*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Ripples มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
ถ้าพูดถึงชื่อของแอร์กูล ปัวโรต์ (Hercule Poirot) ผมคิดว่าคนที่อ่านนิยายนักสืบมาเยอะ หรืออย่างน้อยหากเคยอ่านมังงะแนวนักสืบกันมาบ้างก็อาจจะพอคุ้นเคยกับชื่อนี้ เพราะนี่คือตัวเอกในซีรีส์วรรณกรรมนักสืบที่ประพันธ์โดยอกาธา คริสตี (Agatha Christie) นักประพันธ์หญิงชาวอังกฤษผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคทองของนิยายนักสืบครับ (ช่วงปีค.ศ. 1920s และ 1930s) ซึ่งปัวโรต์เองก็ปรากฏตัวในนิยายถึง 33 เรื่อง ยังไม่นับเรื่องสั้นอีกมากมาย ชื่อเสียงของปัวโรต์ในฐานะนักสืบแห่งโลกวรรณกรรมนั้นไม่แพ้เชอร์ล็อก โฮล์มส (Sherlock Holmes) เลยก็ว่าได้
และในเกม Agatha Christie – Hercule Poirot: The London Case นี้ จะเป็นเรื่องราวฉบับออริจินัลที่ไม่เคยปรากฏในนิยายหรือเรื่องสั้นใดมาก่อนครับ
เนื้อเรื่อง
สำหรับเรื่องราวในเกมนี้ เริ่มต้นขึ้นจากตอนที่ปัวโรต์เดินทางจากประเทศเบลเยียมไปยังประเทศอังกฤษบนเรือเดินสมุทร โดยเขามีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับภาพวาดอันล้ำค่าในชื่อว่าแมกดาเลนผู้สำนึกบาป (Penitent Magdalene) ซึ่งภาพดังกล่าวจะถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทว่า ในงานกาล่าเพื่อเตรียมเปิดเผยภาพวาดต่อสาธารณะนั้น ภาพวาดกลับโดนขโมยหายไปอย่างลึกลับ นั่นทำให้บุคคลทุกคนที่ได้รับมาเชิญร่วมงานล้วนแล้วแต่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ซึ่งเหตุการณ์ก็จะบานปลายต่อไปเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ทำให้ปัวโรต์ต้องควานหาตัวฆาตกรพร้อมตามหาภาพวาดที่หายไปกลับมา
ในเกมนี้จะมีการแนะนำตัวละครอย่างอาร์เธอร์ เฮสติงส์ (Arthur Hastings) ที่จะรับบทเป็นคู่หูของปัวโรต์ในการไขปริศนาต่าง ๆ ซึ่งในเกมนี้จะผูกเรื่องว่าคดีในครั้งนี้ถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกของทั้งสองคนนี่เองครับ ซึ่งเฮสติงส์นี้ก็เป็นคู่หูปัวโรต์ในผลงานนิยายต้นฉบับด้วยเช่นกัน ถ้าจะบอกว่าเฮสติงส์คือจอห์น เอช วัตสัน (John H. Watson) ของปัวโรต์ก็คงไม่ผิดนัก
แต่เอาล่ะ เมื่อเป็นเกมที่อิงมาจากนิยายนักสืบชื่อดัง สิ่งที่ต้องพูดถึงเป็นอันดับแรกก็ไม่พ้นเรื่องของปริศนาและเรื่องราวในเกม ซึ่งในส่วนนี้สำหรับผมถือว่าทำได้ดีครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คำให้การของแต่ละคน พยานหลักฐานแวดล้อม ทุกอย่างชวนให้ขบคิดตามได้สนุกไม่เลวว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรอยู่ ณ เวลาเกิดเหตุ รวมไปถึงตอนคลี่คลายเฉลยปมทุกอย่างด้วยก็ทำได้สนุกดี เพียงแต่ว่า…เกมนี้ก็มีแผลใหญ่อยู่ที่ไม่สามารถมองข้ามได้เหมือนกัน
