*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
The Centennial Case: A Shijima Story นี่ เป็นเกมที่ค่อนข้างนำเสนอได้แปลกและแตกต่างจากเกมอื่น ๆ พอสมควร เพราะรูปแบบการนำเสนอกว่า 90% จะเป็นภาพยนตร์คนแสดงทั้งหมดและจะมีการใช้กราฟิกประกอบบางส่วนในตอนที่ผู้เล่นตั้งสมมติฐานเพื่อทำความเข้าใจกับรูปคดีที่เกิดขึ้น (ที่เอาเข้าจริง ก่อนหน้านี้ Square Enix ก็ได้เคยจัดจำหน่ายเกมในสไตล์นี้มาบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก)
รูปแบบของเกมนี้ ถ้าให้พูดไปแล้วก็คล้ายกับการนั่งดูซีรีส์ภาพยนตร์สไตล์นักสืบที่เราจะต้องคอยจดจำเหตุการณ์ จดจำคำพูด หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสถานที่เพื่อไขคดีและหาความจริงให้ได้ว่าคนร้ายคือใคร ต่างกันที่ว่าแทนที่เราจะเอกเขนกรอดูตัวเอกของเรื่องพูดอธิบายทริคและกลเม็ดที่คนร้ายใช้ลงมือเป็นฉาก ๆ ก่อนจะทำท่าชี้นิ้วใส่ว่า “คนร้ายก็คือคุณ!” เนี่ย คนเล่นจะต้องมานั่งปะติดปะต่อเหตุการณ์ สรุปข้อมูล แล้วก็ชี้ตัวคนร้ายเองครับ
เนื้อเรื่อง
ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นคางามิ ฮารุกะนักเขียนนิยายนักสืบชื่อดังที่มีผลงานระดับเบสท์เซลเลอร์ โดยวันหนึ่งในงานแจกลายเซ็นหนังสือของเธอ ชายหนุ่มที่ชื่อชิจิมะ เอย์จิซึ่งเป็นนักวิจัยที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ในนิยายของเธอมาโดยตลอดได้แวะเวียนมาทักทาย ซึ่งเหตุผลที่เขามาก็เพราะต้องการความช่วยเหลือจากฮารุกะให้ช่วยไขปริศนาของโครงกระดูกลึกลับที่ขุดค้นพบภายใต้ต้นซากุระในพื้นที่สวนของตระกูลชิจิมะ รวมถึงไขปริศนาเกี่ยวกับ “ผลไม้แห่งความเยาว์วัย” หรือ “โทคิจิคุ” ที่ว่ากันว่าผู้ใดได้กินก็จะไม่แก่ไม่ตายและเป็นสิ่งที่เสมือนเป็นเรื่องเล่าขานกันมาในตระกูล ดังนั้นทั้งฮารุกะ, เอย์จิ และยามาเสะ อาคาริผู้เป็นบรรณาธิการของฮารุกะ จึงได้เดินทางไปยังบ้านตระกูลชิจิมะ และที่นั่นเองที่ทั้งสามต่างก็ได้พัวพันกับคดีอันลึกลับที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานมาตั้งแต่สมัยหนึ่งร้อยปีก่อนและมีความเกี่ยวข้องกับปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง
ถ้าจะให้พูดถึงในแง่ของเนื้อหาแล้ว เกม (?) นี้ถือว่าทำได้ดีในแง่การนำเสนอเลยจริง ๆ มีลูกล่อลูกชนที่จะทำให้คนเล่นต้องคิดตามตลอดเวลา และยังไม่รวมกับบางฉากบางตอนที่ทำออกมาเสมือนเป็นตัวเลือกหลอกให้คนเล่นไขว้เขว หนึ่งในกิมมิคการเล่าเรื่องของเกมที่ผมชอบมากก็คือการใช้นักแสดงแต่ละคนได้คุ้มค่าตัวมาก ๆ เพราะบรรดานักแสดงแต่ละคนที่ผู้เล่นจะได้เห็นหน้าค่าตาและทำความคุ้นเคยในปัจจุบัน พอเป็นเหตุการณ์ย้อนอดีตปั๊บ นางเอกประจำเรื่องอย่างฮารุกะก็จะใช้วิธีการนำเอาหน้าตาแต่ละคนที่ตนเองคุ้นเคยไปสวมเข้ากับบุคคลอื่น ๆ ในเรื่องราวที่เธออ่าน มันเลยทำให้คนเล่นเองก็ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเมโมรี่ในการมานั่งจดจำบุคคลในแต่ละช่วงเวลาใหม่นัก และที่สำคัญก็คือกลวิธีนี้นี่แหละก็เป็นอีกหนึ่งกลเม็ดของเกมที่ออกแบบมาเพื่อปั่นหัวคนเล่นให้หลงทางนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน แต่ผมขอไม่ลงรายละเอียดแล้วกันว่ากลเม็ดที่ว่าคืออะไร
สิ่งที่ชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือการตัดสลับเล่าเหตุการณ์ระหว่างปัจจุบันและอดีตที่เกิดขึ้น โดยที่ทุกอย่างมันผสานกันเป็นเนื้อเดียวได้แบบเนียน ๆ ชนิดที่ว่าพอเฉลยสิ่งที่ค้างคาในแต่ละประเด็นออกมาเรื่อย ๆ แล้วทุกอย่างมันลงล็อคในตัวของมันเองหมดนี่ล่ะครับ พอเล่นไปจนจบ (รวมถึงบทส่งท้ายที่มี) ทุกอย่างที่เป็นข้อสงสัยและยังค้างคาใจอยู่มันเคลียร์หมดทุกอย่างในตัวเองเลย ถือว่าปิดจบได้ดีเหมือนกัน
แต่กระนั้น…มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีจุดที่ผมไม่ชอบเลยล่ะนะ ในส่วนของเนื้อหานี่อย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ว่ามันจบได้เคลียร์ครบหมดในทุกประเด็น สมเหตุสมผลในธีมของเรื่องมันนั่นแหละ แค่ว่าในช่วงไคลแมกซ์หนึ่งของเกม พอมีการเฉลยข้อเท็จจริงบางประการออกมาแล้วมันทำให้ผมถึงกับพูดออกมาว่า “เฮ้ย…แบบนี้ก็ได้เหรอวะ?!” อย่างช่วยไม่ได้ครับ คือมันเป็นการเฉลยข้อเท็จจริงชนิดที่ว่า Train of Thoughts ที่ผมมีมาตั้งแต่ต้นเกม และมันก็ดำเนินมาตามแนวทางนั้นตลอด พอเจอการเฉลยที่ว่าไปก็ทำเอารถไฟตกรางหัวทิ่มกันไปเลย โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นการเฉลยที่ค่อนข้างแหก “กฎ” บางอย่างที่เกมวางเอาไว้เกินไปหน่อย
เกมเพลย์
รูปแบบการเล่นของเกมนี้ก็คือการนั่งดูภาพยนตร์ไปเรื่อย ๆ โดยที่เราสามารถกดหยุดหรือกดเลื่อนไปข้างหน้าหรือย้อนกลับได้ตลอด แล้วพอดำเนินเรื่องไปถึงจุดหนึ่งฮารุกะจะต้องเข้าสู่พื้นที่ที่เรียกว่า Cognitive Space หรือพื้นที่การรับรู้ของเธอ ซึ่งที่นี่นี่แหละครับที่ผู้เล่นจะได้นำเอาเบาะแสแต่ละอย่างซึ่งนำเสนอในรูปแบบของรูปทรง 6 เหลี่ยมมาใส่ให้ถูกต้องกับประเด็นข้อสงสัย หากว่าคุณวางได้ถูกต้องก็จะเป็นการสร้างสมมติฐานของข้อสงสัยนั้น ๆ ขึ้นมา ซึ่งสมมติฐานแต่ละอย่างก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกเสมอไป เสมือนเป็นแค่สิ่งที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น คนที่จะต้องวิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่ก็คือผู้เล่นอยู่ดีครับ
