*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก PLAION Asia มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
Gungrave นี่เป็นหนึ่งใน IP ของวิดีโอเกมที่ผมค่อนข้างชอบและเพลินไปกับมันในยุคนึงครับ ตั้งแต่ภาคแรกในปี 2002 และภาคสอง Gungrave: Overdose ในปี 2004 ด้วยเกมเพลย์ลักษณะที่แบบสาดกระสุนไปเถอะ ยิง ๆ มันเข้าไปไม่ต้องคิดอะไรมาก รู้แค่กำจัดศัตรูให้หมดก็พอ ความดังของซีรีส์ก็มีในระดับหนึ่งจนเกิดเป็นอนิเมขึ้นมาหนึ่งภาคที่อ้างอิงเนื้อหาจากภาคแรก ก่อนที่จะหายต๋อมไปยาว ๆ จนแทบจะลืมแล้วก็กลับมาอีกทีด้วยเกม Gungrave VR ในปี 2017 สำหรับ PlayStation VR จนมาเป็นภาคล่าสุดอย่าง Gungrave G.O.R.E นี่ล่ะครับ
แล้วภาคล่าสุดนี้จะเป็นอย่างไร ผมจะมาเล่าให้ฟังกัน
เนื้อเรื่อง
ใน Gungrave G.O.R.E นี้เรายังคงรับบทเป็นตัวเอกคนเดิมคือบียอนด์ เดอะ เกรฟ (Beyond the Grave) ที่คนเรียกกันสั้น ๆ ว่าเกรฟ อดีตมือปืนแห่งองค์กรมิลเลนเนียน (Millennion) ผู้กลับมาจากความตายและออกไล่ล่าเพื่อนสนิทแฮรี แม็กโดเวลล์ (Harry McDowell) ที่หักหลังเขา พร้อมทั้งสังหารบิ๊กแดดดี้ (Big Daddy) ผู้นำองค์กรเพื่อยึดอำนาจและหวังใช้ยาซีด (SEED) ที่แปรสภาพผู้ใช้ให้กลายเป็นอสุรกายเพื่อครอบงำสังคม และสุดท้ายเกรฟก็ทำลายทั้งหมดทิ้งได้ในที่สุด และก็ได้ออกเดินทางร่วมกับมิกะ อาซางิ (Mika Asagi) บุตรสาวบุญธรรมที่ถือกำเนิดจากหญิงสาวที่เกรฟรักมานับแต่นั้น
คราวนี้ในภาค Gungrave G.O.R.E นี้ ได้มีองค์กรใหม่เรเวนแคลน (Raven Clan) ได้ปรากฏตัวขึ้นมา และทำให้ยาที่ควรจะสูญสลายไปแล้วแพร่กระจายไปทั่วอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้มิกะจึงทำการก่อตั้งองค์กรเอล-อัล คานเฮล (El-Al Canhel) ขึ้นมาเพื่อทำการออกทำลายซีดให้หมดสิ้นไป ทุกคนจึงได้รวบรวมกำลังเพื่อเข้าไปบุกยังดินแดนที่เรียกว่าสคัมแลนด์ (Scumland หรือแปลไทย ๆ ก็แดนสวะ) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของเรเวนแคลน แต่หลังจากนั้นเกรฟก็จะได้ตระเวนไปที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงบ้าง สิงคโปร์บ้าง มาเลเซียบ้าง เป็นต้น
โดยรวมในแง่ของเนื้อหานั้นเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อเลยจริง ๆ แบบที่ไม่ใช่การรีบูตหรือรีเมกอะไรแบบนั้นครับ เพราะในเกมมีหัวข้อสรุปเนื้อหาจากสองภาคก่อนให้ได้ชมกันแบบสั้น ๆ ซึ่งผมก็แนะนำให้กดดูก่อนถ้าคุณจำเนื้อหาของเดิมไม่ได้ นั่นก็เพราะเมื่อคุณกดเข้าเกมปุ๊บ ทุกอย่างก็จะเริ่มต้นทันทีในแบบที่คุณควรจะรู้ความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ก่อนนี้กันมาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นคือพวกตัวละครหน้าเก่า ๆ ก็ยังกลับมากันแบบค่อนข้างครบ (อย่างน้อยก็ตัวที่หลายคนชอบ) ดังนั้นการรู้จักหน้าค่าตาแต่ละคนเอาไว้ก่อนก็จะทำให้ได้อรรถรสดีขึ้นมาเหมือนกัน
