รีวิว Syberia: The World Before
ขอให้ความทรงจำของเธอ เป็นทางให้ฉันผจญภัย
*ขอขอบคุณ Microids สำหรับโค้ดเพื่อรีวิวด้วยครับ
**รีวิวนี้เล่นบน Playstation 5
หลังจากเล่น Syberia: The World Before จบแล้ว มันมีอะไรติดค้างอยู่ในใจผมมาก จนต้องเอาไปค้นเป็นเรื่องเป็นราว แล้วผมก็เพิ่งตาสว่างว่า ความจริง Syberia เป็นซีรีส์เชื้อสายเบลเยียมที่มีมาอย่างยาวนานมาก ๆ แล้ว ผมอาจจะเคยเห็นมันผ่านตามาบ้าง แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนกระทั่งได้มาลองเองกับมือในภาคล่าสุดนี้เอง
ถ้านับจำนวนภาคจริง ๆ จะบอกว่าเกมภาค The World Before เป็นเกมที่สี่ของซีรีส์นี้แล้วครับ หลังจากได้เสียงตอบรับที่ไม่ค่อยรื่นหูนักใน Syberia 3 ตัวเกมเหมือนจะถูกตั้งคำถามว่าจะไปต่อได้หรือเปล่า
โชคดีที่เราไม่ต้องรอคำตอบนั้นนาน เพราะหลังจากที่ผมเล่น The World Before จบแล้ว ผมกล้ายืนยันว่าซีรีส์นี้ยังไงก็หาทางไปต่อได้ แม้จะไร้เงาของผู้สร้างเดิมคือ Benoît Sokal แล้วก็ตาม
และนี่คือความรู้สึกและมุมมองของผมที่มีต่อเกมภาคนี้ครับ
เนื้อเรื่อง
ก่อนจะได้เล่นจริง ๆ ผมต้องบอกว่าความประทับใจแรกที่ Syberia: The World Before มีให้ผมคือ ผมแทบไม่รู้เรื่องเลยว่านี่มันเป็นเกมแนวอะไร มันอยากจะเล่าเรื่องราวแบบไหน ตัวอย่างที่เกมปล่อยออกมายิ่งทำให้มีคำถามในหัวมากขึ้นไปอีก หนทางที่จะรู้ได้อย่างเดียวคือต้องลองเล่นมันเอง
หลังจากใช้เวลาให้เกมได้อธิบายความเป็นตัวตนของมันผ่านประสบการณ์การเล่น ผมพอสรุปได้แบบนี้ครับ คือไอ้เกมนี้เอาเข้าจริงก็เป็นแกมแนวผจญภัยแบบเน้นไขปริศนานั่นล่ะครับ แต่รูปรสกลิ่นเสียงของมันกลับมีความเฉพาะตัวมาก เพราะ 1. การสร้างโลกในแบบ Syberia และ 2. กลวิธีการแก้ปริศนาต่าง ๆ
เรื่องแรกก็คือการสร้างโลก ถ้าในภาษาที่เราเข้าใจกันดีในปัจจุบันก็คือ มันเป็นอีกเวิร์สหนึ่งของโลกเรานี่แหละครับ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ฝั่งยุโรป แต่ทั้งหมดจะถูกจินตนาการขึ้นมาใหม่ให้เป็นเวอร์ชันในแบบของ Syberia
เรื่องราวของเกมเริ่มต้นขึ้นจากอะไรที่มันดูไม่น่าจะเป็นเรื่องได้เลยก็คือ ตัวของ Kate Walker ได้ไปค้นพบภาพวาดของ Dana Roze ซึ่งพาร์ทเนอร์ของเธอก็เน้นให้เห็นว่า หน้าของ Kate คล้ายกับหน้าของ Dana มาก และนั่นจึงเป็นสิ่งจุดประกายให้ Kate เดินทางไกลข้ามประเทศ และสืบสวนข้ามกาลเวลาเพื่อหาต้วตนของ Dana ให้ได้
ผมรู้ว่ามันฟังดูเป็นพล็อตที่ประหลาด แม้แต่ตัวละครในเกมเองก็ยังรู้สึกว่ามันประหลาดเหมือนกัน แล้วก็ไม่แน่ใจด้วยว่าการออกผจญภัยครั้งนี้มันจะคุ้มค่าแค่ไหน ซึ่งเกมก็มีเหตุผลมารองรับในส่วนนี้ครับ แต่มันเป็นเหตุผลที่คุณจะซื้อหรือเปล่า อันนี้ขึ้นกับการตีความของผู้เล่นแล้ว
แต่ก็เพราะการผจญภัยของ Kate นี่แหละครับ ที่ทำให้ผมได้ไปสัมผัสความพิเศษเฉพาะตัวของโลก Syberia ที่ให้ความรู้สึกทั้งคุ้นเคยและแปลกประหลาดในตัวเอง คุณจะได้เจอกับกล้องส่องทางไกลหยอดเหรียญธรรมดาเหมือนโลกของเรา แต่กลไกการทำงานของมันกลับดูซับซ้อนและน่าทึ่งมาก ของธรรมดาอย่างรถรางก็มีหุ่นยนตร์ที่ไม่ใช่ AI เป็นคนขับและสามารถลุยน้ำได้
