Games Reviews

Taiko no Tatsujin: Rhythm Festival – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Taiko no Tatsujin: Rhythm Festival – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ

Taiko no Tatsujin นี่ถือเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ที่วางจำหน่ายมาแล้วมากมายหลายภาค ซึ่งตัวผมเองก็เคยเห็นผ่านตาและเล่นผ่านมือมาบ้างแต่ก็ไม่ได้ติดตามแฟรนไชส์นี้เยอะเท่าไรนัก แต่เอาล่ะในเมื่อผมได้รับโอกาสในการเล่นและรีวิวภาคล่าสุดในแฟรนไชส์นี้ ผมก็จะมาบอกเล่าเก้าสิบให้ได้ฟังกันว่ารู้สึกอย่างไรบ้างหลังจากที่ได้สัมผัสเกมครับ


เนื้อเรื่อง

เอาเข้าจริงหัวข้อนี้เป็นอะไรที่ไม่ค่อยอยากพูดถึงนักครับ เพราะด้วยความที่ธรรมชาติของ Taiko no Tatsujin เป็นเกมดนตรี จะมีเนื้อเรื่องหรือไม่ก็ไม่ใช่อะไรที่สำคัญนัก แต่ทีมสร้างก็ใส่เนื้อหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงมาเพื่อไม่ให้เกมมันเหงาจนเกินไป เรื่องราวก็มีอยู่ว่าดง-จัง (Don-chan) ได้เดินทางมายังเมืองโอมิโกะ (Omiko City) เพื่อฝึกฝนวิชากลองของตนเอง และที่นี่เขาก็ได้พบกับก้อนเมฆผู้น่ารักอย่างคุโมะ-คิวน์ (Kumo-kyun) แล้วทั้งสองก็เลยเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็วและออกเดินทางฝึกฝนตนเองในเส้นทางแห่งกลองไทโกะ ณ เมืองโอมิโกะแห่งนี้

เนื้อหาหลัก ๆ ก็เป็นประมาณนี้แหละครับ ซึ่งพวกเรื่องราวต่าง ๆ จะดำเนินไปเมื่อคุณเล่นเพลงเก็บแต้มไปเรื่อย ๆ จนเลเวลอัปซึ่งก็จะทำให้ได้รับรางวัลเป็นเงินไว้ไปใช้ซื้อพวกของแต่งตัวต่าง ๆ บ้างก็เป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนเสียงกลอง หรือเป็นพวกลวดลายป้ายชื่อ อีกทั้งยังมีของเล่นให้ไปใช้ในโหมดพิเศษ และในบางเลเวลก็จะเป็นคัตซีนเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ดง-จังใช้ชีวิตในเมืองโอมิโกะแห่งนี้ ซึ่งก็มักจะมาพร้อมกับการตีกลองไปกับเพลงใหม่ ๆ ที่จะปลดล็อกมาให้เล่นอิสระหลังเล่นผ่าน โดยคุณก็จะได้พบกับตัวละครขาประจำของซีรีส์มากหน้าหลายตาอย่างเช่นปลาไหลโคมไฟ (Lantern Eel) หรือปรมาจารย์บาจิโอะ (Bachio) เป็นต้น

นอกจากตัวเนื้อหาหลักของเกมแล้ว โหมดย่อยอีกสองโหมดอย่าง Great Drum Toy War และ Don-chan Band ก็จะมีฉากเนื้อเรื่องเป็นของตัวเองด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องในโหมดใดก็นำเสนอในแบบน่ารัก ๆ ผ่อนคลายที่เต็มไปด้วยตัวละครน่ารัก ๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัยครับ ไม่มีเนื้อหาอะไรที่มันหนักหัวแน่นอน


เกมเพลย์

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับซีรีส์ Taiko no Tatsujin นั้น ตัวเกมเพลย์สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเกมดนตรีที่ผู้เล่นจะใช้ปุ่มทั้งหมดสี่ปุ่มด้วยกันในการตีกลองตามสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนจอ โดยสองปุ่มจะเสมือนเป็นการตีหน้ากลองด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนอีกสองปุ่มจะเสมือนเป็นการตีขอบกลองด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งหน้าที่ของผู้เล่นก็คือการกดปุ่มให้ตรงจังหวะและตรงตามสีนั่นล่ะครับ

