*ขอขอบคุณ SEGA Corporation สำหรับโค้ดรีวิวมา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
***รีวิวนี้มีการอัปเดตโดยใช้เวลาจนถึงเล่นจบประมาณ 80 ชั่วโมง
สำหรับ Metaphor: ReFantazio นี้ ถือเป็นผลงาน RPG ล่าสุดจาก Studio Zero ภายใต้บริษัท Atlus ครับ ซึ่งสังเกตจากรูปแบบของเกมและลายเส้นตัวละครแล้ว หลายคนก็น่าจะรู้ได้ทันทีว่านี่คือผลงานภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ของทีมงานเดียวกันกับที่พัฒนาซีรีส์ Persona กันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผลงานล่าสุดในสไตล์ high-fantasy ของพวกเขาครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะมาบอกเล่าความรู้สึกให้ได้อ่านกันครับ
เนื้อเรื่อง
ใน Metaphor: ReFantazio เดินเรื่องในโลกแฟนตาซีตามชื่อครับ มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีเวทมนตร์เป็นองค์ประกอบทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ผู้คนสามารถใช้ได้ด้วยอุปกรณ์รวบรวมพลังที่เรียกว่า Igniter และก็แน่นอนว่ามันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยตัวประหลาดและมอนสเตอร์ต่าง ๆ มากมายเช่นเดียวกัน แต่ว่าภายใต้ความหลากหลายของเผ่าพันธุ์นี้ กลับเต็มไปด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์และความดูถูกเหยียดหยามแบ่งชนชั้นกันระหว่างเผ่าพันธุ์ ซึ่งตัวเอกของเกมที่เป็นเด็กหนุ่มประจำเผ่า elda นั้นโดนรังเกียจมากที่สุดจากเผ่าพันธุ์อื่น ๆ เขาจึงมีชีวิตที่ลำบากไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์ที่จะมาเปลี่ยนแปลงระบอบชนชั้นที่ดำเนินมาอย่างยาวนานขึ้น เพราะเมื่อกษัตริย์แห่งอาณาจักร Euchronia ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ อีกทั้งราชบัลลังก์ก็ไร้ผู้สืบทอด ความระส่ำระสายภายในจึงอุบัติขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีขุมกำลังมากมายที่หวังจะแย่งชิงบัลลังก์และชี้นำอาณาจักรไปในแนวทางที่ตนต้องการ ทว่าก่อนที่ศึกภายในจะเกิดขึ้นนั้น เวทมนตร์สุดท้ายของกษัตริย์ก็ได้ทำงานและส่งผลต่อทุกชีวิตในอาณาจักรแห่งนี้ ทำให้บัลลังก์ไม่อาจถูกช่วงชิงได้จากเพียงแค่พละกำลังหรือแค่สติปัญญา แต่ทว่าผู้ที่จะเถลิงตนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ได้นั้น…จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนใน Euchronia ยิ่งกว่าผู้อื่น ๆ
ด้วยเหตุนี้เอง ตัวเอกของเกมที่เดิมเดินทางมายังเมืองหลวงแห่งอาณาจักรอย่าง Grand Trad เพราะมีภารกิจบางอย่างที่จะต้องทำให้ลุล่วงก็เลยจำต้องเข้าร่วมศึกชิงบัลลังก์ในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
