รีวิว MLB THE SHOW 22 [PLAYSTATION 5 + Nintendo Switch]
*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวฉบับ Digital Deluxe Edition ของทั้งสองเครื่องคอนโซล จาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้ครับ
หมายเหตุ: รูปภาพประกอบ แสดงการเปรียบเทียบภาพระหว่าง 3 เครื่องคอนโซล จัดหาให้โดยทีมประชาสัมพันธ์โซนี่
ก่อนเข้าเนื้อหาการรีวิว MLB THE SHOW 22 ภาคใหม่ล่าสุดของแฟรนไชส์เกมเบสบอลยอดฮิตจากค่ายโซนี่ ผมขอเล่าเรื่องราวสนุก ๆ ให้ฟังปูพื้นกันก่อนครับ โดยเมื่อจบการรีวิว MLB THE SHOW 21 เมื่อปีก่อน ผมก็ตั้งตารอดูผลงานของพ่อหนุ่ม เฟอร์นันโด ตาติส จูเนียร์ ที่โชว์ตัวอยู่หน้าปกเกมภาค 21 ซึ่งนักวิจารณ์หลายสำนักต่างเฝ้าจับตามองในฝีมือ ว่าจะโชว์ลีลาเด็ดแค่ไหนในฤดูกาลที่เริ่มมีการเปิดให้ผู้ชมเข้าสู่สนามได้แล้ว
ก็ปรากฏว่า…ตาติส น่ะโชว์ฝีมือได้ดีตามมาตรฐานนั่นแหละ แต่ทว่า! ไฮไลต์เด็ดประจำซีซัน 2021 Major League Baseball กลับเป็นการผงาดขึ้นมาของนักเบสบอลวัย 27 ปีชาวญี่ปุ่น “โชเฮย์ โอตานิ” Shohei Ohtani จากทีม แอลเอ แองเจิลส์ (Los Angeles Angels) ที่สุดท้ายถึงกับสามารถคว้าตำแหน่ง MVP ผู้เล่นทรงคุณค่าประจำฤดูกาลไปครองได้เลยทีเดียว ด้วยผลงาน 45 โฮมรัน/25 เบสสตีล/150 พิทชิ่ง สไตรค์เอาต์ !! ตัวเลขนี้หมายความว่ายังไงรู้มั้ยครับ?
มันหมายความว่า โอตานิ เป็นผู้เล่นครบเครื่องแบบที่หาได้ยากมากสำหรับการเป็นนักเบสบอลระดับโลก เพราะเขาเก่งทั้งตีทั้งขว้าง แถมวิ่งเร็วสุด ๆ คืองี้ครับ กีฬาเบสบอลที่เน้นการเล่นประสานในทุกตำแหน่งเพื่อให้เกิดการรันที่จะนำไปสู่การทำแต้มนั้น ต้องอาศัยผู้เล่นเฉพาะแต่ละตำแหน่ง อาทิ พิทเชอร์ (pitcher), แคชเชอร์ (catcher), เบสแมน, ชอร์ทสตอป และผู้เล่นคุมฟิลด์ด้านนอก ซึ่งกว่าจะฝึกฝนกันขึ้นมาให้เกิดความชำนาญระดับลีกอาชีพได้ ว่ายากแล้ว การจะเก่งกาจจนเป็น “เอซ” ในแต่ละด้านก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก
แต่โอตานิ แสดงให้เห็นเลยว่าเขาเป็นเอซของทุกตำแหน่งหลัก เป็นตัวตีลูกประจำทีม ตีโฮมรันเป็นว่าเล่น เป็นมือขว้างคนสำคัญที่ขว้างลูกระดับ 100 ไมล์ต่อชั่วโมงได้แบบสบาย ๆ แถมวิ่งเร็วได้ 30 ฟุตต่อวินาที จนสื่อมะกันเรียกแกขำ ๆ ว่านี่มัน เบ็บ รูธ กลับชาติมาเกิดเป็นคนเอเชียชัด ๆ
กลับมาเรื่องเกมของเรา…ผมจึงไม่แปลกใจเลยกับการหานักกีฬาขึ้นปกเกมในภาค 22 ซึ่งเป็นภาคใหม่ล่าสุดในคราวนี้ เพราะถือว่าทีมงานสร้างเกมเขาน่าจะทำงานง่ายเลยครับ แถมถูกใจต้นสังกัดอย่างโซนี่แน่นอน เพราะได้นักกีฬาจากดินแดนอาทิตย์อุทัยมาขึ้นปกแบบสมศักดิ์ศรีซะด้วย ก็ถือว่าเป็นเกร็ดน่าสนใจก่อนเข้าไปสู่เนื้อหาของเกมกันนะครับ
Game mode
