Games Reviews

Getsu Fuma Den: Undying Moon – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Getsu Fuma Den: Undying Moon – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Konami Digital Entertainment มา ณ โอกาสนี้ครับ

เชื่อว่าเกมเมอร์บ้านเราน่าจะคุ้นเคยกับสื่อบันเทิงจากประเทศญี่ปุ่นกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับนินจาหรือซามูไร ซึ่งในสื่อบันเทิงแนวนี้ ยังมีแนวย่อยอื่น ๆ อีกมากมายและหนึ่งในนั้นก็คือการที่นินจาและซามูไรต้องฟาดฟันกับเหล่าภูตผีปีศาจมากหน้าหลายตา เชื่อว่าถ้าพูดถึงเกมสไตล์นี้ หลายคนน่าจะนึกถึง Onimusha บ้าง หรือ Nioh บ้าง และบ้างก็จะนึกถึง Shinobi หรือ Ninja Gaiden กัน แต่ถ้าจะว่ากันตรง ๆ แล้วเกมแนวนี้ที่เก่าแก่กว่าชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ Getsu Fuma Den ที่วางจำหน่ายบนแฟมิคอมในปีค.ศ.1987 นี่ล่ะครับ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครในยุคนั้นเริ่มเรียกชื่อเกมนี้ว่าดาบสายลมฟุกุดะ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่)

และคราวนี้ 35 ปีผ่านไป ในที่สุด Getsu Fuma Den ก็กลับมาอีกครั้งในภาคใหม่ที่ห้อยท้ายชื่อว่า Undying Moon (จันทราอมรณา) และสามารถเล่นได้บน Nintendo Switch รวมถึง Steam แล้ววันนี้ ส่วนเกมจะเป็นยังไงผมจะมาเล่าให้ฟังกัน


เนื้อเรื่อง

ตัวเกมภาค Undying Moon กล่าวถึงตระกูลเก็ตสึแห่งญี่ปุ่นยุคโบราณที่คอยทำหน้าที่ปราบปรามฟาดฟันเหล่าปีศาจร้ายที่ออกอาละวาดบนโลกมาหลายชั่วอายุคน ในภาค Undying Moon นี้ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นชายหนุ่มมากฝีมือในชื่อเก็ตสึ ฟูมะผู้นำตระกูลรุ่นที่ 27 ผู้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อาเพศครั้งใหญ่บนโลก เมื่อประตูนรกถูกเปิดขึ้นอีกครั้งจนบรรดาผีร้ายหลั่งไหลออกมา เขาในฐานะผู้นำตระกูลจึงต้องมุ่งหน้าลงนรกเพื่อกำจัดต้นตอของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่โลกสงบสุขมาเป็นเวลาหนึ่งพันปีด้วยฝีมือของผู้ก่อตั้งตระกูลเก็ตสึรุ่นแรก

สำหรับเนื้อหาในเกมนี้ อาจจะดูค่อนข้างตรงไปตรงมาและไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อนมากนัก แต่ถ้าหากใครที่เป็นแฟนรุ่นเดอะของเกมมาตั้งแต่ภาคแรกบนแฟมิคอม เมื่อเล่นไปก็จะเจอองค์ประกอบหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึงเกมต้นตำรับไม่น้อย เพราะแม้ว่าเกมนี้จะดูเหมือนเป็นการรีเมคหรือไม่ก็รีบูทซีรีส์ แต่แท้จริงแล้วมันคือภาคต่อครับ ซึ่งการจัดวางบอสประจำเกมในคราวนี้ก็ค่อนข้างมีกิมมิคที่ไม่เลวเหมือนกัน เพราะขนาดว่าริวโคทสึกิ (ปีศาจมังกรกระดูก) ที่เป็นบอสใหญ่ประจำเกมภาคแฟมิคอม ยังถูกลดขั้นลงมากลายมาเป็นบอสตัวแรกที่ผู้เล่นจะต้องเผชิญ เหมือนบอกเป็นนัย ๆ ว่าในคราวนี้สิ่งที่เก็ตสึ ฟูมะรุ่นที่ 27 ต้องเผชิญนั้นเป็นอะไรที่ร้ายกาจยิ่งกว่าริวโคทสึกิมากนัก


