*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Ubisoft มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PS4 Slim ธรรมดา
ถือได้ว่าเป็นเกมที่ยอมรับออกมาตรง ๆ เลยครับว่าติดหนี้ทั้ง Zelda: Breath of the Wild และ Assassins Creed Odyssey ในตัวอย่างคำโปรยสื่อของเกมแอ็กชันผจญภัยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเทวตำนานกรีก Immortals Fenyx Rising (IFR) ชนิดที่ชัดเจนโปร่งใสตรวจสอบได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้ากันไปเลย
แน่นอนที่สุดครับ เมื่อท่าทีของเกมออกมาเป็นแบบนี้ เสียงตอบรับก็จะแตกออกเป็นสองทาง ทั้งแบบที่รู้สึกโอเคว่าเกมก็ออกมาบอกยอมรับตรง ๆ ไปจนถึง “ถ้าพูดว่าก็อปกันโจ่งแจ้งขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะซื้อเกมก็อปงานชาวบ้านมาเล่น”
ฉะนั้น ผมขอออกตัวก่อนเลยครับว่า รีวิวนี้มาจากมุมมองของคนที่ไม่เคยสัมผัส Breath of the Wild มาก่อน แต่ก็เล่น Odyssey จนจบ และผ่านประสบการณ์ผจญภัยในเกาะแห่งเทวตำนานร่วมกับ Fenyx มาจนจบ 1 รอบ หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นเสียงที่สาม ช่วยให้ทุกท่านเห็นภาพของเกมนี้ได้กว้างกว่าสิ่งที่มันนำเสนอในตัวอย่างหรือเดโม
เกมเพลย์: เหล้าใหม่ในขวดเก่า?
พูดแบบทั่วไปแล้ว เกมนี้จะให้เราได้ผจญภัยไปในเกาะหลักผ่าน 4 เขตแดนใหญ่ ๆ แต่ละเขตก็จะแทนเรื่องราวของเทพเจ้าแต่ละองค์ซึ่งมี อะโฟรไดตี อาเรส เฮสเฟสตุส และอธีนา รวมถึงยังมีเกาะสุดท้ายอีกหนึ่งเกาะด้วย หากเราตัดเกาะสุดท้ายออกไปอาณาเขตทั้งสี่จะมีรูปร่างหน้าตาที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก และถ้าคุณเคยผ่าน Odyssey มาแล้ว คุณแทบจะรู้ได้ด้วยซ้ำว่ามันมีการเอา Asset เดิม ๆ มาใช้ ความประทับใจในการสร้างโลกของเกมผมจึงให้อยู่ในเกรดกลาง ๆ ไม่ชมไม่ด่าแค่พยักหน้าเบา ๆ แต่กิจกรรมในโลกนี้ โดยเฉพาะพวก Vault และปริศนาต่าง ๆ นี่แหละที่น่าจะมาพูดถึงกัน
ส่วนของปริศนาในเกมนี้จะแบ่งออกใหญ่ ๆ ได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เรืยกว่า Vault ซึ่งจะพาเราเข้าไปในดันเจี้ยนเพื่อแก้ปริศนา (มีทั้งแบบทางเลือกและภาคบังคับ) และปริศนาที่ปรากฎอยู่ตามฉากทั่วไป (มีทั้งให้เลือกทำและภาคบังคับผสมกันไปอีกเช่นกัน) บางดันเจี้ยนก็จะมีบอสให้สู้ด้วย หากประเมินแบบสัดส่วนแล้ว การแก้ปริศนาคือหัวใจ 4 ใน 10 ของเกมเลยก็ว่าได้ และถ้าคุณรู้สึกซื้อปริศนาในช่วงต้น ๆ ก็มีโอกาสสูงมากที่คุณจะยอมจ่ายเวลาอย่างน้อยประมาณ 40 ชั่วโมงของชีวิตให้กับเกมนี้ เพราะมันสะท้อนความเอาจริงเอาจังในการคิด Puzzle ของทีมพัฒนามาก ทั้งที่เมื่อเอามาชำแหละดู มันก็คือการเอาองค์ประกอบการไขปริศนาเดิม ๆ ทั้งการยกของ การยิงธนู การกดสวิทช์ การต่อจิ๊กซอว์ ฯลฯ มาจัดเรียงใหม่แล้วก็แทรกลูกเล่นเล็กน้อยของแต่ละเขต แต่คุณจะรู้สึกว่ามันให้ความรู้สึกแตกต่างทุกครั้ง
