Sifu นี้อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเกมอินดี้จากสตูดิโอเล็กที่ผมจับตามองมาตลอดตั้งแต่เปิดตัวเลยก็ว่าได้ ด้วยความที่ตัวเกมนำเสนอในธีมของกังฟูที่คุ้นเคยและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องระบบเกมว่าเป็นยังไงก็ตาม และในตอนที่เกมวางจำหน่ายแล้วนี้ ผมจึงอยากมาเล่าความประทับใจให้ฟังกันครับ
เนื้อเรื่อง
ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นหนุ่มน้อยหรือสาวน้อย (แล้วแต่ผู้เล่นจะเลือกเพศในตอนเริ่มเกม) ที่เป็นลูกของเจ้าสำนักกังฟู ที่ในคืนหนึ่งทั้งสำนักโดนหยางที่เป็นอดีตศิษย์เอกประจำสำนักพาสมัครพรรคพวกรวมห้าคนมาฆ่าล้างสำนักจนหมด และก็แน่นอนว่าตัวเอกของเราได้เห็นพ่อต้องจบชีวิตภายใต้น้ำมือของหยางต่อหน้าต่อตา ก่อนที่จะโดนลงมือสังหารไปด้วยอีกคน แต่ว่าด้วยพลังอันลึกลับของเครื่องรางที่มีก็ทำให้ตัวเอกฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกหนราวปาฏิหาริย์ แน่นอนว่าตัวเอกของเราจดจำใบหน้าบุคคลทั้งห้าที่มาทำลายชีวิตของตนได้ชัดเจน นับตั้งแต่ฟื้นชีพขึ้นมาตัวเอกของเราจึงเฝ้าฝึกปรือฝีมือมาตลอดระยะเวลาแปดปี โดยหมายมั่นจะให้ทั้งห้าคนต้องชดใช้หนี้เลือดให้จงได้
เนื้อหาของเกมนั้น เชื่อว่าเกมเมอร์ไทยหลายคนน่าจะรับรู้ได้แทบทันทีว่าเซ็ตติ้งและการดำเนินเรื่องนี้มันเป็นไปตามขนบหนังจีนกำลังภายในหรือหนังกังฟูสุดคลาสสิค ที่ว่าด้วยเรื่องของบุญคุณความแค้นที่มักจะเริ่มจากการที่ครอบครัวตัวเอกจะต้องโดนคนมาบุกโจมตีเพื่อหวังสุดยอดคัมภีร์ สมบัติล้ำค่า หรือไม่ก็วัตถุวิเศษอะไรทำนองนั้น ซึ่งเกมนี้ก็ผสานองค์ประกอบที่คุ้นเคยเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือแม้ว่าท่าร่างวิชาต่าง ๆ ในเกมจะเป็นการต่อสู้กันในแบบที่เป็นไปได้ของปุถุชน นั่นคือต้องประชิดถึงเนื้อถึงตัว ไม่มีการอัดลมปราณยิงบีมใส่กันหรือลอยตัวต่อยกันโป้งป้างแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีองค์ประกอบของพลังเหนือธรรมชาติที่แสดงให้เห็นเรื่อย ๆ ทั้งเกมโดยเฉพาะบรรดาบอสทั้งห้าที่ต้องต่อสู้ (เอาจริง ๆ แค่ที่ตัวเอกตายแล้วคืนชีพได้นี่ก็เหนือธรรมชาติแล้ว) ที่ในบางครั้งก็ชวนให้เล่นแล้วแอบเหวอหน่อย ๆ ว่าตกลงเกมนี้จะเอาสมจริงหรือจะเอาแฟนตาซี แต่ถ้าอธิบายในแง่ที่ว่าเป็นการเปรียบเปรยถึงสภาวะจิตใจของแต่ละคนในระหว่างที่สู้กัน…ก็อาจจะพอถูไถ
แม้ว่าในตัวของเนื้อเรื่องจะดูไม่มีอะไรมากในทีแรกนอกจากเรื่องราวเบสิคของการล้างแค้นให้ตระกูล ซึ่งเราจะได้เข้าใจพฤติกรรมของบรรดาบอสต่าง ๆ มากขึ้นจากเอกสารหรือวัตถุต่าง ๆ ที่เราสำรวจและเก็บได้ในเกม แต่หัวใจสำคัญของเนื้อหานั้นอยู่ที่การเล่นเพื่อจบแบบ True Ending ที่เป็นการสอดแทรกหลักการ Wude (อู่เต๋อ) หรือก็คือจรรยาจอมยุทธ์ลงมาในเกมนั่นเอง ซึ่งกว่าจะจบแบบนี้ได้ผู้เล่นก็จะต้องฝึกฝน เล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะเก่งพอ และเมื่อคุณบรรลุเป้าหมายแล้วฉากจบที่ได้เห็นก็จะชวนให้รู้สึกเติมเต็มและผ่อนคลายจากความยากลำบากที่ผ่านมาทั้งหมดได้ดีเลยทีเดียว อย่างน้อยก็สำหรับผมล่ะนะ