หลังจากพ้นช่วงการตั้งสมมติฐานแล้ว เกมก็จะเข้าสู่ช่วง Reasoning หรือการให้เหตุผลซึ่งก็จะเป็นการเลือกหัวข้อที่เราสงสัยที่สุด ซึ่งก็จะอ้างอิงจากสมมติฐานที่ตั้งมานั่นล่ะครับ พอเลือกจนครบแล้วก็จะมีการสรุปประเด็นของหัวข้อย่อยที่เราเลือกมา แต่ถ้าเรายังไม่พอใจก็ย้อนมาเลือกหัวข้อใน Reasoning ได้เรื่อย ๆ อยู่หากว่าต้องการเก็บรายละเอียดให้ครอบคลุมทุกประเด็นจนหมด
เมื่อคุณเก็บประเด็นในช่วง Reasoning จนพอใจแล้ว เกมก็จะเข้าสู่ช่วงระบุตัวคนร้ายทันที ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคุณในการชี้แจงรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงทริคที่คนร้ายใช้ แต่ว่าแม้จะให้เหตุผลผิดก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากเพราะเกมก็ให้คุณย้อนกลับไปตรวจรายละเอียดใหม่อยู่ดี ที่จะเสียไปก็แค่คะแนนประเมินผลในตอนจบฉากเท่านั้น ทั้งนี้นอกเหนือจากการหาเบาะแสชี้ตัวคนร้ายแล้ว ในช่วงท้าย ๆ เกมจะมีรูปแบบการเล่นในบทหนึ่งที่แตกต่างจากเดิมไปเล็กน้อย ซึ่งผมคิดว่าตัวเกมทำในส่วนนี้ออกมาได้ดีและสนุกไม่เบาครับ เหมือนเป็นการพักเบรกจากรูปแบบเดิม ๆ ได้พอควร (แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแนวไปเป็นแอ็คชันชูตติ้งอะไรทำนองนั้นหรอกนะ ไม่ต้องกังวล)
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าตัวเกมทำออกมาช่วยเหลือคนเล่นได้ดีระดับหนึ่งก็คือระบบการตรวจสอบข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเบาะแสที่เราหามาได้แล้วนี่ล่ะครับ ถ้าเราลืมจุดไหนหรือลืมอะไรไปก็สามารถย้อนกลับมาดูได้เรื่อย ๆ ระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นผมก็คิดว่าถ้าตัวเกมมีระบบที่จัดหมวดหมู่ข้อมูลมาให้เข้าถึงง่ายกว่าที่เป็นอยู่ก็น่าจะดี เพราะโดยรวมแล้วพวกรายละเอียดและสมมติฐานต่าง ๆ จะแบ่งออกตามแชปเตอร์ทำให้การค้นหาข้อมูลเดิมค่อนข้างวุ่นวายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของแชปเตอร์ท้าย ๆ ที่วนกลับมาอ้างอิงเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในบทก่อนหน้าหรือไม่ก็ช่วงต้น ๆ เกมเลยนี่ล่ะครับ ยิ่งเล่นไปจะรู้เลยว่าเกมนี้ตั้งใจให้คนเล่น/คนดูต้องเก็บทุกเม็ดจริง ๆ แม้แต่บทพูดประโยคเดียวที่ผ่านมาในช่วงสั้น ๆ และดูเหมือนจะไม่มีอะไรก็ยังสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลชี้ตัวคนร้ายได้อยู่เหมือนกัน