เกมเพลย์
หากจะมีสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็นแผลใหญ่ของเกม ก็คือระบบการเล่นนี่ล่ะครับ เกมนี้จะเน้นการสำรวจฉากและคุยกับผู้ต้องสงสัยเพื่อหาคำใบ้ หาหลักฐานที่จะทำให้เราเดินเรื่องต่อไปได้ และตลอดทั้ง 9 บทของเกมก็จะเป็นแบบนี้ไปตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ระหว่างเล่นถ้าคุณจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร เกมก็จะมีให้กดดูชื่อตัวละครแต่ละคนพร้อมรายละเอียดนิดหน่อยเพื่อทวนความจำ ซึ่งก็ถือว่าสะดวกดีเหมือนกัน
การสำรวจในเกมนี้ เราจะได้บังคับปัวโรต์เดินไปมาในพื้นที่เล็ก ๆ ด้วยมุมมองแบบไอโซเมตริก (มุมมองเฉียงจากด้านบน) ที่เราจะสามารถหมุนมุมกล้องได้ทีละ 90 องศาเพื่อหมุนดูว่ามีอะไรที่สำรวจได้บ้าง หากคุณเจอสิ่งที่ใช้ได้ก็อาจจะเก็บมาเป็นไอเท็มไว้กดใช้ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หรืออาจจะได้มาเป็นคำใบ้เพื่อไว้ใช้เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ซึ่งก็อาจทำให้คุณมีหัวข้อสนทนาเพิ่มขึ้นและจะช่วยให้เดินเรื่องต่อไปได้อีก
วิธีการเชื่อมโยงคำใบ้ของเกมนี้ก็คือ เราจะต้องกดเรียกหน้าจอเมนู Mind Map ขึ้นมาครับ โดยที่แต่ละเหตุการณ์ของแต่ละบทก็จะมี Mind Map ของตัวเอง รวมถึงคำใบ้และหลักฐานต่าง ๆ ที่เราเจอ หากว่าเราสำรวจสิ่งต่าง ๆ จนมากพอแล้วเราจะสามารถเลือกโยงแต่ละเหตุการณ์เข้าด้วยกันได้ จนเกิดเป็นคำใบ้ใหม่ ๆ ขึ้นมานั่นเอง
ตลอดทั้งเกมคุณอาจได้เจอช่วงที่จะต้องใส่รหัสต่าง ๆ เพื่อหาหลักฐานบ้าง ซึ่งรหัสส่วนมากก็ได้จากการสำรวจฉากในตอนนั้น ๆ แล้วเราก็ต้องมาตีความคำใบ้เอา แต่จากที่ผมเล่นมาผมคิดว่ารหัสนั้นไม่ยากครับ (ออกจะง่ายด้วย) อาศัยการสังเกตนิดหน่อยก็จะรู้ว่ารหัสคืออะไร
แล้วทำไมผมถึงบอกว่าเกมเพลย์มีแผลล่ะ? นั่นก็เพราะด้วยลักษณะของเกมนี้ผมคิดว่ามันใกล้เคียงกับเกมแนว point and click ในยุคก่อนครับที่เน้นการสำรวจและเลือกใช้ไอเท็มให้ถูกจุด เลือกตัวเลือกต่าง ๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ แต่ถ้าคุณเลือกผิดหลายครั้งก็เกมโอเวอร์แล้วต้องเล่นใหม่ หรือไม่ก็จะได้เห็นสถานการณ์ประหลาดไม่ก็ขำขันกันไป เพียงแค่ว่าเกมนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ เพราะต่อให้คุณเลือกบทสนทนาผิดหรือเลือกหลักฐานผิด เกมก็ไม่มีผลลัพธ์ในเชิงร้ายอะไร คุณก็แค่เลือกใหม่ ณ ตอนนั้นเลย แม้แต่ Mind Map เองก็เหมือนกัน ถ้าคุณเชื่อมโยงหลักฐานผิดชิ้น ก็แค่เลือกใหม่ แถมถ้าพลาดสามครั้งเกมก็จะขึ้นมาบอกเลยว่าต้องโยงอะไรกับอะไร