จะบอกว่าโหมดเกมเหมือนกับปีก่อนก็ดูจะมักง่ายเกินไป แต่เท่าที่ผมลองสำรวจดูจนครบทุกโหมดแล้วก็ขอสรุปว่า ของใหม่สำหรับปีนี้จริง ๆ ที่เขาต้องการโชว์ว่าเป็นพัฒนาการใหม่ของแฟรนไชส์ก็คือ ระบบการเล่นครอส-เพลย์ ครอส-โพรเกรสชัน และครอส-เซฟ ระหว่างสามเครื่องคอนโซล PS, Xbox และ Switch นั่นเองครับ (ปล.การเล่นข้ามแพลตฟอร์มทั้งหมด ผู้เล่นต้องสร้างบัญชีใน theshow.com ก่อนถึงจะเข้าร่วมได้)
คือมันเหมาะกับการเปิดโลกแข่งขันกันกับคนเล่นอื่น ๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้นทันที หรือใครที่ชอบเล่นลีกแบบยาว ๆ หรือจัดทีมไดมอนด์ ไดนาสตี้ แล้วมีเครื่องเกมหลายเครื่อง (ยกตัวอย่างของผมที่เล่นเกมนี้บน PS5 เป็นหลัก แต่เวลาไปธุระ หรือเล่นบนเตียงก่อนนอน ก็โอนเซฟมาเล่นต่อที่นินเทนโด สวิตช์ ไลท์) ก็ถือว่าสะดวกดีเลยนะ สามารถเล่นได้ต่อเนื่อง
ที่ผมถือว่าเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของตัวเกมก็คือ การมีโหมดที่ประสานไปกับการแข่งขันในชีวิตจริงของลีก MLB ก็คือโหมดอย่าง Exhibition (Live Rosters) กับ March to October โดยการแข่งแบบนัดเดียวที่เรารู้จักกันดี (Exhibition) ก็จะมี 2 แบบคือปกติ กับ Live Rosters ที่จะซิงค์ข้อมูลผู้เล่นตามสถานการณ์จริง ใครเจ็บใครลงไม่ได้จะตรงตามที่เราดูถ่ายทอดสดทุกประการ เล่นแล้วอินสุด ๆ ส่วน March to October ซึ่งเป็นโหมดการเล่นรอบฤดูกาลปกติ ก็จะสนุกมากขึ้นหากคุณเล่นไปพร้อมกับช่วงแข่งขันจริงที่กำลังดำเนินกันอยู่ตอนนี้เลย
อย่างไรก็ดี ตัวโหมด March to October คราวนี้มีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จากเดิมที่เล่นซีซันเดียวแล้วจบ กลายเป็นแบบต่อเนื่อง เล่นต่อไปได้ มีซื้อขายแลกเปลี่ยนนักกีฬาได้ตามใจ คล้ายโหมดบริหารทีมแบบเกมกีฬาอื่น ๆ
Gameplay
มีการปรับปรุงระบบการควบคุมทั้งสำหรับการขว้างและการตีลูก มีหลายแบบให้เลือก ผมขอแนะนำหนัก ๆ เลยว่าให้ลองเองให้ครบทุกแบบก่อนแล้วค่อยเลือกใช้โหมดที่เราถนัดที่สุด อย่างการขว้างบอล (pitching) ตัวเกมจะมีให้เลือกใช้ 5 แบบด้วยกันคือ Pinpoint pitching, meter pitching, Pure Analog pitching, Pulse pitching และ Classic แต่ละแบบอธิบายลำบากครับ ต้องลองเล่นดูในเกมจะเข้าใจง่ายสุด
ประเด็นก็คือ ผมชื่นชอบที่ทีมงานเขาพยายามค้นหาวิธีการ “จำลอง” การพิทชิ่งและแบตติ้ง ออกมาเป็นการเล่นกับปุ่มและก้านอนาล็อกในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่กำหนดตายตัวมาเพียงอย่างเดียว แต่โยนมาให้ผู้เล่นเลือกได้ตามสะดวกเลยว่าชอบแบบไหน ซึ่งแต่ละแบบจะมีความยากง่ายและความสมจริงใกล้เคียงกับเบสบอล ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกแบบก็ต้องอาศัยการฝึกฝนพอสมควร กว่าจะถนัด “เข้ามือ” จนชำนาญครับ
Graphic
เวอร์ชัน PS5 นี่ไม่ต้องพูดถึงครับ สวยสมจริงอยู่แล้ว คุณภาพไม่ค่อยแตกต่างจากภาค 21 แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่เจ้าเวอร์ชันของนินเทนโด สวิตช์ ต่างหาก!