หากจะพูดกันในเชิงเนื้อหาแล้ว ผมคิดว่า Metaphor: ReFantazio นั้นหยิบยกเอาประเด็นที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีจากเกม RPG อื่น ๆ ที่เคยมีการหยิบมาใช้เป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งชนชั้น การเลือกปฏิบัติ การแย่งชิงอำนาจ ฯลฯ เพียงแต่ว่าเกมนี้ก็เลือกนำเสนอเนื้อหาในเชิงของการเปลี่ยนผ่านด้านการปกครองของสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งก็อ้างอิงมาจากระบอบการปกครองในโลกของเรานี่ล่ะครับ
ซึ่งก็นำเสนอออกมาได้ค่อนข้างมีน้ำหนักและสมจริงอยู่ระดับหนึ่ง เพราะบรรดา npc อื่น ๆ ที่เข้าร่วมศึกชิงบัลลังก์ครั้งนี้ บ้างก็เป็นเผ่าที่โดนเลือกปฏิบัติเหมือนกันและหวังจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม บ้างก็เข้าร่วมศึกเพราะหวังประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ ถ้าจะพูดถึงแกนหลักเรื่องราวแล้ว ผมว่ามันค่อนไปทางแฟรนไชส์อย่าง Shin Megami Tensei มากกว่า Persona นิด ๆ ในแง่ขนาดของเรื่องราวครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเกมนี้ “มีของ” นั้นมีสององค์ประกอบด้วยกัน อย่างแรกเลยคือการที่ผู้คนในโลกนี้พูดถึงความแฟนตาซี เพราะตัวเอกจะมีนิยายแฟนตาซีที่พกติดตัว ซึ่งเนื้อหาในนิยายกล่าวถึงโลกแฟนตาซีที่ผู้คนมีเพียงเผ่าพันธุ์เดียว ทุกคนมีความเท่าเทียม มีการเลือกผู้นำจากการออกเสียงของประชาชน ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลมันคือการกล่าวถึงโลกจริง ๆ ของเราในแบบมุมกลับครับ ขนาดภาพประกอบยังวาดเป็นภาพแบบสังคมโลกจริง ๆ เลย อีกหนึ่งองค์ประกอบคือมอนสเตอร์ระดับที่เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงของเกมนี้ที่มีรูปลักษณ์แสนอัปลักษณ์ พิสดารชวนฉงนทั้งหลาย พวกมันถูกเรียกในเกมนี้ว่าเป็น “มนุษย์” ครับ
หลังจากที่ได้ใช้เวลาเล่นไปจนจบนั้น ผมคิดว่า Metaphor: ReFantazio คือเกมที่ผสมองค์ประกอบในแง่เนื้อหาของ Persona กับ Shin Megami Tensei เข้าไว้ด้วยกัน จนได้เกมที่มีธีมการนำเสนอกำลังดี คือมีการใส่ประเด็นสไตล์ slice of life หรือชีวิตประจำวันของตัวละครเข้ามาเนือง ๆ แต่ขณะเดียวกันเนื้อหาหลักก็มีความหนักหน่วงและจริงจัง ออกไปทางหดหู่และมืดมนหน่อย ๆ
คอนเซปต์ที่มาของพลังในเกมนี้ เน้นที่ด้านการจัดการความรู้สึกของตัวเอง เผชิญกับความวิตกกังวลของตัวเอง โดยที่ภาพใหญ่ของเรื่องก็มีลักษณะคล้ายเป็นการสู้กันระหว่าง Order กับ Chaos กลาย ๆ เหมือนกันครับ แต่มันออกมาสนุก แถมพอเข้าช่วงกลางเรื่องนี่เนื้อหาแทบจะเรียกได้ว่าหักมุมและพลิกผันกันแทบจะคัตซีนต่อคัตซีนเลย แบ็กกราวด์ของโลกในเกมนั้นก็เป็นอะไรที่เกมเมอร์อาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เกมก็นำเสนอได้ดีและไม่รู้สึกว่ามันซ้ำซากอะไรครับ
เกมเพลย์
ในส่วนของเกมเพลย์นี้ ผมจะขอแบ่งพูดถึงออกเป็นสองส่วนครับ คือกิจกรรมในแต่ละวันและการต่อสู้
กิจกรรมในแต่ละวัน