และที่สำคัญมาก ๆ คือประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของ Syberia เอง เพราะในเกมนี้เราจะได้เห็นโลกผ่านมุมมองของคนสองยุค หนึ่งก็คือ Kate จะเป็นคนยุคปัจจุบันที่ตามหาร่องรอยของ Dana หญิงสาวนักเปียโนมากพรสวรรค์ที่ต้องผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อการผงาดของ Brown Shadow (นาซีเวอร์ชัน Syberia) ได้คุกคามความสงบสุขของบรรดาประเทศในยุโรป
สิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นทั้งส่วนที่น่าประทับใจ และมันเป็นสารสำคัญของเรื่องด้วยก็คือ สงครามและการเมืองมันกำหนดชะตากรรมของเรามากกว่าที่คิด แม้แต่เรื่องที่เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์อย่าง ความรัก ก็ยังต้องยอมจำนนอยู่ใต้อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง และผลของมันสั่นสะเทือนจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนที่เรื่องราวของ Dana ส่งผลกระทบถึงชะตากรรมของ Kate ที่อายุต่างกันระดับยาย-หลานเลยทีเดียว
แต่ขณะเดียวกัน ผมกลับรู้สึกว่าบทสรุปของมันก็พยายามผูกเรื่อง เพื่อหาความชอบธรรมให้การเดินทางครั้งนี้ของ Kate มากเกินไป จนเรื่องราวทั้งหมดมันดูเกิดจากความ “บังเอิญ” ที่ยัดเข้ามามากจนยากที่จะเชื่อ
เกมเพลย์
การดำเนินเรื่องของเกมก็จะแบ่งออกเป็นทั้งฝั่งปัจจุบันคือยุคของ Kate ที่เป็นปี 2005 และฝั่งของ Dana ซึ่งเน้นที่ปี 1937 หรือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองในเกมจะเริ่มเปิดฉาก ซึ่งนำเรามาสู่เกมเพลย์
อย่างที่บอกไปว่าเกมเพลย์จะแบ่งออกเป็น 2 ตัวละครหลัก ใน 2 ช่วงเวลา (ความจริงมีตัวละครให้เราบังคับมากกว่านั้น) แต่เอาเข้าจริง จะเลือกตัวละครไหนก็ตาม มันไม่ได้ส่งผลต่อรูปแบบการบังคับ หรือเนื้อเรื่องอะไรขนาดนั้น สิ่งที่เราต้องทำส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการเน้นเดิน เน้นสำรวจ เน้นแก้ปริศนาเป็นหลักตามเควสหลักและเควสรอง
สำหรับเควสรอง คุณเลือกจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เพราะมันไม่ส่งผลในด้านเกมเพลย์อะไรทั้งนั้น แต่มันจะช่วยเปิดมุมมอง เปิดข้อมูลเสริมที่จะช่วยให้โลกของ Syberia ในความคิดของคุณมันดูมีมิติมากขึ้น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาว่าพวก Brown Shadow คืออะไร หรือ ตัวละครที่เราเจอนั้นอดีตเคยทำอะไรมาก่อน เป็นต้น
ฟังดูเผิน ๆ มันก็เป็นเกมเน้นการสำรวจในแบบที่คุณจะเจอได้ในเกมแนว The Dark Pictures นั่นล่ะครับ แต่ของดีที่เขาทุ่มทุนสร้างมากจริง ๆ คือส่วนของปริศนา ซึ่งปริศนาในเกมนี้คือแหล่งรวมความครีเอทีฟทั้งหมด จนผมแอบคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ของทีมพัฒนาคงจะเหือดแห้งไปอีกพักใหญ่ ๆ เลย
หลักการเกมเพลย์ของการแก้ปริศนาในเกมนี้จะให้เราเน้นหมุน หรือ เน้นมองวัตถุในองศาต่าง ๆ เพื่อหาว่ามันมีจุดไหนที่เราจะเปิดการทำงานมันได้บ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็จะคล้ายในเกม RE ภาคแรก หรือ RE 2 Remake ที่เราสามารถกดสำรวจไอเทม แล้วหมุนไปมาเพื่อหาจุดเปิดของมัน Syberia เอาระบบนี้มาใช้เลยครับ แล้วใช้กับของทุกชิ้นจริง ๆ ตั้งแต่ต้นยันจบเกมเลย
ผมคิดว่าผมใช้เวลาไปกับการแก้ปริศนาเกมนี้มากกว่าเวลากดเดินทางไปมาสักเท่าตัวได้ บางปริศนาใช้เวลาเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะไขออก ประเด็นสำคัญก็คือ ปริศนาที่ใส่มาเยอะ มันมาพร้อมคุณภาพที่เยอะตามด้วยหรือเปล่า?