ด้วยความช่วยเหลือแบบนั้นผมเลยคิดว่ามันเป็นเกมที่ไม่ค่อยเหมือนเกมครับ เหมือนนั่งดูเหตุการณ์คลี่คลายกันไปทีละเปลาะ ๆ แบบกึ่งอัตโนมัติมากกว่า นอกจากนั้นแล้ววิธีการแก้ปริศนาในบางจุดก็แอบแปลก ๆ ถ้าคิดในแง่ความเป็นจริง เพราะแต่ละฉากในเกมนี้จะให้ปัวโรต์เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในลอนดอน ซึ่งดูจากแผนที่มันก็ห่างกันพอควรล่ะ แต่พอต้องเก็บไอเท็มจากที่นึงไปใช้อีกที่นึง ทั้งที่เป็นไอเท็มสามัญทั่ว ๆ ไปที่หาจากไหนก็ได้ มันเลยแอบตลกไปหน่อย
ยังไม่นับว่าปัวโรต์วิ่งไม่ได้ด้วยนะ จังหวะเกมที่เนิบช้าอยู่แล้วมันก็เลยทำให้รู้สึกยิ่งช้าเข้าไปอีก
กราฟิกและการแสดงผล
ในแง่ของกราฟิกนี่ โมเดลตัวละครให้ความรู้สึกเหมือนเอาโมเดล The Sims มาใช้เล่นเลยครับ รายละเอียดน้อย ๆ ขยับท่าขยับทางกันไม่เยอะ เวลาพูดกันปากตัวละครขยับกันแค่ไม่กี่แบบ มันเลยทำให้คัตซีนดูไม่เหมือนเป็นคัตซีนด้วยความที่ตัวละครประหยัดมูฟเมนต์กันเหลือเกินนี่ล่ะครับ นี่ยังไม่นับพวกบั๊กกราฟิกเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกนะ ที่แบบว่าบางทีตัวละครยืนมุมนี้แต่พอเราไปคุยมุมกล้องตัดมาเหมือนยืนอยู่อีกมุม เลยกลายเป็นเราคุยกับอากาศอะไรแบบนั้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเล่นแล้วรู้สึกสะดุดได้ตลอดทั้งเกมก็คือมูฟเมนต์ของเหตุการณ์ครับ เกมนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบตัดฉับตลอดจนขาดความต่อเนื่อง เพราะมันไม่มีการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่เหตุการณ์นั้น ๆ ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่น พอตัวละครคุยกัน แล้วมีเสียงของหล่น มันจะไม่มีการเล่นมุมกล้องให้เห็นความเคลื่อนไหวครับ แต่มุมกล้องตัดไปตรงนั้นเลยแล้วเราก็จะเห็นกระเป๋าหล่นของกระจายแล้ว กระทั่งพวก NPC ที่เราต้องไปคุยก็ยืนกันนิ่ง ๆ เป็นหุ่นไม่มีอากัปกิริยาเดินไปเดินมาให้เห็น เลยดูขาดชีวิตชีวาไปหน่อย
เสียงของเกม
ในแง่ของดนตรี…แทบไม่มีเลยครับ เท่าที่ผมเล่นมาตั้งแต่ต้นจนจบน่าจะมีดนตรีประกอบเพียงแค่ช่วงเดียวซึ่งก็คือฉากเปิดเรื่องของเกม แต่พอเข้าเกมแล้วทุกอย่างเงียบสงัด มีเพียงแค่เสียงพากย์ของแต่ละตัวละครให้ได้ยินเท่านั้น รวมถึงเสียงเอฟเฟกต์นิด ๆ หน่อย ๆ เวลาเชื่อมโยงหลักฐานเข้าด้วยกันได้ (คิดในแง่ดีอาจทำให้คนเล่นใช้สมาธิได้มากขึ้นมั้ง?)
สรุป
Agatha Christie – Hercule Poirot: The London Case เป็นเกมที่ไม่ค่อยจะมีความเป็นเกมเท่าไรนัก ออกไปทางแนวเป็น interactive novel มากกว่าเพราะสิ่งที่เราทำได้ในเกมนั้นค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าจะเอาในแง่ความเป็นนิยายนักสืบก็ถือว่าสนุกดีและบันเทิงใช้ได้อยู่ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าคุณพอใจกับการนำเสนอในสไตล์นี้แค่ไหนล่ะนะครับ
เอาเป็นว่า…ถ้าคุณจะดื่มอะไรแล้วได้กลิ่นอัลมอนด์อ่อน ๆ ล่ะก็…ระวังเอาไว้หน่อยก็ดี