รีวิว Baten Kaitos I & II HD Remaster (Switch)
*ขอขอบคุณ Bandai Namco Entertainment Asia สำหรับโค้ดเพื่อการรีวิว
**รีวิวนี้เล่นบน Nintendo Switch
บาเทน ไคทอส เป็นภาษาอาหรับ มีความหมายว่า พุงปลาวาฬ หรือท้องของสัตว์ประหลาดทะเล โดยวาฬในที่นี้หมายถึงกลุ่มดาววาฬ (กลุ่มดาวซีตัส) เป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าใต้ โดยในเทพปกรณัมกรีก กลุ่มดาวนี้แทนวาฬหรือสัตว์ทะเลร้าย อยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่า “ทะเลท้องฟ้า” ซึ่งได้ชื่อมาจากการที่กลุ่มดาวหลายกลุ่มในบริเวณนี้มีชื่อเกี่ยวข้องกับน้ำ
ซึ่ง “ทะเลท้องฟ้า” นี่เองครับ คือที่มาของคอนเซปต์หลัก ๆ ของเกม บาเทน ไคทอส ผลงานเกมสร้างชื่อให้กับค่าย Monolithsoft ซึ่งพวกเขายังได้ขยายคอนเซปต์เกี่ยวกับสัตว์ยักษ์และดินแดนล่องลอยในท้องนภาลักษณะนี้ไปใช้กับแฟรนไชส์เกม Xenoblade อีกหลายต่อหลายภาค นับเป็นการต่อยอดจินตนาการอันยอดเยี่ยมของ Monolithsoft ได้อย่างชัดเจนดีจริง ๆ
สมัยที่เกมต้นฉบับออกวางจำหน่าย ตัวผมเองมีโอกาสได้เล่นเพียงภาค Baten Kaitos: Eternal Wings and the Lost Ocean บนเครื่องเกมคิวบ์ ส่วนภาคต่ออย่าง Baten Kaitos Origins ผมไม่ได้เล่นเลยครับ ซึ่งต้องถือว่าโชคดีจริง ๆ ที่ทางบันไดนัมโค ได้ออกเกมเวอร์ชันรีมาสเตอร์แบบมัดรวมทั้งสองภาคมาขายใหม่ แถมผมได้ตัวเกมมารีวิวบนเครื่อง Nintendo Switch ซะด้วย ต่อไปนี้คือการสรุปรวมความคิดเห็นของผมหลังได้เล่นเกมในเวอร์ชันปรับปรุงขายใหม่ในครั้งนี้ครับ
STORY
มาดูในส่วนของเนื้อเรื่องคร่าว ๆ กันก่อน โดยบาเทน ไคทอส มีทั้งหมดสองภาค เริ่มจาก Baten Kaitos: Eternal Wings and the Lost Ocean บอกเล่าเรื่องราวของคาลาส (Kalas) ผู้มุ่งมั่นล้างแค้นให้กับความตายของพี่ชายและปู่ ก่อนจะได้พบกับเซลาห์ (Xelha) และร่วมกันออกเดินทางเพื่อโค่นจักรวรรดิอัลฟาร์ด (Alfard Empire) จากนั้นภาคสองคือ Baten Kaitos Origins ดำเนินเรื่องราวในช่วง 20 ปีก่อนเกมภาคแรก และบอกเล่าเกี่ยวกับซากิ (Sagi) ผู้เป็น “ผู้ใช้พลังวิญญาณ” ที่สามารถสัมผัสกับวิญญาณผู้พิทักษ์ได้ และเป็นสมาชิกของหน่วยทมิฬ (Dark Service) ซึ่งเป็นหน่วยชั้นยอดของจักรวรรดิอัลฟาร์ด ซากิออกเดินทางเพื่อล้างมลทินให้ตนเองหลังจากที่โดนใส่ร้าย และหวังเปิดโปงความลับของจักรวรรดิ
ว่ากันตามจริง พล็อตเรื่องเริ่มต้นของบาเทนไคทอส ก็ถือว่าเดินตามสูตร ไม่ได้มีอะไรหวือหวามากมายกว่าเกม JRPG อื่น ๆ ในวงการ ถึงแม้จะมีจังหวะหักมุมบ้างอะไรบ้าง แต่ภาพรวมแล้ว เรื่องราวโดยรวมของซีรีส์นี้ยังทำได้ดีในระดับที่พอผ่านเกณฑ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่ใหญ่กว่าเรื่องพล็อต (แถมผมยังถือว่านี่คือการทิ้งมรดกที่ดีให้กับวงการเกม) นั้นมีอยู่สองประเด็นสำคัญตามความคิดของผู้เขียนครับ
