Games Reviews

LIVE A LIVE – รีวิว [REVIEW]

LIVE A LIVE – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**แพลตฟอร์มที่วางจำหน่าย: Nintendo Switch

Live A Live นี่ถือเป็นเกมที่ผมชื่นชอบคอนเซปต์ของเกมมาตั้งแต่สมัยต้นฉบับซึ่งวางจำหน่ายบนเครื่อง SFC/SNES ในปีค.ศ.1994 ครับ ในยุคนั้นคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดขายหนึ่งของเกมก็คือการโปรโมตว่าบรรดาตัวเอกแต่ละคนจากทั้ง 7 บทจะได้รับการออกแบบโดยเหล่านักวาดมังงะชื่อดังในยุคนั้น แต่ว่าพอได้ลองเล่นจริงจังแล้ว เนื้อหาของเกมมันมีอะไรที่ดึงดูดไม่แพ้เหล่าตัวละครที่ออกแบบจากนักวาดมังงะฝีมือเยี่ยมเลย

สำหรับ Live A Live เวอร์ชันปีค.ศ.2022 บน Nintendo Switch นี้ก็คือฉบับรีเมคในรูปแบบ HD-2D นั่นเอง


เนื้อเรื่อง

Live A Live คือเกม RPG ที่เปรียบเสมือนเป็นการรวมเรื่องสั้นจำนวน 7+1 เรื่องเข้าไว้ด้วยกัน (เรื่องที่ 8 จะปรากฎให้เล่นหลังจบ 7 เรื่องก่อนหน้าครบ) และเมื่อจบครบทั้ง 8 บทแล้วก็จะเป็นการเปิดเนื้อหาบทสุดท้ายที่เหล่าตัวเอกจากทุกบทจากต่างยุคต่างสมัยจะมีเหตุให้ต้องมารวมตัวกัน

สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงและชื่นชมเลยจริง ๆ ในแง่ของเนื้อหาก็คือแต่ละบทจะมีธีมของเรื่องราวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ พอบทนินจาก็จะได้อารมณ์พวกหนังญี่ปุ่นย้อนยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งที่คุ้นเคยจากสื่อบันเทิงสไตล์นินจาซามูไร ทั้งบุคคลในประวัติศาสตร์หรือภูตผีโยวไคต่าง ๆ พอบทคาวบอยก็จะนำเสนอในธีมของคาวบอยพเนจรที่ผ่านทางมายังเมืองห่างไกลแล้วช่วยเหลือชาวเมืองที่โดนแก๊งนอกกฎหมายเล่นงาน พอไปยังบทอนาคตอันห่างไกลก็นำเสนอในแบบนิยายไซไฟสยองขวัญบนพื้นที่ปิดในยานอวกาศกันไปเลย

แต่ว่าเนื้อหาแต่ละบทที่ต่างยุคสมัยและดูไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกัน ก็สามารถถูกดึงมารวมกันได้ในท้ายที่สุดด้วยจุดร่วมบางประการซึ่งก็หาข้อสรุปในตอนท้ายได้กลมกล่อมและลงตัวครับ การนำเสนอในแต่ละบทนั้นทำออกมาได้สนุกในแบบที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่เคยผ่านหูผ่านตาสื่อบันเทิงมาเยอะ คุณก็จะเข้าใจแนวทางนำเสนอของแต่ละบทได้ในทันทีและสามารถสนุกไปกับทุกบทได้อย่างไม่ยากเย็น


เกมเพลย์

ในส่วนของระบบการเล่นโดยหลักนั้น Live A Live จะเป็นเกมเทิร์นเบส RPG ที่มีระบบหลายสิ่งหลายอย่างตามที่คุณจะคาดหวังได้ ซึ่งก็จะค่อนข้างเรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนคือตัวละครจะสามารถติดตั้งอาวุธเครื่องป้องกันและเครื่องประดับต่าง ๆ ได้ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์แบบ passive ต่างกันไป เช่น ป้องกันพิษ ป้องกันติดหิน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายคนที่คุ้นเคยกับเกม JRPG น่าจะรู้ ๆ กันดีนั่นล่ะครับ พวกท่าโจมตีต่าง ๆ ของตัวละครฝั่งเราจะมีไอคอนที่บอกคุณลักษณะการโจมตีอยู่ด้านหน้าของชื่อท่าซึ่งถ้าคุณเลือกใช้ท่าที่ศัตรูแพ้คุณลักษณะนั้นก็จะสร้างความเสียหายได้มากกว่าปกติ โดยรวมแล้วระบบการต่อสู้นี่คุณจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เพียงแค่เข้าการต่อสู้หนึ่งรอบหรือสองรอบครับ

