Articles Games

รู้ไว้ไม่เสียหาย : เฟรยาตามตำนานนอร์ส – [ARTICLE]

เฟรยา (Freya) ถือเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทโดดเด่นมากตัวละครหนึ่งในเกม God of War (2018) และ God of War: Ragnarok (2022) เหตุการณ์หลายต่อหลายอย่างในเกมนั้นถูกขับเคลื่อนไปได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอ หรือสิ่งที่เธอมีส่วนเกี่ยวข้อง

ถึงตอนนี้หลายคนที่ได้เล่นเกม God of War: Ragnarok อาจจะทราบกันแล้วว่าเฟรยาเป็นผู้นำแห่งชาววาเนียร์ (Vanir) ซึ่งใช้ชีวิตอยู่อาศัยในภพวานาไฮม์มาเป็นเวลานาน ทว่าชาววาเนียร์และชาวเอเซียร์ (Aesir) ที่อาศัยอยู่ในแอสการ์ด (Asgard) นั้นก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาช้านาน มีข้อขัดแย้งและรบพุ่งกันเนือง ๆ จนวันหนึ่งทั้งสองภพก็ได้ผูกมิตรกันโดยที่เฟรยาซึ่งเป็นผู้นำแห่งวาเนียร์ได้แต่งงานเข้าเป็นภรรยาของโอดิน (Odin) เพื่อสงบศึกความขัดแย้งต่าง ๆ ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้น ก็เป็นไปตามที่ได้ทราบกันในเกมนั่นล่ะครับ

แล้วทีนี้ เฟรยาตามตำนานนอร์สนั้นแท้จริงเธอมีบทบาทอย่างไร?


ตัวตนของเฟรยาตามตำนานนอร์ส

เฟรยาตามตำนานนอร์สนั้นเป็นเทพธิดาที่เปรียบดั่งสัญลักษณ์ของความรักและความอุดมสมบูรณ์ (ในด้านการสืบพันธุ์) โดยเธอมักถูกบอกเล่าในด้านต่าง ๆ ในเชิงชู้สาวบ่อยครั้ง และมักถูกบรรยายว่ามีเสน่ห์ที่ใครก็ยากจะต้านทานโดยเฉพาะในบรรดาพวกยักษ์นั่นเอง อย่างเช่นธริม (Thrym) ที่ยินยอมจะคืนค้อนของธอร์ (Thor) ที่ตนขโมยมาก็ต่อเมื่อได้ครองคู่กับเฟรยา แต่แน่ล่ะว่าเฟรยาปฏิเสธ จึงเป็นที่มาว่าไฮม์ดัล (Heimdall) ได้ออกอุบายให้ธอร์ปลอมตัวเป็นเฟรยาเพื่อชิงค้อนของตนกลับมาแทน พร้อมด้วยความช่วยเหลือของโลกิ (Loki) ที่ทำให้ในที่สุดค้อนก็กลับมาอยู่ในมือของธอร์ได้ในที่สุด (จนธอร์สังหารธริมพร้อมยักษ์คนอื่น ๆ ไปมากมาย)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเฟรยานั้นเป็นเทพแห่งวาเนียร์ ซึ่งเธอมีน้องชายคือเฟรเยอร์ (Freyr) ส่วนพ่อของเธอคือนยอร์ด (Njord) ที่ตามตำนานแล้วทั้งสามได้เดินทางไปยังแอสการ์ดเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการสงบศึก โดยที่ฝั่งเอเซียร์ก็ส่งเทพสองคนมายังภพวานาไฮม์เป็นการแลกเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งเฟรยาในตอนที่อยู่กับชาวเอเซียร์นี่เองที่เธอเป็นผู้สอนเวทมนตร์ (เซเดอร์หรือ seiðr) ให้แก่โอดิน (Odin) และชาวเอเซียร์คนอื่น ๆ ซึ่งสถานะของเธอในหมู่ชาวเอเซียร์ก็ถือได้ว่าได้รับการเคารพนับถือสูงเลยทีเดียว