และก็แน่นอนว่ายิ่งเพลงยาก เกมก็จะถาโถมตัวโน้ตเข้าใส่คุณให้กดจนมือเป็นระวิง แต่ถ้าใครอยากได้ฟีลคล้าย ๆ กำลังจับไม้กลองหวดอย่างเมามันล่ะก็ สามารถเลือกวิธีการบังคับด้วยโมชันคอนโทรลได้ โดยจะถือเสมือนว่าจอยคอนแต่ละข้างคือไม้กลองนั่นล่ะครับ เหวี่ยงให้เต็มที่ตามที่หัวใจเรียกร้องได้เลย ส่วนวันรุ่งขึ้นคุณจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบจากการเหวี่ยงแขนมากเกินไปหรือไม่…นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถึงจุดนี้ ตัวเกมอาจจะให้ความรู้สึกว่าก็เหมือนเกมดนตรีทั่ว ๆ ไปที่มีในตลาด ที่ระบบของเกมเข้าใจง่าย แต่จะเล่นให้เซียนนั้นยากเอาเรื่อง แต่เอาเข้าจริงแล้วจุดขายของเกมก็คือบรรดาเพลงที่มีให้เล่นนี่ล่ะครับ คือผมเข้าใจว่าทีมพัฒนาก็คงพอจะเข้าใจว่าถ้าใช้พวกเพลงสากลดัง ๆ นี่ค่าไลเซนส์น่าจะแพงตาเหลือก ดังนั้นก็เลยเลือกที่จะเจาะตลาดความเฉพาะกลุ่มไปเลยให้มีเอกลักษณ์ดีกว่า ดังนั้นเพลงในเกมนี้กว่า 90% จะเป็นเพลงญี่ปุ่นล้วน ๆ เลย จะเป็นเพลงป็อป เพลงอนิเม หรือเพลงโวคาลอยด์ เป็นต้น ซึ่งก็เข้าใจคัดมาแบบที่ว่าคนเล่นต้องคุ้นหูกันไม่มากก็น้อยแน่ ๆ

กระนั้น สิ่งที่เป็นจานหลักจริง ๆ ในแง่ของเพลงที่มีให้เล่นจะไปอยู่ใน Taiko Music Pass ซึ่งเป็นการซื้อบริการแบบมีระยะเวลาในการเล่นครับ ซึ่งลิสต์เพลงนั้นก็จะเต็มไปด้วยเพลงที่คุ้นเคยกันแน่ ๆ ซึ่งสำหรับผมเองที่เป็นแฟนดราก้อนบอลนั้น การได้เห็นเพลงอย่าง Cha-La Head-Cha-La เอย Dragon Soul เอย หรือไม่ก็ Genkai Toppa x Survivor จากซีรีส์ล่าสุดอย่าง Dragon Ball Super นั้น มันทำให้ผมแฮปปี้กว่าที่คิดไว้ทีแรกมากเลย ไม่เพียงเท่านั้น แต่ถ้าคุณเป็นแฟน One Piece หรือ Naruto หรืออนิเมดังอื่น ๆ อย่าง Attack on Titan เอย Saint Seiya เอย Jujutsu Kaisen (มหาเวทผนึกมาร) เอย ใน Taiko Music Pass นี่มีให้เลือกเต็มอิ่มแน่ ๆ นี่ยังไม่นับเพลงในหมวดอื่น ๆ อีกนะ

เอาล่ะ นอกเหนือไปจากตัวเกมหลักที่เป็นการกดปุ่มตามจังหวะดนตรีอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ในภาคนี้ยังมีการเพิ่มเติมลูกเล่นที่น่าสนใจไม่เบาลงมาทำให้ตัวเกมมีรสชาติขึ้นในรูปแบบของโหมดสองโหมดนั่นคือ Great Drum Toy War และ Don-chan Band ครับ

สำหรับ Great Drum Toy War จะเป็นการเล่นแข่งกับ AI หรือจะเล่นกับคนก็ได้ เพียงแต่ก่อนเล่นนั้นคุณจะได้จัดทัพของเล่นของตนเอง ที่แต่ละชิ้นจะมีเอฟเฟคต์ต่าง ๆ กันไป ซึ่งคุณสามารถใช้ก่อกวนคู่แข่งได้ (ยิ่งของเล่นที่มีคอสต์สูงเอฟเฟคต์ก็จะยิ่งดี แต่คุณก็ต้องบริหารคอสต์ไม่ให้เกินเพดาน) เช่นการทำให้ตัวโน้ตหายไป หรือมีสิ่งต่าง ๆ มาบังหน้าจอเป็นต้น เป้าหมายของการเล่นในโหมดนี้ก็คือการกดตัวโน้ตให้ถูกต้องเพื่อทำการเรียกของเล่นฝั่งคุณมาให้เยอะกว่าคู่แข่งในตอนจบเพลงครับ ซึ่งมันสนุกกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกพอควรเลย เพราะต้องใช้สมาธิสูงเอาเรื่องในการจับจังหวะและกดตัวโน้ตเมื่อโดนเอฟเฟคต์เล่นงาน