แต่ถึงยังไงซะ เนื้อหาก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าพอได้ครับ คือมันไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากมายเป็นพิเศษแล้วก็ออกแนวลุยถล่มศัตรูให้ยับเพื่อหยุดยั้งแผนการร้ายในสไตล์เหมือนหนังแอ็กชันยุค 80s แค่นั้น ซึ่งถ้าคุณชอบหรือคุ้นเคยกับบรรดาตัวละครทั้งหลายล่ะก็ มันจะสนุกที่คุณได้รับรู้ความเป็นไปของพวกเขาหลังจากที่หายหน้าหายตากันไปนานนั่นล่ะครับ แต่ถ้าคุณไม่ได้ผูกพันหรือสนใจกับตัวละครเหล่านี้มากเนื้อเรื่องก็จะจืดสนิท แถมตัวร้ายใหญ่สุดของเกมก็โผล่แบบงง ๆ แล้วเวลาตายก็ตายไปแบบงง ๆ เหมือนกัน ไม่มีปูมหลังไม่มีอะไรบอกเลย
เกมเพลย์
หากจะเอานิยามแบบง่าย ๆ เลยก็คือเกมนี้เรามีหน้าที่เดินหน้าแล้วฆ่ามัน แค่นั้นเลยครับ เรียกได้ว่าเอาสไตล์การเล่นแบบสมัย PlayStation 2 มาใช้แบบที่ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิมมากนัก ในทุกฉากจะมีการบอกเส้นทางที่คุณจะต้องมุ่งหน้าไปต่อเสมอ และทุกอย่างจะเป็นเส้นตรงหมด ไม่มีทางลับให้หา ไม่มีความลับให้เก็บ เป้าหมายของคุณในทุกฉากคือฆ่าศัตรูให้เรียบแล้วไปต่ออย่างเดียว เป็นการออกแบบเกมมาในลักษณะของเกมอาร์เขดแท้ ๆ ครับ
Gungrave G.O.R.E นี่เป็นเกมแอ็กชันเดินหน้ายิงในแบบที่ว่าคุณจะไม่มีระบบเข้ากำบัง ไม่มีไอเท็มฟื้นพลังชีวิตให้เก็บระหว่างฉาก เพราะเกมนี้เน้นว่ายิ่งคุณเล่นแบบดุดันแอกเกรสซีฟมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับคุณมากเท่านั้น เกจพลังของคุณจะมีสองเกจด้วยกัน หนึ่งคือพลังชีวิต สองคือพลังเกราะ ซึ่งพลังเกราะเนี่ยมันจะฟื้นฟูได้เองเมื่อคุณไม่โดนโจมตี หรือไม่ก็เข้าประชิดศัตรูที่กำลังมึนงงแล้วกดสังหารก็จะฟื้นเกราะของคุณขึ้นมาได้ทันทีเหมือนกัน (ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีก็คือลากคอศัตรูมาเป็นโล่เพื่อรอฟื้นฟูพลังเกราะ)