หากจะให้เปรียบเทียบกับเกมค่ายเดียวกัน ตอนผมเล่น Valhalla ผมรู้สึกว่าการซ่อนสิ่งของหรือการหาทางเข้ามันซ้ำซาก และไม่ค่อยมีชั้นเชิง เพราะส่วนใหญ่คุณแค่หาช่องยิงธนูปลดล็อกประตูก็เข้าไปเอาของได้แล้ว แต่สำหรับ IFR ยังมีสิ่งที่โหดกว่านั้นก็คือ บางปริศนาก็มีธีมตามเทวตำนานของมันเองด้วย เช่น ปริศนาไข่มุกที่เชื่อมโยงกับต้นกำเนิดของเทพีอะโฟรไดตี คนเล่นที่รู้จักเทวตำนานนี้มาก่อนก็จะยิ่งอินไปกับการแก้ปริศนาด้วย
เรื่องที่จะละเลยไม่อยู่ในรีวิวนี้ไม่ได้แน่นอนก็คือระบบต่อสู้ ผมเชื่อว่าคนที่มีชั่วโมงบินในการเล่นเกมมานานดูตัวอย่างเกมเพลย์ก็น่าจะทะลุปรุโปร่งแล้วว่าระบบมันก็จะต้องมีตีเบา (เน้นลดพลังชีวิตเพิ่ม Stamina) ตีหนัก (เน้นทำให้ศัตรูเสียหลักจนมึน) กับพวกท่าพลังพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเกมจะเอาค่า Stamina ของเรามาใช้เป็นเหมือนค่า Mana ด้วย แต่อย่าเพิ่งนึกไกลไปถึงพวกซีรีส์ Souls ครับ เพราะการหลบและการโจมตีจะไม่ลดค่านี้แต่อย่างใด ฟังมาถึงจุดนี้ คุณอาจจะคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในเกมแอ็กชันทั่วไปนี่หว่า ซึ่งข้อโต้แย้งของผมก็คือ ใช่ครับ มันก็เป็นแบบนั้นแหละ… ระบบต่อสู้ของเกมนี้ไม่ได้สร้างมาตรฐานใหม่ก็จริง แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าโคตรมันโคตรฮาเลยครับพี่น้อง เพราะในทุกการหวด โดยเฉพาะท่าตีหนักปิดท้าย เหมือนทีมพัฒนาเอามือล้วงไปหยิบเสียง หยิบสีเอฟเฟกต์สาดตูมปรุงเข้าไป แล้วยิ่งเป็นการหวดเผด็จศึกนี่คืออารมณ์ ฟาด! มาเต็ม ๆ แบบส่งศัตรูลอยไปเหยียบดวงจันทร์เป็นเกียรติเป็นศรีให้ประเทศกรีกเลยทีเดียว
หากจะมีอะไรให้ตอดในประเด็นนี้ก็คือความหลากหลายของบรรดาอสุรกายในเกม ที่ความครีเอตของทีมสร้างดูจะหมดไปกับการออกแบบปริศนาหมดแล้ว ทั้งเกมเราจึงจะได้เห็นเมดูซา ไซคลอปส์ ไคมีรา ฯลฯ มีสีสันมากมายแต่โมเดลเดียวกัน ชนิดที่อดคิดไม่ได้ว่าพี่แอบสนับสนุนประเด็นความหลากหลายอยู่รึเปล่า? ยังดีที่เมื่อดำเนินเกมไปนานขึ้น พวกอสุรกายจุ่มสีพวกนี้ก็จะมีท่าใหม่ ๆ มาให้เราพอสัมผัสความแตกต่างได้บ้าง และในส่วนของบอสไฟต์ที่เราต้องต่อสู้กับฮีโรกรีกนับว่าทำออกมาได้ดีทุกตัว รวมถึงบอสตัวสุดท้ายก็เป็นการต่อสู้ที่คุ้มค่าสมราคา
