รู้ไว้ไม่เสียหาย: REBIS แห่งศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ หนึ่งในแรงบันดาลใจของ ELDEN RING
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม
ในช่วงนี้ ELDEN RING น่าจะถือเป็นเกมที่มีผู้เล่นมากมายและถูกพูดถึงอย่างหนาหูเกมหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งถ้าหากใครที่ได้ลองเล่นเกมดูจนจบ (หรืออาจจะยังไม่จบ) ก็คงพอจะสังเกตเห็นได้ถึงรูปแบบหนึ่งที่เป็นธีมหลักในส่วนของเนื้อเรื่องภายในเกมนั่นคือ แทบจะทุกอย่างล้วนนำเสนอใต้แนวคิดของทวิลักษณ์ (Duality) อย่างเห็นได้ชัด แล้วแนวคิดทวิลักษณ์ที่ว่านี้คืออะไร? ถ้าจะให้อธิบายง่าย ๆ นั้นทวิลักษณ์เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจ การรับรู้และการมองสิ่งต่าง ๆ ในโลกว่าทุกอย่างล้วนประกอบไปด้วยขั้วตรงข้ามของกันและกัน เป็นลักษณะของการอธิบายสรรพสิ่งว่าต่างประกอบไปด้วยสองสิ่งเสมอ มีขาวก็ต้องมีดำ มีดีก็ต้องมีชั่ว มีชายก็ต้องมีหญิง ฯลฯ นั่นเอง
ถ้าหากกล่าวถึงในแง่ของเกม ELDEN RING แล้วนั้น ผู้เล่นอาจสังเกตเห็นทวิลักษณ์ดังกล่าวผ่านบรรดาตัวละครต่าง ๆ มากมายที่มาร่วมสร้างสีสันให้กับเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นราดากอนและมาริกาที่เราจะได้รับรู้ว่าทั้งสองนั้นเดิมทีเป็นตัวตนเดียวกันที่โดนแยกออกมาเป็นชายและหญิงเพื่อให้ครองคู่กันได้ แม้แต่ทวิองคุลี (Two Fingers) ที่คอยสื่อสารกับพระมหาประสงค์ (Greater Will) และมีเป้าหมายในการฟื้นฟูบัญญัติทองให้กลับมาเรืองรองอีกครั้ง ก็ยังมีขั้วตรงข้ามอย่างไตรองคุลี (Three Fingers) ที่มีเป้าหมายคือการแผดเผาสรรพสิ่งของแดนมัชฌิมาให้มอดไหม้จนไม่เหลือสรรพชีวิต (ฉากจบแบบ The Lord of Frenzied Flame) ฯลฯ
แต่สำหรับในวันนี้เราจะมาพูดถึงราดากอนและมาริกาที่เป็นตัวตนเดียวกันในร่างเดียวกันแต่แยกภาคแยกส่วนออกมาครับ แนวคิดซึ่งเป็นที่มาของไอเดียนี้ก็มาจากรีบิส (REBIS) ซึ่งถือเป็น “สุดยอดผลงาน” (magnum opus) ของศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุนั่นเอง
REBIS หรือ Great Work แห่งศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ
คำว่า Rebis นั้นมาจากภาษาละตินนั่นคือ Res Bina ที่แปลว่าสสารซ้ำ(สสารคู่) และเป็นสิ่งที่ถือเป็นสุดยอดผลงานของศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ โดย Rebis นี้จะเกิดขึ้นมาได้หลังจากผู้หนึ่งผ่านกระบวนการเน่าสลาย (Putrefaction) และผ่านการชำระล้าง (Purification) ที่ถือเป็นการแยกคุณลักษณะตรงข้ามออกจากกันแล้ว ก็นำเอาคุณลักษณะตรงข้ามเหล่านั้นมารวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการหลอมรวมของจิตวิญญาณและสสาร จนเกิดเป็นตัวตนที่มีทั้งคุณลักษณะของชายและหญิงร่วมกันในตัว โดยแสดงให้เห็นจากภาพวาดที่มีศีรษะสองศีรษะบนร่างเดียวกันนั่นเอง
จากภาพเราจะเห็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่แยกฝั่งระหว่างชายและหญิง ส่วนวงกลมที่ Rebis ยืนอยู่ซึ่งประกอบไปด้วยสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม โดยที่สามเหลี่ยมจะสื่อถึงจิตวิญญาณส่วนสี่เหลี่ยมสื่อถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ โดยจะถูกนำไปเชื่อมกับหลายสิ่งหลายอย่างในเชิงสัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นสี่ฤดูกาล ทิศทั้งสี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนเลข 4 และเลข 3 ก็คือจำนวนเลขด้านของรูปทรงที่เมื่อรวมกันแล้วจะได้เป็นเจ็ดซึ่งถือเป็นเลขแห่งความสมบูรณ์ตามความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกภายในเจ็ดวัน
