รีวิว Two Point Museum
*ขอขอบคุณ SEGA Corporation สำหรับโค้ดรีวิวมา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PC
เมื่อพูดถึงชื่อ Two Point ผมนึกถึงเกมที่เด่นอยู่ 2 เรื่อง
หนึ่งคือนี่เป็นแฟรนไชส์ที่ผู้สร้างพยายามเปลี่ยนรสชาติของเกมแนวซิมูเลเตอร์ที่เป็นเหมือนยาขมของใครหลายคนให้กลืนง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทั้งงานออกแบบ UX UI ที่ดูเป็นมิตร พยายามสอนให้น้อยที่สุด เน้นให้ผู้เล่นได้เจอของจริง ในขณะเดียวกันเกมก็มีความลึกถ้าจะเล่นแบบเอาจริงเอาจัง มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่คนเชี่ยวเกมสายบริหารก็ดูถูกไม่ได้
สเน่ห์อีกอย่างคือความกาวของเกมครับ ถึงมันจะได้ชื่อว่าเป็นเกมบริหารสิ่งที่ฟังดูธรรมดามาก ๆ อย่าง โรงพยาบาล วิทยาลัย แล้วตอนนี้ก็มาพิพิธภัณฑ์ แต่คนเล่นจะอดทึ่งไปกับไอเดียประหลาด ๆ ตอนเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ ของคนกับไอเท็มในเกมไม่ได้
และผมมีความยินดีที่จะบอกว่า Two Point Museum ยังสืบทอดความโดดเด่นและสเน่ห์ของรุ่นพี่มาได้อย่างเต็มที่ และมีการต่อยอดที่น่าชื่นชม
พิพิธภัณฑ์ 5 ตีม
เราต้องเริ่มด้วยคำถามที่ง่ายแต่สำคัญที่สุดคือ Two Point Museum เป็นเกมอะไร? คำตอบคือนี่เป็นเกมที่จะให้คุณสามารถสวมบทเป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ที่มี 5 ตีมให้จัดการ คือ สายดึกดำบรรพ์, ชีวิตใต้ทะเล, ลี้ลับเหนือธรรมชาติ (ผี), วิทยาศาสตร์, และไปให้ถึงอวกาศกันเลยทีเดียว
ถ้าคุณกำลังคิดว่าทำไมน้อยจัง มีแค่ 5 ตีม ผมจะบอกว่าด้วยเกมเพลย์ที่เขาออกแบบมา ใช้แค่ 5 ตีม ก็เหลือแหล่แล้วครับ เพราะมันมีความโดดเด่นแตกต่างกันมาก เบสิกที่สุดก็คือสายดึกดำบรรพ์ (Prehistoric) ที่จะมีความคลาสสิกคือเอาพวกฟอสซิล เอากระดูกไดโนเสาร์มาโชว์ เหมือนเป็นการซ้อมมือก่อน
พอมาถึงชีวิตใต้ทะเล คุณจะต้องเริ่มมีการสร้างตู้ปลาอควอเรียม เอาไว้ใส่ปลาเขตหนาวเขตร้อน (ต้องแยกตู้กัน) ต้องมีคนคอยให้อาหาร ก็จะมีความยากขึ้นมาอีกระดับ แล้วค่อยไปจัดการพิพิธภัณฑ์หลอน ที่มีการเอาวิญญาณคนตายมาใส่ในห้องไว้โชว์ คิดดูว่าขนาดตายไปแล้วพลังทุนนิยมก็ยังเอามาทำเป็นสินค้าได้ ซึ่งมันก็ต้องลงลึกไปอีกว่าเราจะสร้างห้องให้วิญญาณตัวนั้นยังไง ถ้าวิญญาณตัวนั้นมาจากยุคปฏิวัติออุตสาหกรรม คุณก็ต้องจจัดห้องให้เข้ากับวิญญาณตัวนั้น ไม่งั้นวิญญาณอาจอาละวาดได้
ไปไกลกว่านั้นคือแนววิทยาศาสตร์ที่จะเน้นเรื่องงานประดิษฐ์ คราวนี้ไม่ใช่แค่ออกไปสำรวจแล้วจะได้ของกลับมาเท่านั้น แต่มันคือการรวบรวมทรัพยากร, พิมพ์เขียว เพื่อให้เราเอามาประดิษฐ์ของจัดแสดงเอง แล้วก็สามารถอัปเกรดได้ด้วยการติดตั้ง Perk เฉพาะ
และสุดท้ายคือตีมอวกาศ ที่ตอนแรกเราต้องให้ผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจวัตถุที่ตกมาจากท้องฟ้าก่อน แล้วค่อยเอามาจัดแสดง ความพิเศษของตีมอวกาศก็คือ มันจะโฟกัสลูกค้าที่เป็นกลุ่มศาสตราจารย์ เพราะฉะนั้นการประดับตกแต่งหรือค่า Buzz จะไม่มีผลมากเท่ากับค่าความรู้ครับ ยิ่งเราวิเคราะห์และทำความรู้จักวัตถุนอกโลกมากเท่าไร เราก็จะเรียกแขกและได้เงินจากบรรดาศาสตราจารย์มากขึ้นเท่านั้น และถึงเวลาที่ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญของเราออกไปสำรวจดาวนอกโลก!