เกมเพลย์

ในส่วนของเกมเพลย์ในงวดนี้ ยังคงมีกลิ่นอายของการเป็นแอ็คชันผจญภัยที่ผสมองค์ประกอบ RPG ไว้เหมือนเคย แต่ว่ารูปแบบการเล่นที่หายไปเลยก็คือมุมมองฉากแผนที่แบบ bird eye view รวมถึงฉากการเดินในดันเจี้ยนแบบ 3D ทำให้คราวนี้ตัวเกมเหลือแค่รูปแบบการเล่นสไตล์แอ็คชันแพลตฟอร์มด้านข้างในแบบ 2.5D เท่านั้น (ซึ่งก็ดีแล้ว) แต่ว่าสิ่งที่ฉีกไปจากภาคเก่าอย่างสิ้นเชิงเลยจริง ๆ ก็คือตัวเกมในงวดนี้ไม่ใช่แค่แนว Action-RPG ในรูปแบบ Metroidavania ทั่ว ๆ ไป แต่ยังมีความเป็น roguelike ที่หนักหน่วงมาก ๆ เกมหนึ่ง

แล้วการเป็นแนว roguelike มันแปลว่าอะไรล่ะ? แปลว่าในการเล่นครั้งหนึ่ง ๆ คุณควรจะยิงยาวตั้งแต่ต้นไปจนจบ เพราะถ้าเมื่อใดที่คุณพลาดแล้วตายลง คุณจะต้องมาเริ่มเล่นใหม่หมดแต่ต้น ไม่มีการเซฟเผื่อพลาดกลางทางแล้วมาเริ่มใหม่หน้าห้องบอสหรืออะไรแบบนั้น ต้องวิ่งใหม่หมดนั่นเอง รวมถึงความเก่งของตัวละครที่ก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เว้นแค่บางอย่างที่จะสามารถปลดได้ถาวรซึ่งจะทำให้การเล่นรอบต่อ ๆ ไปของคุณง่ายขึ้นนั่นเอง

อย่างที่ผมบอกไปว่าเกมนี้มีองค์ประกอบของความเป็น RPG อยู่ ซึ่งสิ่งนั้น ๆ ก็จะปรากฏในรูปแบบของการอัปเกรดความสามารถตัวละคร รวมถึงการเปิดใช้สกิลที่ติดกับอาวุธ (ที่จะต้องไปปลดล็อคเสียก่อน) และยังมีการนำเอาวัตถุดิบมาปลดอาวุธใหม่ที่จะทำให้คุณปลดล็อคสกิลได้เองโดยไม่ต้องรอของดรอปที่จะมีสกิลนั้น ๆ ซึ่งก็ตามธรรมชาติของเกม roguelike นี่เอง ที่บางรันคุณอาจได้ของดรอปที่ดีมากชนิดว่าใช้ได้ยาว ๆ แต่บางรันก็อาจได้ของย่ำแย่จนแทบต้องร้องไห้ไปเลย

อาวุธหลักในเกมนี้คุณจะเก็บได้ 2 ชิ้นที่สลับสับเปลี่ยนไปมาได้ตลอด รวมถึงอาวุธสำรองที่ก็เก็บได้ 2 ชิ้นเช่นกัน ดังนั้นหากคุณเจออาวุธชิ้นไหนที่เข้ามือแล้วหรือมีการปลดสกิลมาให้ครบถ้วน คุณจะไม่เปลี่ยนเลยจนกว่าจะได้เจอประเภทเดียวกันที่ค่าพลังดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็นั่นล่ะ หากคุณเล่นจนจบรอบนั้น หรือไม่ก็พลาดตายไปการเล่นรอบใหม่อาจทำให้คุณไม่เจออาวุธที่เหมาะมือแบบเดิมอีกเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการที่คุณปลดล็อคสกิลของอาวุธเอาไว้ล่วงหน้าก็จะทำให้ชีวิตคุณสะดวกขึ้นระดับหนึ่ง และยังมีการอัปค่าพลังตัวละครแบบถาวรที่จะทำให้รันต่อ ๆ ไปของคุณสบายขึ้นกว่าเดิมอีก