เกมนี้มีการยกยอดองค์ประกอบจาก Persona มาใช้หลายอย่างมาก ที่เด่นชัดที่สุดก็คือระบบวันและเวลาตามปฏิทินในเกมครับ แต่ละช่วงของเรื่องราวจะมีกำหนดเดดไลน์ที่คุณจะต้องเคลียร์เควสต์หลักให้ได้ภายในวันนั้น ถ้าคุณทำไม่สำเร็จก็จะเกมโอเวอร์ แต่ในระหว่างที่จะถึงเดดไลน์ คุณจะบริหารเวลาอย่างไรก็สุดแท้แต่คุณเลย โดยที่ในเมืองก็จะมี NPC ให้คุณไปรับเควสต์ หรือมีมอนสเตอร์ให้คุณรับงานล่าเพื่อแลกกับรางวัล มีกิจกรรมให้ทำเพื่อเพิ่มค่าทักษะในแต่ละด้านของคุณ หรือแม้แต่การพูดคุยสร้างสัมพันธ์กับผู้ติดตามของคุณเฉกเช่นซีรีส์ Persona เป๊ะ ๆ
หนึ่งวันภายในเกมนี้จะแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลาให้คุณเลือกทำกิจกรรมได้นั่นคือช่วงบ่ายและช่วงกลางคืน ซึ่งการเลือกทำกิจกรรมใดก็ตามเวลาจะเดินต่อไปทันที แม้แต่การลงดันเจี้ยนก็เช่นกัน ดังนั้นคุณจะต้องบริหารจัดการเวลาของคุณเองให้ดีว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง และแน่นอนว่ากิจกรรมในช่วงกลางคืนก็จะต่างกันไปกับช่วงบ่าย แม้แต่ผู้ติดตามที่คุณจะสร้างสัมพันธ์ได้ก็ต่างกันด้วยเหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนคุณเลือกไปลุยดันเจี้ยนล่ะก็คุณจะทำกิจกรรมช่วงกลางคืนไม่ได้เพราะต้องพักผ่อนเอาแรง เพราะงั้นการลุยดันเจี้ยนให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดไม่ต้องลงซ้ำหลายรอบก็จะทำให้คุณบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้นเหมือนกัน
ทั้งนี้ สเกลของเกมนั้นถือได้ว่าค่อนข้างใหญ่กว่า Persona มากเหมือนกันครับ เพราะสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณไปได้นั้นมีมากมายหลากหลาย ทั้งมหานครขนาดใหญ่ ทั้งเมืองแถบชนบท หรือเมืองท่าชายทะเลเป็นต้น แต่ละเมืองล้วนมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เลยทำให้การได้เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ของเกมนี้มีความน่าสนใจมากขึ้นกว่าที่ผ่าน ๆ มา
สิ่งที่ทำให้คุณจะต้องบริหารเวลาให้ดีขึ้นนอกจากการเลือกกิจกรรมประจำวันแล้วก็คือการเดินทางครับ ในเกมนี้เพิ่มองค์ประกอบการเดินทางข้ามเมืองข้ามแคว้นหรือการแวะดันเจี้ยนข้างทางโดยใช้พาหนะที่เรียกว่า Gauntlet Runner เข้ามาด้วย ซึ่งการเลือกไปยังจุดใดจุดหนึ่งดังกล่าวเหล่านั้นจะมีระยะเวลาในการเดินทางกำกับเอาไว้อยู่ บ้างก็หนึ่งวันบ้างก็สองวัน เพราะฉะนั้นหากคุณจะไปลุยดันเจี้ยนเพื่อเคลียร์เควสต์ล่ะก็ คุณก็ต้องพิจารณาอีกจุดหนึ่งด้วยว่าพอไปแล้วจะกลับมาทันเคลียร์เควสต์เนื้อเรื่องไหมอีกเรื่องหนึ่ง
ถึงกระนั้น ทั้งหมดที่ว่ามามันไหลลื่นเป็นธรรมชาติอยู่ครับ ไม่ได้รู้สึกว่ามันจุกจิกวุ่นวายและต้องมาเรียนรู้ระบบหรือปรับตัวอะไรมากนัก ถ้าคุณเคยเล่น Persona มา ก็แทบจะเข้าใจระบบหลายอย่างได้เลยทันทีเหมือนกัน
การต่อสู้
สำหรับระบบการต่อสู้ในเกมนี้ ก็ยังต้องบอกเหมือนเดิมว่าแทบจะเป็นการต่อยอดมาจาก Persona และ Shin Megami Tensei เหมือนกันครับ