นั่นคือเรื่องแรก การทุ่มเทให้ความสำคัญกับแนวทางการออกแบบเชิงศิลป์ ที่สร้างเอกลักษณ์ความสวยงามได้น่าประทับใจหาใครเปรียบเทียบได้ยาก ทุกฉากทุกตอน ปราณีตมาก ๆ ในเรื่องของการวาดภาพประกอบ การสร้างโลกในจินตนการที่สวยงาม จนทุกการเดินทางในเกม ให้ความรู้สึกว่าเราได้ร่วมผจญภัยเพื่อเปิดหูเปิดตาอย่างแท้จริง
ประเด็นที่สองก็คือ การวางคอนเซปต์เรื่องโลกลอยฟ้าในเกม, การเดินทางข้ามดินแดนลอยฟ้าต่าง ๆ, การตีความหมายเกี่ยวกับ “สัตว์ยักษ์”, พลังธรรมชาติและจักรกล, คอนเซปต์เรื่องชีวิตและความตายไปจนถึงการเกิดใหม่ ฯลฯ ซึ่งเขาวางให้มันสืบทอดขยายความกันไปเกมต่อเกม จนทำให้จักรวาลเกมจากค่าย Monolithsoft มีบรรยากาศที่ “ขลัง” น่าเชื่อถือและเชื่อมโยงถึงกันได้ ซึ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้เล่นเกิดความประทับใจในระดับที่ “ลึก” มากกว่าเกมอื่นทั่ว ๆ ไป
GAMEPLAY
ก่อนจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ผมขออธิบายเรื่องระบบช่วยเหลือผู้เล่นแบบใหม่ในเวอร์ชันนี้กันซะก่อน นั่นก็คือการเพิ่มฟีเจอร์พิเศษระหว่างเล่น (กดปุ่ม +) ซึ่งได้แก่ฟังก์ชันปรับแต่งเกมต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ การปรับให้ไม่มีศัตรูทั่วไป เดินผ่านมอนสเตอร์ก็จะไม่มีการตัดเข้าฉากต่อสู้ (No encounters), การชนะการต่อสู้ได้ทันทีด้วยการตีโดนแค่ทีเดียว, การเร่งความเร็วของเกมและความเร็วในฉากต่อสู้ โดยจะปรับ 100 – 300% ก็ได้, การแสดงผลการต่อสู้แบบเรียบง่าย กดทีเดียวสรุปผลเลย, การเลือกให้ AI ต่อสู้อัตโนมัติแทนตัวคุณเอง นั่งดูเฉย ๆ กันไปเลยครับ 5555
นอกจากนั้นก็มี ฟังก์ชันออโต้เซฟขณะเปลี่ยนฉากระหว่างแมป, ฟังก์ชันช่วยเหลือจะให้ผู้เล่นได้เช็คคำศัพท์และความก้าวหน้าของเกมในหน้าจอระบบ และสุดท้ายคือ โหมด NEW GAME+
ทั้งนี้ ผมมองว่าระบบ “สูตรโกง” หรือการสนับสนุนผู้เล่นในลักษณะนี้เป็นข้อดีอย่างมากของเกมจำพวกรีมาสเตอร์นี้ครับ เพราะช่วยให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้น ทุ่นเวลาได้เยอะ โดยเฉพาะกับคนที่เคยเล่นจบไปหมดแล้วเมื่อในอดีต แต่อยากใช้เวลามาเล่นเพลิน ๆ หวนรำลึกความหลังกันซะหน่อย
ด้านเกมเพลย์ในภาพรวมนั้น เป็นที่น่าใจหายว่าทางทีมพัฒนาเขาตัดสินใจตัดเสียงพากย์อังกฤษออกหมด และมีเรื่องตลกอย่างหนึ่งของระบบ No encounters กล่าวคือหากคุณเปิดใช้เนี่ย พวกศัตรูในฉากมันจะเดินมาเกาะติดตัวคุณตลอด แต่จะไม่มีการตัดเข้าฉากต่อสู้ไงล่ะ! ทำให้บางครั้งมันเดินมาติดกันเป็นพรวน จนเราต้องเดินหนีไปไกลสุดฉากมันถึงจะยอมสลัดเรากลับไปที่ตั้งเดิมของมัน
