Reviews

Total War: Pharaoh – รีวิว [REVIEW]

โดย ปอลนาโช่

รีวิว Total War: Pharaoh

*ขอขอบคุณโค้ด PC สำหรับการรีวิวจากบริษัท SEGA มา ณ โอกาสนี้

ท่ามกลางผืนทรายร้อนระอุ อากาศวันนี้แจ่มใสไร้เมฆบัง กองทัพขนาดมหึมาที่นำโดยรามเสสของผม จัดทัพตระหง่านเตรียมบุกเข้าตีกองทหารอันน้อยนิดของพวกฮิตไทต์เบื้องหน้า

ด้วยความประมาทย่ามใจแบบสุด ๆ ผมสั่งขบวนรบเดินหน้าตรงเข้าตีดื้อ ๆ ด้วยหวังว่าปริมาณทหารมากกว่า ยังไงก็ชนะ…แต่ผลกลับกลายเป็น “หายนะ” แทนครับ

โดยฝ่ายข้าศึกใช้วิธีถอยตอด ๆ สลับจัดทัพกองพลธนูคอยระดมยิงใส่ด้านข้างทั้งสองด้านของทัพอียิปต์ฝั่งผม ผมจึงต้องส่งกองทหารเคลื่อนที่เร็วไปไล่ตีพวกธนู แต่เหมือนศัตรู AI จะคาดเดาไว้แล้ว พอกองทหารองครักษ์ผละไปไกลเกินระยะคุ้มกัน พวกมันก็ระดมทุกทัพแนวหน้าโหมเข้าถึงตัวแม่ทัพรามเสสแล้วสังหารตายคาสนามรบ

พอแม่ทัพใหญ่ตาย ทัพที่เหลือก็แตก ผมสั่งการใครไม่ได้แล้ว ต่างหนีตายถอยร่นจนสุดท้ายเกมก็เด้งข้อความขึ้นมาหน้าจอว่าเอ็งแพ้ซะแล้ว!…บร๊ะ ผมถึงกับอุทาน เกมนี้มันสะใจดีจริง ๆ ไม่ได้เจอเกมที่เน้นวางแผนการรบแบบเข้ม ๆ อย่าง Total War: Pharaoh มานานแล้ว!

มาครับ ผมจะค่อย ๆ ตีแผ่ฟีเจอร์ต่าง ๆ ในเกมให้ได้ทราบกันว่า เกมนี้สนุกคุ้มค่าคุ้มราคาแค่ไหน แต่เฉลยให้แต่ต้นตอนนี้เลยก็ได้ว่า ผมประทับใจเกมนี้มากถึงมากที่สุด

STORY

Total War: Pharaoh มีจุดเริ่มเกมคร่าว ๆ เมื่อฟาโรห์เมอร์เนปทาห์ (Merneptah) สิ้นพระชนม์ ส่งผลให้กองกำลังสามฝ่าย เกิดแตกแยกเพราะล้วนปรารถนาอำนาจแห่งบัลลังก์ โดยทั้งสามก๊กได้แก่ ประชาชนแห่งอียิปต์, ชาวคานาน (Canaan) และอาณาจักรฮิตไทต์ (Hittite)

ซึ่งตอนเริ่มเล่นเนี่ย เกมจะมี 8 ตัวเลือกให้คุณพิจารณาว่าจะเล่นเป็นนายทัพคนใดจากฝ่ายไหน โดยอียิปต์มีให้เลือก 4 คน, คานาน 2 คน และฮิตไทต์อีก 2 คน

ผมจะให้ข้อมูลสั้น ๆ ของทั้ง 8 คนดังนี้ เริ่มจากฝ่ายอียิปต์ได้แก่ Seti เขาคือผู้สืบทอดอันทรงสิทธิ์ในบัลลังก์แห่งอียิปต์ และสไตล์การเล่นจะเน้นไปที่การขยายอาณาเขตโดยใช้กองกำลังปริมาณมหาศาล, Tausret คือภรรยาของ Seti เธอเป็นอัจฉริยะผู้ถี่ถ้วน และจะสร้างแผนเศรษฐกิจอันซับซ้อนเพื่อขยายอาณาจักรและเอาชนะศัตรู,

