รีวิว Alfred Hitchcock – Vertigo
ขอขอบคุณโค้ดเกม (PS5) เพื่อการรีวิว จากบริษัท Ripples Thailand มา ณ โอกาสนี้ครับ
Vertigo เป็นชื่ออาการที่มีลักษณะสูญเสียการทรงตัว โลกหมุนบ้านหมุน เป็นอาการ “หลอน” ทางประสาทว่าได้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปรกติของสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือของตนเองในลักษณะหมุน ทำให้ผู้นั้นไม่สามารถควบคุมการทรงตัวอยู่ได้ในลักษณะปกติ อาการรู้สึกหมุนดังกล่าวเกิดจากการเสียภาวะสมดุลของระบบการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ มากมายหลายประการ
สำหรับเกมที่เราจะมารีวิวกันในครั้งนี้มีชื่อว่า Alfred Hitchcock – Vertigo จากฝีมือของทีมทำเกม Pendulo Studios มีบริษัท Microids เป็นผู้จัดจำหน่าย ตัวเกมจะนำเสนอในประสบการณ์การเล่าเรื่อง เน้นการดูเรื่องราวผสมการตัดสินใจ (QTE) ของผู้เล่น ด้านชื่อ เวอร์ติโกในเกมนี้อิงจากภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก แต่นำมาแค่พล็อตหลัก ที่เหลือดัดแปลงใหม่ทั้งหมด ซึ่งเราจะมาดูกันครับว่าเกมนี้มีดีสมราคาการใช้ชื่อผกก.ดังมาแปะไว้บนกล่องเกมหรือไม่
ว่าด้วยภาพยนตร์ Vertigo โดย Alfred Hitchcock
โฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2507 ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ปมพิศวาส”
เราไม่สามารถวิเคราะห์ตัวเกมเวอร์ติโกได้เลย หากไม่กล่าวถึงตัวหนังดังระดับตำนานให้ทราบข้อมูลพื้นฐานกันเสียก่อน โดยหนังเรื่องนี้ผมมีโอกาสได้ดูฟรีสมัยเรียนหนังสืออยู่ที่ มช. จำได้ว่าเป็นกิจกรรมของชมรมศิลปะภาพยนตร์ไรสักอย่างนี่แหละครับ ซึ่งตอนนั้นก็ประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะดูแล้วเหมือนถูกตัวหนังสะกดจิต ถูกหลอกให้เชื่อไปพร้อม ๆ กับตัวเอก ก่อนจะช็อกกับการเฉลยในตอนจบของเรื่อง ถือว่าเป็นหนังที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งของวงการเลยทีเดียว
โดย Vertigo กำกับโดย อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก นำแสดงโดย เจมส์ สจ๊วต, คิม โนแว็ค เข้าฉายในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2507 ในชื่อภาษาไทยว่า ปมพิศวาส ตัวหนังมีจุดเด่นที่การบรรยายสภาพจิตใจอันเปราะบางของมนุษย์ สอดประสานกับงานด้านภาพที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น (สำหรับยุคสมัยนั้น) มีการใช้สัญลักษณ์วงก้นหอยสอดแทรกเพื่อสร้างอารมณ์ให้กับผู้ชมจมดิ่งและคล้อยตามไปกับโลกแห่งจินตภาพบนแผ่นฟิลม์ ทั้งนี้ ตัวภาพยนตร์สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง D’entre les morts หรือ Among the Dead ในชื่อภาษาอังกฤษ
