*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นเวอร์ชัน PlayStation 4
ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ พอพูดถึงชื่อดราก้อนบอลขึ้นมา ภาพจำของทุกคนก็คงจะคล้าย ๆ กันนั่นคือการที่ตัวละครเอกตลอดกาลของซีรีส์อย่างซงโกคู ได้เข้าปะทะกับเหล่าตัวร้ายอันทรงพลังมากหน้าหลายตา ที่ไม่ว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใครจากไหนพระเอกของเราก็มักจะเก่งขึ้น เก่งขึ้น เก่งขึ้นพร้อมกับร่างแปลงที่มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้นไปทุกวัน พร้อมด้วยความโม้เหม็นของการต่อสู้ระดับที่ว่าดาวระเบิดก็ยังไม่พอ ระบบสุริยะทลายก็ยังไม่หยุด แม้แต่กาแล็กซีจะเป็นผุยผงก็ยังไม่หนำใจ จะให้เด็ดจริงมันต้องต่อยกันระดับจักรวาลกระเทือนมิติกระจาย และไปถึงขั้นเหนือกว่ามิติกาลเวลานู่นไปเลย
แต่เอาล่ะ นั่นคือการต่อสู้ของบรรดายอดมนุษย์ที่เข้าใกล้ความเป็นคอสมิกบีอิ้งกันเข้าไปทุกวัน ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกับคุณในเกมนี้ เพราะว่าใน Dragon Ball The Breakers คุณจะได้เป็นเพียงผู้รอดชีวิตธรรมดา ๆ คนนึงที่บังเอิญซวยต้องมาเอาตัวรอดจากเหล่าผู้ที่แค่ถอนหายใจแรงก็อาจทำให้ดาวหลุดวงโคจรกันได้แล้วนี่ล่ะครับ
เนื้อเรื่อง
เรื่องราวของเกมนี้ก็เรียบง่ายครับ ตัวคุณคือคนธรรมดาคนนึงที่จู่ ๆ ก็โดนตะเข็บแห่งกาลเวลา (Temporal Seam) ที่ปรากฏขึ้นมาอย่างกะทันหันดูดเข้าไปจนมาฟื้นคืนสติในสถานที่ลึกลับแห่งหนึ่ง เคราะห์ดีที่คุณได้เจอกับทรังคซ์ (Trunks) ในเวอร์ชันที่รับทำหน้าที่เป็นสายตรวจกาลเวลา (Time Patrol) ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีจากตัวเกม Dragon Ball Xenoverse รวมถึงเกมตู้จากญี่ปุ่นอย่าง Super Dragon Ball Heroes นั่นเอง ซึ่งทรังคซ์ก็ได้ช่วยเหลือคุณและผู้รอดชีวิตอีกสองคนที่โดนดูดมาเหมือนกันให้หลบหนีออกจากสถานที่ซึ่งกาลเวลาบิดผันไปได้อย่างปลอดภัย โดยไม่โดนตัวร้ายประจำซีรีส์อย่างเซลล์ (Cell) ที่ในเกมนี้จะเรียกว่าเรดเดอร์ (Raider) จัดการไปเสียก่อน
แต่แล้วคุณก็ยังกลับไปยังยุคและสถานที่ที่คุณจากมาไม่ได้เพราะมิติเวลายังคงไม่เสถียรพอ ทรังคซ์จึงเสนอให้ทุกคนรอคอย ณ จุดที่เป็นเสมือนฮับของเกมไปพลาง ๆ เพื่อรอวันและเวลาที่จะสามารถส่งตัวทุกคนกลับไปได้อย่างปลอดภัย