พูดจากใจเลยก็คือ ปริศนาหลายอย่างในเกมนี้มองเผิน ๆ มันดูเวอร์นะ มันเวอร์ในแง่กลไกอันซับซ้อนของมัน เช่น ปริศนาเปิดหีบเก็บของ ที่มีจานรูปทิวทัศน์ติดอยู่บนฝาหีบ นอกจากจะต้องหมุนจานให้ตรงตามภาพทิวทัศน์แล้ว เราจะต้องไปถ่ายรูปทิวทัศน์จุดนั้น เพื่อเอามาดูเลขขององศา เพราะเลขส่วนนี้จะเอามาใช้ใส่เป็นรหัสเปิดฝาหีบอีกที…
แน่นอน ถ้าเราคิดในแง่เนื้อเรื่องมันก็คงไม่สมเหตุสมผลหรอกที่เราจะซ่อนของสำคัญเอาไว้ในกลไกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดนั้น มันดูเกินสมองมนุษย์มนา (ถึงจะเป็นมนุษย์ในอีกจักรวาลก็เถอะ) แต่ทีมสร้างเขาก็เอาจุดนี้มาขยี้ให้มันสุดจนมันกลายเป็นจุดขายไปเลย คือไหน ๆ มันจะเวอร์แล้ว ก็เทถุงกาวใส่งานออกแบบปริศนาไปเลย …อารมณ์ผู้เล่นมันก็จะออกมาประมาณว่า “เฮ้ย มันคิดได้ไงวะ” แล้ว เฮ้ย ต่อมาก็คือ “กูไขมันได้ไงวะ” แบบนี้เลยครับ
ตรงจุดนี้ผมต้องขอคารวะ Benoît Sokal และคนที่สานต่อการสร้างโลกของเขาด้วย เพราะปริศนาและเครื่องจักรกลทุกอย่างมันไม่หลุดธีมโลก Syberia เลย ตั้งแต่โทรศัพท์ธรรมดาไปยันเครื่องตอกบัตรขึ้นรถไฟ ทุกอย่างมันดูประหลาดในโลกของเรา แต่กลับดูสมเหตุสมผลถ้ามันอยู่ในจักรวาลนี้
การควบคุม
Syberia ค่อนข้างมีปัญหาในการบังคับตัวละครครับ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจพอสมควร ทั้งที่เกมก็ไม่ได้เน้นแอ็คชันอะไรขนาดนั้น แต่ตลอดการเล่นผมเจออาการเดินติดขอบวัตถุ เดินชนฝาแล้วหันหน้าไม่ได้บ่อยเอาเรื่องเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเกมเน้นจุดขายที่การเดินสำรวจเฉย ๆ
อีกข้อหนึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับคนเล่นคอนโซลเป็นหลัก เนื่องจากเกมนี้ต้องอาศัยการขยับเคอเซอร์เพื่อสำรวจจุดต่าง ๆ ของไอเทมเยอะมาก การใช้แกนอนาล็อคบางครั้งมันก็ไม่ทันใจ หรือทำให้เราพลาดรายละเอียดสำคัญ ซึ่งปัญหาพวกนี้จะไม่ค่อยเกิดถ้าเราใช้เมาส์บังคับ
สรุป
ท่ามกลางเกมกระแสหลัก (ไม่ว่าจะ AAA หรือ อินดี้) ที่ชิงแสงสปอตไลต์ของปี 2022 ไปอย่างมากมาย คุณอาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อ Syberia: The World Before จากรีวิวนี้เป็นครั้งแรก สิ่งที่ผมอยากจะบอกเกี่ยวกับมันก็คือ นี่เป็นเกมผจญภัยเน้นสำรวจ ไขปริศนา ที่ศรัทธาในจักรวาลของมันเองมาก เนื้อเรื่องของมันไม่ได้ไร้ที่ติ แต่สาระสำคัญที่มันพยายามบอกเราก็คือ แม้แต่ความรักที่เรามักมองว่าบริสุทธิ์ ก็หนีไม่พ้นเงาของการเมืองและไฟสงคราม
นอกจากกำแพงภาษาแล้ว ผมเลยไม่อยากให้คุณพลาดเกมนี้ รวมถึงปริศนาต่าง ๆ ในเกมที่ผมเชื่อว่าจะทำให้คุณได้สนุกไปกับ The World Before แน่นอน
และในฐานะซีรีส์ Syberia เอง หลังจากต้องพบภาวะถดถอยจากภาคก่อนหน้า The World Before คือการกลับมาปักธงยืนหยัดอีกครั้งว่าซีรีส์นี้ยังมีอนาคต และยังมีการผจญภัยอีกมากรอ Kate Walker อยู่
จุดเด่น
- โลกในแบบ Syberia ที่ดูสมจริงในแบบของมันเอง
- เนื้อเรื่องที่ชวนให้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งถึง ความรัก การเมือง และสงคราม
- ปริศนาที่มีความครีเอตสูงและไม่หลุดธีมของ Syberia
จุดด้อย
- จุดเริ่มต้นการเดินทางของตัวเอกที่อาจดูไม่มีเหตุผลหนักแน่นมารองรับ
- บทสรุปของเรื่องที่ผูกเรื่องออกมาให้ดูบังเอิญเกินไป เพราะต้องกลบจุดอ่อนในข้อแรก
- การบังคับที่ไม่ค่อยสมูท