ด้านพล็อตเรื่อง (ของหนังเรื่องนี้) เล่าถึง สก๊อตตี้ เฟอร์กูสัน อดีตนายตำรวจซานฟรานซิสโกเกษียณตัวเองออกจากงาน เนื่องจากความฝังใจที่เห็นเพื่อนตำรวจด้วยกันตกตึกตายจนทำให้เขากลายเป็นโรคกลัวความสูง ต่อมาเพื่อนเก่าคนหนึ่งจ้างให้สก็อตตี้ ตามสืบหาสาเหตุว่าทำไมแฟนของตนจึงมีพฤติกรรมแปลกประหลาด ชอบเดินทางไปสถานที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรือมีเหตุผลอื่นใดแอบแฝงกันแน่
STORY
กลับมาที่ตัวเกมของเรา Alfred Hitchcock – Vertigo ได้ดัดแปลงบทหนังดั้งเดิม มาเล่าถึงเรื่องราวที่มีปัญหาของ เอ็ด มิลเลอร์ นักเขียนที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แม้ว่าจะไม่พบใครอยู่ในซากรถ แต่เอ็ดยืนยันว่าเขากำลังเดินทางไปกับภรรยาและลูกสาว โดยบาดแผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เขามีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนอย่างรุนแรง เมื่อเขาเริ่มเข้าการบำบัด เขาพยายามเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนั้น ทว่า สิ่งที่เขารับรู้ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่…
ตลอดเนื้อหาเกมตั้งแต่เริ่มจนจบ ผมรู้สึก “โอเค” กับพล็อตเรื่องในภาพรวม รู้สึก “โอเค” กับบทพูดของตัวละคร ตลอดจนการวางจังหวะจะโคนของเหตุการณ์ในเรื่อง
ผมมาลองพิจารณาดู “เนื้อเรื่อง” ในเกมนี้ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งทั้งหมดและเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในเกมนี้นะครับ!
แต่มันมีบาดแผลสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ด้วยความที่เกมเขาสร้างมาเพื่อเคารพงานชั้นครูจากเวอร์ชันภาพยนตร์ ส่งผลให้ “ปมของเรื่องราว” มันดันไปคล้ายกับของหนัง …สรุปคือมัน “เดาง่าย” มากสำหรับคนที่ดูหนังมาแล้วอ่ะครับผม ส่วนใครไม่เคยดูหนังเก่ามาก่อนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับประเด็นนี้
GAMEPLAY
เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก ที่ตัวเกมใช้ระบบ QTE และระบบการใช้ปุ่มต่าง ๆ บนจอยเพื่อขับเคลื่อนการผจญภัยของเกมนั้น…เพียงแค่ให้ตัวเรื่องดำเนินต่อไปได้เท่านั้น มันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดทางแยกของเหตุการณ์ หรือเกิดออปชั่นของสถานการณ์ในเกมที่แตกต่างกันแต่อย่างใด
คือคนเล่นแค่กดตามคำสั่งเพื่อนั่งดูเนื้อเรื่องเป็นหลัก ก็เขาเน้นหนักที่เนื้อหาในเกมนี่ครับ ก็คงต้องไปโฟกัสที่ “การดู” เป็นสำคัญ ความสนุกทั้งหมดของเกมนี้คือการตามดูเรื่องแบบฉากต่อฉาก ที่มันจะมาพร้อมการพลิก การหักมุม ต่าง ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับคนเล่น
ระหว่างทางจะมีการเล่นเชิงสืบหาเบาะแสความทรงจำในอดีตอยู่บ้าง (คล้ายเกมอย่าง The Centennial Case: A Shijima Story ของสแควร์เอนิกซ์) แต่ก็ไม่ถือว่าน่าตื่นเต้นเท่าใด บางครั้งคล้ายเป็นตัวฉุดจังหวะของเกมด้วยซ้ำ เพราะระบบค่อนข้างอืดอาดพอสมควร
