ

หากจะมีอะไรที่มันดูกวนใจอยู่บ้าง นั่นคือผมรู้สึกว่าทำไมตัวละครหลายตัวทีมเขียนบทเขาต้องทำให้มันดูกร้านโลกขนาดนั้น พูดง่าย ๆ คือผมไม่คิดว่าตัวละครพวกนี้มีความเป็นคนทั่วไปที่จับต้องได้ในชีวิตจริง (แม้จะอยู่กันคนละยุคก็เถอะ) เช่น ตัวละครเด็กชายที่เหมือนจะมีพรสวรรค์ด้านการอ่านไพ่ทาโรต์และสุขุมเกินเด็กไปมาก มันจะมีแค่บางตัวละครที่ยังไม่ข้ามเส้นความสมจริง อย่างเจ้าของคณะละครสัตว์ แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าเขาไม่ละเลงสีให้เลยเส้นไปบ้าง ตัวละครในเกมก็คงไม่มีอะไรให้น่าจดจำ

อีกเรื่องที่เกริ่น ๆ ไปแล้วก็คือความเป็นนิยายของมัน ผมรู้สึกว่ามันเป็นนิยายทั้งในแง่จำนวนคำและการใช้ภาษา มันเป็นภาษาทางวรรณกรรมจริง ๆ การบรรยายสภาพแวดล้อม บุคลิกท่าทางตัวละคร ทุกอย่างถูกอัดเข้ามาแบบไม่ยั้งมือ ในด้านดีก็ต้องบอกว่าข้อมูลพวกนี้มันแอบบอกใบ้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการไขคดี แต่หลายครั้งผมก็รู้สึกว่าหลาย ๆ ส่วนมันก็เป็นไขมันส่วนเกินเหมือนกัน ถ้าตัดทิ้งได้เกมจะเข้ารูปเข้ารอยกว่านี้

ถึงแบบนั้น ก็ต้องชมว่างานแอนิเมชันในเกม แม้จะเป็นสองมิติที่มีการเคลื่อนไหวที่จำกัด ทีมงานก็ออกแบบมาให้เข้ากับบทสนทนาหรือการบรรยายในช่วงเวลานั้น บวกกับเพลงประกอบที่ออกแบบมาให้ตัวละครแต่ละตัวโดยเฉพาะและขึ้นมาถูกจังหวะก็ช่วยพยุงให้อารมณ์ของผมมันจดจ่อกับเรื่องราวที่ดำเนินต่อไปอย่างไม่ติดขัดมากนัก

ในส่วนของเกมเพลย์นั้น…

ผมเคยเล่าไปในรีวิว Blue Wednesday เกมอินดี้อีกเกมที่ผมชอบมากว่า สายอินดี้ที่ไม่มีทุนหน้าก็มักจะใช้การเขียนบทเข้าสู้ ซึ่งหลายเกมก็ประสบความสำเร็จจริง แต่โรคแทรกซ้อนที่มักจะพ่วงมาก็คือความด้อยในด้านของเกมเพลย์ เพราะทีมพัฒนาลงทุนกับเนื้อหาหนักมือเกินไป ซึ่ง Blue Weddnesday เป็นแบบนั้น

สำหรับผม เกมเพลย์ของ DTDB ก็มีน้ำมีเนื้อพอที่อย่างน้อย (ถ้าหลับตาสักข้าง) ก็คงจะถูไถบอกว่ามันเป็นเกมได้ วิธีการเล่นก็คือ เกมจะสลับตาให้เราเล่น ตัวละครหนึ่งเป็นหญิงสาวปริศนาที่จะมาแสดงแทนแฮตตี้ ส่วนอีกตัวละครก็จะเป็นนักสืบเอกชนที่มาสืบสวนคดีฆาตกรรม

ในแต่ละตาเราจะมีแต้มการกระทำโชว์อยู่ด้านบนมุมของจอ แต้มพวกนี้จะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเรากระทำการบางอย่าง หลัก ๆ ก็คือการเลือกหัวข้อเบาะแสเพื่อใช้ถามตัวละคร หมายความว่าคุณไม่สามารถคุยไปเรื่อยเปื่อยได้ ในตานึงคุณจะต้องวางแผนว่าคุณจะเลือกคุยกับตัวละครไหน เลือกจะถามเกี่ยวกับอะไร และส่วนสำคัญอีกอย่างก็คือระบบ Contradiction

