*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Bandai Namco Entertainment Asia / Square Enix Asia มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
***รีวิวนี้เขียนขึ้นหลังจากที่เล่นไปแล้วราว 50 ชั่วโมง
Octopath Traveler นั้น เป็น JRPG ที่ผมก็ได้ยินเสียงชื่นชมมาพอสมควรเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีโอกาสและไม่มีจังหวะได้เล่นด้วยตัวเอง ซึ่งพอภาคสองนี้มาถึง พวกผมทีมงานไทยเกมวิกิก็ได้โอกาสในการเล่นเกมแล้วมาบอกเล่าความรู้สึกให้ทุกท่านได้อ่านกันนี่ล่ะครับ ดังนั้นรีวิวของผมในคราวนี้จะเป็นการเล่นโดยที่ไม่มีอะไรเปรียบเทียบจากภาคแรกเลย จะเป็นการพูดถึงความรู้สึกที่ได้รับจากการเล่นในภาคนี้ล้วน ๆ ครับ เชิญอ่านกันต่อไปได้เลย
เนื้อเรื่อง
สำหรับเนื้อหาใน OCTOPATH TRAVELER II นี้ ดำเนินเรื่องราวในทวีปที่เรียกว่าโซลิสเทีย (Solistia) ซึ่งแบ่งออกเป็นฟากตะวันตกและฟากตะวันออกโดยมีมหาสมุทรคั่นตรงกลาง แต่บรรดาผู้คนก็เดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างไม่ลำบากอะไรนักด้วยเรือข้ามสมุทร แต่ทว่าในทวีปแห่งนี้แต่ละพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรมต่างกันนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุการณ์ มีปมปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น เรื่องราวในเกมนี้จึงจะมีการบอกเล่าผ่านตัวละครหลักทั้ง 8 คนซึ่งก็คือ
โอเช็ตต์ (Ochette) สาวน้อยมนุษย์ครึ่งสัตว์ผู้ออกเดินทางเพื่อช่วยเหลือเกาะของตนจากคำทำนายถึงหายนะที่จะมาเยือน
แคสต์ตี (Castti) เภสัชกรสาวผู้เสียความทรงจำและออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนของตัวเองจากคำใบ้ที่ตนมี
โธรเน (Throné) จอมโจรสาวแห่งกลุ่มอสรพิษดำผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่ต้องเข่นฆ่าผู้อื่นตามคำสั่งของผู้นำกลุ่มดุจทาสจึงหาทางหลบหนีเพื่ออิสรภาพ
ออสวอลด์ (Osvald) นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเวทมนตร์แต่โดนจองจำด้วยข้อหาวางเพลิงฆ่าลูกเมียตนเองโดยที่ตนไม่ได้ก่อ จึงตัดสินใจออกตามล่าตัวการ
พาร์ติชิโอ (Partitio) พ่อค้าหนุ่มที่ออกเดินทางเพื่อหวังสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ประสบความยากจนทั่วแดนหลังได้รับรู้ความเจ็บปวดของผู้คนในบ้านเกิด
แอกเนีย (Agnea) สาวน้อยนักเต้นที่ออกเดินทางจากบ้านเกิดพร้อมความฝันในการเป็นดาวประดับฟ้าเพื่อสร้างรอยยิ้มให้ผู้คน