แล้วถ้าสมมติว่าเกจพลังเกราะหมดจะเป็นยังไง? การโดนโจมตีก็จะไปลดเกจพลังชีวิตของคุณแทนครับ ซึ่งเกจพลังชีวิตที่ว่าเนี่ยมันจะไม่ฟื้นฟูอัตโนมัติ และก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าเกมนี้ไม่มีไอเท็มให้เก็บระหว่างทาง “แต่” คุณสามารถฟื้นพลังชีวิตของตนเองได้โดยการกดใช้ท่าใหญ่ที่เรียกว่าเดโมลิชันช็อต (Demolition Shot) ซึ่งการจะใช้เดโมลิชันช็อตได้นี่ คุณก็ต้องเก็บเกจของมันอีกนั่นแหละ แล้วเจ้าเกจที่ว่าจะเพิ่มได้ก็เมื่อคุณโจมตีศัตรูเยอะ ๆ ไม่ก็ทำลายข้าวของแยะ ๆ พอเกจเต็มคุณก็จะมีพลังมาเก็บสะสมเอาไว้ พอใช้ทีนึงจะโดนหรือไม่โดนก็แล้วแต่มันก็จะเป็นการฟื้นฟูพลังชีวิตของคุณไปโดยปริยายด้วยตัวเอง และยิ่งท่าที่ใช้เกจเยอะก็ยิ่งฟื้นฟูเยอะ
ลูปเกมเพลย์ของมันก็เลยจะเป็นรูปแบบที่เน้นให้เราต้องบุกแหลกแจกกระสุนนี่ล่ะครับ ที่สำคัญคือพวกท่าพิเศษบางท่าจะกดใช้ได้ก็ต่อเมื่อจำนวนฮิตของเราแตะ 50 ฮิตขึ้นไปเท่านั้นด้วย มันเลยบังคับคนเล่นกลาย ๆ ว่ายังไง ๆ ก็ต้องเล่นแบบดุตลอดเวลา
แล้วถามว่าเกมมันยากไหม? ก็ต้องตอบว่าแอบตึงมือไม่ใช่เล่นครับ เพราะพอเล่นไปสักกลางเกม (จำนวนฉากในเกมมีทั้งหมด 31 ฉาก) ทีมงานจะเริ่มใส่ศัตรูเข้ามาแบบเหมือนถม ๆ ให้เต็ม แล้วชนิดของศัตรูก็จะคละ ๆ กันมาแบบที่ว่าบางตัวคุณต้องชาร์จยิงทำลายโล่มัน บางตัวยิงมิสไซล์มาคุณก็ต้องเอาโลงศพตบกลับไป บางตัวมันเป็นสไนเปอร์ที่ยิงเราทีเดียวเกราะแตก ฯลฯ แล้วทุกอย่างมันมาแบบอีรุงตุงนังไปหมด ซึ่งผมไม่ปฏิเสธนะว่าจุดขายของเกมมันก็คืออะไรแบบนี้นั่นล่ะ เพียงแต่พอเจอบ่อย ๆ มันก็ชวนหงุดหงิดได้บ่อยตามไปครับ ยิ่งพอฉากหลัง ๆ ไปเจอไอ้พวกที่ยิ่งแล้วไม่ยอมสะเทือนนี่นะ…
อย่างไรก็ดี บอสไฟต์ของเกมนี้ก็สนุกอยู่ใช้ได้ แม้ว่าในหลายครั้งรูปแบบการโจมตีของบอสมันจะดูเหมือนไม่ตั้งใจให้เราหลบได้ก็ตามที ถ้าจะให้เทียบก็คือเหมือนเราเล่นเกม TPS ที่พวกบอสมันครอสโอเวอร์มาจากเกมแอ็กชันไฮสปีดแบบ DMC หรือไม่ก็ Bayonetta อะครับ นั่นคือตัวเลือกในการหลบหลีกและตอบโต้ของเราค่อนข้างจำกัด ในหลายครั้งบอสไฟต์มันเลยเหมือนเป็นการต้องยืนแลกในบางที ซึ่งก็อาจทำให้หลาย ๆ คนแอบหงุดหงิดอยู่ เพราะดีไซน์ของเกมนี่ผมคิดว่าตั้งใจทำให้ไม่สามารถเล่นแบบโนแดเมจได้แน่นอน
ในแง่ความหลากหลายก็พอมีบ้าง ในลักษณะที่ว่าจะมีบางฉากให้เราได้ลองสลับไปเล่นเป็นตัวละครอื่นอย่างบุนจิ คุงาชิระ (Bunji Kugashira) และควอร์ตซ (Quartz) ตัวละครใหม่ประจำภาคนี้ที่สไตล์การเล่นจะต่างกันเล็กน้อย แต่รวม ๆ ระบบก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (ซึ่งเอาเข้าจริง รูปแบบการเล่นของควอร์ตซนี่ผมคิดว่าไม่เหมาะกับสไตล์เกมด้วยซ้ำที่เป็นตัวละครสายประชิดในซีรีส์กันเกรฟแบบนี้…