Contradiction ก็ตรงตามความหมายครับ มันคือสิ่งที่ขัดแย้งกัน เกมนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถโต้แย้งตัวละครต่าง ๆ ด้วยเบาะแสที่ได้มาก่อน เช่น ตัวละคร A เคยให้ข้อมูลว่าเจอตัวละคร B กลับมาตอนประมาณ 1 ทุ่ม แต่พอไปถามตัวละคร B ดันบอกว่าเขาไม่ได้ออกไปไหนเลย ซึ่งจุดนี้ก็จะทำให้เราสามารถเอาข้อมูลไปแย้งกับตัวละคร A ให้คายความจริงมากกว่านี้ได้ เป็นระบบที่เข้าท่าดี

นอกจากนี้เกมยังมีกลไกที่ให้เราสำรวจสิ่งของในฉากเพื่อหาจุดผิดปกติ ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก แค่คุณเลื่อนเมาส์หาของที่สำรวจได้แล้วก็กดดูไปเรื่อย ๆ

แต่ไม่ว่ายังไง ในภาพรวมเกมนี้ต้องอาศัยการอ่าน และด้วยความที่ไม่มีกาษาไทย กำแพงทางภาษาถือเป็นเรื่องใหญ่ แล้วกำแพงนี้ก็หนาหนักเข้าไปอีกด้วยลีลาภาษาวรรณกรรม

การเฉลยปม…

เมื่อหมดเวลาของการสืบสวน เกมจะตัดเข้าเหตุการณ์ที่คุณจะต้องเอาเบาะแสที่รวบรวมได้ทั้งเกมมาประกอบเข้ากัน เพื่อหาตัวคนร้าย จุดนี้ผมไม่ได้ติดในแง่เกมเพลย์หรือการเฉลยตัวคนร้ายกับแรงจูงใจ

สิ่งที่ผมติดมาก ๆ เลยก็คือการเฉลยปมของตัวเอกทั้งสองคน ผมรู้สึกไม่ซื้อกับคำอธิบายที่ให้มา มันทำผมเชื่อไม่ได้ แล้วก็วนกลับไปตั้งคำถามตั้งแต่ตอนแรก ๆ ว่า ตัวละครพวกนี้ไม่เคยเอะใจกับเรื่องนี้มาก่อนเลยเหรอ?

และนี่น่าจะเป็นหลักใหญ่ใจความที่ผมหักคะแนนเกมนี้

สรุป

ถ้าคุณเป็นคอหนัง นิยาย การ์ตูน แนวสืบสวนสอบสวนผมแนะนำ DTDB โดยเฉพาะคนที่ภาษาอังกฤษแข็งระดับนึง มันเหมือนคุณมานั่งอ่านนิยายสืบสวนแบบมีแอนิเมชันและเกมเพลย์ให้เล่น เป็นการบาลานซ์ฝั่งเนื้อเรื่องและเกมเพลย์ที่ค่อนข้างโอเค ที่สำคัญถึงเกมนี้จะพุ่งเป้าไปที่การตามหาตัวคนร้าย แต่ระหว่างทางคุณจะได้เรียนรู้ชีวิตของเหล่าตัวละครที่มีทั้งสีสัน ความลับ และปมในใจ

หากจะมีอะไรที่ไม่ชอบบ้าง ผมคิดว่าถ้าเกมลดความเทอะทะของของการบรรยายลง มันจะกระชับกว่านี้ แต่หลักใหญ่ใจความก็คือผมไม่ซื้อกับการเฉลยในส่วนตัวละครเอกก่อนจบเรื่อง นั่นคือแผลใหญ่ แล้วมันทำให้ทุกการกระทำของทุกตัวละครที่ผ่านมาดูน่าเชื่อถือน้อยลง

 

จุดเด่น

  • การปั้นตัวละครด้วยภาษาและแอนิเมชันและเพลงประกอบที่น่าจดจำ
  • ภาษาที่สละสลวยเหมือนอ่านนิยายดี ๆ สักเล่ม ชวนติดตาม
  • เกมเพลย์ที่ออกแบบมาให้เข้ากับรูปแบบการนำเสนอ ไม่มากไป ไม่น้อยไป
  • แง่มุมประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเข้ามาอย่างเนียน โดยเฉพาะอเมริกาก่อนยุคทองของโทรทัศน์

จุดด้อย

  • ปริมาณ Text ที่เยอะ และหลายส่วนตัดออกได้
  • การคลายปมหลักที่เกี่ยวกับตัวตนของตัวละครเอกตอนสุดท้าย

The Review

80% เล่นจบแล้วเหมือนอ่านนิยายดี ๆ สักเล่ม

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์