เท่าที่เล่ามาน่าจะพอเห็นภาพกันนะครับว่า แต่ละตีมมันก็มีวิธีการเล่นและบริหารเฉพาะตัว มันเลยดึงดูดให้คนเล่นอยากจะลองของไปเรื่อย ๆ ซึ่งรู้แค่นี้ยังไม่พอจะทำให้คุณเป็นภัณฑารักษ์ที่ประสบความสำเร็จในเกมนี้ได้
ลูปที่เปลี่ยนไป
คอนเสปและลูปเกมจะไม่ต่างจากการบริหารโรงเรียนมากครับ นั่นคือมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในเกมนี้ก็คือผู้เข้าชมนิทรรศกาล เราต้องบริหารความคาดหวังของลูกค้าให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะได้เงินมาใช้ต่อรอบ แล้วเงินนั้นก็จะเอาไปลงทุนทำให้พิพิธภัณฑ์เราน่าเข้าและดูดตังค์คนมากขึ้นวนไป
แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในลูปนี้ก็คือ เกมจะมีฟีเจอร์ที่เป็นจุดขายใหญ่เป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญไปออกสำรวจแหล่งโบราณคดีในโลกภายนอก แล้วนำวัตถุโบราณทั้งไม่มีชีวิตและมีชีวิตกลับมา เพื่อนำมาใช้จัดแสดง นี่เป็นฟีเจอร์ตัวขายของเกมนี้เลยก็ว่าได้
วิธีการส่งคนออกสำรวจจะว่าง่ายก็ได้ แต่มันก็มีรายละเอียดเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ ดูเผิน ๆ มันเหมือนแค่คุณมีเงินมีบุคลากรที่จำเป็นก็สามารถส่งคนออกไปได้แล้ว มันก็เป็นแบบนั้นจริงในช่วงแรกครับ
แต่พอเกมดำเนินไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่าการส่งคนออกไปมันมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ถ้าคุณส่งพวกเขาออกไปผจญภัยในฤดูหนาว พวกเขาอาจได้รับบาดเจ็บจากการลื่น บางสถานที่ก็กำหนดมาเลยเป็นไฟต์บังคับว่าผู้เชี่ยวชาญของเราต้องมีสกิลเอาตัวรอด ไม่งั้นไปไม่ได้ ม่องเท่งแน่นอน นอกจากนั้นคุณจะต้องเลือกอีกว่าจะส่งคนไปสำรวจด้วยวิธีที่เร็วที่สุด เน้นปลอดภัย หรือจะเน้นละเอียด ไอเท็มที่จะให้พวกเขาพกติดตัวอย่างชุดปฐมพยาบาลก็สำคัญมาก
ผลที่ได้รับหลังการสำรวจจบก็จะต่างกันไป ถ้าทุกอย่างราบรื่น ทีมของคุณก็จะกลับมาพร้อมวัตถุโบราณพร้อมจัดแสดงและทุกคนยังอยู่ครบ 32 แต่ถ้าโชคร้ายหน่อยคนที่ออกไปทำภารกิจก็จะมีทั้งอาการบาดเจ็บ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ในห้องเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงหายไปไร้การติดต่อ (MIA) …
ผมประเมินว่าการส่งคนออกสำรวจมีทั้งจุดที่ผมชอบและไม่ชอบเลยครับ ขอพูดถึงจุดที่ไม่ชอบก่อน คือ บางจุดที่ให้ไปสำรวจมันใช้เงินและทรัพยากรทั้งคนและเวลาเยอะมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็แค่มันช่วยเปิดทางไปด่านสำรวจอื่น ๆ แล้วก็แถม XP นิดหน่อย คือรู้สึกว่ามันเป็นภาระมากกว่าการลงทุน โดยเฉพาะถ้าช่วงนั้นพิพิธภัณฑ์กำลังเจอปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ยิ่งไม่อยากส่งเข้าไปใหญ่ และทำให้ความก้าวหน้าของเกมมันช้าลงแบบไม่จำเป็น