เนื้อหาของทั้งเกมก็มีแค่นี้แหละครับ เพราะตัวเกมมีเซ็ตติ้งที่ต้องการให้ทุกคนได้เล่นกันในแบบ asymmetrical battle หรือก็คือการต่อสู้แบบอสมมาตรเป็นหลัก มันก็เลยไม่มีเนื้อหาอะไรที่จะบอกเล่าเพิ่มเติมจากนี้ในตอนนี้ แต่คาดว่าจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหามาเรื่อย ๆ ในแต่ละซีซันมากกว่า การเข้าเล่นในแต่ละตาก็มีพอยต์แค่ว่าตัวคุณที่เป็นผู้รอดชีวิตนั้นดวงซวยจนโดนดูดเข้าตะเข็บกาลเวลาไปเผชิญหน้ากับเหล่าเรดเดอร์ครั้งแล้วครั้งเล่านั่นล่ะครับ
เกมเพลย์
สไตล์การเล่นของ Dragon Ball The Breakers นั้นก็ไม่ค่อยแตกต่างจากเกมต่อสู้แบบอสมมาตรอื่น ๆ ที่มีในท้องตลาดเท่าไรนัก นั่นคือในการเล่นแต่ละแมทช์คุณอาจจะได้เล่นเป็น 1 ใน 7 ผู้รอดชีวิต (เซอร์ไวเวอร์/Survivor) หรือไม่ก็เป็นเรดเดอร์ที่ในขณะนี้จะมีให้เลือกเล่นแค่สามตัวนั่นก็คือฟรีซ่า (Frieza), เซลล์ (Cell) และก็บู (Buu) เท่านั้น ซึ่งในแง่ของการเล่นทั้งสองฝ่ายนี้ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับก่อนการเล่นในแต่ละฉาก คุณจะได้อยู่ ณ จุดที่เป็นฮับขนาดเล็ก ๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีอะไรให้ทำมากนัก นอกจากว่าใช้เงินหรือใช้บรรดาตั๋วหลากหลายประเภทมาซื้อของแต่งกายตามใจชอบ หรือไม่ก็ไปถลุงเงินและตั๋วที่มีกับตู้ Spirit Siphon เพื่อสุ่มกาชาว่าจะได้ความสามารถดี ๆ ของตัวละครที่เราชื่นชอบมาใช้ไหม และก็แน่นอนว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับดวงของคุณว่าพระเจ้าแห่ง RNG จะเห็นใจคุณหรือไม่ในแต่ละครั้ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทีมสร้างจะใส่ระบบกาชาเข้ามาทำไม ให้เล่นเก็บแรงค์หรือเก็บเลเวลแล้วได้มาเลยไม่ได้เหรอ
ในส่วนของการเล่นหลัก ถ้าคุณเล่นเป็นผู้รอดชีวิต หน้าที่หลักของคุณก็คือการเก็บรวบรวมซูเปอร์คีย์ที่กระจัดกระจายทั่วฉากเพื่อทำการเปิดใช้งานซูเปอร์ไทม์แมชชีนแล้วหลบหนีไปให้ได้ ซึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ คุณจะมีอุปกรณ์หลายอย่างไว้ช่วยในการเอาตัวรอด บ้างก็เป็นเรดาร์ไว้แสวงหาซูเปอร์คีย์, บ้างก็เป็นดราก้อนเรดาร์ไว้หาดราก้อนบอล บ้างก็จะเป็นพวกไอเท็มไว้สำหรับโจมตีหรือหลบหนีต่าง ๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น องค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์จากเกมแนวเดียวกันก็คือตัวเกมจะมีระบบทรานสเฟียร์ (Transphere) ที่จะทำให้คุณสามารถ “ยืม” พลังของเหล่านักรบยอดมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกในอดีตแต่ละคนได้ ซึ่งก็มีแต่บรรดาคนที่คุณคุ้นเคยจากผลงานต้นฉบับนั่นล่ะครับ ไม่ว่าจะโกฮังเอย เบจิต้าเอย โกคูเอย อะไรแบบนั้น ซึ่งคุณชอบใครอยากยืมพลังใครก็ต้องไปเซ็ตอัปให้เรียบร้อยก่อนเข้าฉากรวมถึงบรรดาสกิลสนับสนุนต่าง ๆ (ซึ่งของเหล่านี้ก็มาจากสิ่งที่คุณไขได้จาก Spirit Siphon นั่นล่ะครับ)