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ก็ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างเป็นข้อมูลที่ “ท่วมท้น” ไม่เบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้าเล่นครั้งแรก เพราะเกมมีการอธิบายระบบที่ค่อนข้างน้อย (ซึ่งไม่รู้ว่าจงใจรึเปล่า) ทำให้ช่วงแรก ๆ ที่เล่นมักเกิดความงงจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูกว่าควรทำอะไรแบบไหนยังไง จะอัปอะไรดี ระบบต่าง ๆ ยุ่บยั่บไปหมด จนพาลทำให้ความประทับใจแรกไม่ค่อยดีนักครับ เพราะด้วยธรรมชาติของเกม roguelike ที่มักมีความยากอยู่ในระดับสูงเป็นทุนเดิม การที่คุณตายแล้วตายอีกมันก็ชวนให้หงุดหงิดได้ง่ายอยู่ แต่พอเรียนรู้ระบบโดยรวมแล้วก็พบว่าเป็นเกมที่เล่นได้เพลินและสนุกในระดับหนึ่งเลยล่ะ

ถึงอย่างนั้นในแง่ของเกมเพลย์นั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างเสียดายคือตัวเกมไม่มีระบบการอัปท่าต่อสู้ หรือไม่มีการเพิ่มระบบการเล่นใด ๆ ใหม่ในยามที่เล่นต่อไปเลยครับ ท่าโจมตีของอาวุธแต่ละชนิดจะตายตัวไม่มีพลิกแพลงอะไร การโจมตีคอมโบก็จะมีแบบเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ การโจมตีหนักก็จะมีรูปแบบเฉพาะโดยไม่มีท่าใหม่ ๆ ให้ใช้งานเช่นกัน แม้แต่ความสามารถที่จะช่วยให้การเดินทางของคุณสะดวกขึ้นก็ไม่มี ดังนั้นหากใครที่ต้องการเกมแอ็คชั่นที่คล่องตัวลื่นไหลอาจมีหงุดหงิดได้เหมือนกัน เพราะสปีดของเกมมันค่อนข้างช้าอยู่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องขอชื่นชมเลยจริง ๆ ก็คือการสู้บอสแต่ละตัวครับ บอสแต่ละตัวที่ได้เจอนั้นยิ่งใหญ่ อลังการและดูน่าเกรงขามมาก เป็นบอสที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบอสกันจริง ๆ โดยเฉพาะไซส์ที่แต่ละตัวนั้นมหึมาน้อง ๆ ไคจู ที่สำคัญคือดีไซน์แต่ละตัวล้วนแต่เป็นบรรดาภูตผีจากตำนานญี่ปุ่นที่หลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกันอยู่ ทำให้รู้สึกได้เลยว่าหากเป็นคนธรรมดาสามัญมาเจอกับปีศาจพวกนี้เข้าก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงไม่รอดกันล่ะครับ ไม่เพียงเท่านั้นแต่รูปแบบการโจมตีและการต่อสู้ของบอสแต่ละตัวนั้นสนุกใช้ได้ ผู้เล่นต้องรู้จังหวะตีและจังหวะหลบ เพราะหากวิ่งมั่วเข้าไปบวกอย่างเดียวก็มีแต่ตายหยังเขียด แต่แน่ล่ะกว่าจะรู้แพทเทิร์นของมันได้ก็อาจต้องสังเวยชีวิตกันไปอย่างน้อยรอบนึงก่อน

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือในแต่ละรันคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเล่นฉากซ้ำกันก็ได้ เพราะในตอนที่สู้บอสแต่ละตัวตอนจบฉาก คุณจะได้พบประตูโทริอิที่จะพาไปยังฉากอื่น ๆ ต่างกัน ในรอบแรก ๆ คุณอาจจะไปได้แค่ฉากเดียว แต่หากบางครั้งคุณเจอกับกุญแจสำหรับเปิดประตูไหนเป็นการเฉพาะแล้วเกมก็จะปลดล็อคฉากใหม่ให้คุณได้เล่นอย่างถาวรในรอบต่อ ๆ ไป โดยที่แต่ละฉากจะมีธีมและมีรูปแบบศัตรูที่ไม่เหมือนกัน ทำให้สามารถเปลี่ยนรสชาติได้เรื่อย ๆ