เกมเพลย์
รูปแบบการเล่นของ Sifu นั้นคือเกมแอ็คชันลุยด่านในลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายแนวเกม beat’em up ที่หลายคนคุ้นเคยในสมัยก่อน คือบุกไปเรื่อย ๆ เจอใครขวางก็ทุบให้หมด เพียงแต่จะมีการเพิ่มเติมหลายระบบและหลายองค์ประกอบเข้ามาไว้ด้วยกันที่ทำให้ตัวเกมนี้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่เกมเดินหน้าลุยดะอย่างเดียว เพราะเกมนี้มีองค์ประกอบของความเป็นเกมแนว roguelike นิด ๆ ด้วยเช่นกัน ที่จะทำให้การเล่นซ้ำในแต่ละรอบของคุณอาจแตกต่างไปจากรอบแรกได้
ระบบต่อสู้หลัก ๆ เลยก็คือผู้เล่นจะมีปุ่มโจมตีเบาและโจมตีหนักที่สามารถผสมเพื่อออกมาเป็นท่าต่างกันได้ และที่สำคัญคือสามารถใช้ EXP จากการต่อสู้มาอัปท่าใหม่ ๆ เพื่อความสะดวกได้เช่นกัน โดยการอัปท่าจะมีทั้งการอัปเพื่อใช้งานได้เลยในตอนนั้น แต่ถ้าหากคุณอัปซ้ำตามจำนวนครั้งที่เกมกำหนดคุณก็จะปลดท่านั้นมาใช้ได้ถาวรเพื่อที่จะทำให้การเล่นซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไปของคุณสะดวกขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งสิ่งที่ต้องชมเลยจริง ๆ ก็คือพวกท่วงท่าในการต่อสู้โดยเฉพาะท่าปลิดชีพที่แต่ละท่านั้นรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งยังเด็ดขาดไม่มีพิรี้พิไรสมกับเวลาที่ต้องเจอคู่ต่อสู้หลายคน คือตัวเอกเราจะทำอะไร ๆ ก็ตามให้ศัตรูตรงหน้า “ร่วง” ให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะกระแทกคอหอย เตะอัดหัวกับผนัง เหวี่ยงให้หลังไปกระแทกขอบโต๊ะ ฯลฯ
แน่ล่ะ การต่อสู้ไม่ได้มีแค่การระดมโจมตีฝั่งตรงข้าม เพราะหากคุณรัวปุ่มมั่วซั่วก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามสวนกลับได้ง่าย ดังนั้นระบบหลักของเกมอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การหลบ” “การป้องกัน” และ “การปัดป้อง” นี่เองครับ หากว่าใครเคยเล่น Sekiro: Shadow Die Twice มาแล้วก็จะทำความเข้าใจระบบของเกมนี้ได้ไม่ยากเลย เพราะใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือตัวเราจะมีเกจที่เรียกว่า structure ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยทุกครั้งที่คุณป้องกันการโจมตี หากเกจนี้เต็มตอนไหนคุณก็จะการ์ดแตกจนเปิดช่องโหว่ให้โดนโจมตีหนัก แต่ว่าคุณสามารถหลีกเลี่ยงการโดนโจมตีจนการ์ดแตกได้ก็ด้วยการหลบที่จะมีความแอดวานซ์ขึ้นไปอีกระดับ เพราะคุณจะต้องดูและจำแพทเทิร์นการโจมตีของคู่ต่อสู้จากนั้นก็ดันอนาล็อกขึ้นบนเพื่อหลบการโจมตีด้านล่าง และดันอนาล็อกลงล่างเพื่อหลบการโจมตีด้านบน ถ้าคุณหลบได้สำเร็จเกมก็จะช้าลงครู่หนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้คุณโจมตีกลับ ส่วนอย่างสุดท้ายก็คือการปัดป้องหรือก็คือระบบ parry ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ซึ่งการ parry นี่จะไปเพิ่มเกจ structure ของคู่ต่อสู้ ซึ่งก็ในลักษณะเดียวกันกับ Sekiro ที่เมื่อเกจ structure ของคู่ต่อสู้เต็ม คุณก็จะสามารถกดท่าปลิดชีพได้ทันทีโดยไม่เกี่ยงว่าจะมีพลังชีวิตเหลือเท่าไรในตอนนั้น