สิ่งที่ต้องพูดถึงอันดับแรกเลยก็คือระบบต่อสู้ยังคงอิงรูปแบบของการโจมตีจุดอ่อนของศัตรู ที่ก็มีกายภาพอย่างการฟัน การแทง การทุบ และการแพ้ธาตุเวทอย่างไฟ น้ำแข็ง สายฟ้า ลม แสงสว่าง และความมืดครับ คือขอแค่คุณเคยเล่นสองแฟรนไชส์ที่กล่าวไปข้างต้นมาคุณก็เข้าใจได้ทันที ซึ่งก็แน่นอนว่าการตีจุดอ่อนศัตรูก็จะทำให้เราได้เปรียบเช่นเคย โดยในเกมนี้เมื่อตีจุดอ่อนได้หรือตีติดคริติคอล ก็จะทำให้คุณเสียเทิร์นไปแค่ครึ่งเทิร์นเท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณตีจุดอ่อนได้ต่อเนื่องเรื่อย ๆ คุณอาจจะออกคำสั่งได้ติดต่อกัน 8 รอบเลยก็ได้
ในส่วนของระบบการปรับแต่งตัวละครในเกมนี้จะใช้สิ่งที่เรียกว่า Archetype ซึ่งเป็นเสมือนจิตวิญญาณแห่งกษัตริย์วีรชนในเกมครับ โดยแต่ละประเภทก็จะมีสกิลและมีจุดแข็งรวมถึงจุดอ่อนที่ต่างกันไป แต่ข้อดีก็คือเมื่อคุณสามารถเข้าถึง Archetype ใดได้แล้ว ทุก ๆ คนในปาร์ตี้ของคุณจะสลับไปใช้ Archetype นั้น ๆ กันได้หมดไม่มีข้อจำกัดครับ เพราะฉะนั้นคุณจะอยากจัดทีมแบบไหน อยากให้ใครมีบทบาทอะไร คุณปรับแต่งได้อิสระตามใจชอบเลย โดยเมื่อคุณเปลี่ยนแล้วของสวมใส่ (หลัก ๆ ก็อาวุธ) ที่ใช้ได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
สิ่งสำคัญก็คือ Archetype ในเกมนี้จะมีระบบสืบทอดสกิลมาจาก Archetype อื่น ๆ ได้เหมือนกัน คล้าย ๆ กับระบบการสืบทอดสกิลเมื่อคุณผสมปีศาจหรือผสม Persona นั่นล่ะครับ เพราะฉะนั้นถ้าคุณปลดสกิลมาเยอะ คุณก็จะรับมือกับศัตรูได้หลากหลายขึ้น เช่น Archetype ที่ปกติมีแต่ท่าโจมตีกายภาพคุณจะติดเวทไว้สักเวทหรือสองเวทก็ได้ หรือสายฮีลจะเพิ่มท่ากายภาพเผื่อเอาไว้ก็ทำได้หมด
หนึ่งองค์ประกอบที่ต้องพูดถึงก็คือการใช้ท่าคู่ในเกมนี้ครับ ถ้าคุณเลือก Archetype ในปาร์ตี้มาโดยที่สอดประสานกันได้ ก็จะมีตัวเลือกการใช้ท่าคู่เพิ่มเข้ามาซึ่งก็จะทำให้คุณเสียเทิร์นไปเลย 2 เทิร์น แต่บางครั้งท่าพวกนี้ก็จะรุนแรงมากหรือมีประโยชน์มากจนคุณพลิกเกมได้เลยเหมือนกัน ระบบต่อสู้ของเกมนี้จึงเรียกได้ว่าสนุก ยืดหยุ่นและหลากหลายกว่าที่คิดมากครับ
แล้วก็อย่างที่น่าจะพอเดากันได้ว่าบรรดาผู้ติดตามที่คุณคุยสร้างสัมพันธ์ได้นั้น ยิ่งมีความสนิทสนมมากขึ้น อรรถประโยชน์ก็จะมากขึ้นและหนึ่งในนั้นก็คือการปลดล็อก Archetype ในระดับขั้นที่สูงยิ่งขึ้นและจะมีสกิลขั้นสูงมากขึ้นให้คุณใช้งานครับ ถ้าจะให้เปรียบล่ะก็ผมคิดว่าเกมนี้เป็นการนำเอาระบบเกมของทั้ง Persona และ Shin Megami Tensei มาผสมเข้าไว้ด้วยกันแล้วเขย่าออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่ทั้งคุ้นเคยและแปลกใหม่ไปพร้อมกัน
องค์ประกอบหนึ่งที่จะแปลกกว่าเกมที่ผ่านมาคือการเพิ่มแอ็กชันลงไปเล็กน้อยครับ ในฉากลุยดันเจี้ยนนั้นคุณสามารถกดตีศัตรูแบบเกมแอ็กชันได้เลย และเมื่อคุณตีการ์ดมันแตก ก็กดปุ่มสามเหลี่ยมเข้า Squad Battle แบบเทิร์นเบสที่จะทำให้คุณได้ตีฟรีหนึ่งรอบทันที แต่ถ้าคุณโดนโจมตีเข้าศัตรูก็อาจได้เปรียบแทน ถึงอย่างนั้นเมื่อคุณเลเวลสูงกว่ามากก็จะเป็นการตีศัตรูตายในฉากสำรวจไปเลยเหมือนกัน ดังนั้นพวกตัวเก่ง ๆ บนฉากนั้นถ้าคุณรอจังหวะหน่อย รู้จักตี รู้จักหลบเพื่อทำให้มันสตัน คุณก็อาจกำจัดมันได้ง่าย ๆ ครับ
