Games Reviews

Like a Dragon: Ishin! – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Like a Dragon: Ishin! – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก SEGA Asia มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

สำหรับ Like a Dragon: Ishin! นี้ ถือเป็นหนึ่งในภาคสปินออฟของแฟรนไชส์ Yakuza/Like a Dragon (หรือที่ฝั่งญี่ปุ่นใช้ชื่อเดิมมาโดยตลอดนั่นคือ Ryu Ga Gotoku) ที่นำเอา Ryu Ga Gotoku Ishin ที่เคยวางจำหน่ายในญี่ปุ่นไปเมื่อปี 2014 บน PS3 และ PS4 มาทำการปรับปรุงและแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อวางจำหน่ายทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

โดยส่วนตัวของผมเองนั้น เคยเล่นฉบับดั้งเดิมในแบบภาษาญี่ปุ่นไปในยุคนั้นเหมือนกัน และสำหรับภาครีเมกในครั้งนี้ผมรู้สึกอย่างไร เชิญอ่านได้เลยครับ


เนื้อเรื่อง

สำหรับ Like a Dragon: Ishin! ในภาคนี้จะย้อนยุคไปในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี 1860s ซึ่งเป็นยุคที่รู้จักกันในชื่อว่า “ยุคบาคุมัตสึ” และเป็นสมัยที่อำนาจของรัฐบาลโตคุกาวะ (หรือที่เรียกกันว่ารัฐบาลบาคุฟุ) เริ่มสั่นคลอนหลังจากที่ปกครองประเทศญี่ปุ่นมานับสามร้อยปี ด้วยเหตุที่ว่ามีเรือรบอันทันสมัยจากฝั่งตะวันตกมาเยือนและโดนบังคับให้ต้องเปิดประเทศ ความอ่อนแอของบาคุฟุนี้ก่อให้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวของเหล่านักรบปฏิวัติอิชินชิชิที่หวังโค่นล้มบาคุฟุเพื่อคืนอำนาจให้แก่จักรพรรดิและขับไล่ต่างชาติออกไป

เรื่องราวในเกมนี้จะให้เรารับบทบาทเป็นซาคาโมโตะ เรียวมะ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการโค่นล้มรัฐบาลบาคุฟุ แต่อย่างไรก็ดี เกมนี้ก็ไม่ได้มุ่งหวังจะเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์แบบถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่เพียงแค่หยิบยกเอาเซ็ตติ้งและยุคสมัยอันโด่งดังมาใช้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันเข้มข้นและซับซ้อน อันเป็นสิ่งที่ริวกะโกโตคุสตูดิโอถนัดครับ

สิ่งที่ผมต้องชมเชยทีมงานก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สามารถ “บิด” แกนของเรื่องให้เป็นในสไตล์ตัวเอง แต่ผลลัพธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นไปตามหน้าประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักกันอยู่ดี เช่นเหตุการณ์ลอบสังหารเรียวมะ ณ โรงเตี๊ยมโอมิยะ “แต่” ไซโต ฮาจิเมะนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นต้น หรือใครที่สงสัยว่าทำไมโอคิตะ โซจิของเกมนี้ถึงตีความผิดขนบจากเรื่องอื่น ๆ ไปมากมายว่าคนที่ควรจะหล่อเหลากลับกลายเป็นเหมือนหมาบ้าไปซะได้ เกมนี้มีคำตอบให้คุณหมดนั่นล่ะครับ

ตลอดทั้งเกมนี้นี้คุณจะได้พบตัวละครที่อ้างอิงมาจากบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นยุคบาคุมัตสึมากมายด้วยกัน นอกเหนือจากเรียวมะแล้วก็ยังมีไซโก คิจิโนสุเกะ, คัตสึระ โคโกโร, นากาโอกะ ชินทาโร, คอนโด อิซามิ, ฮิจิคาตะ โทชิโซ ฯลฯ และอีกมากมายหลายคน ที่หากคุณคุ้นเคยชื่อก็ไม่แปลกเพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ตีความใหม่เป็นสิบเป็นร้อยเรื่องในสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นครับ ไม่ว่าจะซามูไรพเนจรเอย กินทามะเอย

โดยความพิเศษของเกมภาคนี้ก็คือบรรดาตัวละครเหล่านั้น จะใช้โมเดลและเสียงพากย์จากตัวละครที่คุณคุ้นเคยในภาคหลักทั้งหมด ถ้าให้เปรียบก็เหมือนว่าทีมนักแสดงชุดเดิมในภาพยนตร์เรื่องใหม่นั่นเองครับ