ดินแดนหนึ่งในการปกครองของเฟรยาก็คือโฟล์กวังเกอร์ (Folkvangr) ซึ่งเป็นเสมือนห้องโถงแห่งวิญญาณครึ่งหนึ่งที่ดับสูญไปในการศึกซึ่งจะมาใช้ชีวิตหลังความตายต่อไป ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็จะไปสู่ห้องโถงของโอดินนั่นคือวัลฮัลลา (Valhalla) แต่ว่านอกจากวิญญาณที่สิ้นชีพในการต่อสู้แล้ว โฟล์กวังเกอร์ก็ยังต้อนรับวิญญาณที่สิ้นชีพด้วยสาเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งห้องโถงของเฟรยาเองที่เรียกว่าเซสซรูมเนียร์ (Sessrumnir) ก็อยู่ในโฟล์กวังเกอร์นี่ล่ะครับ และสถานที่แห่งนี้มีการตีความว่าเป็นเรือที่อยู่ในลานหรือทุ่ง (เพราะโฟล์กวังเกอร์ มีความหมายว่าลานแห่งปวงประชา) ซึ่งคำบรรยายสถานที่ดังกล่าวก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนอร์สที่มักจะสร้างหลุมฝังศพในรูปแบบของเรือ ซึ่งคนที่เล่น God of War: Ragnarok น่าจะคุ้น ๆ ตากับคำนี้ เพราะมันเป็นชื่อไอเท็มที่ไว้ใช้อัปเกรดดาบของเฟรยาในเกมครับ


สัตว์ประจำกายและของวิเศษ

ตามตำนานนอร์สนั้นเฟรยาชื่นชอบการเดินทางเป็นพิเศษ และเธอก็มีวิธีการเดินทางไปทั่วภพทั้งเก้าหลากหลายวิธีแต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือรถเลื่อนของเธอที่ลากโดยแมวดำหรือแมวเทาสองตัว นอกจากนั้นเธอยังมีผ้าคลุมขนนกเหยี่ยวที่ทำให้เธอสามารถโบยบินไปบนท้องฟ้าได้โดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของในเกม God of War: Ragnarok ว่าทำไมหลายต่อหลายครั้งเธอจึงมีเวทที่จำแลงกายเป็นเหยี่ยวได้นั่นเองครับ

อีกหนึ่งตัวเลือกในการเดินทางของเฟรยาก็คือหมูป่าที่ชื่อฮิลดิสวินี (Hildisvíni) ที่เธอมักขึ้นขี่ไปบนหลังในตอนที่ไม่ได้ใช้รถเลื่อนพลังแมว โดยที่ตามตำนานแล้วโลกิก็ปั้นเรื่องว่าหมูป่าที่ว่าแท้จริงเป็นคนรักมนุษย์ของเฟรยาคือออตตาร์ (Óttar) ที่จำแลงกายมา โลกิจึงมักจะว่ากล่าวเฟรยาว่าไร้ศีลธรรมที่ขึ้นขี่หลังคนรักในที่สาธารณะบ่อยครั้ง โดยที่ในบทกวีฮินด์ลูยอด (Hyndluljóð) ก็ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เธอร่ายเวทใส่ออตตาร์แล้วเปลี่ยนให้เขากลายเป็นหมูป่าจริง แต่ก็เพื่อช่วยเหลือออตตาร์ในการพิสูจน์ต้นตระกูลและรับสิทธิในมรดกได้โดยชอบธรรม