เทเมนอส (Temenos) นักบวชผู้รับหน้าที่ไต่สวนศรัทธาแห่งภาคีเพลิงศักดิ์สิทธิ์ที่ออกเดินทางเพื่อสืบค้นความจริงหลังเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกับผู้ที่ตนเคารพนับถือ
ฮิคาริ (Hikari) นักรบหนุ่มผู้เป็นองค์ชายแห่งอาณาจักรคู (Ku) ในแดนทะเลทรายที่ออกเดินทางเพื่อตามหามิตรสหายมาโค่นล้มพี่ชายตนเองที่สังหารบิดาเพื่อชิงบัลลังก์
ตัวละครแปดคนนี้ล้วนแล้วแต่มีแรงจูงใจในการออกเดินทางต่างกัน ทุกคนมีเรื่องราวหลัก ๆ ของตนเอง ที่แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ว่าลึก ๆ เบื้องหลังแล้วเหตุการณ์ทุกอย่างมันมีความเกี่ยวพันกันอยู่ครับ ดังนั้นแปดวิถีแห่งการเดินทางครั้งนี้ จึงมุ่งหน้าสู่ปลายทางเดียวกันในท้ายที่สุด
สิ่งที่ผมชอบในแง่ของเนื้อหาก็คือว่าธีมการเดินเรื่องของแต่ละคนนั้นมันเด่นชัดในการนำเสนอครับ เรื่องราวแต่ละคนนั้นคล้าย ๆ กับเป็นเรื่องสั้นที่เหมือนจะแยกเป็นเอกเทศจากกัน รสชาติจึงต่างกัน แต่มันก็รวมเป็นเนื้อเดียวกันได้แบบแนบเนียนไม่ตะขิดตะขวงใจ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วผมว่าลักษณะการเดินเรื่องของเกมนี้ก็ดูจะต่อยอดมาจากเกมของ Square Enix อีกเกมในสมัยเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมและได้รับการรีเมกไปเร็ว ๆ นี้บน Nintendo Switch อย่างไลฟ์อะไลฟ์ (Live A Live) นั่นล่ะครับ
เกมเพลย์
สำหรับระบบการเล่นของ OCTOPATH TRAVELER II นี้ มีวิธีการเล่นในแบบ JRPG คลาสสิกเลยครับ นั่นคือมีการเก็บเลเวล มีการซื้อไอเท็ม ซื้อของสวมใส่ มีการอัปสกิล เปลี่ยนอาชีพ ฯลฯ และอะไร ๆ ในแบบที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกัน ซึ่งถ้ามองในแง่ของการปรับแต่งตัวละครนี้ ผมคิดว่าอาจจะเรียกไม่ได้ว่าอิสระมากมายจนปรับแต่งได้เป็นร้อย ๆ สกิลอะไรทำนองนั้น แต่มันก็มีมากพอให้คุณได้ลองมิกซ์แอนด์แมตช์ ใส่สกิลนู้น เพิ่มความสามารถตรงนี้ ฯลฯ มากพอควรอยู่
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าระบบอาชีพของเกมนี้ค่อนข้างสำคัญในแง่ของการต่อสู้ด้วย เพราะอาชีพแต่ละอาชีพนั้นจะมีการกำหนดมาเฉพาะเลยว่าสกิลที่จะใช้ได้มีอะไรบ้าง เมื่ออัปสกิลโจมตีแล้วจะปลดล็อกสกิลสนับสนุนอะไรมาบ้าง ที่สำคัญคือประเภทของอาวุธที่สามารถใช้ได้นั้นจะขึ้นอยู่กับอาชีพล้วน ๆ ดังนั้น ถ้าคุณอยากให้ใครมีทางเลือกเพิ่มในการโจมตี หรือต้องการปิดข้อด้อยของตัวละครนั้น ๆ คุณก็จะต้องทำการเลือกอาชีพที่สองของตัวละครนั้น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับตัวละคร แต่ถ้าคุณเปลี่ยนอาชีพสำรองของตัวละครไปเป็นอย่างอื่น สิ่งที่เคยอัปมาก็จะไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้ (ยกเว้นสกิลสนับสนุนที่จะปลดล็อกถาวร) คุณจึงต้องเลือกตัดสินใจพอสมควรเหมือนกัน