จุดนึงที่ตัวเกมใส่เข้ามาแล้วช่วยบรรเทาเบาบางความยาก (แบบไร้เหตุผลในหลายจุด) ของเกมได้บ้างก็คือระบบอัปเกรดตัวละครครับ ยอมรับเลยว่าถ้าเกมนี้ไม่มีระบบอัปเกรดตัวละคร แล้วให้เราเล่นแบบเดิม ๆ ไปตั้งแต่ต้นยันจบนี่น่าจะโดนสาปส่งพอสมควร เพราะขนาดว่าอัปเกรดแล้วในฉากหลัง ๆ ยังแอบหืดจับอยู่เหมือนกัน (พร้อมด้วยนิ้วชี้ที่กดปุ่มยิงจนปวดระบม)
ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ควรใส่เข้ามาเลยก็คือพวกฉาก platforming ทั้งหลายทั้งปวงครับ ตลอดเกมจะมีจังหวะให้เราต้องกระโดดข้ามเหวไปมาอยู่บ่อย ๆ ถ้าตกเหวก็คือเกมโอเวอร์แล้วคุณก็ต้องมาโดดใหม่ แต่ระบบของเกมนี่ผมว่ามันไม่เอื้อให้ใส่อะไรแบบนี้ลงมาอย่างแรง แถมถ้าไม่ใส่มาก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรด้วย เลยไม่เข้าใจว่าจะใส่ลงมาทำไมให้มันลำบากชีวิตคนเล่นเหมือนกัน
โดยรวมในแง่ของเกมเพลย์ก็คือ ถ้าคุณเล่นไปสักฉากสองฉากคุณก็รู้แล้วครับว่าทั้งเกมจะเป็นยังไง เพราะสิ่งที่คุณต้องฝ่าฟันก็คือศัตรูจำนวนมหาศาลในแต่ละเวฟที่คุณต้องเก็บให้เรียบประหนึ่งเป็นเกมยิงมุโซแล้วก็เดินไปต่อแค่นั้น คือสมมติว่าถ้าพวกฉากหลังมันไม่เปลี่ยน มันก็จะเหมือนกันทั้งเกมเลยล่ะ
กราฟิกและการนำเสนอ
ในแง่ของกราฟิกนี่ ต้องยอมรับว่ามันเล่นได้ไหลลื่นดีครับ แม้ว่าจะมีเอฟเฟกต์ตูมตามเต็มจอแต่ก็ไม่เจออาการเฟรมเรตตกหรือกระตุกอะไรแบบนั้นนะ พวกฉากคัตซีนต่าง ๆ ก็ทำออกมาสวยดีใช้ได้อยู่ เพราะฉากแอ็กชันต่าง ๆ ก็เน้นความเท่ของตัวละครกันเป็นหลักเลยนำเสนอแบบค่อนข้างหวือหวาและรวดเร็ว ถ้าจะมีสิ่งที่ทำออกมาแล้วรุนแรงและสะใจอยู่ก็คงเป็นพวกเศษซากของศัตรูเวลาที่เรายิงหรือฆ่าไปนี่ล่ะครับ หัวหลุดมั่งแขนขากระจายมั่ง สมชื่อตัวย่อของเกมว่า GORE อยู่เหมือนกัน เพราะจำได้ว่าสมัย PlayStation 2 มันก็ไม่ได้ใส่ลงมาขนาดนี้นะ
เพลงประกอบ
เพลงประกอบนี่ก็ดุเดือดดีใช้ได้ตลอดทั้งเกมครับ สไตล์ของเพลงประกอบนี่ก็สมกับรูปร่างหน้าตาของเกมเลยคือเป็นแนวเฮวี่ตลอดเกม ไม่ว่าจะตอนสู้กับพวกศัตรูทั่วไปหรือว่าสู้กับบอส ติดแค่ว่าเสียงเอฟเฟกต์ปืนหรือเสียงระเบิดนี่มันฟังดูเบา ๆ แผ่ว ๆ ไปหน่อย แต่ก็อาจจะดีแล้วก็ได้นะ เพราะไม่งั้นแก้วหูคนเล่นอาจจะกระจุยไปก่อนจบเกม
สรุป
Gungrave G.O.R.E เป็นเกมแอ็กชันที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก เรียบง่าย เดินหน้าฆ่ามันอย่างเดียว ถ้าคุณชอบสองภาคก่อน ภาคนี้ก็เล่นได้ครับเพราะไม่ได้ต่างจากเดิมมาก เอามาเล่นแบบไม่ต้องคิดอะไรมากได้ แต่ว่าถ้าคุณชอบระบบการเล่นที่ซับซ้อน ชอบการปรับแต่งอะไรได้หลากหลาย เกมนี้จะไม่ตอบโจทย์คุณเลยครับ