สิ่งที่จะเป็นเอกลักษณ์ในแง่ของระบบต่อสู้ในเกมก็คือการผสมระหว่างเทิร์นเบส RPG กับเกมสไตล์ซิมูเลชัน RPG นั่นคือในทุกฉากต่อสู้จะมีการแบ่งพื้นที่เป็นตารางกริด โดยที่ตัวละครฝั่งเราจะใช้พื้นที่หนึ่งตารางครับ ส่วนบรรดาศัตรูนั้นอาจใช้พื้นที่หนึ่งตารางหรือไม่ก็มากกว่านั้นถ้าศัตรูตัวใหญ่ ซึ่งบรรดาท่าโจมตีทั้งหลายของทั้งฝั่งเราและฝั่งศัตรูจะมีขอบเขตและระยะในการโจมตีที่ต่างกัน ถ้าหากว่าศัตรูอยู่ในตำแหน่งตารางที่ตรงกับขอบเขตโจมตีก็จะสามารถใช้ท่านั้น ๆ ได้ โดยในทางกลับกันศัตรูเองก็จะมีระยะโจมตีที่หากเราไปเดินในตำแหน่งนั้นก็จะโดนเล่นงานในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเมื่อถึงเทิร์นของเราเราก็จะสามารถเดินหลบออกจากระยะเพื่อชิงความได้เปรียบได้นั่นเอง รูปแบบการต่อสู้จะเป็นไปแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเกม

ทั้งนี้ แต่ละบทของตัวเอกแต่ละคนจะมีกิมมิคเฉพาะที่จะหาไม่ได้ในบทอื่น ๆ ช่วยให้การเล่นเนื้อเรื่องแต่ละบทนั้นได้รสชาติที่แปลกและแตกต่างจากจากบทอื่น ๆ เสริมกับด้านเนื้อหาที่นำเสนออย่างแปลกและแตกต่างกันไปในแต่ละบทเช่นกัน

บทก่อนประวัติศาสตร์ – โปโกะที่เป็นตัวเอกจะมีความสามารถในการดมกลิ่นเพื่อตามล่าหาสัตว์และไอเท็ม
บทจีนยุคราชวงศ์ – ซีฝูหมัดดวงใจปฐพีจะต้องเลือกเฟ้นเพื่อฝึกฝนศิษย์ว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดวิชา
บทสนธยาแห่งยุคเอโดะ – โอโบโระมารุจะมีความสามารถพรางตัวเพื่อหลบเร้นสายตาของทหารในปราสาท (หรือจะปะทะตรง ๆ ก็แล้วแต่ผู้เล่น)
บทตะวันตกแดนเถื่อน – ซันดาวน์ คิดจะต้องสำรวจทั่วเมืองเพื่อหาข้าวของต่าง ๆ มาร่วมมือกับชาวเมืองในการวางกับดักและเตรียมรับมือกับแก๊งนอกกฎหมายเครซี่บันช์
บทยุคปัจจุบัน – มาซารุ ทาคาฮาระจะสามารถลอกเลียนแบบวิชาจากคู่ต่อสู้ที่ตนได้เผชิญ (ลักษณะแบบเดียวกับจอมเวทน้ำเงินในซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซี) ซึ่งนำเสนอคล้ายเกมไฟติ้งชื่อดังอย่างสตรีทไฟเตอร์
บทอนาคตอันใกล้ – อากิระ ทาโดโคโระมีความสามารถพลังจิตในการอ่านใจผู้อื่น และยังมีหุ่นยักษ์ให้ใช้เสมือนอนิเมซูเปอร์โรบ็อต
บทอนาคตอันห่างไกล – คิวบ์จะต้องไขปริศนาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นบนยานโคกิโต เออร์โก ซุมพร้อมหลบเลี่ยงจากสัตว์ร้ายต่างดาวที่เพ่นพ่านทั่วยาน

ส่วนในบทสุดท้ายของเกม ก็จะเล่นในสไตล์ JRPG ที่หลายคนคุ้นเคยนั่นคือทุกคนจะรวมกันเข้าปาร์ตี้เพื่อไปเผชิญหน้ากับบอสใหญ่ของเกม โดยที่ความสามารถของแต่ละคนก็จะช่วยเสริมกันและกันและกลบจุดด้อยของกันได้อย่างแนบเนียนครับ (ส่วนประเด็นว่าคุยกันรู้เรื่องได้ยังไงนี่…ละไว้ในฐานที่เข้าใจ)

สำหรับผู้ที่เคยเล่นตัวเกมต้นฉบับสมัย SFC/SNES มาก่อนนี่อาจรู้สึกว่าตัวเกมฉบับรีเมคนี้ไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนอะไรในแง่เกมเพลย์มากนักเมื่อเทียบกับองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเช่นกราฟิกและงานพากย์ (แต่การเพิ่มระบบช่วยเหลืออย่างมินิแมปเข้ามานี่ดีมากเลยนะ) ถึงอย่างนั้นในตอนท้ายเกมก็มีการเพิ่มเติมฉากใหม่และบอสใหม่เข้ามาเล็กน้อยเพื่อเสริมให้ตอนจบของเกมนั้นสมบูรณ์กว่าที่เคยอยู่เช่นกันครับ