เฟรยาและสามีตามตำนานนอร์ส

ในร้อยกรองเอ็ดดา (Poetic Edda) และร้อยแก้วเอ็ดดา (Prose Edda) ที่เขียนโดยสนอร์ริ สเตอร์ลูสัน (Snorri Sturluson) ได้มีการกล่าวถึงสามีของเฟรยาเอาไว้สั้น ๆ แบบที่ไม่มีรายละเอียดมากนักว่าเฟรยามีสามีที่ชื่อว่าโอเดอร์ (Odr) ที่ลงรายละเอียดเอาไว้ว่าทั้งโอเดอร์และเฟรยา มีบุตรสาวด้วยกันคือฮนอสส์ (Hnoss) ส่วนในมหากาพย์ไฮม์สคริงกลา (Heimskringla) ของสนอร์ริเช่นกันได้เพิ่มเติมว่าทั้งสองมีบุตรสาวอีกคนคือเกอร์เซมิ (Gersemi) โดยที่ชื่อของทั้งสองมีความหมายว่าสมบัติและสิ่งมีค่า (หรือแปลตรงตัวก็คืออัญมณี) และว่ากันว่าทั้งสองนั้นงดงามมาก

ในตำนานนอร์สนั้นกล่าวถึงโอเดอร์ว่าเขาได้ออกเดินทางไปไกลจากเทพเจ้าองค์อื่น ๆ โดยไม่มีสาเหตุและจุดหมายปลายทางอันแน่ชัด ซึ่งก็ทำให้เฟรยาออกเดินทางเพื่อตามหาสามีบ่อยครั้งอย่างโศกเศร้า น้ำตาของเธอที่หลั่งไหลงลงบนพื้นได้กลายเป็นทองคำ ส่วนน้ำตาที่หลั่งไหลลงบนท้องทะเลได้กลายเป็นอำพัน

บรรดานักวิชาการได้ตีความว่าแท้จริงแล้วเดิมทีโอเดอร์และโอดินอาจจะเป็นเทพองค์เดียวกัน แม้กระทั่งเฟรยาและฟริกก์ (Frigg) ก็เช่นกัน ด้วยความคล้ายคลึงในหลาย ๆ ประเด็น แต่ว่าการแยกออกมาของทั้งสองนั้นเริ่มต้นเมื่อไหรและเพราะเหตุใดก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบครับ

ข้อสังเกตหนึ่งคือชื่อโอดิน (Óðinn) ก็คือ Óðr ที่มีการต่อท้ายด้วย inn จนให้ความหมายว่า “ที่สุดแห่ง Óðr” นั่นก็เท่ากับว่าทั้งชื่อโอดินและโอเดอร์ก็คือชื่อเดียวกัน ในส่วนของเฟรยาและฟริกก์เองก็ไดรับการขนานนามว่าวันศุกร์ (Friday) นั้นเป็นการเรียกชื่อตามชื่อของทั้งสองนั่นเอง ซึ่งก็อีกนั่นล่ะครับที่ว่ารายละเอียดบ่งชี้ตามบันทึกเอย ตามบทกวีเอยว่าเป็นคนละคนก็มีไม่น้อยเหมือนกัน สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน ซึ่งใน God of War: Ragnarok ก็หยิบประเด็นเรื่องข้อสังเกตของเฟรยาและฟริกก์มาใช้ในเกมนั่นเอง

ส่วนในอนาคตนั้น แฟรนไชส์ God of War จะมีการกล่าวถึงสามีของเฟรยาอย่างโอเดอร์หรือไม่ หรือจะได้รับการตีความว่าเป็นใครก็เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกกันไว้ตรงนี้ก็คือชื่อของโอเดอร์นั้น มีความหมายว่า “ผู้คลั่ง” “ผู้พิโรธ” “ผู้เป็นแรงบันดาลใจ” ครับ

ในภาค God of War (2018) นั้น เราได้เห็นการนำเสนอแบบแนบเนียนกันไปแล้วว่าฟาร์เบาติ (Farbauti) ที่เป็นพ่อของโลกิตามที่ปรากฏในเกมคือใคร แล้วภาคต่อ ๆ ไปจะมีการสับขาหลอกในลักษณะเดียวกันสำหรับโอเดอร์อีกหรือไม่ มาลองติดตามไปด้วยกันครับ


ที่มาของข้อมูล

https://skjalden.com/freya/

https://www.worldhistory.org/Freyja/

https://mythopedia.com/topics/folkvangr

https://norse-mythology.org/odr-god/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์