โดยรวมแล้ว Getsu Fuma Den Undying Moon นี้ เป็นส่วนผสมของ Castlevania แบบบาง ๆ เข้ากับสไตล์ roguelike เข้ม ๆ และมีความยากที่สูงใช้ได้อยู่เหมือนกันครับ


กราฟิก

เกมนี้นำเสนอกราฟิกในแบบเซลเฉดก็จริง แต่ตัวเกมโดดเด่นด้วยอาร์ตสไตล์ที่สวยงามมาก ภาพกราฟิกในสไตล์อุคิโยเอะนั้นปรากฏบนจอออกมาได้ดูดีและมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใครเพราะผสมผสานเข้ากับกราฟิกเซลเฉดได้ลงตัวจริง ๆ ที่สำคัญคือดีไซน์ของภูตผีปีศาจแต่ละตัวที่ทำออกมาได้ดูดีไม่หยอก ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ออกแบบมาโดยอ้างอิงปีศาจในตำนานญี่ปุ่นโบราณ ไม่ว่าจะเป็นนูราริเฮียงเอย นูมะโกเซนเอย แต่ของดีจริง ๆ ก็คือบรรดาบอสที่ออกแบบมาได้น่าเกรงขามและตัวมหึมามากอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้นั่นล่ะครับ ยิ่งพอบอสแต่ละตัวมันใหญ่ซะจนเป็นไคจู พอชนะได้นี่มันก็ชวนให้รู้สึกว่าตัวเรานี่มันก็เท่ไม่หยอกเลยจริง ๆ

นอกจากดีไซน์ของภูตผีปีศาจแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบเป็นพิเศษก็เรื่องการออกแบบฉากแต่ละฉากที่มีสไตล์ของตัวเองและโดดเด่นไม่ซ้ำกันนี่ล่ะครับ บ้างก็เป็นหุบเขาที่เต็มไปด้วยเพลิงนรก บ้างก็เป็นภูเขาหิมะที่หนาวเหน็บ บ้างก็เป็นเกาะน้อยที่เต็มไปด้วยคลื่นทะเลคลั่งที่ซัดสาด แต่ทุกฉากมันคงความเป็นญี่ปุ่นโบราณเอาไว้อย่างเข้มข้นจริง ๆ


เสียงเพลงประกอบ

เพลงประกอบนี่เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่โดดเด่นของเกมนี้เลย ไม่ใช่แค่การรีมิกซ์เอาเพลงต้นฉบับที่เป็นเอกลักษณ์มาทำใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว เพลงประกอบอื่น ๆ ก็ให้อารมณ์แบบญี่ปุ่นโบราณแท้ ๆ เหมาะกับธีมของเกมขั้นสุด บางเพลงก็จะออกแนวหลอนหูให้สมกับการที่ตัวเอกต้องฟาดฟันภูตผีปีศาจเป็นร้อย ๆ ตามลำพังได้เป็นอย่างดีเลย


สรุป

Getsu Fuma Den Undying Moon ถือเป็นภาคต่อที่ทำออกมาได้สนุกกว่าที่คาดเอาไว้ตอนแรก แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้เล่นใหม่มากนักด้วยความยากของตัวเกมรวมถึงระยะเวลาในการเรียนรู้ระบบเกมที่ต้องใช้เวลาพอควร แต่หากคุณเล่นจนคล่องเมื่อไหร่ก็จะเพลินไปกับตัวเกมได้ยาว ๆ เลยครับ

The Review

80% 35 ปีผ่านไป ในที่สุดก็มีภาคต่อ

Getsu Fuma Den Undying Moon เป็นเกมที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ในตอนแรกนานพอควร แต่เมื่อชินแล้วคุณจะสนุกกับเกมได้ยาว ๆ เลย

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์