จะพูดไงดี คือภาพมันจะหยาบ ๆ หน่อย ขอบวัตถุและตัวละครจะไม่เรียบคม หน้าตานักเบสบอลดังแต่ละรายก็ดูไม่ค่อยเหมือนในชีวิตจริงนัก กราฟิกมีอาการโหลดเท็กซ์เจอร์ไม่ทันบ่อยครั้ง และการโหลดระหว่างเมนูและหน้าจอเข้าเกมค่อนข้างนาน…ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปหลายคนอาจจะพอเดาได้ เพราะมันเป็นเกมขนาดใหญ่ที่พอร์ตมาลง แต่ถึงกระนั้น ผมกลับมองว่า จุดเด่นและความสนุกที่เราได้จากเวอร์ชันนี้ก็คือ จุดแข็งของเครื่องสวิตช์เองครับ นั่นคือความสามารถในการพกพา และการเล่นได้ทุกที่ซึ่งผมชอบมาก ลองคิดดูสิ ผมสามารถเล่นเป็นโอตานิ เดินไปประจำที่เพื่อรอหวดบอลได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนในกิจวัตรประจำวันของชีวิต เช่น ระหว่างเข้าห้องน้ำ ประชุมออนไลน์ (แบบไม่เปิดกล้อง) หรือระหว่างเดินทางไปไหนมาไหน (โดยที่ไม่ได้เป็นคนขับรถ) เป็นต้น
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงทีมพากย์ระหว่างเกม ซึ่งสำนักวิจารณ์เมืองนอกมีเสียงแตกกันเป็นสองฝ่าย บางส่วนบอกดีขึ้น บางส่วนบอกแย่ลง อันนี้แล้วแต่รสนิยมทุกท่านเลยครับ เพราะผมฟังแล้วมันก็โอเคดีอยู่
Conclusion
เรื่องราวของ โอตานิ ที่โด่งดังมาตั้งแต่ไฮสคูล มุ่งสู่ฝันโคชิเอ็ง ได้เซ็นสัญญาเล่นลีกอาชีพในประเทศก่อนข้ามไปเล่นที่เมเจอร์ลีกสหรัฐแล้วดังระดับโลก ถือเป็นแฮปปี้เอนดิ้งแบบมังงะญี่ปุ่นโดยแท้ ฟังดูเหมือนการ์ตูนแต่นี่คือเรื่องจริง และ MLB THE SHOW 22 ก็คือสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จดังกล่าว ถ้าว่ากันตามจริง ตัวเกมดูไม่ต่างอะไรมากกับภาคก่อน ดังนั้น ถ้าใครมีภาค 21 อยู่แล้ว และไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากมายกับโอตานิ หรือการอัปเดตตัวผู้เล่นให้ถูกต้องตามฤดูกาลก็ยังสามารถเล่นภาคเก่าต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่เคยมีเกมซีรีส์นี้ไว้ในครอบครองมาก่อนเลย แล้วอยากลองซื้อมาเล่นดูซักตั้ง ผมก็แนะนำเลยครับว่าคุ้มเงินแน่นอน
GOOD
- ระบบเกมแน่นปึ้ก ครบเครื่องสมบูรณ์แบบ เป็นเกมจำลองเบสบอลที่สมจริง
- ตัวเกมออกแบบระดับความยาก-ง่ายได้ดี แตกต่างกันชัดเจน เหมาะกับผู้เล่นทุกสไตล์ เริ่มตั้งแต่ง่าย เล่นเอาขำ ๆ ไปจนถึงปรับให้ยาก ท้าทาย ลุ้นทุกเพลย์เหมือนแข่งจริงก็ยังได้
BAD
- ภาพรวมทั้งหมดของเกม ยังดูไม่ต่างจากภาคเดิมมากนัก
- เวอร์ชันนินเทนโดสวิตช์ มีคุณภาพห่างไกลจากเครื่องเจนปัจจุบันมากไปนิด