นอกจากนั้นแล้ว ระบบสำคัญในการต่อสู้ก็คือว่าศัตรูแต่ละตัวจะมีการกำหนดจุดอ่อนมาโดยเฉพาะเลยครับว่าตัวนั้น ๆ มันแพ้ทางอะไรบ้าง ถ้าคุณเลือกตีด้วยอาวุธถูกประเภท หรือใช้เวทถูกต้องกับจุดอ่อน มันก็จะเป็นการไปลดค่าเกราะของศัตรูในแต่ละครั้ง ซึ่งเมื่อคุณตีเกราะของมันจนหมดมันจะตกอยู่ในสภาวะ Break ที่จะทำให้มันเสียเทิร์นไปเลยแถมจะมึนงงให้เรารุมยำได้ฟรี ๆ ด้วยความเสียหายที่เพิ่มขึ้นด้วย ทุกอย่างในการต่อสู้แต่ละครั้งเลยเกี่ยวพันกันไปหมด ทั้งสกิลที่คุณมี อาวุธที่คุณใช้ จำนวนฮิตในการโจมตีแต่ละครั้ง หรือการที่คุณจะต้องสังเกตลำดับเทิร์นเพื่อตัดสินใจว่าจะตีตัวไหนก่อนหรือหลัง ฯลฯ
ระบบบูสต์นี่ก็เป็นอีกหนึ่งระบบที่ผมคิดว่าออกแบบมาได้เข้าท่าและช่วยเพิ่มมิติของเกมเพลย์ได้ดีอยู่ ถ้าให้พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นระบบที่ทำให้การโจมตีหรือการออกแอ็กชันของเรามันแรงขึ้น จำนวนฮิตมากขึ้นนั่นล่ะครับ จากปกติคุณโจมตีได้แค่ฮิตเดียว แต่ถ้าเพิ่มจน Max แล้วแม้โจมตีธรรมดาก็จะออกไป 4 ฮิตทันที มันเลยเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบให้คุณเลือกตัดสินใจว่าจะใช้บูสต์เพื่อทำการ Break ศัตรูหรือจะเก็บไว้รอจังหวะที่มัน Break ก่อนแล้วค่อยบูสต์เพื่ออัดโจมตีอย่างแรงด้วยพลังแฝง (Latent Power) หรือท่าอะไรก็ตามที่ทำความเสียหายได้เยอะ ปฏิสัมพันธ์ของระบบพวกนี้มันเลยทำให้ไม่เจอการต่อสู้ที่แค่กดส่ง ๆ ก็ผ่านได้ ทุกการกระทำนี่เราต้องคิดตลอดเหมือนกันครับ
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบในแง่เกมเพลย์ก็คือทั้งแปดคนนี่มีเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันนี่ล่ะครับ ยกตัวอย่างเช่นฮิคารินี่นอกจากสกิลตามสายอาชีพแล้ว ยังสามารถเรียนรู้สกิลอื่น ๆ จาก NPC ได้เมื่อทำการท้าประลอง ซึ่งก็แน่นอนว่ายิ่งสกิลดีแค่ไหน NPC ก็ยิ่งโหดเท่านั้น แต่ถ้าคุณได้สกิลมามันจะคุ้มค่ามาก หรืออย่างโอเช็ตต์ที่จะสามารถทำการจับมอนสเตอร์มาใช้งานได้ บทบาทของเธอในทีมจึงคล้ายกับเป็นผู้ใช้เวทเรียกอสูรกลาย ๆ ในเกมอื่น ๆ เพราะหากคุณได้มอนสเตอร์โหด ๆ มาใช้ล่ะก็จะได้เปรียบมากเลยเช่นกัน ดังนั้นแม้อาชีพที่เปลี่ยนได้จะไม่เยอะ แต่เกมนี้ก็มีอะไรมากพอให้คุณได้ลองอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อหาสิ่งที่เหมาะกับสไตล์ของคุณครับ
ระบบเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงเลยก็คือ Path Action นี่ล่ะครับ อธิบายง่าย ๆ เลยก็คือมันเป็นสกิลในด้านการสำรวจที่แต่ละตัวละครจะสามารถใช้ได้กับ NPC ทั่วไปในเมือง หลัก ๆ เลยก็จะแบ่งเป็นการ “ต่อสู้” “เชิญมาร่วมปาร์ตี้” “หาข้อมูล” และ “รับไอเท็ม” ซึ่งผลลัพธ์ก็จะต่างกันไปนิดหน่อยตามแต่ละตัวละคร รวมถึงต่างกันไปตามช่วงเวลาในเกมด้วย เช่นฮิคาริที่ตอนกลางวันจะท้าสู้ได้ แต่พอตอนกลางคืนจะเป็นการจ่ายเงิน NPC เพื่ออ่านข้อมูลพิเศษแทน แม้ว่าหลัก ๆ นั้นหน้าที่ของ Path Action จะดูซ้ำซ้อนกันแต่มันก็มีประโยชน์ในแง่ที่ว่าคุณสามารถสลับไปใช้ความสามารถของตัวละครอื่นได้เพื่อผลลัพธ์เดียวกัน ถ้าหากว่าตัวละครแรกที่คุณเลือกนั้นทำหน้าที่ไม่สำเร็จอาจจะเพราะด้วยเหตุใดก็ตาม ซึ่งบ่อยครั้งเลยที่ Path Action นี่ล่ะที่จำเป็นสำหรับการเคลียร์ไซด์เควสต์ในเกมครับ
ในแง่ของการสำรวจและการดำเนินเรื่องนั้น ผมว่าเกมมันมีกลิ่นอายคล้าย ๆ กับซีรีส์ Romancing Saga นิด ๆ ด้วยความที่ตัวเกมก็ไม่ได้บังคับว่าจะให้เราไปเดินเรื่องต่อเลยทันที แต่เราเลือกได้ว่าจะไปดูเนื้อหาของใครต่อซึ่งก็จะมีการบอกชัดเจนว่าบทไหนของตัวละครนี้คุณจะต้องไปที่เมืองอะไร แต่ก่อนจะไปเดินเรื่องต่อนั้นคุณจะแวะรายทางเถลไถลไปเก็บเลเวล ไปหาของดี ๆ หรือไปจับมอนสเตอร์เจ๋ง ๆ ก็สุดแท้แต่คุณครับ เพราะเกมนี้มีความลับต่าง ๆ ให้ค้นหาเยอะเอาเรื่องเลยทีเดียว ไหนจะอาวุธระดับตำนานเอย หรือ Ex Skills สำหรับแต่ละตัวละครเอย
แต่ถามว่ามันมีข้อที่ไม่สะดวกบ้างไหม? มันก็พอมีครับ ถ้าพูดในแง่ของ QoL หลัก ๆ เลยของเกมสำหรับผมมันคือการที่ต้องคอยวิ่งกลับไปที่เมืองเพื่อเปลี่ยนตัวละครในร้านเหล้านี่ล่ะครับ มันเลยทำให้เสียเวลาและเสียจังหวะโดยใช่เหตุ เพราะบางทีเราอาจรู้สึกว่าทีมที่จัดมานั้นไม่เหมาะในการลุยดันเจี้ยนปัจจุบัน ก็ต้องวาร์ปกลับไปเมืองเพื่อเปลี่ยนตัวละครแล้วค่อยวิ่งกลับมาลงดันเจี้ยนใหม่ ด้วยเหตุที่ว่าเกมไม่ให้เราวาร์ปมาดันเจี้ยนได้ตรงแต่วาร์ปไปได้แค่ที่เมืองเท่านั้นนี่ล่ะครับ ถ้าให้เราเลือกเปลี่ยนได้ทันทีเลยจะสะดวกกว่านี้มาก
อีกประการหนึ่งก็คือเกมนี้เป็นเกมที่เน้นการอ่านค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะพวกเงื่อนไขการเคลียร์เควสต์นี่คือคุณต้องอาศัยการอ่านเยอะ ต้องอาศัยการสังเกตแยะ เพราะแม้ว่าเกมนี้จะมีบอกตำแหน่งชัดเจนว่าคุณไปคุยกับใครได้เพื่อเปิดเควสต์ แต่การที่คุณจะเคลียร์ได้คุณต้องอ่านเอาจากคำพูดของเหล่า NPC เองล้วน ๆ ครับถึงจะรู้ว่าเกมให้ทำอะไร บางครั้ง NPC อยากพบตัวละครสักตัว คุณก็ต้องไปวิ่งหาเอาเองแล้วกดใช้ Path Action เพื่อพามาเจอ ซึ่งบ่อยครั้ง NPC ที่ต้องพามาก็จะอยู่กันคนละเมืองครับ หากใครภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงก็จะเล่นลำบากหน่อย