ทั้งนี้ก็ต้องชมไปถึงการคิดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ Fenyx ไม่ว่าจะเป็นธนู ปีก เกราะแขนเฮราคลีส ทั้งหมดมีฟังก์ชันครบครัน ใช้ได้ในการต่อสู้กับการแก้ไขปริศนา แอบน่าเสียดายไปหน่อยที่ระบบธนูดูจะไม่ค่อยส่งผลต่อการต่อสู้มากนัก
เมื่อเหล่าเทพเจ้าต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่คิด
คำโปรยหนึ่งของ IFR คือ คุณเป็นความหวังสุดท้ายของทวยเทพ เมื่อฟังครั้งแรก เราจะนึกถึงการที่เราต้องสวมบทฮีโรปราบมหาอสุรกาย Typhon แล้วนำเทพเจ้ากลับคืนสู่วิมานโอลิมปัสอย่างสงบสุข ฟังดูแล้วเป็นเรื่องง่าย ๆ กายภาพมาก ๆ แต่เมื่อคุณได้ลองสัมผัสเรื่องราวของเกมนี้ไปสักพัก คุณจะรู้ว่าเทพเจ้าแต่ละองค์ก็มีบาดแผลในใจที่เอาเข้าจริงอาจสาหัสกว่าสิ่งที่ Typhon ทำด้วยซ้ำ
สำหรับผมแล้ว เกมนี้จะมีการเล่าเรื่องที่เข้าขั้นยอดเยี่ยมได้ หากเราเอาเทปมาปิดปาก Fenyx ตลอดการผจญภัยนี้ และเอาเข้าจริงแล้ว นี่เป็นเกมเนื้อหาซีเรียสแฝงอยู่ในลุคของความเป็นการ์ตูนดิสนีย์ โดยเฉพาะในเรื่องของการตีความเทวตำนานกรีกใหม่ เราจะได้เห็นเทพเจ้ากรีกในแง่มุมของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ซึ่งในต้นฉบับดั้งเดิมก็มีกลิ่นของเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แต่ Immortals Fenyx Rising จะจับปมเทพเจ้าแต่ละองค์มาขยี้ให้มากกว่าเดิม ถึงขนาดให้ Fenyx ต้องออกผจญภัยเข้าไปสัมผัสกับบาดแผลลึก ๆ ในใจของเทพเจ้า ผมขอยกตัวอย่างช่วงที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ เรื่องราวของเทพีอธีนา ที่ถึงจะไม่ได้ซีเรียสเข้าขั้นท้องทะลุเหมือนบางเกม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้เธอจะเป็นเทพีแห่งสติปัญญาผู้ยึดมั่นในหลักการเหนือกว่าอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งเธอก็แสดงท่าทีแบบนั้นตอนเจอกับ Fenyx ครั้งแรก ๆ ถึงที่สุดแล้วเรื่องราวจะคลี่คลายว่ามันไม่ผิดเลยหากเทพีอย่างเธอจะผิดพลาด หรือหากเธอจะแสดงออกว่าตัวเองก็อ่อนแอได้
ขอยกตัวอย่างเรื่องราวที่ชอบมาอีกเรื่อง คือเควสต์หลักของเทพเจ้าช่างตีเหล็กเฮฟเฟสตุส ซึ่งเกมได้ขยี้ปมเรื่องความเป็นเทพเจ้าผู้ถูกผลักไสทั้งจากพ่อแม่และเหล่าเทพด้วยกันเอง แต่ความเจ็บปวดนั้นก็ได้ทำให้ตัวเขาเองเติบโตขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องยกเครดิตให้คนเขียนบทจริง ๆ ที่ใส่ลูกเล่นว่าเทพเจ้าแต่ละองค์โดน Typhon สาปให้เป็นสิ่งที่เข้ากับจุดอ่อนของตัวเอง