ส่วนโหมด Don-chan Band ก็จะเปลี่ยนลูกเล่นไปอีก โดยจะเน้นเป็นการเล่นสไตล์ co-op สูงสุด 4 คน ที่ทุกคนจะได้เล่นเพลงเดียวกันในคนละจังหวะตามแต่ช่วงของเพลง แต่ว่าเป้าหมายของโหมดนี้คือทั้ง 4 คนจะต้องแสดงฝีมือให้เต็มที่เพื่อเล่นเพลงไปจนจบได้ครับ นั่นแปลว่าถ้าใครกดผิดกดพลาดบ่อยก็จะเป็นการฉุดทั้งทีมลงมาได้ทันทีและอาจโดนมองแรงได้ กระนั้นเมื่อจบเพลงก็จะมีการประมวลผลคะแนนเพื่อบอกให้รู้กันไปเลยว่าใครที่เป็น MVP ประจำเพลง ทำให้แม้ว่าตัวโหมดจะเป็นการช่วยกันเล่น แต่จบเพลงจะเป็นจังหวะให้ผู้เล่นได้ขิงใส่กันนั่นล่ะครับ

โดยรวมในแง่ของเกมเพลย์นั้น เข้าใจง่ายแต่สนุกโดยมีสิ่งชูโรงคือเพลงทั้งหลายที่มาจากฟากญี่ปุ่นซึ่งอัดมาให้เต็มอิ่มแน่นอน


กราฟิกและการนำเสนอ

กราฟิกของเกมนี้ นำเสนอในแบบตัวการ์ตูนน่ารักและเรียบง่ายครับ สิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คงไม่พ้นการดีไซน์ตัวละครต่าง ๆ ของเกมที่เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ นอกจากดง-จังที่เป็นกลองไทโกะซึ่งมีหน้ามีตาและแขนขาแล้ว ตัวละครอื่น ๆ ก็เป็นการหยิบเอาสิ่งที่ดูไม่น่าจะนำมาเป็นคาแรคเตอร์ได้มาใช้หมดเลย ทาโกะยากิบ้างล่ะ ปลาไหลบ้างล่ะ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเข้าใจว่าคอนเซปต์ก็หยิบยกมาจากพวกสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ตามงานเทศกาลของญี่ปุ่นนั่นล่ะครับ

แต่เอาเป็นว่าทั้งเกมจะเต็มไปด้วยสิ่งที่น่ารักทั้งนั้นเลย ถ้าใครจะซื้อให้ลูกให้หลานเล่นก็จะไม่มีอะไรที่ชวนตกใจหรือเซอร์ไพรส์ครับ


เพลงประกอบ

อันที่จริงหัวข้อนี้ก็พูดถึงไปแล้วในส่วนของเกมเพลย์ แต่ก็ขอมาเน้นย้ำอีกทีว่าแต่ละเพลงที่มีให้เล่นนั้นถูกใจผมเป็นพิเศษ เพราะได้เล่นเพลงที่คุ้นเคยเยอะมาก แม้แต่บางเพลงที่อาจไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินแต่พอได้เล่นแล้วก็พบว่ามีแต่เพลงเพราะและจังหวะสนุกทั้งนั้นเลยครับ ถ้าใครที่ติดตามและชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นคุณจะยิ่งชอบเกมนี้เป็นพิเศษแน่ ๆ


สรุป

Taiko no Tatsujin: Rhythm Festival ถือเป็นภาคล่าสุดของแฟรนไชส์ที่สนุกสนานและให้ความบันเทิงได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสองโหมดใหม่ที่นำเอาระบบเกมหลักดั้งเดิมมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจครับ หากคุณชอบเกมที่จะเล่นกับคนในครอบครัวได้อย่างสนุกสนานและบันเทิงเริงใจล่ะก็ นี่คือตัวเลือกที่ขอแนะนำเลย แต่เตรียมยาทาแก้ปวดเมื่อยไว้หน่อยก็จะดี

The Review

80% รัวกลองตามจังหวะหัวใจ ไปกับไทโกะ

นี่คือเกมดนตรีที่สนุกสนาน น่ารัก และเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ถ้าคุณชอบแฟรนไชส์นี้อยู่แล้วภาคนี้จะสนุกยิ่งขึ้น และถ้าคุณชื่นชอบเพลงญี่ปุ่นเกมนี้จะเหมาะกับคุณแน่นอน

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์