อีกเรื่องก็คือความอ่อมของการนำเสนอช่วงนี้ ซึ่งด้านนึงก็เข้าใจได้ครับว่าถ้าทำให้มันเด่นเกิน มันก็จะทำให้ผู้เล่นหลุดสมาธิจากการบริหารพิพิธภัณฑ์ เลยทำให้การออกสำรวจมันเกิดขึ้นแบบดูเป็นแบ็กกราวด์ รู้ตัวอีกทีก็คือเครื่องบินลงจอดแล้ว แต่เกมก็พยายามจะใส่กิมมิกที่ทำให้การสำรวจมันดูน่าสนใจขึ้นครับ อย่างเวลาที่คณะสำรวจเจอสถานการณ์แปลก ๆ บางอย่างก็จะมีการติดต่อเรากลับมา เช่น เจอมือผีโผล่ออกมาแล้วไม่รู้จะทำยังไงดี เราก็ต้องเข้าไปช่วยเลือกตัวเลือกให้พวกเขา (จุดนี้ถ้าบุคลากรเรามีสกิลบางอย่างก็อาจทำให้หลุดจากภาวะนี้ได้สบาย ๆ )
มาว่ากันถึงประโยชน์ของการสำรวจคือมันไปช่วยเพิ่มมิติของงานออกแบบฉากและ Replay Value ให้สูงกว่าเกมก่อน ๆ มาก ถ้าเป็น Two Point Campus มันจะให้อารมณ์ประมาณว่าจบจากวิทยาลัยนึง ก็นับว่าจบ แล้วไปเริ่มต้นสถานที่ใหม่ แต่ใน Two Point Museum เราจะต้องย้อนกลับไปบริหารพิพิธภัณฑ์ที่เราเคยทำมาแต่ว่าอาจจะติดขัดเพราะมีด่านให้สำรวจยังไม่มากพอ พอปลดล็อกได้แล้ว เราก็กลับมาที่เก่า ๆ แต่ไปลุยเอาของใหม่ ๆ มาจัดแสดงได้ เป็นการอัปเกรดสถานที่เดิมแบบไม่ทิ้ง เพื่อทำเป้าหมายใหญ่คือการเพิ่มดาวของพิพิธภัณฑ์ให้สูงสุด
จะทำพิพิธภัณฑ์ก็ต้องใช้ตังค์
ทีนี้มาพูดถึงทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดในเกมก็คือเงิน แหล่งรายได้หลักของเกมนี้จะมีความหลากหลายและค่อนข้างซับซ้อนกว่าเกมที่ผ่านมา ถ้าเกมก่อนเราได้เงินจากการมีนักเรียนเข้ามาสมัครเรียน, จากการขายสินค้า, การได้ทุนพิเศษ, แต่พิพิธภัณฑ์มีเส้นทางการเงินมากกว่านั้นครับ
รายได้ของเราหลัก ๆ จะมาจากการขายตั๋ว, เงินบริจาค, การจัดไกด์ทัวร์, การขายสินค้าของที่ระลึก, การขายชิ้นงานจัดแสดง ฯลฯ
ค่าสำคัญที่คุณควรรู้คือค่า Buzz ที่เป็นรูปดาวและค่าความรู้ที่เป็นรูปหลอดไฟครับ คุณจะได้เงินเยอะหรือน้อยส่วนใหญ่ก็มาจากสองค่านี้แหละ
ค่า Buzz คือความดังของวัตถุจัดแสดงชิ้นนั้น ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี สามารถทำให้เต็มได้ที่ 5 ดาว เราสามารถเพิ่มค่านี้ได้ด้วยการวางของประดับรอบ ๆ ส่วนค่าความรู้จะซับซ้อนหน่อย นั่นคือเราต้องสร้างบอร์ดให้ความรู้ขึ้นมารอบวัตถุให้เพียงพอ จากนั้นก็ต้องสร้างห้องวิเคราะห์แล้วต้องเอาวัตถุที่ต้องการเพิ่มค่าความรู้ไปศึกษา ซึ่งมันจะถูกทำลายตามกระบวนการ หมายความว่าคุณจะต้องมีของชิ้นนั้นมากกว่า 1 ชิ้น