อธีนาโดนสาปให้เป็นเด็กผู้หญิงซึ่งสื่อว่าแท้จริงตัวเธอก็มีความอ่อนแอ แต่ต้องทำตัวให้เข้มแข็งพึ่งพาได้ ส่วนเฮฟเฟสตุสถูกสาปให้เป็นเครื่องจักรที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเพราะในใจเขาเองก็ไม่อยากรู้สึกถึงความทรมานใจอีกแล้ว เป็นหุ่นยนตร์ไปเลยจะดีกว่า แม้แต่ตัวของซุสเองที่แม้จะถูกวางบทมาให้ตบมุกโบ๊ะบ๊ะกับโพรมีธีอุสแค่ไหน ก็มีแผลในอดีตให้เขาต้องเรียนรู้เหมือนกัน ผมแทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่า Typhon เป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของเกม แต่นี่เป็นอสุรกายผู้มาเผยให้เห็นความบกพร่องของเหล่าเทพเจ้า และทำให้พวกเขาต้องพบกับชะตากรรมอย่างที่เป็นอยู่
ขับวนกลับมาที่ Fenyx อีกครั้ง ผมกลับรู้สึกว่าถ้าเกมจะทำให้ Fenyx เป็นตัวละครที่เป็นใบ้ไปเลย มันอาจจะดีกว่านี้มาก เพราะอะไร? แค่คุณเปิดเกมมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงคุณจะได้ยินประโยคที่พาซื่อจนเหลือเชื่อประมาณว่า “ทำไมนายทำแบบนั้น ทำไมนายทำแบบนี้” แต่พอเล่นไปสักพัก Fenyx ก็กลายร่างเป็นไลฟ์โค้ชช่วยสอนเทพเจ้าจนพบทางสว่างได้ เป็นความขัดแย้งในตัวที่เข้าขั้นร้ายแรงพอสมควร ทั้งที่ความจริงเกมก็มีการเล่าเรื่องจากมุมมองของโพรมีธีอุสกับซุสอยู่แล้ว แค่ให้โพรมีธีอุสพูดแทนใจของ Fenyx ได้ก็น่าจะดูขัดหูขัดตาน้อยกว่านี้
เพราะฉะนั้นในส่วนของการเล่าเรื่อง ผมยกคะแนนให้การทำการบ้านและการตีความเทวตำนานกรีกในแบบที่มันไม่ดาร์กเกินไป แต่ก็มีความเป็นผู้ใหญ่ในนั้น จะขัดก็แค่การออกแบบตัวละครหลักที่ทีมพัฒนาไม่ค่อยอ่านไลน์สื่อสารกันว่าจะให้ออกมาเป็นแนวไหน
สรุปแล้ว…
สำหรับ IFR นั้น เราจะพบจุดตำหนิ จุดขรุขระถ้าเราไปแตะทั้งในเรื่องของเกมเพลย์ และเนื้อเรื่อง ถึงแบบนั้น ผมจะบอกว่า IFR เป็นเกมที่ก็อปองค์ประกอบเกมอื่นมา แต่เป็นการก็อปเพราะผู้สร้างเขาเชื่อมั่นในพลังของสูตรสำเร็จนั้นจริง ๆ และพวกเขาทดแทนด้วยการออกแบบปริศนาที่สนุก ติดหนึบ ระบบการต่อสู้ที่รู้สึกคุ้มค่า ถ้าคุณจะซื้อเกมนี้มาเล่นเพื่อเอามัน คุณจะได้แค่ 70 ถ้าคุณฟังเรื่องราวและคิดตามไปด้วย คุณจะได้ 80 และถ้าคุณมีพื้นความรู้เทวตำนานกรีกอยู่แล้ว คุณอาจจะได้อะไรที่เกินกว่า 100 เลยก็ได้ และถ้างาน Game Award มีรางวัลสาขาเกมที่ถูกมองข้ามที่สุดแห่งปี Immortals Fenyx Rising ก็คือหนึ่งในผู้เข้าชิงแบบไม่ต้องสงสัย และโดยส่วนตัวผมจะเสียดายมากถ้า IP ใหม่นี้ไม่ได้ไปต่อ เพราะยังมีเทพเจ้าหลักอีกหลายองค์ที่ยังเอามาเล่นได้อีกเยอะ