สไตล์การเดินเรื่องของเกม ก็ยังคงอัดแน่นด้วยลายเซ็นของทีมงานริวกะโกโตคุสตูดิโอครับ นั่นคือบรรดาตัวละครชายทั้งหลายที่มีบทบาทเด่นในเรื่องนี่ เปรียบประหนึ่งเป็นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเดินได้ ไม่ว่าจะเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ จะไม่มีการคุยกัน มีแต่การชักดาบเข้าห้ำหั่นกันล้วน ๆ โดยที่ตลอดทั้งเกมนั้น แต่ละคนล้วนปะทะกันด้วยอุดมการณ์ บ้างก็ความมุ่งมั่น บ้างก็หน้าที่ ซึ่งก็เป็นแนวทางการดำเนินเรื่องที่แฟน ๆ ของซีรีส์นี้น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และก็แน่นอนว่าตลอดทั้งเกมจะมีการหักมุมไปมาอยู่เสมอ ๆ เช่นกันครับ

แล้วก็เช่นเคยของซีรีส์นี้ ที่ว่าเนื้อเรื่องหลักนั้นเข้มข้นจริงจัง ซีเรียสกันทุกวินาที แต่ว่าพอเป็นเนื้อเรื่องรองในบรรดาซับสตอรีต่าง ๆ นั้นเต็มไปด้วยความบ้าบอตลกโปกฮาทั้งเกม (แต่บทจะซึ้งก็ซึ้งกินใจไปเลย) เรียกว่าตัดอารมณ์กันราวกับโดนดาบฟันสะพายแล่งเลยครับ นาทีนึงเรียวมะหน้าดำคร่ำเครียดกับการแสวงหาตัวฆาตกรที่สังหารพ่อบุญธรรม แต่อีกนาทีถัดมาเรียวมะอาจจะต้องไปเล่นพ่อแม่ลูกกับเด็ก ๆ ก็ได้ (เล่นเป็นแม่อีกต่างหาก)


เกมเพลย์

ในส่วนของเกมเพลย์นั้น หากใครที่คุ้นเคยกับภาคที่เหมือนเป็นการเปิดตัวสู่โลกตะวันตกให้ได้รู้จักอย่าง Yakuza 0 ก็จะทำความเข้าใจระบบต่อสู้ได้ไม่ยาก (นั่นเพราะเดิมทีในภาคต้นฉบับปี 2014 นั้นวางจำหน่ายก่อนภาค 0 จึงเรียกได้ว่าอิชินนี่เป็นเหมือนรากฐานก็ว่าได้) นั่นคือเรียวมะ/ฮาจิเมะ จะมีสไตล์การต่อสู้ที่สามารถสลับไปมาได้ตลอดเวลาด้วยกันสี่สไตล์ ซึ่งก็จะมีความแข็งแกร่งและมีจุดอ่อนที่ต่างกันไป อยู่ที่ว่าผู้เล่นจะเลือกแบบไหน หรือจะรับมือกับสถานการณ์ยังไง

ความเข้มข้นและดุดันในแง่ของพรีเซ็นเทชันนั้น ผมคิดว่าภาคนี้ทำออกมาได้ดูดิบและรุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่าน ๆ มาเสียอีกครับ (เหมือนจะมากกว่าต้นฉบับด้วย) โดยเฉพาะพวก Heat Actions ทั้งหลายนี่จะให้เล่นมุกว่าศัตรูไม่ตายกันเลยนี่ก็ออกจะกระดากปากเหมือนกัน ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเพราะด้วยเซ็ตติ้งในยุคบาคุมัตสึ ที่คนฆ่ากันบนท้องถนนรายวันเป็นเรื่องปกตินั่นล่ะ เกมภาคนี้ก็เลยค่อนข้างใส่ความรุนแรงลงมาแบบไม่ต้องเหนียมมากเท่าไรนัก แต่ก็ยังไม่ได้หนักมากถึงขนาดที่ว่าชิ้นส่วนร่างกายหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ อะไรแบบนั้นล่ะนะ