ระบบหลักอีกอย่างหนึ่งที่เป็นจุดขายของเกมก็คือระบบการตายแล้วฟื้นนี่ล่ะครับ ในเกมนี้คุณจะมีเครื่องรางวิเศษที่ฟื้นชีพให้คุณหลังจากตาย แต่ก็ใช่ว่าคุณจะคืนชีพได้ไม่จำกัด เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเครื่องรางก็จะแตกไปทีละชิ้นจนถึงจุดที่คุณไม่อาจคืนชีพได้อีกต่อไปแล้วก็จะเกมโอเวอร์ การตายสำหรับเกมนี้จะมีกิมมิคที่น่าสนใจก็คือ เมื่อคุณตาย 1 ครั้งเกมก็จะนับจำนวนเอาไว้ หากเริ่มต้นเกมคุณมีอายุ 20 เมื่อคืนชีพแล้วอายุของคุณจะเพิ่มเป็น 21 และถ้าหากคุณตายอีกครั้งเกมจะนับจำนวนว่าคุณตายไปแล้ว 2 ครั้ง หากคืนชีพอีกอายุคุณก็จะกลายเป็น 23 ปี (มีระบบลดจำนวนการตายในเกม แต่ไม่มีการลดอายุนะ) ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ก็คือเมื่ออายุคุณเพิ่มทุก ๆ สิบปีนั่นเองครับ กล่าวคือพออายุคุณแตะ 30 ปีรูปลักษณ์ก็จะเปลี่ยนไปชัดเจนรวมถึงพลังโจมตีที่มากขึ้น สวนทางกับพลังชีวิตที่จะลดลง ซึ่งคุณจะคืนชีพได้เรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงอายุ 70 ปีที่หลังจากนี้จะคืนชีพอีกไม่ได้แล้วเพราะเครื่องรางจะแตกจนหมด
ถึงกระนั้น ตัวเกมก็ไม่ได้ใจร้ายกับผู้เล่นมากไป เพราะหากคุณรู้สึกว่าฉากหลัง ๆ นี่คุณอายุมากเกินไปจนไม่น่าจะจบได้ คุณก็สามารถไปแก้ตัวเล่นซ้ำในฉากเก่า ๆ ได้เพื่อเล่นให้ดีขึ้น และตายน้อยลงหรือไม่ตายเลย โดยอายุเริ่มต้นของคุณในแต่ละฉากก็จะเป็นอายุที่คุณมาเล่นฉากนั้นในครั้งแรก เพราะฉะนั้นหากว่ารอบแรกคุณจบฉากหนึ่งที่อายุ 30 ปี เมื่อไปฉากสองคุณก็จะสตาร์ตที่อายุ 30 ปี แต่คุณสามารถไปย้อนเล่นฉากแรกได้ซ้ำเพราะรอบสองคุณอาจจะสามารถจบฉากได้ที่อายุ 20 ปี คุณก็จะสามารถเริ่มฉากสองได้ที่อายุ 20 ปีครับ และก็แน่นอนว่าพวกอัปเกรดต่าง ๆ หรืออะไรที่คุณไม่ได้ปลดมาถาวรก็จะเสียไป ต้องมาเก็บใหม่
แล้วถามว่านอกจากการลับฝีมือกังฟูให้เฉียบคมขึ้นเพื่อเอาชีวิตรอดแล้วเราจะทำอะไรยังไงได้บ้าง? อย่างที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าตัวเกมจะมีพวกเอกสารหรือของต่าง ๆ ให้เก็บเพื่อที่จะได้ทราบ lore ของเกมมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือในหลาย ๆ ครั้งตัวเกมจะมีพวกกุญแจหรือไม่ก็คีย์การ์ดต่าง ๆ ให้เราเก็บเพื่อเปิดประตู หรือเปิดทางไปต่อ ซึ่งกุญแจพวกนี้จะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ว่าเราจะเล่นวนซ้ำกี่รอบ ดังนั้นการเล่นฉากเดิมอีกครั้งคุณจะสามารถใช้กุญแจพวกนี้เปิดทางลัดแล้วมุ่งหน้าไปเจอบอสได้เลยโดยเร็ว ในบางครั้งคุณอาจจะสามารถข้ามศัตรูจำนวน 30-40 ตัวไปเลยก็ได้ (บางฉากนี่คือคุณเริ่มฉากปุ๊บก็เข้าลิฟต์ตรงไปเจอบอสได้เลย สคิปไปทั้งฉาก) ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้การเล่นแต่ละรอบของคุณมีความแปลกใหม่ต่างจากเดิมได้
