*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Ripples Asia Venture มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
พอพูดถึงแนวเกมไฟติ้งขึ้นมา ทุกคนก็เข้าใจกันดีว่ามันคือเกมที่ตัวละครสองตัวจะต้องมายืนเผชิญหน้ากันแล้วก็ซัดกันด้วยหมัดเท้าเข่าศอกจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไปนอนกอง และถ้าเป็นเกมดนตรี ทุกคนก็รู้กันดีว่าส่วนใหญ่จะเป็นเกมที่ให้เรากดปุ่มตามตัวโน้ตและจังหวะดนตรีที่ปรากฏบนหน้าจอ
แล้วถ้าคุณเอาสองแนวนี้มาผสมกันล่ะ? ก็อดออฟร็อก (God of Rock) ก็คือคำตอบของคำถามนั้นล่ะครับ
เนื้อเรื่อง
ในก็อดออฟร็อกนี้ คุณจะได้รับบทเป็นนักสู้ (นักดนตรี) 1 คนจากทั้งหมด 12 คน ที่ต่างก็มีชีวิตความเป็นอยู่และความฝันของตนเองต่างกันไป ในวันหนึ่งพวกเขาได้รับคำเชิญจากเทพเจ้าแห่งร็อกให้มาร่วมแข่งขันทัวร์นาเมนต์เฟ้นหาสุดยอดแห่งร็อก และผู้ชนะก็จะได้รับการบันดาลให้ความปรารถนาเป็นจริงจากเทพเจ้าแห่งร็อกนั่นเอง
เนื้อหาหลัก ๆ ของเกมก็ไม่มีอะไรมากนักตามที่บอกไปครับ คือดำเนินเรื่องสไตล์เกมไฟติ้งยุคคลาสสิกเลยที่จะไม่มีเนื้อเรื่องหลักในองค์รวม แค่ว่าแต่ละคนจะมีที่มาที่ไปของตัวเองเล็กน้อยพอให้ได้ทำความรู้จัก แล้วที่เหลือก็ไปไล่ซัดกันได้เลย แต่ก็พอเข้าใจได้ครับเพราะโดยทั่วไปเนื้อหาของเกมไฟติ้งนี่ก็ไม่ค่อยจะได้รับการเน้นหรือให้ความสำคัญมากนักในสมัยก่อน จะมีก็ยุคหลัง ๆ นี่ล่ะที่พวกเกมไฟติ้งประวัติยาวนานเริ่มจะทำเนื้อหากันแบบเข้มข้นจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา
ซึ่งในส่วนของเรื่องราวแต่ละตัวละครในเกมนี้ เหมือนใส่มาไว้ขำ ๆ แค่นั้นครับเพราะเป้าหมายและความปรารถนาของแต่ละคนนี่ก็แบบ…เอาจริงดิ แต่ก็ไม่ใช่เป็นจุดที่ผมจะตำหนิหรืออะไรนะครับ เพราะเข้าใจว่าเกมก็ตั้งใจทำออกมาไม่ซีเรียสจริงจังแต่แรกอยู่แล้ว
เกมเพลย์
สำหรับเกมเพลย์หลัก ๆ เลยคือการผสมไฟติ้งและเกมดนตรีเข้าไว้ด้วยกันอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะยืนประจันหน้ากัน โดยที่แต่ละฝ่ายจะมีหลอดพลังชีวิตของตนเอง หากหมดก็จะพ่ายแพ้ไป แล้ววิธีการโจมตีล่ะเป็นยังไง? เกมนี้ใช้วิธีการโจมตีกันโดยการกดปุ่มตัวโน้ตให้ถูกจังหวะบนหน้าจอนี่ล่ะครับ หากคุณกดถูกตัวละครก็จะทำการต่อยหรือเตะ และกรณีที่ทั้งสองฝ่ายกดโน้ตได้ถูกต้องเหมือนกันก็จะเป็นการปะทะกันแบบที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
แต่ทีนี้ ด้วยความที่ผสมเกมไฟติ้ง เกมก็เลยมีระบบการควงท่ากดท่าเข้ามาด้วยครับ ดังนั้นนอกจากการที่คุณต้องโฟกัสไปกับการกดตัวโน้ตบนจอแล้ว คุณยังต้องหาโอกาสควงอนาล็อกแล้วกด R2 (ปุ่มออกท่า) เพื่อใช้ท่าพิเศษโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยนะ โดยที่แต่ละท่าก็จะมีเอฟเฟกต์มีผลลัพธ์ต่างกันไปในระดับหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ตอนเล่นในแต่ละรอบมันก็เลยจะค่อนข้างอีรุงตุงนังนิดหน่อย เพราะคุณต้องทั้งกดปุ่มบนหน้าจอ ที่ไม่มีจังหวะมาผ่อนมาหยุดให้ (แถมบางทีต้องกดควบสองปุ่มอีกต่างหาก) แล้วก็ต้องหาโอกาสควงท่าอีก ถ้าปกติเล่นเกมดนตรีต้องใช้สมาธิเยอะอยู่แล้ว เล่นเกมนี้ก็ยิ่งต้องใช้มากขึ้นครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมเองผมคิดว่าด้วยระบบการเล่นของเกมนี้ มันมีปัญหานิดนึงสำหรับคนเล่นบน PlayStation นั่นก็คือตัวโน้ตปุ่มกดกับสีกำกับปุ่มบนจอนี่ล่ะครับ อย่างที่เรารู้กันว่าปุ่มบนจอของ PlayStation นั้น ประกอบไปด้วยสี่เหลี่ยม, สามเหลี่ยม, วงกลมและกากบาท ซึ่งถ้าใครที่จับจอยเล่นมาตั้งแต่ยุค PS1 ก็จะรับรู้โดยอัตโนมัติว่าแต่ละปุ่มที่ว่ามันถูกกำกับเอาไว้ด้วยสีอะไร แต่เผอิญว่าในเกมนี้ ใช้สีคนละสีกับความเคยชินของเราครับ พอจังหวะที่โน้ตมารัว ๆ เร็ว ๆ นี่มีอันต้องกดผิดกดถูกตลอด เพราะสมองแยกไม่ทันว่าจะกดตามสัญลักษณ์หรือกดตามสีดี (อย่างน้อยผมก็เป็นแบบนั้นอะนะ) ซึ่งเกมก็ดันไม่มีให้ปรับสีอีกซะด้วยน่ะ มันเลยลำบากเอาการ
นอกจากโหมดอาร์เขดที่เปรียบเป็นโหมดเนื้อเรื่องของแต่ละตัวละครแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือการเล่นต่อสู้กับคนอื่นในแบบออนไลน์หรือไม่ก็แบบโลคัลครับ (จะนับโหมดฝึกฝนไปด้วยก็ได้นะ) คือเป็นสไตล์เกมไฟติ้งคลาสสิกแท้ ๆ เลย ไม่มีพวกโหมดพิเศษอื่น ๆ ให้ได้ลองเล่นเพลิน ๆ ไม่มีการปรับแต่งตัวละคร ฯลฯ เพราะงั้นหากมองในแง่ของคอนเทนต์โดยรวมแล้ว ก็อดออฟร็อกดูจะมีอะไร ๆ น้อยเกินไปหน่อยเหมือนกัน
กราฟิก
สำหรับกราฟิกของเกมนี้อยู่ในระดับที่ผมคิดว่าพอได้ เพราะโมเดลตัวละครนำเสนอในสไตล์การ์ตูน ที่เน้นเรียบ ๆ ไม่เน้นสมจริง แล้วก็พวกเอฟเฟกต์ตอนใช้ท่าที่เข้าท่าเข้าทางในระดับหนึ่ง ส่วนดีไซน์ตัวละครหลายคนก็ดูโดดเด่นดีใช้ได้ บางคนนี่เห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าตั้งใจอ้างอิงมาจากร็อกสตาร์คนไหนอะไรทำนองนั้น
ถ้าจะมีอะไรที่น่าเสียดายก็คือ พวกฉากแบ็กกราวด์ในเกมนี่ค่อนข้างน้อย และไม่มีฉากเฉพาะของตัวละครแต่ละคน ดังนั้นตอนเล่นโหมดอาร์เขดก็จะได้เจอกับการใช้ฉากวนซ้ำค่อนข้างบ่อย แถมยังไม่มีระบบปฏิสัมพันธ์กับฉากอีกเพราะตลอดการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายจะยืนนิ่งกันเฉย ๆ ไม่มีการเดินไปมาในฉากครับ
เพลงประกอบ
ในส่วนของเพลงประกอบนี่ผมคิดว่าใช้ได้อยู่ เพลงทั้งหลายในเกมนี่ก็ร็อกสมชื่อเกมล่ะครับ เพียงแค่ว่าถ้าใครหวังจะได้ยินเพลงดัง ๆ หรือเพลงไลเซนส์มาก็อาจจะผิดหวังหน่อย เพราะทั้งเกมจะมีแต่เพลงออริจินัลของเกมเท่านั้น แต่มันใช้ได้อยู่นะไม่ได้แย่อะไร ติดแค่ว่ายิ่งเพลงไหนจังหวะเร็ว ตัวโน้ตมันก็ยิ่งมาแบบโหดเท่านั้นล่ะครับ
สรุป
God of Rock เป็นความพยายามผสมผสานเกมไฟติ้งกับเกมดนตรีเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ดูแปลกใหม่และพอเล่นได้เพลิน ๆ ติดอยู่แค่ที่ว่าถ้าคุณจะอยากเล่นให้คุ้มคุณควรมีเพื่อนเล่นด้วย หรือไม่ก็เน้นไปแข่งกับคนอื่นออนไลน์เยอะ ๆ เพราะด้วยตัวเกมเองมีคอนเทนต์ไม่ได้มากเท่าไรนักครับ