Amenmesse ผู้เข้าใจว่าอำนาจที่แท้จริงเหนือผู้คนนั้นไม่ใช่จะได้มาด้วยความภักดีแต่ด้วยเงินตรา ด้วยทรัพยากรมหาศาลในมือ เขาจะสามารถซื้อความแข็งแกร่งหรือเจรจาต่อรองได้ด้วยการทูต, Ramesses ผู้อวดอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ กองทัพของเขาประกอบไปด้วยนักรบระดับสูง ที่แม้จะจำนวนน้อยแต่มีความชำนาญหลากหลายและสมดุล

ด้านจักรวรรดิคานาน มีสองคน เริ่มที่ อิร์สุ (Irsu) ผู้ทำลายล้าง ขุนศึกจอมป่าเถื่อนที่หวังจะล่าเหยื่อบนความเปราะบางของอารยธรรมและเก็บเกี่ยวรางวัลจากความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นตามมา อีกคนคือ เบย์ (Bay), จอมวางแผน สไตล์การเล่นของเขานั้นเหมาะมากกับผู้เล่นที่ต้องการแฝงตัวในความมืด กองกำลังของเขาจะเชี่ยวชาญการลอบโจมตีด้วยความสามารถอย่างเช่น Vanguard Deployment, Stalk และ Sneak

สุดท้ายคือฝ่ายฮิตไทต์ ได้แก่ ซัพพิลูลิอูมา (Suppiluliuma) ผู้ปกป้อง คือมหาราชองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิฮิตไทต์ เขาเป็นตัวละครที่เน้นสไตล์ป้องกันสูงมาก, คุรุนทา (Kurunta) ผู้ชิงบัลลังก์ มีความต้องการบัลลังก์แห่งฮัตติ เขาต้องการเพิ่มพูนอำนาจของตนและช่วงชิงจักรวรรดิฮัตติมาครอบครอง

GAMEPLAY

เกมการเล่นก็คล้ายคลึงกับโททัลวอร์ภาคอื่น ๆ โดยคุณเริ่มเกมในภูมิภาคของตัวละครที่คุณเลือก จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายดินแดนออกไปให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร ในภาคนี้ ทรัพยากรสำคัญที่สุดคืออาหารครับ โดยทองก็ยังมีอยู่แต่จะใช้ในการเทรดมากกว่า

ด้านฟีเจอร์ใหม่ในฟาโรห์ก็ได้แก่ การปรับแต่งแคมเปญแล้วเล่นในแบบของคุณได้เอง กล่าวคือ เกมจะมีตัวเลือกปรับแต่งแคมเปญมากมาย อย่างเช่นสุ่มจุดเริ่มต้นของทุกขุมกำลัง, ปรับรายละเอียดเซ็ตติ้งทรัพยากร, คุณสามารถเล่นกับภัยธรรมชาติได้ ฯลฯ ซึ่งด้วยตัวเลือกอันหลากหลายนี้ คุณจะเพิ่มข้อเสียเปรียบให้ตนเองเพื่อความท้าทายหรือกลายเป็นมหาอำนาจที่ไร้ผู้ต่อกรเพื่อมุ่งสู่ชัยชนะอย่างไร้กังวลก็ย่อมได้

สิ่งที่เพิ่มเติมมาใหม่อีกอย่างคือด่านหน้า หรือ outpost โดยตามปกติแล้ว แต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย 3-4 ภูมิภาคพร้อมชุมชนที่คุณสามารถยึดได้ การยึดครองนิคมทั้งหมดในจังหวัดจะทำให้คุณสามารถออกคำสั่งทั่วทั้งจังหวัดได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละภูมิภาคจะมีช่องด่านหน้าสองหรือสามช่องด้วย เมื่อคุณควบคุมภูมิภาคได้แล้ว คุณจะสามารถสร้างด่านหน้าในช่องเหล่านี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคุณในทางใดทางหนึ่ง

โดยด่านบางแห่งยังทำหน้าที่เป็นด่านเสริมพลังอีกด้วย ทำให้คุณสามารถควบคุมกองทัพของคุณไปยังด่านนั้นได้ก่อนที่จะออกไปรบเพื่อรับประโยชน์ชั่วคราวต่าง ๆ เช่น เพิ่มระยะการเดินทัพหรือค่าบำรุงรักษาที่ลดลง เป็นต้น

ระบบใหม่อีกอันนึงในเกมก็คือ ฟีเจอร์การบูชาเหล่าเทพเจ้า ด้วยเทพเจ้า 19 องค์ให้เลือกสรรจากวงศาเทพของแต่ละวัฒนธรรม หากคุณแสดงความเคารพบูชามากพอก็จะได้โบนัสเกมเพลย์มากมาย หากแต่คุณหยามหมิ่นเทพเจ้าก็อาจเจอผลกระทบตามมา

ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญมาก ๆ อีกอันก็คือระบบ ราชสำนัก (royal court) ที่จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนเล่นต้องบริหารจัดการนอกเหนือจากการศึกกับศัตรูภายนอก โดยราชสำนักก็คือโครงสร้างอำนาจบนแผ่นดินของคุณเอง ซึ่งปัจจัยที่ช่วยเสริมฐานอำนาจของคุณก็จะมาจากการชนะศึกบ่อย ๆ การล็อบบี้บรรดาขุนนางด้วยกลวิธีต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบและฟีเจอร์ใหม่ทั้งหมดที่มีอยู่ในฟาโรห์ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเพิ่มเติมสูตรใหม่ ให้กับโครงสร้างเกมแบบดั้งเดิมที่ก็แข็งแกร่งอยู่แล้ว ให้ยิ่งเล่นสนุกขึ้นไปอีกนั่นเองครับ

ART & CREATIVITY

ทางด้านการออกแบบศิลป์และคุณภาพงานกราฟิกในเกม ซึ่งผมเองต้องยอมรับว่า ฉากในอียิปต์นั้นสมบูรณ์แบบสำหรับเกมโททัลวอร์ และทีมงาน Creative Assembly ก็ทำการบ้านมาดีมากครับ ลองนึกภาพการศึกบนพื้นทราย มีแม่น้ำไนล์ที่สวยงามและปิรามิดสุดอลังการเป็นฉากหลัง มันเจ๋งมากเลยนะ!

แถมด้วยระบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณจะได้นำทัพผ่านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันไปอย่างทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนและพายุทราย ซึ่งตอนผมเล่นเองนี่ส่วนใหญ่จะเตะถ่วงให้พายุผ่านไปก่อนครับค่อยบุกต่อ เพราะมักพาตัวเองเข้าไปเสียเปรียบเป็นประจำเลย (ฮา)

CONCLUSION

Total War: Pharaoh ยืนอยู่บนยอดปิรามิดของเกม RTS แบบสงครามสเกลใหญ่ แฟรนไชส์ที่มีอายุยาวนานนี้ยังคงมีทางให้ไปต่อได้เสมอโดยอาศัยการเพิ่มระบบและฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมายที่ช่วยยกระดับการเล่นเกม ถือเป็นก้าวสำคัญ แม้ว่าฟาโรห์จะมีข้อบกพร่องบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ฟาโรห์ก็นำเสนอหนึ่งในแคมเปญที่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้นและสวยงามของอียิปต์โบราณ

Pros

  • AI ข้าศึกท้าทายดีมาก รบสนุก บีบให้คนเล่นต้องคิดเยอะในทุก ๆ สมรภูมิ
  • ระบบการปรับแต่งแคมเปญได้ ทำให้เล่นได้หลายรอบโดยไม่รู้สึกว่าเกมมันซ้ำ ๆ กันเกินไป

Cons

  • ยูนิตทหารในเกมนี้ยังดูน้อยไปนิด มีไม่กี่ประเภท

The Review

80% โททัลวอร์แห่งคาบสมุทรไซนาย

Total War: PHARAOH พาผู้เล่นไปสัมผัสกับความวุ่นวายแห่งยุคสมัยของอาณาจักรในอียิปต์ ผู้เล่นจะได้เลือกฝ่ายในการเล่นเพื่อกำหนดชะตากรรมของวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ ในยามที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางความล่มสลายของยุคสำริด

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์