กระนั้น ด้วยรูปแบบของเกมที่ดำเนินเรื่องสไตล์ภาพยนตร์และมีผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเดียว มันก็ทำให้เกมขาด replay value ไปโดยปริยายครับ เมื่อคุณรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้วการกลับมาเล่นอีกรอบก็จะไม่สนุกเหมือนรอบแรกแล้ว ดังนั้นถ้าใครที่สนใจและอยากลองเล่นดู ผมแนะนำว่า “อย่า” ไปดูเฉลยหรือไปอ่านสปอยล์จากที่ไหน ๆ มาก่อนเลยเด็ดขาดครับ
อ้อ สิ่งสำคัญมากและอาจสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้สำหรับเกมนี้คือ “ภาษา” ครับ เกมนี้เป็นเกมที่อาศัยการอ่านเยอะมาก (อาจรวมถึงการฟังด้วยถ้าคุณปรับเสียงพากย์เป็นอังกฤษ) ถ้าใครที่ภาษาไม่แข็งแรงนี่จะเล่นไม่สนุกไปเลย เพราะงั้นใครที่สนใจก็ขอให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วยเหมือนกันครับ
กราฟิก
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยอยากพูดถึงเท่าไหร่ เพราะเกมนี้เหมือนเป็นภาพยนตร์มากกว่า แต่ถึงกระนั้นผมก็ชื่นชอบในส่วนของงานภาพไม่เบา ทั้งการเล่นมุมกล้องในแต่ละฉากแต่ละซีนที่ดูมีความหมายหมด แต่สิ่งที่ต้องชมก็คงไม่พ้นสีหน้าท่าทางของเหล่านักแสดงในเกมนี่ล่ะครับ แต่ละคนทำหน้าที่กันได้ดีเลย บางคนมีพิรุธบางคนมีอะไรปิดบังก็จะแสดงออกให้เห็นแบบเบา ๆ และผู้เล่นต้องคอยจับสังเกตกันเอาเอง
ซึ่งพอมานึกแล้ว เกมนี้ก็ให้อารมณ์เรโทรหน่อย ๆ เหมือนยุคนึงสมัยนึง (ยุค PS1, Sega Saturn และ 3DO) ที่แต่ละสตูดิโอขยันทำเกมผจญภัยสไตล์ FMV ที่ใช้คนแสดงดำเนินเรื่องอยู่เหมือนกันครับ
ที่สำคัญซากุราบะ นานามิ ที่รับบทเป็นคางามิ ฮารุกะนี่น่ารักนะเออ
เพลงประกอบ
เอาเข้าจริง ผมคิดว่าผมจำ OST เกมนี้ไม่ค่อยจะได้ จะว่ามันไม่มีเลยก็ไม่ใช่เพราะมันก็มีเพลงประกอบเรื่อย ๆ ตลอดเกม (ตลอดการดู) เหมือนกันล่ะครับ แต่เหมือนว่ามันจะโดนกลบด้วยตัวเนื้อหาที่ต้องโฟกัสตลอดเวลาไปซะหมดมากกว่า ถ้าจะมีอะไรที่พอจะจำได้บ้างก็คงไม่พ้น OST ในตอนที่เราเข้า cognitive space เพื่อตั้งสมมติฐานนั่นล่ะครับที่ช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับพิศวงได้ดีสมกับเป็นเนื้อหาสไตล์สืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม
สรุป
The Centennial Case: A Shijima Story เป็นการผสมระหว่างภาพยนตร์คนแสดงกับเกมที่ทำออกมาแล้วก็ได้รสชาติแปลกดีใช้ได้ แม้จะไม่ถึงกับชวนตะลึงแต่ก็มีดีอยู่ในตัวเหมือนกัน ถ้าคุณชื่นชอบสื่อบันเทิงสไตล์นักสืบและโอเคกับการที่ความเป็นเกมมันน้อยไปสักหน่อย ก็อยากให้ลองหามาเล่นกันดูครับ