อย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าระบบต่อสู้มันคล้ายกับ Yakuza 0 ดังนั้นความคล่องตัวหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของเรียวมะ/ฮาจิเมะ ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือมันคล่องตัวดีอยู่ล่ะครับ การสลับสไตล์ไปมาก็ทันใจใช้ได้ เพียงแค่ว่าโดยรวมแล้วมันจะไม่อิสระเท่ากับการเล่นในภาคหลัง ๆ ที่ใช้ Dragon Engine ในการพัฒนา อย่างเช่น Kiwami 2 หรือไม่ก็ Lost Judgment เพราะการดีไซน์ฉากสู้ค่อนข้าง outdated (แต่ก็นะเกมต้นฉบับมัน 2014 อะ) ที่จะต้องตัดเข้าฉากสู้ก่อน และจบการสู้ก็จะตัดกลับมาฉากเดิน พวกข้าวของวัตถุในฉากก็จะอยู่นิ่ง ๆ ถาวรเป็นก้อนแข็ง ๆ ที่เราทำอะไรกับมันมากไม่ค่อยได้ รวมถึงว่าในทุกการต่อสู้เกมจะกั้นพื้นที่เราเอาไว้ และจะไปไหนไม่ได้จนกว่าจะสู้ชนะอะไรแบบนั้นครับ

สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากภาคต้นฉบับก็คือระบบการ์ดกำลังพล (Trooper) ที่เดิมเราจะใช้งานระบบนี้ได้เฉพาะในโหมดพิเศษที่ให้เราลุยดันเจี้ยนต่าง ๆ ในฐานะหัวหน้าหน่วยที่สามแห่งชินเซ็นกุมิ แต่รอบนี้เราจะใช้งานระบบนี้ได้ในการต่อสู้ทั่วไปด้วย ข้อดีของมันก็คือทำให้เราสามารถใช้งานสกิลแปลก ๆ ประหลาด ๆ ได้มากมายครับ แต่ในทางกลับกันผมคิดว่าเพราะระบบนี้ที่เพิ่มเข้ามานี่ล่ะ มันเลยทำให้ทีมงานปรับความยากของเกมเพิ่มขึ้นจากเดิมพอควรเหมือนกัน เทียบกับต้นฉบับแล้วผมคิดว่ามีศัตรูหรือบอสหลายตัวเลยที่อึดถึกขึ้นแบบชัดเจน ยังไม่นับว่าพวกศัตรูระดับท็อป ๆ นี่ก็มีสกิลพิเศษใช้แล้วด้วยเหมือนกันนะ

ผมคิดว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคไหนก็ตามที่เป็นสปินออฟจากภาคหลักนี้ ทีมงานจะใส่องค์ประกอบความเป็น RPG เข้าไปเยอะมาก (ถ้าไม่นับภาค Like a Dragon/RGG7 ที่เป็น RPG เต็มตัวน่ะนะ) มันเลยทำให้ทุกสิ่งอันในเกมเน้นหนักไปที่การ grinding กันแบบจุก ๆ ไปข้างนึงเลยครับ ไม่ว่าจะเลเวลของเรียวมะเอง เลเวลของแต่ละสไตล์ การลงดันเพื่อเก็บวัตถุดิบมาตีดาบ ฯลฯ ยังไม่นับว่าพออัปสกิลสายไหนเต็มแล้วคุณยังสามารถเลือกจุติใหม่เพื่อไล่เก็บสกิลวนไปอีกรอบให้เก่งยิ่งขึ้นได้อีกนะ

ในส่วนของเนื้อหาเสริมต่าง ๆ นั้น ภาคนี้ยังคงอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมมากมายให้ได้เล่นกัน ทั้งมินิเกมกว่าสามสิบอย่าง ทั้งการใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ในแถบชนบท ทั้งการทำซับสตอรี่ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากคุณเป็นแฟนของซีรีส์ล่ะก็คุณจะคุ้นเคยและคาดหวังได้จากภาคนี้ครับ แต่ว่าก็อีกนั่นล่ะ อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่าภาคนี้เน้น grinding เยอะมาก (มากกกกกกก) มันเลยทำให้ทุกองค์ประกอบของเกมถูกจัดหมวดอยู่ใน completion list และ diligence record ให้คุณไปนั่งทำในเกม ซึ่งหากคุณเป็นเกมเมอร์สายเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ล่ะก็…คุณอาจได้เผชิญภาวะในการนั่งตกปลาสามชั่วโมงเพื่อหวังว่าจะมีทูน่าตัวใหญ่มากินเบ็ดสักทีครับ

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นเกมเมอร์สายเล่นเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์แบบผม ผมแค่จะบอกว่า ขอให้เทพเจ้าแห่ง RNG จงอวยพรให้คุณ