กราฟิก
ตัวเกมนำเสนอแบบกราฟิกพิกเซลด้วยฉากหลังที่เป็นโพลีกอน 3D ซึ่งแน่นอนล่ะว่าคุณเอาไปเทียบกับเกมที่เน้นแสดงผลกราฟิกแบบโหด ๆ ไม่ได้หรอก เพราะเกมนี้เน้นกราฟิกที่ดูง่าย ๆ สบายตาแต่สวยเพราะการออกแบบศิลป์มากกว่า แต่ละเมืองและแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ทำให้แตกต่างจากกันอย่างเห็นได้ชัดครับ พูดง่าย ๆ ว่าลายเซ็นของแต่ละเมืองมันชัดเจนนั่นล่ะ
ที่สำคัญคือแม้ว่าตัวเกมจะเน้นการนำเสนอแบบพิกเซล แต่เวลาสู้บอสนี่ก็วาดสไปรต์ออกมาได้สวยและดูยิ่งใหญ่สมเป็นบอสดี ให้อารมณ์เหมือนสมัยที่เล่น Final Fantasy ยุคคลาสสิกสมัยเครื่องแฟมิคอมและซูเปอร์แฟมิคอมเลยครับ ที่สไปรต์ของเราจะตัวเล็ก ๆ แต่บอสนี่วาดซะตัวเบิ้มกินเนื้อที่ไปราว ๆ ครึ่งจออะไรแบบนั้น ซึ่งบางตัวมันก็ตัวใหญ่จริง แต่บางตัวมันก็ไซส์เท่าเรานี่ล่ะแต่วาดขยายใหญ่ให้เห็นชัด ๆ เพื่อโชว์ความเป็นบอสให้คนเล่นดู
อ้อ แต่พวกเอฟเฟกต์ต่าง ๆ เวลาบูสต์หรือเวลาใช้ท่านี่มันสวยงามและรุนแรงเอาเรื่องอยู่ครับ ยิ่งเวลากดบูสต์ Max นี่ตัวละครเรามีออร่าพวยพุ่งประหนึ่งเป็นชาวไซย่าที่ระเบิดพลังให้โลกเห็นก็ว่าได้
เพลงประกอบ
นี่คือหนึ่งในหัวข้อที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ของเกมนี้เลยครับ ผมคิดว่า OST ของเกมนี้ยิ่งใหญ่มาก ฟังเพลินมาก แม้กระทั่งเพลงในฉากต่อสู้กับศัตรูธรรมดาทั่ว ๆ ไปยังสามารถฟังแล้วรู้สึกเหมือนสู้บอสได้ตลอดเวลา ยังไม่นับว่าพอเจอบอสจริง ๆ นี่ OST ก็ยิ่งดีดขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วยนะ ถ้าคุณลองเข้าฉากต่อสู้แล้วเปิดทิ้งไว้ไปลองทำอะไรอย่างอื่นดู คุณจะรู้สึกเลยว่ามันชวนฮึกเหิมเอาเรื่องเลยล่ะ
สรุป
นี่เป็นเกม JRPG แบบคลาสสิกที่ออกแบบระบบการเล่นมาดีมาก เล่นได้สนุกแบบที่ไม่ซับซ้อนเกินไปแต่ก็ไม่ง่ายขนาดหลับตากดปุ่มก็ผ่าน เรื่องราวของแต่ละคนนั้นสนุกและเข้มข้นในรสชาติที่ต่างกัน พร้อมทั้งเพลงประกอบที่สุดอลังการ หากว่าคุณโหยหาเกม JRPG เยี่ยม ๆ ล่ะก็ OCTOPATH TRAVELER II นี่คือคำตอบให้คุณครับ ส่วนใครที่จะมองข้ามเกมนี้เพราะเป็นพิกเซลล่ะก็ อยากให้ลองเปิดใจเล่นเดโมดูก่อนครับ คุณอาจได้เกมโปรดในดวงใจเพิ่มมาอีกเกมก็ได้นะ