แต่ถึงกระนั้น สุดท้ายคุณก็ยังแค่ “ยืม” พลังของพวกเขามาเท่านั้นเอง พวกคุณไม่ใช่ตัวจริง การแปลงร่างด้วยทรานสเฟียร์เลยเหมือนเป็นระบบเอาตัวรอดยามเข้าตาจนที่ทำให้ผู้รอดชีวิตพอจะโต้ตอบได้บ้างระดับหนึ่งครับ (แต่ถ้าทุกคนแปลงร่างรุมเรดเดอร์ เรดเดอร์ก็มีร้องไห้เหมือนกัน)
แล้วก็แน่นอนว่าเมื่อเกมนี้คือดราก้อนบอล ในเกมก็จะต้องมีดราก้อนบอลให้เก็บรวบรวม ที่เมื่อผู้เล่นคนไหนเก็บได้ครบก็จะสามารถขอพรได้ที่อาจจะทำให้พลิกเกมได้เลยเหมือนกัน (กระทั่งเรดเดอร์ก็ขอพรได้นะ) จุดนี้มันเลยทำให้ตัวเกมมีองค์ประกอบของความคาดเดาไม่ได้เยอะอยู่ไม่เบา
ทีนี้ ถ้าคุณบังเอิญได้เล่นเป็นเรดเดอร์ล่ะก็ เป้าหมายของคุณมีเพียงประการเดียวเลยก็คือป้องกันไม่ให้ผู้รอดชีวิตหนีไปได้ ซึ่งคุณก็อาจไปทำลายซูเปอร์ไทม์แมชชีนเพื่อตัดหนทางรอดของผู้รอดชีวิต หรือไม่ก็ไล่จัดการรายคนก็สุดแท้แต่ แต่กระนั้นก็เถอะ แม้ว่าคุณจะเป็นตัวร้ายอันทรงพลังเพียงใด แรกเริ่มเลยคุณก็จะยังเป็นแค่ร่างต้นที่คุณจะต้องออกจัดการเหล่า NPC หรือไม่ก็ผู้รอดชีวิตเพื่อทำการสะสมพลังที่จะช่วยให้คุณเปลี่ยนไปเป็นร่างที่แข็งแกร่งมากขึ้นตามที่เคยได้เห็นจากผลงานต้นฉบับ ที่ในคราวนี้วิธีการบังคับควบคุมจะสมเป็นเกมดราก้อนบอลครับ เพราะคุณจะบินไปไหนมาไหนได้อิสระ ระเบิดพลังกันเป็นว่าเล่นได้แบบไม่ต้องแคร์อะไรทั้งนั้น
แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ ผมรู้สึกว่าการบังคับควบคุมในตอนที่เล่นเรดเดอร์มันแอบติด ๆ ขัด ๆ ชอบกล จะว่าด้วยมุมกล้องที่มันใกล้เกินไปก็ใช่ทำให้เวลาบินไปไหนมาไหนมันมองภาพรวมไม่ค่อยเห็น รวมถึงการบินขึ้นหรือบินลงที่ควบคุมด้วยอนาล็อกขวาที่มันไม่ถนัดเอาเสียเลย พอได้เล่นเป็นเรดเดอร์แล้วมันก็เลยไม่ค่อยรู้สึกไม่คล่องตัวและไม่ทรงพลังอย่างที่ควรจะเป็นอย่างบอกไม่ถูก
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าองค์ประกอบความเป็นดราก้อนบอลนี่เองที่ทำให้ตัวเกมมันมีรสชาติที่แปลกและเพลินใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะถ้าคุณชอบผลงานต้นฉบับเป็นทุนเดิม เพราะมันก็ช่วยให้ฉีกไปจากเกมแนวอสมมาตรอื่น ๆ ได้แบบชัดเจน นั่นเพราะเอาเข้าจริงแม้ว่าคุณจะเป็นผู้รอดชีวิตที่สู้รบปรบมือพวกเรดเดอร์ไม่ได้ แต่ถ้าใครในทีมคุณเก็บดราก้อนบอลได้ครบแล้วไปขอพรล่ะก็ เขา/เธอก็มีโอกาสเปลี่ยนร่างกลายเป็นเหล่านักสู้เหนือมนุษย์ “ตัวจริง” ที่พอปรากฏตัวแล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่าเรดเดอร์เองก็ตัวสั่นขวัญหายเป็นเหมือนกันครับ นี่ยังไม่นับว่าถ้าคุณไปเจอเพื่อนร่วมทีมที่เป็นงานกันหมดแล้ว คุณอาจได้เห็นฉากจบแมทช์ที่ทุกคนรวมพลังกันเป่าเรดเดอร์กระจุยได้อีกด้วยนะ