กราฟิก

ในแง่ของกราฟิกเกมนั้น ถึงแม้ว่าภาคนี้จะได้ชื่อว่าเป็นการรีเมก แต่ว่าคุณภาพโดยรวมด้านกราฟิกยังดูไม่ค่อยต่างจากภาคต้นฉบับมากนักครับ คือมันดูโอเคนะ ไม่ได้มีอะไรน่าเกลียด อาร์ตสไตล์ต่าง ๆ นี่งามใช้ได้เลยยิ่งถ้าใครชอบสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นโบราณก็คงถูกอกถูกใจกันไม่ใช่น้อย ถ้าจะมีอะไรที่แอบเสียดายก็คงเป็นพวกสถานที่สำคัญที่เราเข้าไปเดินเล่นไม่ได้ (เช่นวัดคิโยมิซึหรือวัดน้ำใส) ได้แค่ไปเยือนในฉากเนื้อเรื่องแค่นั้น

ในด้านโมเดลตัวละครหรือวัตถุนี่คุณภาพก็แบบเดียวกับภาค 0 หรือไม่ก็ Kiwami 1 นั่นล่ะครับ คือรายละเอียดยังไม่ถึงภาคที่ใช้ Dragon Engine ในการพัฒนา และระบบฟิสิกส์ต่าง ๆ ก็ยังเป็นแบบภาคคลาสสิกคือจะเป็นสคริปต์ซะส่วนใหญ่ จะไม่ได้เห็นข้าวของที่กระเด็นกระดอนไปทั่วในระหว่างสู้เหมือนอย่าง Kiwami 2 หรือ Lost Judgment อะไรแบบนั้น ถ้าใครที่เล่นภาคล่าสุดเป็นเกมจาก Dragon Engine แล้วมาเล่น Like a Dragon: Ishin! ล่ะก็อาจจะรู้สึกเหมือนมันถอยหลังจากเดิมหน่อย ๆ แต่นั่นก็เพราะตัวเกมพื้นฐานมันมาจากปี 2014 น่ะครับ


เสียง/เพลงประกอบ

งานเสียงและงานเพลงของริวกะโกโตคุสตูดิโอนี่ยังคงคุณภาพดีไม่เสื่อมคลายเลยครับ เพลงประกอบในภาคนี้หลายเพลงคือเพลงที่คนเล่นจะคุ้นเคยกันดีจากภาคก่อน ๆ แต่ได้รับการรีมิกซ์ใหม่โดยใช้เครื่องดนตรีญี่ปุ่นโบราณ จนได้บรรยากาศแบบยุคเอโดะ แม้แต่เพลงสุดมีมอย่าง Bakamitai เองก็ถูกเพิ่มเข้ามาในเวอร์ชันนี้แต่เปลี่ยนทำนองใหม่ ใช้เครื่องดนตรีให้ได้บรรยากาศสไตล์เอโดะเหมือนกัน

สำหรับงานพากย์ของเกมนี้ ต้องออกตัวก่อนว่าผมเองเป็นคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่ว่าซีรีส์นี้สามารถสื่ออารมณ์ได้ดีมากจากน้ำเสียงของแต่ละคนครับ ยิ่งพอบวกกับงานกำกับภาพในแต่ละฉากนี่มันเลยทรงพลังจริง ๆ และก็แน่นอนว่าในภาคนี้ก็ไม่ต่างกัน คุณภาพในด้านงานพากย์และเพลงประกอบยังคงสูงล้ำไม่ต่างจากเดิมครับ ถ้าจะมีสิ่งที่เสียดายเพียงอย่างเดียวก็คือในการรีเมกใหม่ครั้งนี้ ไม่มีอินโทรและเพลงประกอบอย่าง Clock Strikes ของ One OK Rock แล้วนั่นล่ะครับ


สรุป

Like a Dragon: Ishin! ถือเป็นอีกหนึ่งภาคในซีรีส์ที่คุณภาพอัดแน่นไม่ต่างจากเดิม แต่ว่าด้วยความที่เป็นเกมซึ่งอ้างอิงจากปี 2014 นี่เอง เลยทำให้ดีไซน์หลายอย่างออกจะตกยุคไปเสียหน่อยในปัจจุบัน ถึงกระนั้นตัวเกมก็ยังคงสนุกเข้มข้นครับ หากคุณเป็นสายเล่นเอาบันเทิงล่ะก็เกมนี้มีให้คุณเต็มเปี่ยม แต่ถ้าคุณเป็นสายเพอร์เฟกต์…ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินบนเส้นทางอันยาวไกลนี้ไม่ต่างจากคุณครับ

The Review

80% กำเนิดซามูไร หัวใจปฏิวัติ

Like a Dragon: Ishin! ยังคงเป็นเกมที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ แต่ว่าการออกแบบในบางแง่มุมออกจะตกยุคไปเสียหน่อยในปัจจุบัน กระนั้นถ้าคุณไม่ใช่เกมเมอร์สายเพอร์เฟกต์ล่ะก็จะสามารถสนุกไปกับเกมได้อย่างไม่ติดขัด

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์