สำหรับระยะเวลาการเล่นตั้งแต่ต้นจนจบเกมจะราว ๆ 7-8 ชั่วโมง (คนที่อ่านหรือฟังภาษาอังกฤษเก่ง ๆ อาจเล่นเร็วกว่าผมได้อีกเยอะ) เมื่อเล่นจบแล้วจะไม่ค่อยอยากเล่นซ้ำครับ เพราะรับรู้เรื่องราวหมดแล้ว
ART & CREATIVITY
ข้อเสียทั้งหมดทั้งมวลมากองรวมกันอยู่ในหัวข้อนี้ครับ กล่าวคือ ตัวเกมเลือกใช้งานภาพเป็นการ์ตูนกึ่งสมจริง ทั้งสรีระร่างกายและสีสัน ออกแนวสมุดนิทานภาพ (แต่จะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าการ์ตูนเด็กนะ) ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีปัญหา บางคนอาจชื่นชอบ บางคนอาจมองว่าดู Cheap ไปนิด โดยเฉพาะหากเอาไปเทียบกับเกมแนวคล้ายกันอย่าง The Dark Pictures Anthology นี่เสร็จเลยครับ เกมหลังให้งานภาพที่สมจริง และดูอลังการงานสร้างกว่าเยอะ แล้วปัจจัยนี้แหละอาจเป็นตัวตัดสินสำคัญสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เพราะเขาอาจไปเลือกซื้อเกมคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีงานภาพสวยสมจริงมากยิ่งกว่า
นอกจากนี้ยังมีตัวตัดสินสำคัญอีกอย่างนั่นคือ การเคลื่อนไหวของสีหน้าและริมฝีปากตัวละครครับ…กล่าวคือ ใน Alfred Hitchcock – Vertigo เขาทำออกมาได้ผิดพลาดมาก ๆ บทพูดไม่สอดคล้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับการขยับปากและท่าทาง เหมือนมันเป็นเกมจากปี 2012 ไม่ใช่ 2022 อ่ะ เข้าใจว่าขนาดทีมงานน่าจะเล็ก จึงไม่ได้มีการทำงานในส่วนนี้ ไปทุ่มฝีมือกันตรงการวางพล็อตเรื่องอย่างเดียวเลย หวังเอาสิ่งนั้นเป็นจุดขายหลัก
CONCLUSION
ผมหวาดเสียวแทนทีมงาน Pendulo Studios อยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ Alfred Hitchcock – Vertigo กำลังจะกลายเป็นเกมแรก (จากประสบการณ์ของผม) ที่น่าจะให้ความสนุกจากการนั่งดูคนอื่นเล่นบนยูทูบ พอ ๆ กับการเล่นเอง…เพราะตัวเกมเขาเน้นที่การเดินเรื่องจนมองข้ามระบบ “การเล่น” และเรื่องของงานภาพ, แอนิเมชัน การออกแบบ ไปเสียหมด แต่ถ้าถามว่าเนื้อเรื่องสนุกไหม ตอบเลย “โอเคใช้ได้”, เรื่องราวลึกลับน่าติดตามไหม คำตอบก็คือ “ใช่ น่าติดตาม”
หากมีโอกาสได้เล่น ก็เล่นได้ครับ เกมสนุก แต่เล่นเสร็จแล้วแนะนำให้หาหนังเก่ามาดูด้วยก็ดี จะได้ครบถ้วนกระบวนความแห่งผลงาน “เวอร์ติโก”
Pros
- เนื้อเรื่องดี มีปมน่าติดตามพอสมควร เล่นแล้วอยากรู้ตอนจบ
- เสียงพากย์ตัวละครทำได้ดี บทที่มีช่วงร้องเพลงก็ทำได้ดี ร้องเพราะ
Cons
- พล็อตเรื่องโอเคก็จริง แต่เดาง่าย และอาจถูกตั้งคำถามได้ว่ามันมีความ ฮิตช์ค็อก ตรงไหน
- งานแอนิเมชั่นตัวละครมีปัญหา โดยเฉพาะการขยับริมฝีปาก ไม่สอดคล้องอย่างมากกับบทพูด
- QTE ออกแบบได้จืดชืด ไม่เร้าใจ ดูไม่สำคัญกับตัวเกม
ที่มาข้อมูลประกอบ: เว็บไซต์ wikipedia