ถ้าคุณชอบเกมแนวต่อสู้อสมมาตรเป็นทุนเดิม การจะเล่นเกมนี้แล้วสนุกได้ก็ไม่ต่างกันกับเกมอื่นมากนักครับ นั่นคือต้องอาศัยการเล่นหลายรอบ เล่นจนคุณจำตำแหน่งฉากได้ รู้ว่าตรงไหนจะมีกล่องไอเท็มให้เก็บ รู้เลย์เอาท์ของฉากโดยรวมที่จะทำให้คุณไปไหนมาไหนได้แบบที่ไม่หลงและไม่งงทาง ไม่งั้นคุณก็จะได้แค่วิ่งวนเป็นไก่ไม่มีหัวในขณะที่คนอื่น ๆ ช่วยกันทำเป้าหมายอย่างขะมักเขม้นนั่นล่ะครับ ยังไม่นับว่าตอนผมเล่นเป็นเรดเดอร์เองก็หาใครไม่ค่อยจะเจอด้วยน่ะนะ…
กราฟิก
ในแง่ของกราฟิกนั้น มันเหมือนเกมจากยุค PS3 หรือไม่ก็ PS2 น่ะครับ คือดีเทลของสิ่งต่าง ๆ จะเรียบ ๆ ไม่มีความละเอียดเหมือนพวกเกมที่เน้นสมจริง เอฟเฟคต์เอยอะไรเอยก็จะง่าย ๆ พวกเวลาตึกเอยอาคารเอยระเบิดก็จะเป็นแผ่น ๆ ให้เห็นอยู่ชัดเหมือนกัน พวกต้นไม้ใบหญ้าที่มาเป็นแผ่นแบบเห็น ๆ เลย ซึ่งอันที่จริงผมค่อนข้างเชื่อว่าแม้จะเป็นเกมสไตล์อนิเมแต่มันสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้นะ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน
เพลงประกอบและเสียงเอฟเฟคต์
ในจุดนี้ก็ถือว่านำเสนอได้ดีอยู่ เพราะพวกเสียงเอฟเฟคต์เวลาตัวละครยิงท่าหรือปล่อยพลังต่าง ๆ นั้นก็ใช้เสียงเอฟเฟคต์ในแบบที่คุ้นเคยกันทั้งนั้น ส่วนเพลงประกอบก็ทำออกมาได้ดีอยู่ ยิ่งเพลงตอนไขตู้กาชา Spirit Siphon นี่บิ๊วซะชวนให้ลุ้นตลอดว่าจะไขได้อะไร จะได้โกคูไหมหรือออกมาเป็นหยำฉา ส่วนเพลงตอนเล่นมันก็ชวนให้ระทึกได้ดีโดยเฉพาะในตอนที่เราเริ่มเข้าใกล้เรดเดอร์ที่บรรเลงแล้วให้ความรู้สึกว่าเรากำลังเผชิญกับบางสิ่งที่มันน่ากลัวและทรงพลังชนิดที่ไม่อาจต่อกรได้ครับ
สรุป
โดยรวมแล้ว ผมคิดว่า Dragon Ball The Breakers เป็นเกมต่อสู้แนวอสมมาตรที่สามารถสร้างจุดเด่นให้ตัวเองได้โดยอาศัย IP ดราก้อนบอล ส่วนในแง่ความสนุกนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบเกมสไตล์นี้มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ว่าจะอย่างไรตัวเกมก็จะมีนำเสนอให้คุณแค่สองแบบนี่ล่ะครับคือเป็นผู้รอดชีวิตหรือไม่ก็เรดเดอร์ ซึ่งถ้าคุณชอบดราก้อนบอลอีกด้วยก็จะพอให้สนุกขึ้นมาได้อีกบ้าง
แต่สำหรับผมนั้น ผมคิดว่าเกมอยู่ในระดับที่เล่นก็ได้ไม่เล่นก็ไม่เสียหาย เพราะสุดท้ายภาพจำของดราก้อนบอลในหัวผมก็คือการได้บังคับตัวละครที่ชอบแปลงร่างแล้วเข้าไปรัวหมัดยิงพลังใส่กันแบบโม้เหม็นวินาศสันตะโรอยู่ดีครับ