กราฟิก

เกมนี้นำเสนองานภาพในสไตล์ที่ Square Enix เรียกอย่างเป็นทางการว่า HD-2D ซึ่งผสานงานภาพในแบบสไปรต์พิกเซล 2D เข้ากับโมเดลฉากหลังและวัตถุประกอบฉากในแบบโพลีกอน HD รวมถึงบรรดาเอฟเฟคต์ต่าง ๆ ที่ก็ทำออกมาได้สวยงามและรุนแรงครับ ที่สำคัญคือแต่ละท่าออกแบบมาได้เท่สมกับบรรดาภาพจำของตัวละครในแต่ละรูปแบบที่คุ้นตากันมา ดังนั้นเวลาปะทะกับบอสของแต่ละบทจึงออกมาสวยงามและอลังการอย่างที่ควรจะเป็น


เพลงประกอบและเสียงพากย์

เพลงประกอบนี่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่โดดเด่นมากของเกมเลยครับ เพลงประกอบในแต่ละบทนั้นทำออกมาได้ดีและสมกับสภาพแวดล้อมมาก ถ้าเป็นบทนินจาเพลงประกอบก็จะเต็มไปด้วยเสียงเครื่องดนตรีญี่ปุ่นโบราณ พอเป็นบทจีนยุคราชวงศ์เพลงประกอบก็จะใช้เสียงดนตรีที่ฟังปุ๊บรู้ปั๊บว่านี่คือจีน และที่ขาดไม่ได้เลยคือเพลงธีมตอนสู้บอสตัวสำคัญในแต่ละบทอย่าง Megalomania ที่ฟังแล้วดุดันอลังการและติดหูสมกับที่ใช้เป็นเพลงประกอบในศึกตัดสินกับตัวร้ายใหญ่ประจำบทครับ

แต่เพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเพลงประกอบของบทอนาคตอันใกล้ที่นำเสนอในแบบอนิเมซูเปอร์โรบ็อตนี่แหละครับ เป็นบทเดียวของเกมเลยที่มีฉากโอเพนนิงเป็นของตัวเองพร้อมเพลงในชื่อ Go! Go! Steel Titan! ที่มาพร้อมเสียงร้องของคุณฮิโรโนบุ คาเงยามะนักร้องขาประจำที่ร้องเพลงเปิดอนิเมสุดดุเดือดมานักต่อนัก พอเล่นเจอรอบแรกนี่ถึงกับนั่งยิ้มและนั่งขำอยู่หน้าจอเลย

ถ้าจะมีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากเกมต้นฉบับอย่างชัดเจนก็คือเสียงพากย์ในแต่ละฉากสำคัญนี่เองครับ ซึ่งในส่วนนี้ทำได้ดีมากนักพากย์แต่ละคนรับบทบาทกันได้สมคาแรคเตอร์อย่างที่ควรจะเป็น จุดนี้ผมคิดว่าต้องชมทีมแปลบทสนทนาของเกมด้วยเช่นกันเพราะว่ารูปแบบการใช้คำและสไตล์ของบทสนทนาในแต่ละบทนี่มีความต่างกันตามบริบทและตามยุคสมัยแบบเห็นได้ชัดเลย  ยิ่งบทยุคกลางที่จะมาให้เล่นเป็นเนื้อเรื่องที่ 8 นี่ผมชอบการเขียนบทสนทนามาก ทั้งการเลือกถ้อยคำและรูปประโยคนี่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อย ๆ ครับ


สรุป

Live A Live คือเกมคลาสสิคที่ได้รับการรีเมคกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบันโดยยังคงเสน่ห์และรสชาติดั้งเดิมเอาไว้ได้ครบถ้วน หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบเกมต้นฉบับคุณจะชอบฉบับรีเมคนี้ และถ้าคุณยังไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อนและอยากได้ JRPG สนุก ๆ เนื้อหาดีไว้เล่นก็ขอแนะนำให้ซื้อหามาเล่นกันครับ ถ้าจะมีจุดน่าเสียดายเล็กน้อยก็คงเป็นที่ตัวเกมค่อนข้างสั้นและในการรีเมคครั้งนี้มีเนื้อหาที่เพิ่มเติมจากเดิมไม่มากครับ

The Review

90% เปี่ยมเสน่ห์เช่นเดิม เพิ่มเติมคืองามขึ้น

Live A Live ฉบับรีเมคนี้เป็น JRPG ชั้นเยี่ยมที่แฟนเก่าเล่นได้ หรือถ้าหน้าใหม่เล่นก็จะสนุกไปกับตัวเกมได้เหมือนกัน ด้วยระบบการเล่นที่เข้าใจง่ายและเนื้อหาที่เข้มข้นไม่ซ้ำกันในแต่ละบทจะทำให้ได้บรรยากาศที่แตกต่างในทุกบทที่เล่น

90%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์