ประสิทธิภาพเกมยังเป็นจุดด้อยอีกอย่างของเวอร์ชันนี้ ด้วยอัตราเฟรมที่ไม่จำกัดซึ่งจะแกว่งระหว่าง 30 ถึง 60 FPS โดยเกมภาคแรกให้ความรู้สึกว่ามันแสดงผลได้แย่กว่า Origins อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเฟรมเรทมักจะตกในช่วงระหว่างฉากต่อสู้ แถมหากเราเล่นไปนาน ๆ ในฉากต่อสู้มักเกิดอาการหน่วง (เกม Lag) อยู่บ้างเหมือนกัน ผมไม่เข้าใจเลยว่าเกมโบราณขนาดนี้ มันปรับให้ดีขึ้นไม่ได้หรืออย่างไรไม่ทราบ
ART & CREATIVITY
กราฟิกรีมาสเตอร์แบบ HD ส่งผลให้ฉากหลัง, กราฟิกตัวละคร และอาร์ตเวิร์ก UI ได้รับการเรนเดอร์ใหม่แบบ HD จนภาพสวยงามอลังการ ถือเป็นจุดแข็งที่สุดของเกมแฟรนไชส์นี้ ขณะที่สัดส่วนภาพของทั้งเกมก็จะได้รับการอัปเดตจาก 4:3 เป็น 16:9 ก็ถือว่าปรับภาพมาได้ดี
CONCLUSION
Baten Kaitos I & II HD Remaster เป็นเวอร์ชันมัดรวมที่คุ้มค่านะครับ โดยทั้งสองเกมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ ผลงานเกมระดับตำนานที่ยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง มันมีทั้งระบบการ์ดแบทเทิลที่แหวกแนว ขณะเดียวกันก็มีระบบไขปริศนาในฉากที่ดูสับสนวุ่นวายเกินเหตุ มันมีทั้งการออกแบบฉากที่สวยงามอลังการ แต่กลับมีเฟรมเรทและบั๊กการแสดงผลแปลก ๆ แม้ในเวอร์ชันรีมาสเตอร์ ฯลฯ สรุปคือมันมีทั้งจุดดีจุดด้อย แต่ผมเชื่อว่าจุดดีมันมีน้ำหนักมากกว่าเยอะครับผม
หมายเหตุ: Baten Kaitos I & II HD Remaster วางจำหน่ายแล้วบน Nintendo Switch™ ส่วนซาวด์แทร็ก 118 เพลงจาก Baten Kaitos: Eternal Wings and the Lost Ocean และ Baten Kaitos Origins ก็พร้อมให้รับฟังแล้วบน Apple Music, Spotify, YouTube Music, และบริการจัดจำหน่ายเพลงอื่น ๆ
Pros
- ตัวเกมต้นฉบับถือว่าเป็นเกมคุณภาพดี ทุ่มเทสร้างในทุกรายละเอียด ยิ่งหากใครเป็นแฟนเกม Xenoblade ก็จะยิ่งชอบ เพราะนี่ถือเป็นจุดกำเนิดไอเดียต่าง ๆ ของทีมงานก่อนที่จะไปตกผลึกต่อยอดออกมาเป็น Xenoblade ได้ในภายหลัง
- บรรดาฉากต่าง ๆ ในเกมทั้งสองภาคออกแบบได้สวยงามมาก ๆ
- ระบบสนับสนุนผู้เล่นที่ถือเป็นของใหม่นั้น ทำได้ดี ช่วยได้เยอะ ซึ่งมันก็คือสูตรโกงแบบทางการจากทีมพัฒนาโดยตรงนั่นเอง
Cons
- เวอร์ชันรีมาสเตอร์…แต่ไม่มีเสียงอังกฤษแบบภาคต้นฉบับซะงั้น
- บั๊กยังมีให้เห็น เก็บงานไม่ดี โดยเฉพาะจังหวะ Lag ระหว่างฉากต่อสู้ (แต่น่าจะมีแพตช์ปรับแก้ให้ในอนาคต)
- ปริศนาบางช่วงบางตอนในเกมถือว่าตกยุคอย่างน่าใจหาย ผู้เล่นยุคใหม่อาจพบว่ามันล้าสมัยไปมากแล้ว (ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่ตอนนึง ที่ตัวเกมบังคับให้ต้องคุยกับทุกคนในเมืองเพื่อให้เกิดอีเวนต์ เป็นต้น)