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ผมยืนยันว่า Sifu เป็นเกมที่ “ยาก” ครับ แม้ว่าจะง่ายในการเรียนรู้และง่ายในการทำความเข้าใจ แต่การจะเล่นให้เชี่ยวชาญนั้นยากเพราะต้องอาศัยการฝึกฝนและใช้เวลากับมันสูง แต่ถ้าเมื่อไรที่คุณชินกับระบบและเข้าใจการเล่นถ่องแท้แล้ว นี่เป็นเกมที่มีระบบการเล่นที่ลึกซึ้งและสนุกมาก ๆ เกมหนึ่งเลยทีเดียว เสมือนการฝึกกังฟูหรือเรียนรู้อะไรก็ตามให้ถ่องแท้ ที่คุณไม่สามารถเร่งรัดได้ ไม่เช่นนั้นคุณก็จะได้เรียนรู้ไปแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั่นแหละครับ
กราฟิก
ในส่วนของกราฟิกเกมนี้ ไม่ได้มีความละเอียดคมกริบเหมือนเกม AAA หลายเกมที่หากซูมหน้าตัวละครแล้วจะเห็นยันรูขุมขน แต่ว่านำเสนอในลักษณะของภาพเซลเฉดสไตล์การ์ตูน ซึ่งก็ออกมาดูดีไม่หยอก แต่สิ่งที่ต้องชมเลยจริง ๆ ก็คืองานศิลป์ของเกมครับ ในหลาย ๆ ฉากออกแบบมาได้ดูดีและสวยงามมาก อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าตัวเกมเป็นส่วนผสมระหว่างความสมจริงกับความเหนือธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนั้นก็สื่อออกมาให้เห็นผ่านสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบที่จะได้เห็นตลอดทั้งเกม ซึ่งผมก็เชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่ว่าเป็นสิ่งที่คนซึ่งเคยดู เคยผ่านตาพวกหนังกังฟูหรือหนังกำลังภายในน่าจะคุ้นเคยกันดี
ไม่ว่าจะการสู้บอสกันในป่าไผ่ การดวลกันท่ามกลางอาคารที่ไฟไหม้ การปะทะกันกลางทุ่งหิมะที่หนาวเหน็บ ฯลฯ เกมนี้ใส่ trope ของหนังแนวศิลปะการต่อสู้ลงมามากมายชนิดที่ว่าถ้าใครชอบเรื่องราวสไตล์นี้จะต้องถูกใจแน่นอน
เสียงประกอบ
หากจะมีสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างเสียดายของเกมนี้ คือการไม่มีให้เลือกเสียงพากย์ภาษาจีนครับ แต่ก็อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะสตูดิโอผู้พัฒนาเกมนี้เป็นสตูดิโอจากประเทศฝรั่งเศส ถึงกระนั้นนอกจากเพลงประกอบที่ให้บรรยากาศแบบหนังกังฟูแบบเข้าเส้นแล้ว ซาวด์ประกอบตอนสู้นี่ก็สะใจไม่เบาโดยเฉพาะเสียงตึ้งในตอนที่กำจัดศัตรูแต่ละคนได้นี่ล่ะครับ จังหวะภาพและจังหวะเสียงมันลงตัวกันดีจริง ๆ
สรุป
Sifu เป็นเกมแอ็คชันที่ดีกว่าที่คิดไว้มาก ระบบการต่อสู้เข้าใจง่ายแต่เล่นให้เชี่ยวชาญยาก แต่เมื่อไรที่คุณ “เก็ต” ตัวเกมแล้วคุณจะสามารถเล่นได้ยาว ๆ เพลิน ๆ เลย…หากว่าไม่หัวร้อนจนล้มเลิกความตั้งใจในช่วงต้นไปก่อนล่ะก็นะ ถึงกระนั้นถ้าคุณเป็นคนที่ต้องการความหลากหลายในเกม ๆ เดียว เกมนี้อาจไม่ใช่คำตอบเพราะเนื้อเกมหลัก ๆ มีแค่การวิ่งไปข้างหน้าแล้วไล่ทุบทุกคนที่ขวางทางนั่นล่ะครับ