กราฟิกและการนำเสนอ
สิ่งแรกที่ต้องพูดถึงเลยก็คือดีไซน์ของเมือง อาคารบ้านเรือน และสภาพแวดล้อมในเกมครับ แต่ละอย่างเป็นอะไรที่มองแล้วค่อนข้างรู้สึกได้เลยว่ามันมีความผสมผสานระหว่างสิ่งที่เราคุ้นเคยและอาจเห็นกันชินตา แต่สถาปัตยกรรมบางอย่างมันก็จะเด่นทะลุขึ้นมาเลยเหมือนกันให้รู้สึกว่านี่มันคือโลกแฟนตาซี เหมือนเอางานออกแบบเรียล ๆ กับงานเซอร์เรียลมารวมอยู่ในภาพเดียวกัน มันก็เลยดูเด่นสะดุดตาขึ้นมาทันที
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องชมเลยจริง ๆ ก็คือดีไซน์ของพวก “มนุษย์” ในเกมนี้นั่นล่ะครับ คือผมก็เข้าใจอยู่ว่าดีไซน์แต่ละตัวนั้นอ้างอิงมาจากผลงานของศิลปินชาวดัตช์อย่าง Hieronymus Bosch ครับ แบบที่ว่าเอามาวางเทียบกันก็จะเห็นได้ชัดเจนเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องชมทีมปั้นโมเดลอยู่ดีว่าทำออกมาได้เจ๋งและเข้าถึงอยู่ เพราะแต่ละตัวนั้นมันมีรูปลักษณ์ที่ดูผิดเพี้ยน ดูประหลาด ดูพิสดาร ดูแล้วนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าคนออกแบบนี่ต้องมีจินตนาการในระดับไหนถึงสร้างตัวพรรค์นี้ออกมาได้
แต่เอาเป็นว่างานดีไซน์ของเกมนี้ไม่ธรรมดาแน่นอนครับ ถ้าจะมีจุดที่แอบเสียดายนิดหน่อยก็คือเพอร์ฟอร์มานซ์ที่มีบางจุดแอบกระตุกนิดหน่อยช่วงเปลี่ยนแมปหรือไม่ก็ตอนที่กดวิ่งเร็วครับ
งานเสียง
นี่คืออีกหนึ่งองค์ประกอบของเกมที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมากครับ ตลอดระยะเวลาที่เล่นมา OST มันตอบโจทย์ผมได้ดีมาก แต่ละเพลงนี่ยิ่งใหญ่อลังการ และมีความแปลกในตัวมันเอง ยิ่งเพลงประกอบในฉากสู้นี่คือผมนึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าการมีคนร้องเพลงประกอบในสไตล์บทสวดมนตร์ของศาสนาพุทธนี่มันจะออกมาฟังดูเจ๋งและเท่ได้เมื่อผสมกับเครื่องดนตรีที่เล่นใหญ่ในระดับวงออเคสตราพร้อมการร้องประสานเสียงครับ สู้แต่ละรอบนี่ทำเอาผมอยากหาเนื้อมาร้องตามเลย
เอาเป็นว่าแค่เพลงประกอบในฉากสู้ปกติที่ผมพูดถึงนี่ สามารถไปอยู่ในเกมอื่น ๆ แล้วใช้เป็นเพลงสู้บอสใหญ่ได้เลยแน่นอนครับ
สรุป
จากประสบการณ์ที่เล่นไปจนถึงตอนนี้ 25 ชั่วโมงนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Metaphor: ReFantazio นี้เป็นผลงาน RPG ที่คุณภาพสูงมาก และผมมั่นใจว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของวงการได้เลย
หากจะมีจุดที่ผมตัดทอนคะแนนลงไปสักหน่อยก็คือเกมมันอิงรากฐานของแฟรนไชส์ก่อนหน้ามาเยอะครับ คือมันสดใหม่จริงแต่ก็ไม่ทั้งหมด มันยังมีกลิ่นอายความเป็น Persona และ Shin Megami Tensei อยู่มากเหมือนกัน แต่ก็นั่นล่ะการที่ทีมงานเลือกสร้างเกมต่อยอดจากสิ่งที่ถนัดเช่นนี้ ก็อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดแล้วก็เป็นได้ครับ