Rebis จะถือวัตถุในมือสองอย่างด้วยกัน ในฝั่งซ้ายที่เป็นชายจะถือวงเวียนที่จะใช้กับวงกลมและเป็นตัวแทนของคุณสมบัติด้านจิตวิญญาณ ส่วนฝั่งขวาที่เป็นหญิงไม้บรรทัดที่ใช้วัดมุมและขอบของสี่เหลี่ยมและเป็นตัวแทนของคุณสมบัติด้านวัตถุนั่นเอง
ทั้งนี้นอกเหนือจาก Rebis แล้ว ในศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุก็มีอุปมานิทัศน์อีกอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ Red King และ White Queen ครับ
ราชาแดงและราชินีขาว
Red King และ White Queen คือการเปรียบเปรยของศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุว่าด้วยการรวมสิ่งที่ตรงข้ามกันให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั่นเอง
สำนักคิดและสำนักปรัชญาตะวันตกนั้นได้มีการกำหนดคอนเซปต์ของหลายสิ่งหลายอย่างเป็นเพศชายหรือไม่ก็เพศหญิงมานานแล้ว เช่นดวงอาทิตย์คือชาย และดวงจันทร์คือหญิง ซึ่งแนวคิดพื้นฐานเหล่านี้เองจึงทำให้เกิดขึ้นมาเป็นการตีความ Red King โดยมีองค์ประกอบความเป็นชาย ส่วน White Queen ก็จะมีองค์ประกอบของความเป็นหญิง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยืนบนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของตนเอง จากภาพประกอบเราจะสังเกตเห็นว่าตรงกลางมีนกพิราบที่คาบดอกกุหลาบมาด้วย เสมือนเป็นสื่อกลางให้กับสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันทั้งสอง (ซึ่งในทางศาสนาคริสต์นั้น นกพิราบถือเป็นสัญลักษณ์ทั่วไปของ Holy Spirit ด้วยเช่นกัน)
ฝั่งของราชาแดงจะมีข้อความภาษาละตินที่เขียนเอาไว้ว่า “โอ จันทราเอ๋ย ขอให้ข้าได้เป็นสามีของเจ้าเถิด” และฝั่งราชินีขาวก็มีข้อความภาษาละตินเขียนเอาไว้เช่นกัน “โอ ดวงตะวันเอ๋ย ข้ายอมพลีกายให้ท่าน”
การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของ Red King และ White Queen มักถูกเรียกว่าเป็นการสมรสทางเคมีครับ ซึ่งบรรดาภาพวาดในสมัยก่อนก็จะสื่อออกมาในลักษณะของเพศสัมพันธ์ และผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดทายาทออกมาซึ่งก็คือ Rebis นั่นเอง
จากอุปมานิทัศน์ดังกล่าวนี้ ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ทีมงานผู้สร้าง Elden Ring จะนำเอาองค์ประกอบบางส่วนมาใช้เสริมแต่งเรื่องราวในเกม อย่างเช่นราชาแดงก็เปรียบได้เป็นราดากอนที่มีเส้นผมสีแดง ส่วนราชินีขาวก็อาจกลายมาเป็นเร็นนาล่าผู้ที่มีฉายานามว่าราชินีจันทร์เพ็ญแห่งราชวงศ์คาเรียนั่นเองครับ เพราะตามในเกมทั้งราดากอนและเร็นนาล่าก็ได้สมรสกันจนเกิดเป็นทายาทมนุษย์ครึ่งเทพหลากหลายคน ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะจบลงเพราะราดากอนจำเป็นต้องกลับไปครองคู่กับมาริกาที่เป็นอีกภาคหนึ่งของตนเพื่อขึ้นเป็นราชาแห่งเอลเดนคนที่สอง
อ้อ ถ้าใครได้ชมอนิเมชัน Castlevania ซีซัน 4 บน Netflix ในช่วงที่ผ่านมาก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า Rebis นั้นถือเป็นแกนหลักสำคัญของเรื่องราวเลยล่ะครับ
ถ้าเราเจออะไรที่น่าสนใจก็จะนำมาบอกเล่าให้ได้รับรู้กันอีกในโอกาสหน้าครับ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนครับผม
ที่มาของข้อมูล:
Beyer, Catherine. “Rebis: the Result of the Great Work in Alchemy.” Learn Religions, Sep. 8, 2021, learnreligions.com/rebis-from-theoria-philosophiae-hermeticae-95751.
Beyer, Catherine. “Marriage of the Red King and White Queen in Alchemy.” Learn Religions, Aug. 26, 2020, learnreligions.com/marriage-red-king-white-queen-alchemy-96052.