ตลอดทั้งเกม ไม่ว่าจะค่า Buzz หรือ ค่าความรู้ ยังไงคุณก็ต้องให้ความสำคัญทั้งสองอย่าง ไม่งั้นพิพิธภัณฑ์คุณก็จะไม่ค่อยหอมกลิ่นเงิน
ยังไม่นับว่าลูกค้าที่เข้าพิพิธภัณฑ์มันก็มีหลายแบบ เป็นทั้งคนธรรมดา คนที่พาครอบครัวมา เด็กเล็กไปจนถึงศาสตราจารย์ แต่ละกลุ่มก็ต้องเอาใจต่างกันไป ถ้าอยากซื้อใจเด็ก คุณต้องทำพิพิธภัณฑ์ให้ดูสนุก มีการประดิษฐ์เครื่องเล่นไดโนเสาร์ยักษ์ ถ้าเป็นระดับศาสตราจารย์ ก็ต้องเน้นให้ความรู้เยอะ ๆ
เกมยังเพิ่มมิติความซับซ้อนของการหาเงินเข้าไปอีก สมมุติ (ที่เป็นเรื่องจริง) ว่าพิพิธภัณฑ์ผมขาดสภาพคล่อง ก็คือรายรับประจำปีหักกับค่าพนักงานและอื่น ๆ แล้วมันติดลบ วิธีออกจากบ่วงตามปกติก็คือเราอาจจะต้อองเพิ่มราคาตั๋วเข้าชม ปลดพนักงานออก รอให้มีผู้ใหญ่ใจดีส่งวัตถุโบราณที่จะช่วยบูสต์คนเข้าชมได้ชั่วคราว แต่ในเกมนี้จะมีความล้ำกว่านั้น ก็คือเราสามารถหาสปอนมาสนับสนุนเราได้ เช่น การสละพื้นที่บนกำแพงให้ติดป้ายโฆษณาคอนเสิร์ต คุณก็จะได้ส่วนแบ่งจากเจ้าของด้วย
เมื่อเข้าสู่ช่วงท้าย เกมจะแนะนำสิ่งที่เรียกว่าออฟฟิศการตลาดครับ ใช่ครับ คุณต้องอาศัยการตลาดเพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์ของคุณมันปังกว่าเดิม ซึ่งก็จะมีอะไรยิบย่อย เช่น คุณจะเลือกแคมเปญการตลาดแบบโปรโมททั่วไป หรือ โปรโมทเฉพาะกลุ่ม ไปจนถึงขั้นเจาะลึกได้เลยว่าอยากจะโปรโมทวัตถุโบราณชิ้นไหนได้เลย
จากที่เล่ามา ฟังแล้วเหมือนเกมจะดูเล่นยาก ซึ่งมันก็แอบยากขึ้นจริง ๆ แต่ด้วยความที่พื้นฐานของเกม Two Point เขามีงานออกแบบ UX UI ที่เข้าใจง่าย มีบทเรียนช่วยสอนคอยติดตามตลอด ผมเชื่อว่าใครที่ได้ลองก็สามารถเล่นได้ แค่อาจจะใช้เวลาทำความเข้าใจหน่อยนึง
ที่สำคัญเกมยังไม่ทิ้งความขี้เล่น ความสนุกกวน ๆ ของมัน เสียงตามสายที่พูดแล้วทำให้เรายิ้มมุมปาก ต้นไม้ดูดเลือดที่แปลงร่างคนมาชมให้กลายเป็นผีดูดเลือด ต้นไม้เขมือบคนแล้วคายออกมาเป็นตัวตลก ไปจนถึงการเซย์ไฮกับมนุษย์ต่างดาวที่เป็นชีส!
สรุป
สรุป ด้วยทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา ทำให้แม้ Two Point Museum จะเหมือนรียูส Asset เดิมมาเยอะ แต่การปรับคอร์เกมเพลย์ใหม่ให้สอดรับกับตีมพิพิธภัณฑ์ด้วยระบบออกสำรวจ การปรับแต่งลูปเพื่อให้คนเล่นได้ประสบการณ์ใหม่ พร้อมการคราฟต์ตีมพิพิธภัณฑ์ 5 แบบออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้นี่คืออีกหนึ่งเกมที่มีศักยภาพในการเป็นเครื่องไทม์แมชชีน เปิดเกมตอนเย็นฟ้าอาจจะสว่างตอนปิด แฟน ๆ Two Point ไม่ต้องรอ ส่วนใครที่อยากได้รสชาติใหม่นอกจากการสร้างอารยธรรมศรีวิไลเซชัน หรือแฟนเกมซิมูเลเตอร์ที่รู้สึกว่าช่วงนี้ของขาด การสร้งพิพิธภัณฑ์คือคำตอบของคุณครับ